ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

หรือผู้นำสหรัฐอเมริกาคือผู้นำแห่งฝูงซอมบี้


หรือผู้นำสหรัฐอเมริกาคือผู้นำแห่งฝูงซอมบี้

ASTVผู้จัดการรายวัน 10 สิงหาคม 2555 18:53 น.




ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       ประเทศสหรัฐอเมริกามักประกาศตัวอวดอ้างต่อนานาชาติอยู่เสมอว่าเป็นประเทศที่ยึดหลักการระบอบประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับกฎหมายซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการจัดการปกครองประเทศ ทั้งยังเป็นหัวหอกในการปราบปรามและต่อต้านผู้ก่อการร้ายอย่างแข็งขัน แต่เมื่อสหรัฐอเมริกาให้วีซ่าแก่นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งต้องคดีอาญาฐานทุจริตประพฤติมิชอบของประเทศไทย รวมทั้งยังถูกหมายจับอีกหลายคดีรวมทั้งคดีก่อการร้ายด้วย คำถามเกี่ยวกับจุดยืนเรื่องการเคารพกฎหมายและความเป็นประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาจึงเกิดขึ้น
     
       และยิ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ยินยอมให้นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร เข้าประเทศของตนเองได้อย่างเสรี และไม่ดำเนินการจับกุมตัวนักชายผู้นี้ส่งให้ทางการไทย ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็ชวนให้สงสัยหนักยิ่งขึ้นว่าแท้จริงแล้วหลักการเชิงคุณธรรมสวยหรูทั้งหลายที่สหรัฐอเมริกาประกาศต่อชาวโลกและที่กระทำจริงสอดคล้องกันมากน้อยเพียงใด หรือว่าผู้นำสหรัฐฯ กำลังกลายสภาพเป็นผู้นำแห่งฝูงผีดิบซอมบี้ที่การกระทำถูกกำหนดจากสัญชาตญาณดิบแห่งการแสวงหาประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว
     
       หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์เราจะพบว่า การปฏิบัติของรัฐบาลสหรัฐต่อชาติต่างๆหลายชาติ เป็นการปฏิบัติที่ขัดแย้งกับหลักการที่ประเทศสหรัฐฯ อวดอ้างเสมอมา เช่น การสนับสนุนประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในตะวันออกกลางบางประเทศ ขณะเดียวกันก็ใช้ข้ออ้างเรื่องประชาธิปไตยและการเป็นแหล่งส่องสุมของผู้ก่อการร้าย เข้าไปรุกรานยึดดินแดนและโค่นล้มผู้นำของบางประเทศ
     
       รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงมีพฤติกรรมหลายมาตรฐาน มีลักษณะปากว่าตาขยิบ มีความตลบตะแลงเป็นนโยบายสำคัญ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับตบตาและหลอกลวงชาวโลก คำว่าประชาธิปไตยก็ดี คำว่านิติรัฐก็ดี คำว่าสิทธิมนุษยชนก็ดี หรือคำว่าต่อต้านการก่อการร้ายก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นคำที่สหรัฐอเมริกาใช้เป็นวาทกรรมนำสำหรับการปฏิบัติการที่ตรงกันข้ามกับสิ่งเหล่านั้นซึ่งแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ภายในเสมอมา
     
       ในอดีตคนไทยอาจได้ยินข่าวสารการกระทำของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศอื่นมาบ้างแล้ว บางคนก็อาจยังไม่เชื่อสนิทนักว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมีนิสัยเช่นนั้น แต่เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯให้การรับรองสถานภาพของอาชญากรหนีคุกอย่างทักษิณ คนไทยจำนวนมากก็เกิดภาวะการรู้แจ้งขึ้นมาอย่างฉับพลัน และเห็นถึงธาตุแท้ดั้งเดิมในกมลสันดานของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างชัดเจน
     
       เหตุผลที่เป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลสหรัฐฯ รับรองสถานภาพของนักโทษหนีคุกและผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย เป็นเหตุผลเบื้องต้นซึ่งเป็นแรงผลักดันการกระทำของสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำทั่วไป นั่นคือความกระหายหิว ในผลประโยชน์ที่จะได้รับกลับคืนมา และอันที่จริงก็คือสัญชาตญาณของซอมบี้ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นมาเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนตัวตนของพวกเขาเป็นอย่างดี
     
       รัฐบาลสหรัฐฯ เฝ้าติดตามและสืบเสาะข่าวสารเกี่ยวกับสังคมการเมืองไทยมานาน สถานทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยมีการจัดตั้งทีมวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ โดยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคนในท้องถิ่นหรือคนจากประเทศใกล้เคียงเป็นผู้ปฏิบัติงาน เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และรายงานให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทราบ
     
       นอกจากนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ยังให้เจ้าหน้าที่ทางการทูตของตนเองเข้าไปพูดคุยซักถามบุคคลชั้นนำของประเทศไทยในหลากหลายกลุ่ม หลากหลายวงการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อล้วงข้อมูลระดับลึก ของประเทศไทยและรายงานไปยังวอชิงตัน ข้อมูลหลักที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจในช่วงสิบปีที่ผ่านมาคือ ข้อมูลเกี่ยวกับการทหาร ข้อมูลเกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตร และพรรคการเมือง ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูง และข้อมูลการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ที่น่าฉงนก็คือบุคคลชั้นนำเหล่านั้นบางคนบอกเรื่องราวที่ถูกถามอย่างละเอียด ทั้งที่บางเรื่องเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างยิ่ง
     
       ยิ่งกว่านั้นสหรัฐอเมริกาโดยซีไอเอได้มีระบบการจัดตั้งและสร้างคนไทยจำนวนหนึ่งให้ทำงานรับใช้สหรัฐอเมริกาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การจัดตั้งสถาบันการศึกษา การส่งซีไอเอที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้ามากล่อมเกลาปลูกฝังความคิดให้ปัญญาชนไทยเชิดชูบูชาอเมริกาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และให้ทุนในการจัดตั้งพรรคการเมืองบางพรรคในอดีตช่วงปี2511ถึง 2514
     
       สหรัฐอเมริกายังจัดระบบสืบทอดการรับใช้ตนเองแบบยั่งยืน ผ่านการจัดตั้งตระกูลชนชั้นนำบางตระกูลในสังคมไทย เช่น การให้ทุนการศึกษาแก่บุตรหลานคนบางตระกูลที่รับใช้ตนเอง การให้ลิขสิทธิ์สินค้าเครื่องดื่มที่ทำลายกระเพาะอาหารและทำให้เกิดโรคเบาหวานบางประเภทมาผลิตขายคนไทย และส่งบุตรหลานของคนในตระกูลนี้ตามประกบบุตรหลานของบุคคลชั้นสูงของสังคมไทยที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นผู้กุมชะตากรรมของประเทศไทยตั้งแต่เรียนในระดับมัธยมและอุดมศึกษา
     
       นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังส่งเสริมคนที่ตนเองได้ล้างสมองให้ยึดผลประโยชน์ของประเทศสหรัฐอเมริกาเหนือประเทศไทยเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยของประเทศไทย รวมทั้งหน่วยงานระดับสูงที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของประเทศไทย
     
       สำหรับกรณีทักษิณ ชินวัตร ในช่วงแรกที่ทักษิณ ขึ้นมามีอำนาจสหรัฐฯ ไม่ได้ปลื้มหรือชื่นชมทักษิณเท่าไรนัก แต่พวกเขายอมรับว่าทักษิณเป็นปรากฎการณ์ทางการเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย และให้ความสำคัญกับทักษิณในฐานะที่เป็นผู้เล่นทางการเมืองเทียบเท่าบุคคลระดับสูงท่านหนึ่งที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นผู้กุมอนาคตของประเทศไทย
     
       หลังการรัฐประหาร 2549 ใหม่ๆ ทักษิณพยายามจะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น แต่ก็ต้องล้มเลิกไปเพราะขาดการสนับสนุนจากนานาชาติโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แต่สหรัฐฯ ก็ได้มีมาตรการบางอย่างตอบโต้ประเทศไทยเพื่อรักษาหน้าของตนเองต่อชาวโลกว่าไม่สนับสนุนการรัฐประหาร
     
       เมื่อทักษิณ ชินวัตรถูกพิพากษาให้จำคุกและแปลสภาพเป็น นักโทษชาย ในช่วงแรกสหรัฐฯ ก็ให้ความร่วมมือกับประเทศไทยโดยไม่ให้วีซ่าทักษิณเข้าประเทศ แต่จุดยืนของสหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนแปลง เมื่อสหรัฐฯ เริ่มมองว่าจะใช้ประเทศไทยเป็นเครื่องมือทางทหารและการรบให้กับสหรัฐฯ และประสงค์ที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย
     
       ด้วยข้อมูลทางการเมืองไทยที่สหรัฐฯ รวบรวมมาเป็นเวลานานและสถานการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ทำให้สหรัฐสรุปว่าทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมบงการรัฐบาลและรัฐสภาของไทยอย่างเบ็ดเสร็จ สหรัฐฯ จึงเริ่มเปลี่ยนจุดยืนและท่าทีต่อทักษิณ ชินวัตร โดยเห็นว่าทักษิณและพรรคของเขาสามารถตอบสนองผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
     
       ถึงจุดนี้สหรัฐฯ จึงแสร้งทำเป็นลืมหลักการนิติรัฐ ลืมการเคารพกฎหมาย ลืมสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน และลืมการต่อสู้กับการก่อการร้าย ลืมการสร้างภาพให้ตนเองเป็นประเทศที่สูงส่งยึดมั่นในกฎหมายและหลักการประชาธิปไตย และลืมการทำตัวเป็นผู้พิทักษ์ความสงบสันติของโลก
     
       การมีคุณธรรม และความซื่อสัตย์ต่อหลักการที่ดีโดยไม่หวั่นไหวต่อผลประโยชน์เป็นสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ของคนทั่วไป แต่เมื่อใดที่สำนึกเหล่านี้ได้ถูกทำลายลงด้วยความกระหายหิวในผลประโยชน์อย่างไม่รู้ดีรู้ชั่ว ความเป็นมนุษย์ก็ลดระดับลง
     
       เหตุการณ์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้วีซ่าและยอมให้ทักษิณเข้าประเทศ จึงเป็นการเปลี่ยนสภาพกลุ่มผู้นำของสหรัฐอเมริกา จากมนุษย์ธรรมดาเป็นผีดิบซอมบี้ ที่มุ่งแต่กัดกินเลือดเนื้อของผู้คนตามสัญชาตญาณแห่งความป่าเถื่อนและหิวหระหาย
     
       คนไทยทั้งปวงจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับธาตุแท้ดั้งเดิมของสหรัฐให้กระจ่าง และพึงระมัดระวังในการคบหากับสหรัฐอเมริกา หากเรางมงายและคิดว่าสหรัฐฯ หวังดีกับเรา เราก็จะกลายเป็นเหยื่อของพวกเขาอย่างไม่รู้จักจบสิ้น





35 people like this. Be the first of your friends



จำนวนคนอ่าน 5539 คน จำนวนคนโหวต 45 คน


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ