ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เมื่อทักษิณหักหลังคนเสื้อแดง แรงตอบโต้จะเป็นอย่างไร


เมื่อทักษิณหักหลังคนเสื้อแดง แรงตอบโต้จะเป็นอย่างไร

 ASTVผู้จัดการรายวัน 25 พฤษภาคม 2555 18:14 น.




ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       ตอนแรกบรรดามวลชนเสื้อแดงทั้งหลายมีความเชื่ออย่างฝังแน่นจนงมงายและสร้างความฝันจินตนาการว่า ตนเองเป็นผู้มีฐานะทางประวัติศาสตร์ที่สูงส่ง มีส่วนร่วมอย่างยิ่งใหญ่ในการสร้างประชาธิปไตย สร้างความเป็นธรรม ทำให้ผู้คนตาสว่าง และโค่นล้มอำมาตย์ลงไปได้ แต่แล้วเมื่อได้ยินกับหู ได้ดูกับตา และได้รับการประเมินจากบุคคลที่พวกเขายกย่องเป็นผู้นำและเป็นวีรบุรุษประชาธิปไตยว่าแท้จริงแล้วพวกตนเองมีฐานะเป็นเพียงเป็นเพียงคนแจวเรือเท่านั้น วิมานที่วาดฝันเอาไว้ก็พังทลายลง กลับไปสู่โลกความเป็นจริงอันเจ็บปวด พวกเขาจะตอบโต้อย่างไรกับการถูกหักหลังเช่นนี้
     
       ภาวะแห่งความหลงฐานะตนเองในทางประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นได้เสมอสำหรับกลุ่มคนในสังคมเพราะผู้คนมักจะประเมินตนเองสูงกว่าความเป็นจริง เพื่อนำมาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจหรือปลอบใจกันเองในหมู่ตนเอง ความหลงตนเองทำให้มนุษย์อ่อนแอลง เพราะจิตมุ่งแต่ให้ความสำคัญตนเอง คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ผู้อื่นต้องเดินตามทิศทางที่ตนเองกำหนด ผู้หลงตนเองจึงละเลยการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และในที่สุดก็ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์หรือถูกผู้อื่นหลอกใช้เป็นเครื่องมือ
     
       มนุษย์ที่หลงตนเองจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตขุ่นเคืองใจกับสภาวะ หรือสิ่งของบางสิ่ง หรือใครบางคน เช่น ขุ่นเคืองกับสภาวะที่ตนเองต้องหนีโทษอาญาไปอยู่ต่างประเทศ เพราะหลงว่าตนเองมิได้กระทำผิด หรือขุ่นเคืองศาลยุติธรรมที่ตัดสินให้ตนเองรับโทษตามกฎหมายบ้านเมือง เพราะคิดว่าตนเองไม่ได้ความเป็นธรรม
     
       เมื่อเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งขึ้นภายในกลุ่ม หรือมีเรื่องที่ทำให้ตนเองต้องประสบปัญหา พวกหลงตนเองก็จะโทษผู้อื่นเพราะคิดว่าตนเองเป็นผู้ถูกต้องเสมอ ปรากฎการณ์ของกลุ่มเสื้อแดงที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงภาวะการหลงตนเองแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในบรรดาทั้งระดับแกนนำและมวลชน
     
       การพูดกับคนเสื้อแดงของทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2555 ที่ผ่านมา มีหลายประโยคหลายตอนที่สะท้อนภาวะการหลงตนเอง แม้แต่บรรดานักวิชาการเสื้อแดงก็ไม่อาจทนกับภาวะการหลงตัวเองแบบหลุดโลกของทักษิณได้อีกต่อไป จนต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
     
       ใจ อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า ทักษิณ อาศัยความคิดยึดติดความเป็นตัวตนของตนเอง (อีโก้) เพื่อบิดเบือนประวัติศาสตร์ของคนเสื้อแดงอย่างรุนแรง เพราะที่คนเสื้อแดงออกมาสู้กับทหารและประชาธิปัตย์ มีแรงจูงใจจากการที่พวกเขาต้องการสิทธิเสรีภาพในการเลือกรัฐบาลของตนเองโดยไม่มีการแทรกแซงจากทหาร เขาออกมาต่อสู้เพื่อยุติอำนาจมืดในสังคมของอำมาตย์ เขาต่อสู้เพื่อให้มีเสรีภาพในการพูดและเขียน และเพื่อให้ตนเองดำรงอยู่ในสังคมที่มีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและกฎหมาย รวมทั้งต้องการจะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แทนการเป็นไพร่
     
       ส่วนสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำเสื้อแดง ระบุว่า เสื้อแดงกำลังป่วยเป็นโรคเบื่อทักษิณ จุดอ่อนของ นปช. คือ แกนนำอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคเพื่อไทย และเพื่อไทยอยู่ใต้อิทธิพลของทักษิณ ส่วนจุดอ่อนของทักษิณคืออยู่ภายใต้อิทธิพลของตนเอง ความหมายที่สมบัติซ่อนไว้ไม่บอกมวลชนเสื้อแดงอย่างตรงไปตรงมาอย่าง ก็หมายถึงทักษิณ “หลงตัวเอง” นั่นเอง
     
       อันที่จริงผมคิดว่า นักวิชาการเสื้อแดงจำนวนหนึ่งก็ทราบดีอยู่แล้วว่าทักษิณหลงตัวเอง แต่ที่ผ่านมาพวกเขาปิดปากเงียบไม่วิพากษ์วิจารณ์ทักษิณมากนัก เพราะพวกเขาเองก็หลงตัวเองเฉกเช่นเดียวกับทักษิณ โดยคิดว่าตนเองเป็นผู้มีบทบาทชี้นำทางความคิดที่สำคัญ และคิดอาศัยทุนและมวลชนของทักษิณเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการทางการเมืองตามแนวทางที่พวกเขาต้องการ แต่เมื่อทักษิณ ประกาศความเป็นตัวตนออกมาชัดเจน พวกเขาก็ออกอาการที่เรียกว่า สุดจะทนกับทักษิณ อีกต่อไป
     
       สิ่งที่ทำให้บรรดานักวิชาการและนักเคลื่อนไหวมวลชนโกรธเคือง ทักษิณ มากคือ การที่ทักษิณต้องการความปรองดองและนิรโทษกรรมเพื่อให้ตนเองได้กลับประเทศไทยโดยไม่ต้องรับโทษใดๆ โดยแลกกับการยุบหรือยกเลิกมวลชนเสื้อแดงและให้เสื้อแดงลืมบุคคลที่พวกเขาคิดว่าเป็นฆาตกรและวีรชนของพวกเขา
     
       ประโยคเด็ดของทักษิณที่สร้างปัญหา คือ “พี่น้องแจวเรือพาผมถึงฝั่งแล้ว ผมไม่ลืมคนที่ช่วยมา แต่ตอนนี้ต้องเปลี่ยนไปขึ้นรถ พี่น้องจะแบกเรือขึ้นภูเขาทำไม ตอนนี้เหตุการณ์เปลี่ยน ขอให้เข้าใจว่าเราทำหน้าที่มาสุดทาง” การพูดเช่นนี้ของทักษิณ ก็เท่ากับว่า การต่อสู้ของเสื้อแดงที่ผ่านมานั้น ทักษิณมองว่าเป็นการต่อสู้เพื่อตัวทักษิณเองเท่านั้น ไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อเสรีภาพ หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ใดๆตามที่บรรดานักวิชาการเสื้อแดงคิดหรือจินตนการไปเอง
     
       ดังนั้นเมื่อทักษิณ ถึงฝั่งแล้ว บรรลุเป้าหมายแล้ว ก็หมดความจำเป็นใดๆที่มวลชนเสื้อแดงจะมาชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมอีกต่อไป ตอนนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เป็นของเสื้อแดงแล้ว และกำลังสร้างความเป็นธรรมและความยุติธรรมขึ้นมา แต่อาจจะช้าหน่อยขอให้ใจเย็นๆ ทักษิณบอกว่าเรื่องเหล่านี้ต้องค่อยๆทำเพราะบางประเทศต้องใช้เวลานับสิบปี เช่น กรณีประธานาธิบดีไลบีเรีย เป็นต้น
     
       ส่วนมุมมองเกี่ยวสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยที่ผ่านมาในระยะกว่า 6 ปี ทักษิณมองว่าเป็นเรื่องปัญญาอ่อน จากคำพูดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจของทักษิณว่า การต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ประกาศอย่างในทุกครั้งทุกคราว่า สู้เพื่อโค่นล้มอำมาตย์และเพื่อประชาธิปไตยนั้น แท้จริงแล้วเป็นเรื่องปัญญาอ่อนทั้งสิ้น
     
       จึงอาจอนุมานได้ว่าในสายตาของทักษิณ การตายของคนไทยทั้งเสื้อแดงและไม่ใช่เสื้อแดงก็คงเป็นเรื่องปัญญาอ่อนเช่นเดียวกัน ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่ปัญญาอ่อนทั้งหมด และคงยกเว้นอยู่คนเดียวที่ไม่ปัญญาอ่อน นั่นคือตัวทักษิณเอง ช่างเป็นการหลงตัวเองที่ล้นเหลือเสียจริงๆ
     
       อันที่จริงสถานการณ์หักหลังและอกหักที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างทักษิณและกลุ่มเสื้อแดงในขณะนี้ เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ทางการเมืองจำนวนมากคาดการณ์ล่วงหน้าแล้ว ว่าจะต้องเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่ง และวันนี้ก็เป็นจริงอย่างที่มีการวิเคราะห์กัน แต่สิ่งเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่มวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่มองไม่เห็นหรือคิดไปไม่ถึง เพราะถูกจัดตั้งความคิดและผลิตซ้ำทางความเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นไปเพื่อโค่นล้มอำมาตย์และสร้างประชาธิปไตยขึ้นมา
     
       ดังนั้นเมื่อทักษิณ ประกาศว่าจะปรองดองกับอำมาตย์และให้คนเสื้อแดงที่ตายและบาดเจ็บลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสียทั้งหมดและเริ่มต้นกันใหม่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จึงทำให้คนเสื้อแดงจำนวนมากเกิดภาวะตระหนกตกใจ เสียใจ โกรธเคือง เหมือนถูกกระชากจากวิมานแห่งความฝันลงมาเผชิญหน้ากับความจริง
     
       หลายคนในกลุ่มเสื้อแดง แม้อาจจะรู้ธาตุแท้ของทักษิณและเหล่านักการเมืองทุนสามานย์อยู่บ้าง แต่ด้วยความเฟ้อฝันบางประการ พวกเขาจึงสะกดจิตตนเองให้เชื่อว่า ทักษิณและทุนสามานย์ เป็นนักสู้ระดับแนวหน้าของขบวนการประชาธิปไตย แต่ท้ายที่สุดถึงจะพยายามหลอกตัวเองมากเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถหยุดยั้งกระแสแห่งความจริงที่เปิดเผยออกมาอย่างหมดเปลือกโดยตัวทักษิณเองได้
     
       ส่วนมวลชนเสื้อแดงทั่วๆไป เป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจและน่าสงสารมากที่สุด เพราะถูกจัดตั้งความคิดและถูกให้ข้อมูลข่าวสารอย่างบิดเบือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากทักษิณและแกนนำ นปช. จนหลายคนหลงตนเองและมีความเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าตนเองกำลังทำหน้าที่และมีภารกิจเพื่อสร้างประชาธิปไตย พวกนี้จะรู้สึกเจ็บปวดมากเมื่อ ถูกทักษิณมองว่า แท้จริงแล้วพวกเขาเป็นเพียงแค่ผู้แจวเรือเพื่อพาทักษิณไปส่งถึงฝั่งเท่านั้นเอง
     
       สถานการณ์ของกลุ่มทักษิณ ทุนสามานย์ และเสื้อแดงในขณะนี้จึงอยู่ในภาวะที่ต่างฝ่ายต่างเปิดหน้า แสดงท่าทีและจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจน
     
       ทักษิณ แกนนำ นปช. และมวลชนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่อยู่ในเครือข่ายการอุปถัมภ์ของพวกเขา แสดงจุดยืนชัดว่า การนิรโทษกรรมให้ทักษิณและการปรองดองกับอำมาตย์เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถัดมาคือการครองอำนาจทางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่วนการคืนความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดงที่ตายและเสียชีวิตนั้นเป็นเรื่องเล็กๆที่ต้องลืมเลือนและยกเลิกไป พวกเขาคิดว่าเศษเงินที่โยนไปให้คนเสื้อแดง คงเป็นยารักษาบาดแผล และทำให้คนเสื้อแดงพอใจแล้ว
     
       ส่วนเสื้อแดงฝ่ายนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และมวลชนเสื้อแดงอิสระ แสดงจุดยืนที่แตกต่างออกไป พวกเขาไม่ประสงค์ปรองดองกับอำมาตย์ และยืนยันว่าจะต้องนำคนที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นคนสั่งการปราบปรามคนเสื้อแดง หรือที่พวกเขาเรียกว่าเป็นฆาตกรมาลงโทษให้ได้
     
       ความหลงตัวเองของทั้งสองฝ่ายกำลังแสดงออกมาอย่างชัดเจน ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตนเองถูกต้องและสามารถควบคุมชี้นำมวลชนส่วนใหญ่ได้ ทักษิณและแกนนำ นปช.จะสามารถยืนกรานจุดยืนปรองดองของตนเอง สลัดทิ้งและสลายกลุ่มเสื้อแดงได้จริงหรือไม่ หรือกลุ่มเสื้อแดงจะตอบโต้สั่งสอนทักษิณ นปช. และพรรคเพื่อไทย จนต้องหันกลับมาขอโทษและอ้อนวอนขออภัย ขอความเห็นใจจากคนเสื้อแดงใหม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ