ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

อนาคตอันมืดมนของทักษิณและแกนนำเสื้อแดง



อนาคตอันมืดมนของทักษิณและแกนนำเสื้อแดง

 ASTVผู้จัดการรายวัน 15 มิถุนายน 2555 18:54 น.

Parichart Kitiwankulประถม รักในหลวง and 404 others like this


ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       แม้ปัญหาการเมืองระยะนี้จะคลี่คลายลงไประดับหนึ่ง เพราะรัฐบาลจะออก พ.ร.ฎ. ปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ แต่ความขัดแย้งก็พร้อมที่จะปะทุออกมาใหม่ได้ทุกขณะ เพราะสาเหตุของปัญหาอันได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ยังคงค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา เมื่อไรที่มีการหยิบยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาดำเนินการ เมื่อนั้นปัญหาก็เกิดขึ้นทันที และหากเกิดปัญหาการเมืองครั้งใหม่ ทักษิณและแกนนำเสื้อแดงจะประสบชะตากรรมอันมืดมนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
     
        บทเรียนหนึ่งที่สังคมไทยได้เรียนรู้จากการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง คือ เมื่อไรก็ตามที่นักการเมืองใช้อำนาจจนเกินขอบเขต เมื่อนั้นความชอบธรรมทางการเมืองของพวกเขาก็จะเสื่อมลงไป ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองที่มีเนื้อหาลบล้างความเป็นอาชญากร และนำเงินของแผ่นดิน 4.6 หมื่นล้านบาทไปให้ทักษิณ ชินวัตร โดยอาศัยอำนาจเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรทำลายล้างอำนาจตุลาการ เป็นสิ่งที่แสดงถึงการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล การใช้อำนาจแบบนี้ย่อมบั่นทอนความชอบธรรมของผู้ใช้แม้กระทั่งมวลชนที่เคยสนับสนุนก็ต้องถอยออกมาและวางเฉย ปล่อยให้กลุ่มนักการเมืองเหล่านั้นต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว
     
        เส้นทางของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อลบล้างความเป็นอาชญากรดูช่างมืดมนและเดินไปสู่ทางตัน เพราะทันทีที่สภาผู้แทนราษฎรหยิบยกร่างนี้ขึ้นมาพิจารณาอีก ด่านแรกที่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลต้องเผชิญคือ การคัดค้านอันทรงพลังจากประชาชนทุกภาคส่วนภายใต้การนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการคัดค้านในสภาจากพรรคประชาธิปัตย์
     
       สมมุติว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยสามารถใช้อำนาจรัฐในการสลายภาคประชาชนได้ และใช้เสียงข้างมากทำให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปได้ ด่านถัดไปที่พวกเขาต้องประสบคือ วุฒิสภา ซึ่งก็ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมากออกมาคัดค้านอย่างแข็งขัน กว่าจะผ่านไปได้ ผู้เสนอร่างฯก็คงต้องบอบซ้ำไม่น้อย และหากผ่านวุฒิสภาไปได้ก็จะเข้าสู่ด่านที่สาม
     
       ด่านที่สามคือด่านศาลรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยผลักดันจน ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองผ่านสภาทั้งสองไปได้ เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าคงมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.บางส่วนมีความเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดหรือแย้ง หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ พวกเขาก็จะใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 154 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
     
       ผลการวินิจฉัยอาจมีความเป็นไปได้สามทางคือ ศาลรัฐธรรมูญวินิจฉัยว่าสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ แล้ววินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองตกไปทั้งฉบับ หรือวินิจฉัยว่าบางมาตราขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรานั้นก็ไม่สามารถใช้ได้ หรือวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกต้องตามรัฐธรรมนูญซึ่งก็ทำให้ ร่าง พ.ร.บ.นั้นผ่านไปสู่ด่านต่อไปคือ การให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าเสนอพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
     
       ผลจากการเสนอการทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมีความเป็นไปได้สองทางคือ เป็นไปตามมาตรา ๑๕๐ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ หรือเป็นไปตามมาตรา ๑๕๑ ซึ่งพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภาหรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ทั้งสองสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีก็จะนำร่างนั้นขึ้นทูลเกล้าอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน นายกรัฐมนตรีก็สามารถประกาศใช้ได้เลย
     
       จะเห็นได้ว่าด่านนี้ไม่ง่ายนักสำหรับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย เพราะหากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยแล้ว ความชอบธรรมทางการเมืองของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวก็จะลดน้อยถอยลง และหากรัฐบาลยืนกรานลงมติยืนยัน โอกาสที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองก็จะมีสูงยิ่ง ดังนั้นเมื่อพิจารณาเส้นทางของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อลบล้างความเป็นอาชญากรให้ทักษิณ ชินวัตร และพวกแล้ว คงจะไปไม่ถึงไหน และมีความเป็นไปได้สูงที่จะหยุดยั้งตั้งแต่ขั้นแรกด้วยซ้ำไป และถึงแม้ว่าจะผ่านด้านแรกไปได้ แต่ในท้ายที่สุดก็คงจะจบลงแค่ด่านของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น
     
       สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ขณะนี้ผ่านจนไปถึงวาระสาม และเดิมจะมีการลงมติต้นเดือนมิถุนายน แต่เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ มาตรานี้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ และศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย และขอให้รัฐสภาชะลอการลงมติวาระสามออกไปก่อน ในตอนแรกรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยแสดงอาการต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญอย่างหนักหน่วง แต่ในที่สุดประธานรัฐสภาก็ได้เลื่อนการลงมติออกไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยแล้วเสร็จ ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อแกนนำเสื้อแดงที่อยู่ในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย
     
       แกนนำเสื้อแดงหัวรุนแรงอย่างนายก่อแก้ว พิกุลทอง ได้แสดงอารมณ์ผิดหวังและเคียดแค้นออกมาอย่างชัดเจน โดยวิจารณ์ประธานรัฐสภาว่าสร้างรอยด่างแก่รัฐสภา และกล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นเนื้องอก รวมทั้งแสดงอาการขู่รัฐบาลด้วยว่า ถ้าไม่มีการผลักดันลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในสมัยประชุมนี้ กลุ่มมวลชนเสื้อแดงจะเลิกเป็นคนเสื้อแดง ซึ่งมีนัยทางการเมืองว่าจะเลิกสนับสนุนทักษิณและพรรคเพื่อไทยนั่นเอง เช่นเดียวกับณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำอีกคนที่แสดงอาการผิดหวังน้อยเนื้อต่ำใจที่รัฐบาลไม่ผลักดันให้มีการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม ณัฐวุฒิยกตนเองว่าสู้มาทุกสมรภูมิ หากไม่สู้ในเรื่องนี้ก็ไม่อาจอธิบายกับคนเสื้อแดงได้ ณัฐวุฒิเห็นว่า การที่รัฐบาลและส.ส.เพื่อไทยส่วนหนึ่งเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสภาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลงมติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญวาระสามไม่ได้
     
       เห็นได้ชัดว่าแกนนำเสื้อแดงและมวลชนเสื้อแดงบางส่วนให้น้ำหนักความสำคัญต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มากกว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ขณะที่ทักษิณ ชินวัตร ให้น้ำหนักกับ พ.ร.บ.ปรองดองมากกว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นี่เป็นจุดแตกต่างระหว่างทักษิณและแกนนำเสื้อแดง การไม่สนับสนุน พ.ร.บ.ปรองดองของแกนนำเสื้อแดงเป็นเหตุให้ทักษิณไม่พอใจแกนนำเหล่านี้ไม่น้อย ซึ่งอาจส่งผลให้ทักษิณต้องการลดบทบาทของแกนนำเสื้อแดงทั้งในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล และดึงกลุ่มนักการเมืองที่พ้นโทษจากการถูกตัดสิทธิเลือกตั้งเข้ามาแทนที่
     
       นักการเมืองพรรคเพื่อไทยแกนนำเสื้อแดงแสดงการกระทำในลักษณะที่ข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญหลายประการเพื่อกดดันให้เกิดความกลัว และถอนการรับคำร้องให้วินิจฉัย วิธีการข่มขู่ของแกนนำเสื้อแดง เช่น บอกหมายเลขโทรศัพท์ เชิญชวนให้คนเสื้อแดงโทรศัพท์ไปยังหมายเลขเหล่านั้น บอกที่อยู่และชักชวนให้คนเสื้อแดงไปยังบ้านของศาลรัฐธรรมนูญ และข่มขู่ว่าจะตัดงบประมาณของศาลรัฐธรรมนูญ
     
        ศาลรัฐธรรมนูญจะไต่สวนคำร้องวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2555 และอาจมีคำวินิจฉัยออกมาในต้นเดือนสิงหาคม ยิ่งใกล้วันวินิจฉัยมากขึ้นเท่าไร คนลัทธิแดงก็จะทวีความรุนแรงในการกดดันศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่ตนเองต้องการ อย่างไรก็ตามความเป็นไปได้ของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมอาจมีความเป็นไปได้ในสองทางได้แก่
     
       1) การแก้ไขร่างรัฐธรรมมนูญมาตรา 291 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2550 ดังนั้นจึงยกคำร้อง ซึ่งจะทำให้มีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสามต่อไป และโอกาสที่ร่างแก้ไขนี้จะผ่านรัฐสภาก็มีสูง อย่างไรก็ตามหากผ่านด่านนี้ไปได้ ก็ยังต้องเผชิญกับด่านของมาตรา 151 เหมือนกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง
     
       2) การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ขัดแย้งกับมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้”
     
       เป็นไปได้ว่า ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย จะไม่ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะมีการระบุไว้ในมาตรา 291/11 ว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะกระทำมิได้ แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะปฏิเสธว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นการทำ “เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”
     
       เหตุผลก็คือ ร่างแก้ไขมาตรา 291 ของพรรคเพื่อไทย ได้สถาปนาองค์อำนาจขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นอำนาจที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และยังมีความเป็นไปได้อีกว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งมีสามอำนาจคืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
     
       การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่มีแนวโน้มจะถูกเปลี่ยนแปลงให้ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มากที่สุดคือ “อำนาจตุลาการ” เพราะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนแสดงเจตนารมย์ออกมาอย่างชัดเจนหลายครั้งว่าจะยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง
     
       ยิ่งกว่านั้นหากสมาชิกรัฐสภาลงมติรับร่างรัฐธรรมที่มีการร่างใหม่ ก็เท่ากับว่าสมาชิกรัฐสภากำลังใช้สิทธิและเสรีภาพในการทำลายหรือยกเลิกวิธีการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรม พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับมาตรา 68 อย่างชัดเจน
     
        หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็มีอันให้ร่างแก้ไขฉบับนี้ตกไป แน่นอนมีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าแกนนำเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยจะแสดงอาการโกรธแค้นและออกมาสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ดังที่เคยพยายามทำมาแล้วครั้งหนึ่งในวันที่ 12 มิถุนายน 2555 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
     
        การไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นชนวนที่นำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลและการสิ้นสุดบทบาททางการเมืองของพรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดง อนาคตอันมืดมนกำลังคืบคลานมาเยือนทักษิณและแกนนำเสื้อแดง ขณะที่รุ่งอรุณของการเมืองไทยจะปรากฎออกมา





จำนวนคนอ่าน 15356 คน จำนวนคนโหวต 70 คน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ