ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

หากความเท็จถูกทำลาย ปลายทางของแกนนำแดงจะอยู่ในกรงขัง


หากความเท็จถูกทำลาย ปลายทางของแกนนำแดงจะอยู่ในกรงขัง

 ASTVผู้จัดการรายวัน 21 กันยายน 2555 18:23 น.




ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       เมื่อมนุษย์ได้อำนาจและผลประโยชน์มาจากความเท็จหรือการโป้ปดหลอกลวง พวกเขาก็ย่อมพยายามดำรงรักษาความเท็จอันนั้นเอาไว้เพื่อให้สถานภาพของตนเองมีความมั่นคง แต่พวกเขาก็จะมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวง ด้วยเกรงว่าวันใดวันหนึ่งความเท็จที่พวกเขาสร้างขึ้นจะถูกผู้คนเปิดโปงออกมา และหากวันนั้นมาถึงก็ย่อมส่งผลให้สถานภาพของพวกเขาสั่นคลอนและนำไปสู่การพังทะลาย
     
       การค้นหาความจริงเพื่อล้มล้างความเท็จหาใช่เรื่องที่กระทำได้โดยง่าย เพราะเมื่อผู้ใดกลุ่มใดสร้างความเท็จสำเร็จ จนทำให้มีอำนาจและความมั่งคั่งขึ้นมาได้แล้ว พวกเขาก็จะใช้กลยุทธ์หลากหลายทั้งความรุนแรงแข็งกร้าว ป่าเถื่อน ดุร้ายดุจสิงโตที่คอยข่มขู่ขย้ำสังหารเหยื่อ และความกลอกกลิ้ง เจ้าเล่ห์ เพทุบายดุจสุนัขจิ้งจอกเพื่อหลอกลวงผู้คนให้หลงงมงาย จมดิ่งลงไปสู่โคลนตมแห่งความเท็จที่พวกเขาสร้างขึ้นมา
     
       ในการทำให้ความเท็จมีความแข็งแกร่ง กลุ่มผู้สร้างความเท็จ ก็จะจัดตั้งเครือข่ายและกระบวนการสร้างความเท็จขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ในเครือข่ายของการสร้างความเท็จมีกลุ่มแกนนำหลายระดับ เพื่อแบ่งงานกันทำตามความถนัดและเชี่ยวชาญ
     
       การสร้างความเท็จอย่างเป็นระบบทำได้โดยการประดิษฐ์คิดสร้างเรื่องเล่า ซึ่งมักมีโครงเรื่องที่สำคัญสองแบบ คือ แบบแรกเป็นเรื่องเล่าที่มีโครงเรื่องอิงนิยายโบราณพื้นบ้าน และเแบบที่สองเป็นเรื่องเล่าที่มีเค้าโครงแบบการสร้างสังคมในอุดมคติ
     
       เค้าโครงของเรื่องเล่าในแบบแรกมีลักษณะทำนองว่า ตัวเอกที่ถูกอุปโลกน์ว่าเป็นคนดีปกครองบ้านเมืองอยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งอย่างมีความสุข ต่อมาตัวเอกถูกใส่ร้ายจากตัวอิจฉา จนทำให้ถูกขับไล่ไสส่งต้องระหกระเหินไปอยู่ในป่าหรือในต่างแดน ต่อมาเมื่อความเข้าใจผิดคลี่คลายลง หรือ ตัวอิจฉาตายและชาวบ้านชาวเมืองเรียกร้องให้ตัวเอกกลับมา ในท้ายที่สุดตัวเอกก็จะกลับสู่บ้านเมืองอย่างวีรบุรุษ
     
       ในสังคมไทยเรื่องเล่าทำนองนี้ถูกถ่ายทอดกันมาอย่างยาวนานจนเป็นความคุ้นเคยของชาวบ้านจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับชาวบ้านในการรับเรื่องเล่าทำนองนี้ ดังนั้นเมื่อกลุ่มแกนนำของลัทธิแดงทักษิณใช้เค้าโครงเรื่องเล่าแบบนี้เป็นแบบแผนในการสร้างความเท็จขึ้นมา พวกเขาจึงประสบความสำเร็จ
     
       เมื่อเราไปพุดคุยกับชาวบ้านที่หลงเชื่อลัทธิแดงทักษิณ เราจึงมักได้ยินเรื่องเล่าที่มีเค้าโครงเช่นนี้ออกจากปากชาวบ้านอยู่เสมอ นั่นคือ ทักษิณเป็นคนดี เอาเงินมาให้ชาวบ้าน ที่ต้องไปอยู่ต่างประเทศเพราะว่าถูกอำมาตย์อิจฉา รังแกและกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายจนทำให้ผู้คนเข้าใจผิด ดังนั้นในความเข้าใจของชาวบ้าน เรื่องราวความขัดแย้งในสังคมไทยที่เกิดขึ้นทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่อำมาตย์รังแกทักษิณนั่นเอง
     
       ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นส่วนหนึ่งของการอำนวยการผลิตซ้ำเรื่องเล่านี้อย่างกระตือรือร้น อย่างเช่น ในวันที่ 19 พ.ค. 2555 เขาได้พูดกับเหล่าสาวกลัทธิแดงผ่านวิดีโอลิงค์จากประเทศจีน ตอนหนึ่งว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นใน 6 ปีนี้ เกิดจากความเข้าใจผิด คนที่ต้องรักษากติกาเข้าใจผิด คิดว่าการกล่าวหาเป็นเรื่องจริง ก็ต้องเอาอกเอาใจทำตาม โดยไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง” อีกตอนหนึ่งก็ได้ย้ำอีกทีว่า “วันนี้ ความเข้าใจผิด ทั้งหลายต้องยุติ ต้องหันกลับมาว่าจะสร้างชาติ สร้างอนาคตลูกหลานอย่างไรมากกว่า” หรือ “ผมเป็นเหยื่อของการใส่ร้ายป้ายสี”
     
       การผลิตและการตอกย้ำเรื่องเล่าแบบนี้อย่างสม่ำเสมอของกลุ่มลัทธิแดง ทำให้ความเท็จเรื่องนี้ตกผลึกและเกาะติดอยู่ในระดับจิตไร้สำนึกของชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่ความเท็จลงลึกไปสู่ระดับนี้ การที่จะทำให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงความเชื่ออันเป็นเท็จเหล่านี้เป็นเรื่องที่กระทำได้ค่อนข้างยาก นอกจากจะมีเรื่องเล่าใหม่ที่ทรงพลังมากกว่า และมีกระบวนการผลิตซ้ำด้วยรูปแบบและความถี่หลากหลายกว่าเข้าไปทดแทน
     
       เรื่องเล่าแบบที่สองเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับการสร้างสังคมในอุดมคติซึ่งมีรากฐานจากความเชื่อทางศาสนาพุธที่อิงกับสังคมยุคพระศรีอาริยเมตไตรย์ เรื่องเล่าทำนองนี้มีแบบแผนว่า เมื่อสังคมเกิดกลียุค ชาวบ้านถูกผู้ปกครองกดขี่รังแก จนประสบกับความยากจน ทุกข์ยากข้นแค้นแสนสาหัส ก็จะมีผู้มีบุญหรือผีบุญปรากฎตัวขึ้นมาเป็นผู้นำชาวบ้านเพื่อจัดการกับผู้ปกครอง และสร้างสังคมที่อุดมสุขขึ้นมา
     
       กลุ่มแกนนำลัทธิแดงสร้างเล่าทำนองนี้ขึ้นมา โดยมีเนื้อหาอย่างสังเขปว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำ มีคนยากจนและไพร่เป็นจำนวนมาก มีการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานอย่างไม่เป็นธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตย ปัญหาทั้งหลายเกิดจากการที่ประเทศปกครองด้วยระบอบอำมาตย์ ประชาชนจึงต้องต่อสู้เพื่อโค่นล้มอำมาตย์ และในการต่อสู้นั้นจะใช้แนวทางสันติวิธีเพื่อสร้างประชาธิปไตยขึ้นมา
     
       เมื่อแกนนำลัทธิแดงสร้างเรื่องเล่าแบบนี้ขึ้นมา พวกเขาก็ทำตัวเป็นผีบุญ ประกาศเป็นนักสู้เพื่อคนจนและเพื่อประชาธิปไตย และใช้เรื่องเล่านี้ในการปลุกระดมผู้คนที่มีจิตใจสับสนให้หลงเชื่อและออกมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองแก่พวกเขา โดยจัดให้มีการชุมนุมทางการเมืองอย่างยืดเยื้อยาวนานเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่เป็นปรปักกษ์กับพวกเขา แกนนำลัทธิแดงจัดชุมนุมใหญ่ทางการเมืองสองปีติดต่อกัน ปีแรกใน พ.ศ. 2552 และต่อมาใน พ.ศ.2553
     
       ใน พ.ศ. 2552 การชุมนุมทางการเมืองของลัทธิแดงประสบความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ถูกฝ่ายรักษาความสงบสลายการชุมนุมโดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ ซึ่งต่อมาบรรดาแกนนำของลัทธิแดงก็ได้สรุปบทเรียนว่า การชุมนุมโดยใช้สันติวิธีเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่ทำให้เกิดชัยชนะขึ้นมาได้ เพราะหากฝ่ายรักษาความสงบไม่ใช้ความรุนแรงในการปราบปราม ก็จะทำให้รัฐบาลสามารถมีความชอบธรรมทางการเมืองในการบริหารประเทศได้ต่อไป หากจะให้บรรลุชัยชนะทางการเมืองจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การต่อสู้
     
       แผนการชั่วร้ายจึงถูกกำหนดขึ้นมาทำหรับการชุมนุมในปีถัดไป แผนนี้เรียกว่า “แผนยุทธศาสตร์เชิงซ้อน” โดยกำหนดให้มีแกนนำหลักสองชุด แกนนำแดงชุดแรกเป็นแกนนำชุดเปิด ที่เรียกว่า “นปช.” ทำหน้าที่ปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อ สร้างเรื่องเล่าเรื่องเท็จอย่างซ้ำซาก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ได้ว่า การ ชุมนุมทางการเมืองของลัทธิแดงเป็นไปอย่างสงบ สันติ เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ส่วนแกนนำแดงอีกชุดเป็น “ชุดปิดลับ” ทำหน้าที่ในการปฏิบัติการณ์สร้างความรุนแรงและก่อการร้ายซึ่งใส่ “ชุดดำ” เป็นชุดปฏิบัติการณ์ โดยยั่วยุให้ฝ่ายรักษาความสงบใช้การตอบโต้อย่างไม่จำแนก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการใช้ชีวิตคนเป็นบันไดสู่อำนาจ
     
       แผนการร้ายนี้ได้ผลเพราะการชุมนุมครั้งนั้นทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของคนจำนวนมากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และสาวกลัทธิแดง และในท้ายที่สุดแกนนำของลัทธิแดงก็อาศัยการบาดเจ็บล้มตายของผู้คน และการเผาบ้านทำลายเมือง เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้พรรคการเมืองและกลุ่มของพวกเขายึดอำนาจรัฐได้สำเร็จในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554
     
       เมื่อยึดอำนาจรัฐได้แล้วพวกเขาก็พยายามปกปิดกลบเกลื่อนความชั่ว และความเท็จในการใช้ความรุนแรงและใช้ชีวิตผู้คนเป็นบันไดสู่อำนาจที่ตนเองกระทำเอาไว้ระหว่างการชุมนุม โดยปฏิเสธการดำรงอยู่ของคนชุดดำ และตัดความสัมพันธ์กับแกนนำลัทธิแดงบางคนที่นิยมความรุนแรงว่าไม่ใช่พวกตน แกนนำผีบุญด้านเปิดของลัทธิแดงทั้งหมดฏิเสธการดำรงอยู่ของคนชุดดำอย่างแข็งขัน แต่บุคคลที่ปรากฏในหน้าสื่อสาธารณะมากที่สุดคือ นายเหวง โตจิราการ และนายเฉลิม อยู่บำรุง
     
       แต่เมื่อความเท็จที่บรรดาผีบุญเสื้อแดงเหล่านี้สร้างขึ้นมาถูกเปิดเผยจากการศึกษาสำรวจอย่างเป็นระบบของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า ในการชุมนุมของลัทธิแดงมีการดำรงอยู่ของกลุ่มชายเสื้อดำซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงและสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐตลอดจนประชาชนจริง และกลุ่มบุคคลเหล่านี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับแกนนำลัทธิแดงบางคนจริง
     
       ด้วยความหวาดกลัวที่จะสูญเสียสถานภาพและอำนาจของตนเอง แกนนำลัทธิแดงเหล่านั้นจึงออกมาตอบโต้ คอป. อย่างรุนแรง และทำการฉีกรายงาน คอป.อันเป็นทรัพย์สินที่มาจากภาษีของประชาชน
     
       ยิ่งความจริงถูกเปิดเผยออกมามากเท่าไร ความเท็จที่แกนนำลัทธิแดงสร้างขึ้นมาก็จะคลอนแคลนมากขึ้นเท่านั้น แม้ว่าจะมีเครือข่ายและระบบอำนาจที่แข็งแกร่งปานใด แต่ความเท็จไม่มีทางที่จะดำรงอยู่ได้นาน และเมื่อถึงวันนั้น แกนนำลัทธิแดงทั้งหลายก็อาจหาแผ่นดินอยู่ไม่ได้ นอกจากในห้องสี่เหลี่ยมที่ล้อมรอบด้วยลูกกรง


จำนวนคนอ่าน 4720 คน

คิด ไปเองสาโรจน์ ขอเป็นข้ารองพระบาท ทุกชาติไป and 28 others like this

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ