ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พินิจขงจื่อ เหลียวดูสังคมไทย


พินิจขงจื่อ เหลียวดูสังคมไทย

 ASTVผู้จัดการรายวัน 14 กันยายน 2555 18:53 น.



ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับบุคคลต่างยุคต่างสมัย ชวนให้เข้าไปศึกษาวิเคราะห์ ข่าวนั้นเป็นเรื่องราวของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถูกเสนอชื่อเข้ารับรางวัลสันติภาพขงจื่อ รางวัลนี้มีที่มาอย่างไร เป็นรางวัลกำมะลอหรือไม่ จะไม่วิพากษ์วิจารณ์ในที่นี้ แต่ประเด็นที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังคือ หลักคิดเกี่ยวกับศิลปะทั้งหกของขงจื่อ มหาปราชญ์ชาวจีน ที่คำสอนมีอิทธิพลต่อทั้งการดำรงชีวิตของผู้คนและการบริหารบ้านเมืองมาเป็นเวลายาวนานสองพันกว่าปี และจากนั้นเราก็จะเหลียวกลับมาดูสังคมไทยทั้งในกลุ่มผู้ปกครองและสภาวะความเป็นไปของสังคมโดยรวม
     
       หนังสือภาษาไทยที่แปลหรือเขียนเรื่องราวอ้างถึงปรัชญา แนวคิด และแนวปฏิบัติของขงจื่อมีอยู่หลายเล่ม บางเล่มเขียนเกี่ยวกับคำสอนของขงจื่อโดยตรง บางเล่มก็เขียนเกี่ยวกับเรื่องอื่นแต่มีการอ้างอิงหลักการสำคัญของขงจื่อเอาไว้ มีอยู่เล่มหนึ่งได้อ้างอิงหลักการของขงจื่อไว้อย่างน่าสนใจคือ “ฉางต่วนจิง” เขียนโดย เจ้าหยุย และแปลโดยคุณอธิคม สวัสดิญาณ หนังสือเล่มนี้เป็นคัมภีร์โบราณสมัยราชวงศ์ถัง (พันกว่าปีมาแล้ว) เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของการบริหารปกครองของประเทศจีนซึ่งมีทั้งในภาคทฤษฎีและการวิเคราะห์เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
     
       ขงจื่อให้ความสำคัญกับการศึกษามาก ท่านเห็นว่าควรสอนศิลปะหกประการอันเป็นรากฐานแห่งความสุขสงบของสังคมซึ่งประกอบด้วย 1) จารีตวัฒนธรรมเพื่อใช้ในการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ 2) ดนตรี เพื่อใช้กล่อมเกลาอารมณ์ 3) คัมภีร์ (ประวัติศาสตร์)เพื่อใช้ชี้นำการปฏิบัติงาน 4) กวี เพื่อใช้สื่อเจตนาและแสดงความรัก 5) ปริวรรสูตร เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลง และ 6) ชุนชิวเพื่อใช้จำแนกมรรคาธรรม
     
       บุคคลที่ได้รับการกล่อมเกลาจากศิลปะหกประการอย่างสอดคล้องกลมกลืนและประสบความสำเร็จจะมีบุคลิกภาพ 6 ประการ ตามลำดับ 1) จารีตวัฒนธรรมเป็นบ่อเกิดของบุคลิกแบบสำรวม นอบน้อม หนักแน่นเยือกเย็น 2) ดนตรีจะนำไปสู่การมีจิตใจกว้างขวางและซื่อตรงดีงาม 3) ประวัติศาสตร์ จะสร้างความมีเหตุผล มีวิสัยท้ศน์กว้างไกล 4) กวี จะทำให้ผู้คนปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างอ่อนโยนจริงใจ 5) ปริวรรสูตรก่อเกิดความเรียบง่าย สามารถพินิจสรรพสิ่งอย่างละเอียดลึกซึ้ง และ 6) ชุนชิว(บันทึกพงศาวดารและปรากฎการณ์ธรรมชาติต่างๆ) จะทำให้เป็นบุคคลที่มีความเข้าใจความหมายของภาษา ถ้อยคำได้ง่าย พูดน้อยแต่ปณิธานยิ่งใหญ่
     
       ส่วนบุคคลที่ล้มเหลวจากการอบรมกล่อมเกลาจากศิลปะทั้งหกประการจะมีบุคลิภาพดังนี้
       1) จารีตล้มเหลวเป็นคนที่ไม่สนใจระเบียบ ชมชอบละเมิดกฎเกณฑ์ และนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวาย
       2) ดนตรีล้มเหลวเป็นคนฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มัวเมาในราคะ แสวงหาความสำราญตามแรงปรารถนา
       3) ประวัติศาสตร์ล้มเหลวเป็นคนวิสัยทัศน์แคบสั้น ไร้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ความคิดสับสน แข็งทื่อไม่อาจจัดการปัญหาแบบสร้างสรรค์ได้
       4) กวีล้มเหลวเป็นคนมุทะลุดุดัน อาจถึงขั้นโหดเหี้ยมอำมหิต
       5) ปริวรรตล้มเหลว เป็นคนหยาบกร้าน หูเบาเชื่อคนง่าย ซึ่งนำไปสู่การก่อภัยทำร้ายซึ่งกันและกันได้ง่าย
       6) ชุนชิวล้มเหลว เป็นคนที่มีความสับสนในมรรคธรรม ไม่อาจแยกแยะผิดถูก จริงหรือเท็จได้
     
       เมื่อพินิจสังคมไทยในยุคปัจจุบันเราจะเห็นภาพที่บ่งบอกถึงความล้มเหลวของการอบรมกล่อมเกลาในแทบทุกด้าน ผู้คนจำนวนมากมีบุคลิกและแสดงพฤติกรรมอันสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการกล่อมเกลาแต่ละด้านแตกต่างกันออกไป มากบ้าง น้อยบ้าง ลองมาดูตัวอย่างบุคคลเด่นดังบางคนของสังคมผู้ซึ่งทำหน้าที่บริหารประเทศว่าล้มเหลวในด้านใดบ้าง
     
       ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผู้บริหารสูงสุดของประเทศมีบุคลิกที่แสดงออกมาคือ ความฟุ่มเฟือย นิยมความสวยงามแต่งหน้า ทำผม ใส่เสื้อผ้าไม่เคยซ้ำกัน จิตใจคับแคบมุ่งสนใจแต่เรื่องส่วนตัวและครอบครัว มีแนวโน้มยึดผลประโยชน์ของพี่ชายและตระกูลมากกว่าประโยชน์ของสังคม มีความคลุมเครือในเรื่องความซื่อตรง ดังการแอบไปพบนักธุรกิจที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นซึ่งทำให้เกิดความสงสัยในเรื่องการทับซ้อนของผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม อีกทั้งยังละเลยไม่ค่อยเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่กล้าตอบกระทู้ถามสดด้วยตนเอง อันเป็นการแสดงออกถึงความคับแคบของจิตใจไม่ยอมรับฟังข้อมูลข่าวสารที่มิใช่คำเยินยอ บุคลิกและการกระทำของยิ่งลักษณ์ ในข้อนี้บ่งบอกว่าเธอประสบความล้มเหลวจากการกล่อมเกลาด้วยดนตรี
     
       เมื่อพิจารณาในเรื่องการปฏิบัติราชการ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเธอไร้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์เหตุการณ์ ไม่อาจตอบคำถามจำนวนมากได้ ไร้วิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหา นโยบายต่างๆล้วนแล้วแต่เล็งผลระยะสั้น ขาดสายตาที่ยาวไกล เช่น เรื่องการไม่เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน การขึ้นค่าแรง 300 บาท เป็นต้น ทั้งยังมีความคิดสับสน แข็งทื่อ ไม่อาจจัดการกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาอุทกภัยทั้งในปี 2554 และที่กำลังเกิดขึ้นในปี 2555ได้อย่างมีประสิทธิผล ประการนี้บ่งบอกว่า ยิ่งลักษณ์มีความล้มเหลวจากการอบรมกล่อมเกล่าประวัติศาสตร์ จึงไม่สามารถสรุปบทเรียนจากอดีต นำมาวิเคราะห์และใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในปัจจุบันและอนาคตได้
     
       สิ่งที่เธอกล่าวต่อสาธารณะได้ก็คือ ปัดความรับผิดชอบว่า น้ำท่วมจังหวัดสุโขทัยเป็นอุบัติเหตุ และ ร้อง ขอให้ประชาชนแจ้งข่าวเรื่องน้ำท่วมแก่รัฐบาล ทั้งที่สิ่งที่ควรจะเป็นคือ รัฐบาลต้องแจ้งข่าวสารเตือน ภัยแก่ประชาชน การร้องขอให้ประชาชนแจ้งข่าวน้ำท่วมแก่รัฐบาลจึงเป็นการบ่งบอกถึงความอับจนไร้สิ้น หนทางในการจัดการกับปัญหานั่นเอง
     
       ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรยังมีความสับสนในมรรคาธรรม ไม่สามารถทำความเข้าใจความหมายของถ้อยคำหรือเรื่องราวต่างๆได้กระจ่างชัดเจน อันนำไปสู่การไม่สามารถแยกแยะความผิดชอบ ชั่วดีได้ ดังที่เธอยอมให้ตนเองกลายเป็นหุ่นเชิดของพี่ชายผู้เป็นอาชญากรหนีคุก ละเลยไม่นำตัวอาชญากรผู้นั้นมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง ซ้ำยังทำหูไปนาเอาตาไปไร่ เมื่อมีผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารเดินทางไป พบอาชญากรหนีคุกในต่างประเทศ นอกจากไม่ห้ามปรามแล้ว ก็ยังไม่ยอมดำเนินการสอบสวนทางวินัยแก่ข้าราชการใต้สังกัดตนเองที่ประพฤติผิดระเบียบราชการเหล่านั้นอีกด้วย ทั้งยังไม่ใส่ใจตรวจสอบข่าวอื้อฉาวหลายเรื่องของผู้เป็นพี่สาวให้เกิดความกระจ่างแก่สาธารณะ เช่น การเข้ามาแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดิน และการแสวงหาผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐ เป็นต้น
     
       รวมทั้งการปล่อยปละละเลยไม่ห้ามปรามพฤติกรรมมุทะลุดุดัน หยาบกร้าน หยาบคาย หยาบช้า โหดเหี้ยมอำมหิต ไม่สนใจระเบียบกฎเกณฑ์ จารีตวัฒนธรรมของสังคมของกลุ่มคนเสื้อแดง ในการคุกคาม และทำร้ายบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นต่าง ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความสับสนในมรรคาธรรมอย่าง รุนแรงของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
     
       ส่วนอาชญากรผู้เป็นพี่ชายของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกลุ่มสาวกเสื้อแดงของเขานั้นได้แสดงพฤติกรรมที่บ่งบอกถึง “ความล้มเหลวอย่างกลมกลืนและสมบูรณ์แบบ” ของการอบรมกล่อมเกลาจากศิลปะทั้งหกด้านที่กล่าวมา พฤติกรรมที่สังคมเห็นและรับรู้จากการแสดงออกมาของคนเหล่านั้นมีหลายประการ เช่น การไม่สนใจระเบียบ กฎเกณฑ์ของสังคม ละเมิดกฎหมาย ไม่ยอมรับการตัดสินของศาลยุติธรรม (ไร้จารีตวัฒนธรรม) การฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มัวเมาในราคะ (ไร้ดนตรี) วิสัยทัศน์แคบสั้นมุ่งผลประโยชน์เฉพาะหน้าเพื่อตนเอง (ไร้ประวัติศาสตร์) มุทะลุดุดันโหดเหี้ยม (ไร้จิตแห่งกวี) หูเบา เชื่อง่าย ถูกจูงจมูกได้ง่าย (ไร้ปริวรรต) และ ไม่สามารถแยกผิดชอบชั่วดีได้ (ไร้มรรคาธรรม)
     
       เมื่อประเทศถูกปกครองและครอบงำด้วยบุคคลและกลุ่มบุคคลที่มีความล้มเหลวจากศิลปะทั้งหกประการที่กล่าวมาข้างต้น สังคมย่อมขาดความสอดคล้องกลมกลืน อันเป็นการฝืนวิถีแห่งธรรม ชะตากรรมของสังคมจึงผกผัน ปั่นป่วน วุ่นวาย หาความสงบสุขไม่ได้
     
       หากจะทำให้ชะตากรรมของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน จะต้องมีกลุ่มคนที่กอปรไปด้วยปัญญาชนผู้มีปัญญาธรรมทำหน้าที่ชี้นำทิศทาง สร้างวิสัยทัศน์ กำหนดยุทธศาสตร์ และวิถีการเปลี่ยนแปลงอันมีประสิทธิผล มีสัตตบุรุษวิญญูชนผู้มีจิตแห่งธรรม มีสัจจะ มีความกล้าหาญ เป็นที่ยอมรับของสามัญชนเป็นกลุ่มนำการเปลี่ยนแปลง และมีประชาชนผู้จิตสำนึกแห่งพันธกิจเป็นกำลังหลักขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หากเกิดพลังสามประสานนี้ขึ้นอย่างกว้างขวางและในปริมาณที่มากเพียงพอ ย่อมทำให้ภาวะไร้อารยธรรมค่อยๆถูกทดแทนด้วยศิลปะแห่งธรรมทั้งหกประการที่กล่าวมาข้างต้นในเวลาไม่ช้าไม่นานจนเกินไป

จำนวนคนอ่าน 2634 คน

Popo DedeTanawat Wongpromdej and 14 others like this.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั