ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

กระบวนการสร้างเหตุผลและพฤติกรรมรวมหมู่ที่อันตราย


กระบวนการสร้างเหตุผลและพฤติกรรมรวมหมู่ที่อันตราย

 ASTVผู้จัดการรายวัน 27 กรกฎาคม 2555 20:47 น.




ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       ในบางครั้งเมื่อมนุษย์ได้กระทำพฤติกรรมบางอย่างลงไปที่อาจขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมของตนเอง หรือขัดแย้งกับบรรทัดฐานของสังคม หรือขัดแย้งกับหลักจริยธรรม มนุษย์ก็พยายามสร้างความเชื่อขึ้นมาชุดหนึ่งขึ้นมาอธิบายพฤติกรรมของตนเอง เพื่อทำให้ตนเองสบายใจ หรือได้รับความเห็นใจ ยอมรับ และชื่นชมจากสังคม เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น “กระบวนการสร้างเหตุผล” (rationalization)
     
        กระบวนการสร้างเหตุผลเป็นกลไกในการปกป้องตนเองของมนุษย์ที่ส่งเสริมให้พฤติกรรมที่ไร้เหตุผลและไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคมแพร่ขยายออกไป กระบวนการนี้มีขอบเขตกว้างขวางตั้งแต่การกระทำแบบรู้ตัวเพื่อปกป้องตนเองจากการวิจารณ์ของผู้อื่น จนไปถึงการกระทำที่ไม่รู้ตัวอันเกิดจากจิตใต้สำนึกเพื่อสร้างกำแพงปิดกั้นความรู้สึกผิดของตนเอง
     
        ในทางการแพทย์เมื่อแพทย์ผู้หนึ่งกระทำความผิดพลาดในการรักษาผู้ป่วย จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เขาก็จะสร้างเหตุผลขึ้นมาว่า “จะรายงานความผิดพลาดนี้แก่ผู้บังคับบัญชาหรือจะเปิดเผยให้ญาติผู้ป่วยทราบทำไม เพราะถึงอย่างไรผู้ป่วยก็ตายไปแล้ว และการเปิดเผยอาจทำให้โรงพยาบาลเสื่อมเสียชื่อเสียงอีกด้วย”
     
        กระบวนการสร้างเหตุผลแบบนี้เป็นไปเพื่อปกปิดความผิดพลาดของตนเอง นอกจากแพทย์ไม่ถูกตำหนิจากผู้อื่นแล้ว ยังไม่ต้องรับผิดใดๆ รวมทั้งยังเป็นการหลอกจิตใจของตัวเองไม่ให้เกิดความรู้สึกผิดที่ตนเองเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต บางกรณีแพทย์อาจให้เหตุผลโดยไปโทษผู้ป่วย อธิบายว่าความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะผู้ป่วยปฏิบัติตัวไม่ดีไม่ทำตามที่แพทย์แนะนำ ทั้งที่สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากการที่แพทย์วินิจฉัยโรคผิดพลาด และให้การรักษาผิดพลาดจนทำให้ผู้ป่วยซึ่งมีอาการไม่รุนแรงมากนักในตอนเริ่มเข้าโรงพยาบาล กลับทรุดตัวลงเมื่อเข้าไปรักษาในโรงพยาบาล
     
       มาร์ติน ลูเธอร์ คิง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของคนผิวดำชาวอเมริกา กล่าวไว้ว่า “เป็นความจริงของชีวิตว่ามนุษยชาติไม่สามารถกระทำผิดได้อย่างต่อเนื่องโดยปราศจากการสร้างเหตุผลขึ้นมาปกคลุมการกระทำของตนเอง”
     
        กล่าวอีกนัยหนึ่งยิ่งมีกระบวนการสร้างเหตุผลมากเท่าไร โอกาสที่จะทำให้มนุษย์กระทำผิดซ้ำซากก็จะมีมากยิ่งขึ้น
     
       กระบวนการสร้างเหตุผลมิได้เกิดขึ้นเฉพาะระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น หากแต่ยังเกิดขึ้นในระดับกลุ่มคนและสังคมอีกด้วย พฤติกรรมเหมือนกันที่เกิดขึ้นระดับกลุ่มคนเราเรียกว่าเป็น “พฤติกรรมรวมหมู่” กระบวนการสร้างเหตุผลของพฤติกรรมรวมหมู่เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกระทำพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง พวกเขาก็ใช้กระบวนการสร้างเหตุผลอันเป็นความเชื่อชุดหนึ่งหรืออาจหลายชุดขึ้นมารองรับการกระทำนั้นๆของกลุ่มตนเอง โดยส่วนใหญ่พฤติกรรมที่รุนแรงมักจะมีการประดิษฐ์ถ้อยคำอันสวยหรูที่บรรจุชุดของความเชื่อเพื่ออธิบายสร้างความชอบธรรมแก่พฤติกรรมดังกล่าว และยังใช้เพื่อปกปิดแรงปรารถนาแห่งผลประโยชน์ และสัญชาติญาณดั้งเดิมในอีกทางหนึ่ง
     
        กระบวนการสร้างเหตุผลรวมหมู่มีความคล้ายคลึงกับภาพลวงตาทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นมาจากแรงปรารถนาของผู้คนในสังคมนั้น ภาพลวงตาทางสังคมเป็นเงื่อนไขให้พฤติกรรมที่ไร้คุณธรรมและไม่สมเหตุสมผลจำนวนมากแพร่กระจายและถูกนำไปปฏิบัติในสังคมเสมือนว่าเป็นเรื่องปกติ เช่น การที่สังคมไทยยอมรับพฤติกรรมการทุจริตของนักการเมือง เพราะมีกระบวนการสร้างเหตุผลว่าการทุจริตทำให้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองและประชาชนได้รับประโยชน์การการทุจริต สิ่งที่ตามมาคือทำให้การทุจริตแพร่กระจายออกไปทั่วทุกองค์การของภาครัฐและเอกชน
     
        ผลลัพธ์ของการใช้กระบวนการสร้างเหตุผลรวมหมู่ย่อมทำให้สมาชิกสถาบันทางสังคมมีความเชื่อว่าพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของตนเองเป็นเรื่องปกติหรือเป็นพฤติกรรมที่ควรได้รับการส่งเสริม พวกเขาจะไม่รู้สึกผิดใดๆกับการแสดงพฤติกรรมเหล่านั้น เมื่อสมาชิกสถาบันทางสังคมแสดงบทบาทและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมากขึ้นเรื่อยๆ สถาบันนั้นก็จะเกิดการสั่นคลอนเพราะสมาชิกอื่นๆของสังคมขาดความเชื่อถือไว้วางใจ
     
        กลุ่มที่แสดงพฤติกรรมรวมหมู่อย่างน่าสนใจในสังคมไทยมีสามกลุ่มคือ กลุ่มนักการเมืองพรรคเพื่อไทย กลุ่มข้าราชการตำรวจ และกลุ่มลัทธิแดง
     
        กลุ่มนักการเมืองพรรคเพื่อไทยทั้งที่เป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้แสดงพฤติกรรมรวมหมู่ซ้ำซากซึ่งไม่สอดคล้องกับจารีตประเพณีในระบอบ ประชาธิปไตยหลายพฤติกรรม กรณีสมาชิกฝ่ายบริหารหรือรัฐมนตรีจะประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีตามวาระประจำของคณะรัฐมนตรีอันเป็นประเพณีเท่านั้น ส่วนการตัดสินใจทางการเมืองและนโยบายที่สำคัญอื่นๆ พวกเขาเข้าไปปรึกษาหารือ รับคำแนะนำ หรือคำสั่งจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีน้อยมาก แต่พวกเขากลับเดินทางไปต่างประเทศเพื่อรับคำชี้แนะจาก ทักษิณ ชินวัตร นักโทษอาญาหนีคดีแทน
     
        พฤติกรรมที่รัฐมนตรีอันเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องไปพบปะกราบกรานของตำแหน่งหรือรับคำสั่งจากนักโทษหนีคดีนั้นเป็นพฤติกรรมที่ประหลาดพิกล เป็นพฤติกรรมที่พบหาได้ยากในประชาคมโลกเพราะนอกจากประเทศไทยแล้ว คงแทบจะไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่รัฐมนตรีมีพฤติกรรมเช่นนี้
       ในระหว่างการเดินทางไปพบนักโทษหนีคดี พวกเขาบางคนบอกว่าไปเยี่ยมในฐานะคนที่เคารพนับถือ บางคนบอกว่าบินไปในประเทศที่นักโทษหนีคดีอยู่จริง แต่ไม่ได้ไปพบ บางคนก็บอกว่าแค่แวะไปรับประทานอาหารด้วยเท่านั้น สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่บรรดารัฐมนตรีผู้ไปพบนักโทษหยิบยกขึ้นมาอ้างต่อสาธารณะเพื่ออธิบายพฤติกรรมอันพิกลของพวกเขา
     
        ผลที่ตามมาจากพฤติกรรมรวมหมู่ของคณะรัฐมนตรีไทยย่อมทำให้นานาประเทศเสื่อมความไว้วางใจ และไม่เชื่อถือรัฐบาล ยิ่งกว่านั้นบางประเทศก็ยังแสดงอาการดูถูกดูหมิ่น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีของประเทศไทยอย่างออกนอกหน้า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้สถาบันฝ่ายบริหารเสื่อมเสียเกียรติภูมิลงไปแล้ว ยังทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยต้องแปดเปื้อนไปด้วยที่มีรัฐบาลอยู่ภายใต้การควบคุมและบงการของอาชญากร
     
        นอกจากฝ่ายบริหารแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติเสียงส่วนใหญ่ก็มีพฤติกรรมไม่แตกต่างกัน ดังหลักฐานที่ชัดเจนจากการพูดของประธานรัฐสภาเรื่อง การพ.ร.บ.ปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้สังคมทราบว่า การที่ฝ่ายนิติบัญญัติเสียงส่วนใหญ่ผลักดันสองเรื่องนี้เข้าไปพิจารณาในรัฐสภา ที่แท้เกิดจากการสั่งการของคนแดนไกล อันหมายถึงทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดี คนเดียวกันกับที่บงการรัฐบาลนั่นเอง
     
        พฤติกรรมรวมหมู่ที่พิกลนี้ไม่เพียงแต่จะจำกัดอยู่ในแวดวงนักการเมืองเท่านั้น กลับขยายไปสู่แวดวงข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจ เมื่อปรากฏเป็นข่าวในสื่อสาธารณะหลายแขนงว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติบินไปฮ่องกงเพื่ออวยพรวันเกิดทักษิณ ชินวัตร และยังมีข่าวว่านำบัญชีโยกย้ายข้าราชการไปให้ทักษิณ พิจารณา
     
        ลำพังการที่ ผบ.ตร. ไปพบอาชญากรหนีคดีเพื่ออวยพรวันเกิดก็เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขัดแย้งกับจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ และขัดแย้งกับจารีตประเพณีของสถาบันตำรวจทั้งในประเทศไทยและนานาชาติแล้ว หากข่าวที่ปรากฏออกมาเกี่ยวกับการนำบัญชีโยกย้ายตำรวจไปให้นักโทษหนีคดีพิจารณาเป็นจริง ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้สถาบันตำรวจต้องประสบกับความเสื่อมและตกต่ำลงไปอีก ไม่เพียงแต่ประชาชนชาวไทยเท่านั้นที่จะมองตำรวจ ด้วยสายตาระแวง กรณีที่เกิดขึ้นนี้คงจะทำให้ประชาคมโลกตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของตำรวจไทยมากยิ่งขึ้น
     
        ด้านพฤติกรรมรวมหมู่อันรุนแรงของกลุ่มลัทธิแดง นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆและมีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเผาบ้านเผาเมือง การทำร้ายประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากตนเอง การข่มขู่คุกคามศาล การข่มขู่และทำร้ายนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม พฤติกรรมเหล่านี้ของกลุ่มลัทธิแดงมีชุดของความเชื่อหลักที่คอยหล่อเลี้ยงสร้างความชอบธรรมคือ ความเชื่อเกี่ยวกับอำมาตย์และไพร่ ความเชื่อเกี่ยวกับสองมาตรฐาน ความเชื่อเกี่ยวกับการตายของผู้ชุมนุมในปี 2553 ความเชื่อเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และความเชื่อเกี่ยวกับเสียงส่วนใหญ่
     
        ภายใต้กระบวนการสร้างเหตุผลที่สร้างชุดของความเชื่อเหล่านี้ขึ้นมาทำให้กลุ่มมวลชนลัทธิแดงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงอย่างเปิดเผย ละเมิดกฎหมายเป็นประจำ ทำร้ายผู้คนอย่างป่าเถื่อนไม่ว่างเว้น และเรียกร้องผลประโยชน์จากรัฐอย่างไม่รู้จักพอ
     
        พฤติกรรมรวมหมู่ของลัทธิแดงทำให้ชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย ทำให้ระบบยุติธรรมและสถาบันตุลาการต้องสั่นคลอน ทำให้เกิดสภาพอนาธิปไตยในสังคม และทำให้ความรุนแรงแพร่ระบาดออกไปอย่างกว้างขวาง จนยากที่จะเยียวยาได้ในระยะเวลาอันสั้นๆ
     
        ที่น่าเป็นห่วงก็คือ กลุ่มต่างๆที่ผู้เขียนกล่าวถึงข้างต้นนั้น ล้วนแล้วเป็นกลุ่มที่มีพลังอำนาจและอิทธิพลในการใช้ทรัพยากร งบประมาณ บุคลากร กฎหมาย ตำรวจ และสื่อมวลชนเพื่อประดิษฐ์วาทกรรม อันเป็นกระบวนการสร้างเหตุผลและความเชื่อ เพื่ออธิบายสร้างความชอบธรรมแก่พฤติกรรมที่ประหลาดพิกลทั้งหลายที่ตอบสนองผลประโยชน์และแรงปรารถนาตามสัญชาติญาณดิบของพวกเขา
     
        และนี่เป็นเหตุให้พฤติกรรมรวมหมู่ที่พิกลของผู้คนในสังคมซึ่งขัดแย้งกับหลักคุณธรรม จริยธรรม กฎหมาย และบรรทัดฐานของสังคมแพร่ระบาดออกไปอย่างกว้างขวาง หากสภาพการณ์เช่นนี้ยังดำรงอยู่โดยไม่ได้รับการแก้ไข อนาคตของสังคมไทยคงจะมืดมนอนธกาลยิ่งกว่านี้


จำนวนคนอ่าน 2368 คน

18 people like this. Be the first of your friends

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั