ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

4 นิสัยถาวรของแกนนำเสื้อแดง


4 นิสัยถาวรของแกนนำเสื้อแดง

 ASTVผู้จัดการรายวัน 7 กันยายน 2555 17:17 น.




ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       ในยามที่มนุษย์มีอำนาจ นิสัยความร้ายกาจที่เคยเก็บกดเพื่อบดบังสายตาผู้คนและสร้างภาพลักษ์ฉาบไว้ที่เปลือกนอกก็จะถูกกระเทาะออกมา เพราะมนุษย์จำนวนมากคิดว่าอำนาจที่ตนเองครอบครองจะสามารถปกป้องตนเองจากการกระทำที่ผิดกฎหมายและหลักคุณธรรมได้ แต่นั่นเป็นเพียงการหลงผิดอย่างงายประการหนึ่งเท่านั้นเอง
     
       ผมได้ติดตามดูอุปนิสัยและพฤติกรรมของบรรดาแกนนำเสื้อแดงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่ทักษิณ ชินวัตร เหวง โตจิราการ และคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่อยู่ในขบวนการเสื้อแดง พบว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้มีอุปนิสัยถาวรร่วมกันอย่างน้อย 4 ประการดังนี้
     
       ประการแรก อำมหิตเลือดเย็น อุปนิสัยนี้สะท้อนออกมาภายใต้ความคิดและพฤติกรรมที่ยึดเป้าหมายโดยไม่สนใจความชอบธรรมวิธีการ เมื่อคนกลุ่มนี้มีการกำหนดเป้าหมายอะไร พวกเขามีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการทุกประเภท เพื่อให้เป้าหมายที่ตนเองต้องการบรรลุให้ได้ โดยไม่คำนึงว่าวิธีการนั้นจะถูกต้องตามคำนองคลองธรรมหรือจะสร้างความเสียหาย ทำลายชีวิตผู้คนและสังคมมากน้อยเพียงใดก็ตาม ไม่ก็ตาม เช่น การใช้กำลังบุกทำลายการประชุมสุดยอดผู้นำอาเชียน ปี 2552 จนภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายกระทบต่อเศรษฐกิจของประชาชนอย่างมหาศาล หรือ การชุมนุมแบบรุนแรงในปี 2553 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จนเป็นเหตุให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียชีวิตหลายสิบคนและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก
     
       แกนนำเหล่านี้ใช้ชีวิตของประชาชนเป็นเครื่องมือเพื่อให้ตนเองบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ไม่มีความสำนึกผิดต่อการกระทำของตนเอง เห็นความทุกข์หรือความเจ็บปวดของคนอื่นเป็นเรื่องปกติ และเมื่อได้อำนาจแล้วก็เสวยสุขแบ่งปันผลประโยชน์ในกลุ่มระดับนำ ร่ำรวย อยู่อย่างสุขสบาย ทอดทิ้งบรรดาคนที่พวกเขาหลอกใช้ให้จมอยู่ในทะเลของความทุกข์ยาก จนกระทั่งพวกเดียวกันเองบางส่วนก็ทนไม่ได้กับพฤติกรรมของบรรดาแกนนำเหล่านั้นและออกมาวิพากษ์วิจารณ์สาวไส้กันเองให้สังคมได้เห็นเป็นระยะๆ
     
       ความอำหิตเลือดเย็นนี้เป็นนิสัยถาวรของแกนนำเสื้อแดง โดยเฉพาะหัวโจกใหญ่ที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นอาชญากรหนีคุก ผู้ใช้อิทธิพลเถื่อนนอกระบบกำหนดบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ทำให้ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่โง่เขลาเบาปัญญามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบุคคลที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน และผลจากการมีนายกรัฐมนตรีแบบนั้นทำให้ประเทศไทยประสบกับความเสียหายหายนะอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน ทั้งในด้านการต่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา
     
       ประการที่สอง โกหกหลอกลวง เจ้าเล่ห์เพทุบาย บรรดาแกนนำเสื้อแดงเป็นพวกที่ชอบปั้นน้ำเป็นตัว สร้างเรื่อง โกหกประชาชนอยู่เป็นเนืองนิจ ดังเช่นปั้นเรื่องหลอกลวงคนเสื้อแดงว่าประเทศไทยปัจจุบันยังมีระบบไพร่และอำมาตย์ ทั้งยังใส่ร้ายป้ายสีว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเกิดจากอำมาตย์ ทั้งที่ความเป็นจริงในปัจจุบันนั้น กลุ่มที่เป็นปัญหาและสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมคือกลุ่มทุนสามานย์ทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มทุนสามานย์ที่เป็นแกนนำพวกเสื้อแดงซึ่งทุจริตฉ้อฉลปล้นภาษีของประชาชนเข้ากระเป๋าของตนเองอย่างขาดความละอาย
     
       การโกหกหลอกลวงกระทำอย่างซ้ำซากในทุกเรื่องที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา เช่น การเสียชีวิตของ ประชาชนในการชุมนุมเผาเมืองปี 2553 ก็ปั้นน้ำเป็นตัวว่าอำมาตย์สั่งฆ่า ทั้งที่ความตายของบางคนที่เกิดขึ้นมีการพิสูจน์ชัดในระดับหนี่งแล้วว่าเกิดจากกลุ่มคนสื้อแดงที่แปลงกายเป็นคนชุดดำนำอาวุธเข้ามาทำร้ายพวกเดียวกันเองเพื่อสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงขึ้นมา และจะได้ใช้ชีวิตของคนเสื้อแดงเป็นเครื่องมือในการทำลายปรปักษ์ทางการเมืองของตนเอง
     
       หรือในปี 2554 ก็ปั้นเรื่องขึ้นมาว่าเกิดจากอำมาตย์สั่งให้ปล่อยน้ำเพื่อล้มรัฐบาลเสื้อแดง ทั้งที่ในความเป็นจริงก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่มีศักยภาพ ปัญญาและความสามารถเพียงพอในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ จนกระทั่งเกิดเป็นมหาอุทกภัยสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและชีวิตผู้คนอย่างนับไม่ถ้วน
     
       การโกหกหลอกลวงของแกนนำเสื้อแดงยังมีอีกหลายเรื่อง จนไม่อาจจาระไนได้หมด แต่สำหรับผู้ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมือง มีสติปัญญาและสำนึกความถูกผิดอยู่บ้าง ก็จะทราบว่า การโกหกคือวิถีคิดหลัก และการดำรงตนเป็นมนุษย์สองหน้าคือวิถีปฏิบัติหลักของบรรดาแกนนำเสื้อแดง
     
       ประการที่สาม โยนผิดให้พ้นตัว โยนชั่วใส่คนอื่น นิสัยนี้ของพวกแกนนำเสื้อแดงนิยมทำกับพวกเดียวกันเอง กล่วคือเมื่อมีพวกเสื้อแดงกระทำการรุนแรง ทั้งการทำร้ายผู้อื่นจนบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต หรือข่มขู่คุกคามบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขา เช่น การทุบรถนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การทำร้ายนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ การบุกยิงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สนามบินเชียงใหม่ การบุกทำร้ายประชาชนที่อุดรธานี เป็นต้น พวกแกนนำเสื้อแดงก็จะออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบว่าไม่เกี่ยวกับตนเอง ตนเองไม่ได้เป็นผู้ทำ ทั้งที่บรรดาแกนนำเหล่านี้คือผู้ฉีดเชื้อโรคแห่งความรุนแรงเข้าไปในจิตใจของเหล่าสาวก เมื่อบรรดาสาวกเสื้อแดงรับเชื้อแห่งความเกลียดชังและรุนแรงเข้ามาแล้ว ก็แสดงออกมาเป็นพฤติกรรม หากบรรดาแกนนำไม่ใส่เชื้อแห่งความรุนแรงเข้าไป ไหนเลยจะเกิดเรื่องราวเหล่านั้นขึ้นมาได้
     
       ล่าสุดเมื่อมี ส.ส. ฝ่ายค้านนำหลักฐานว่ามีคนเสื้อแดงที่แปลงร่างเป็นคนชุดดำซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างความรุนแรงมากที่สุดให้กับแกนนำเสื้อแดงอย่างนายเหวง โตจิราการ ดู สิ่งที่สังคมเห็นก็คือ การปฏิเสธอย่างแข็งขันของนายเหวง ว่าไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ว่ามีชายชุดดำ รวมทั้งปฏิเสธว่า เสธแดง ผู้เป็นการ์ดคนสำคัญในการชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้นไม่ใช่ “คนเสื้อแดง” นายเหวง ลองไปถามมวลชนเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุมเผาบ้านเผาเมืองเมื่อปี 2553 หรือลูกสาวเสธแดงที่เป็น ส.ส. หรือ นายเหนือหัวของตัวเองที่อยู่ในต่างประเทศ ดูสิว่า เสธแดง เป็นเสื้อแดงหรือไม่ เผื่อปัญญาในการรับรู้ความเป็นจริงจะได้ขยายมากขึ้น
     
       พวกแกนนำเสื้อแดงจึงเป็นกลุ่มที่มีความถนัดในการ “ชงความผิดให้คนอื่น” รวมทั้งการ “ถีบหัวเรือส่ง” บรรดากลุ่มคนที่พวกเขาเห็นว่าเป็นภาระหรือกระทบต่อผลประโยชน์ ทั้งนี้เพราะหัวโจกของพวกเขาทำตัวเป็นแบบอย่างให้เห็นคราวที่จะผลักดันให้มีการแก้กฎหมายล้างผิดตนเองเข้าสภาผู้แทนราษฎรเมื่อต้นปี 2555 แล้ว พฤติกรรมนี้จึงกลายเป็นตัวแบบให้แกนนำเสื้อแดงคนอื่นๆนำไปปฏิบัติตามกันอย่างถ้วนหน้า
     
       ประการที่สี่ การลุแก่อำนาจ ละเมิดกฎหมาย ไม่ยินยอมปฏิบัติตามบรรทัดฐานสังคม บรรดาแกนนำเสื้อแดงเหล่านี้ไม่แยแสกฎหมายและบรรทัดฐานต่างๆของสังคมแม้แต่น้อย ตั้งแต่หัวโจกใหญ่จนไปถึงลิ่วล้อ ใช้อำนาจรัฐแบบเถื่อนๆบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม เอาหลักฐานเกี่ยวกับความผิดของตนเองหรือลูกน้องตนเองออกจากสำนวนฟ้องบ้าง หรือ สั่งไม่ฟ้องบ้าง อีกทั้งไม่ยอมรับอำนาจศาล มีการกระทำความผิดซ้ำซาก และใช้อำนาจจากการซื้อเสียงมาล้างความผิดของตนเอง
     
       หากองค์กรใดในสังคมจะวินิจฉัยว่าแกนนำเหล่านี้มีความผิด พวกเขาก็จะมีการส่งสัญญาณให้บรรดาสาวกเสื้อแดงออกมาอาละวาดกดดัน จนบรรดาองค์กรเหล่านั้นเกิดความหวาดกลัว และต้องตัดสินวินิจฉัยตามความต้องการของแกนนำเสื้อแดง
     
       ส่วนเสื้อแดงบางคนที่เป็นข้าราชการตำรวจ ก็นำรูปของหัวโจกแดงผู้เป็นอาชญากรหนีคุกแขวนไว้ในห้องตนเอง ให้อาชญากรติดดาวแก่ตัวเอง เขียนในห้องว่า “ตำแหน่งนี้ได้มาเพราะพี่ให้” อันเป็นพฤติกรรมที่ไม่สนใจไยดีต่อบรรทัดฐานของสังคมแม้แต่น้อย ไม่สนใจว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)ต้องเสื่อมเสียหรือตกต่ำอย่างไรในสายตาของคนในสังคมและชาวโลก นานาชาติคงตกตะลึงไปตามกัน หากทราบข่าวว่า ตำรวจไทยระดับผู้บัญชาการเทิดทูนอาชญากรไว้เหนือหัว และนำภาพอาชญากรที่ติดดาวแก่ตนเองไว้ในห้องทำงานอันเป็นสถานที่ราชการ อย่างนี้ความเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ของสตช.ยังคงมีหลงเหลืออยู่อีกหรือ
     
       บ้านเมืองยามนี้ เมื่อกลุ่มเสื้อแดงได้ครอบครองอำนาจรัฐตามความปรารถนาแล้ว พวกเขาก็แสดงนิสัยถาวรเหล่านี้ออกมาบ่อยครั้งมากขึ้น ความอำมหิตเลือดเย็นก็ถูกแสดงออกมาในหลายวาระหลายโอกาส การโกหกหลอกลวงก็ยิ่งขยายตัวออกไปจนระบาดเข้าไปสู่รัฐมนตรีบางคนที่ไม่ใช่แกนนำเสื้อแดง แต่อยู่ใกล้ชิดกับแกนนำเสื้อแดง การโยนความผิด ตัดตอน ทอดทิ้งพวกเดียวกันเองเพื่อให้ตนเองเสวยสุขในอำนาจและตำแหน่งก็ยิ่งมีความชัดเจน และการลุแก่อำนาจ ไม่สนใจกฎหมายและบรรทัดฐานสังคม ก็กลายเป็นวิถีการปฏิบัติที่แพร่ระบาดอย่างหนักตั้งแต่ระดับแกนนำ จนไปถึงระดับมวลชนเสื้อแดง
     
        อำนาจโดยตัวมันเองอาจไม่ใช่สิ่งที่ชั่วร้ายเสียทั้งหมด แต่หากใคร กลุ่มใดใช้อำนาจในทางที่ผิดและฉ้อฉล ตามอุปนิสัยดั้งเดิมของตนเองมากเท่าไร ก็จะทำให้เหตุผล สติ ปัญญา และความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้อำนาจลดลงมากเท่านั้น และจะทำให้สังคมแตกแยก ขัดแย้ง และประสบกับหายนะในที่สุด ดังที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้

จำนวนคนอ่าน 6964 คน

30 people like this. Be the first of your friends.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ