ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

แผนชั่วจำนำข้าว ปฏิบัติการขายชาติ


แผนชั่วจำนำข้าว ปฏิบัติการขายชาติ

 ASTVผู้จัดการรายวัน 12 ตุลาคม 2555 17:13 น.



ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       จำกันได้ไหมครับเมื่อประมาณ พ.ศ.2551 นช.ทักษิณ ชินวัตร ชักชวนและนำนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระบียมาลงทุนเช่าที่ดินนาเพื่อผลิตข้าว ปีถัดมานักลงทุนจากประเทศอาหรับหกประเทศ ก็ถามมาที่กระทรวงพาณิชย์ เพราะสนใจที่จะมาลงทุนปลูกข้าวและทำปศุสัตว์ในประเทศไทย เรื่องเหล่านี้จะมีส่วนเชื่อมโยงกับโครงการจำนำข้าวหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่งนัก
     
       สิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้โฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงชาวนาไทยเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวคือ โครงการนี้ทำให้ชาวนาไทยร่ำรวย หากใครขัดขวางโครงการนี้เท่ากับ เป็น ศัตรูของชาวนาเพราะไม่ต้องการให้ชาวนาร่ำรวย รัฐบาลให้เหตุผลว่าชาวนารวยขึ้นเพราะรัฐบาลจะดำเนินการควบคุมกลไกราคาข้าวในตลาดโลก โดยจะกำหนดราคาข้าวเองตามที่ปรารถนา จะกำหนดราคาให้สูงเท่าไรก็ได้ เหมือนกับที่กลุ่มประเทศโอเปคควบคุมราคาน้ำมัน
     
       ฟังดูเผินๆ เหมือนก็ดูน่าเชื่อถือ แต่ความเป็นจริงสิ่งที่รัฐบาลพูดเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเป็นเรื่องที่ทั้งไม่สมเหตุสมผลทางวิชาการ และไม่สมจริงทางประจักษ์ พูดง่ายๆคือ รัฐบาลสร้างความฝันบนอากาศ โดยปราศจากความเป็นจริงใดๆมารองรับ คนที่สร้างความฝันแบบนี้และไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างความฝันกับความจริงได้ คือคนที่มี “อาการจิตเภท” (Schizophenia) หรือจิตแตกแยก คนในรัฐบาลหลายคนมีอาการดังที่ว่านี้อย่างชัดเจน
     
       ย้อนกลับไปไม่นานก็เคยมีนักการเมืองใหญ่บางคนเคยมีอาการแบบนี้ ปัจจุบันนักการเมืองคนนั้นได้สูญสิ้นอำนาจและกลายเป็นนักโทษหนีคดีไปเรียบร้อยแล้ว ครั้งนั้นเขาฝันลมๆแล้งๆว่า หากประเทศไทย จับมือกับ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ก็จะควบคุมกลไกราคาตลาดยางได้ แต่แล้วก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยไม่มีปัญญาไปทำอะไรกับราคายางซึ่งขึ้นและลงตามกลไกตลาด และในปัจจุบันราคายางก็ตกต่ำลงมาก
     
       กรณีน้ำมัน โอกาสที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรวมกลุ่มกันง่ายกว่ากลุ่มประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตร เพราะว่ามีบริษัทผลิตน้ำมันมีไม่กี่บริษัทในโลกนี้ทั้งของเอกชนและรัฐบาล และกรณีที่รัฐบาลเป็นเจ้าของบริษัทน้ำมัน ก็สามารถสั่งเพิ่มหรือลดการผลิตได้ทันที เพราะการผลิตน้ำมันใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่มนุษย์สามารถควบคุมได้ไม่ยากนัก และอีกทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มหรือลดการผลิตน้ำมันก็มีไม่มาก
     
       ต่างจากกรณีข้าว ซึ่งมีกลุ่มบุคลลที่เกี่ยวข้องมาก เฉพาะในประเทศไทยก็มีร่วมสามล้านกว่าคนที่ระบุว่าเป็นชาวนา การสั่งให้ชาวนาคนใดผลิตเท่าไรเป็นเรื่องยากมาก และยิ่งในระบอบประชาธิปไตยประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ดังนั้นการสั่งให้ชาวนาหยุดทำนาชั่วคราวจึงเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย และเป็นไปแทบไม่ได้เลย เมื่อสั่งให้ชาวนาหยุดการผลิตไม่ได้ ก็ไม่สามารถควบคุมปริมาณข้าวได้ หนักยิ่งกว่านั้น หากปีใดข้าวราคาดี แทนที่จะลดการผลิตชาวนาอาจผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอีกก็ได้
     
       ความโฉดเขลาเบาปัญญาที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำคือ ในปีการผลิต  2554/2555ใช้เงินสองแสนกว่าล้านบาทเพื่อจำนำข้าวจำนวน 17 ล้านตัน และในปีผลิต  2555/2556 ใช้เงินอีกสี่แสนกว่าล้านบาท เพื่อจำนำข้าวประมาณ 34 ล้านตัน โดยรับจำนำข้าวจากชาวนาในราคาตันละ 15,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดมาก เพื่อนำเอามากองไว้ที่โรงสีหรือลานข้าว และรอเวลาที่ชาวนามาไถ่ถอนคืนเป็นเวลาสี่เดือนซึ่งหากเก็บรักษาไม่ดีก็จะทำให้คุณภาพข้าวตกต่ำลงและเสื่อมคุณภาพไปไม่มากก็น้อย
     
       เมื่อครบสี่เดือนหากไม่มีชาวนามาไถ่ถอน ข้าวก็ตกเป็นของรัฐบาลทั้งหมด ในปีการผลิตที่แล้วไม่มีชาวนาคนใดมาไถ่ถอนเลย ข้าวทั้งหมดจึงตกเป็นของรัฐบาล อันที่จริงรัฐบาลไม่ได้คาดหวังให้ชาวนามาไถ่ถอน เพราะให้ราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดอยู่แล้ว บวกกับการที่รัฐบาลบอกว่าจะร่วมมือกับอินเดียและเวียตนามในการควบคุมกลไกราคาข้าว ก็ยิ่งเป็นการแสดงเจตนารมย์อย่างชัดเจนว่าต้องการซื้อขาดนั่นเอง
     
       แผนเพ้อฝันของรัฐบาลในการควบคุมราคาตลาดโลกก็คือ รัฐบาลทำตัวเป็นเจ้าของข้าวทั้งหมดในประเทศ และคาดว่าคงไปชักชวนให้รัฐบาลอินเดียกับรัฐบาลเวียตนามทำตาม เพราะหากรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นไม่ได้เป็นเจ้าของข้าวแบบรัฐบาลไทยก็จะควบคุมการส่งออกและตลาดโลกไม่ได้
     
       แต่ประเด็นคือรัฐบาลอินเดียกับรัฐบาลเวียตนามคงไม่โฉดเขลาเบาปัญญาแบบรัฐบาลไทย เพราะหากทำโครงการจำนำข้าวแบบที่รัฐบาลไทยคือจำนำทุกเมล็ด รัฐบาลทั้งสองประเทศคงต้องใช้เงินมหาศาลและต้องยอมขาดทุนอย่างที่รัฐบาลไทยทำ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลทั้งสองประเทศจะมาร่วมมือกับรัฐบาลที่ไร้สมองแบบรัฐบาลยิ่งลักษณ์และเฉลิม ซึ่งพวกเขารู้อยู่แล้วว่าเป็นหนทางที่นำไปสู่ความหายนะ
     
       พูดง่ายๆคือคือ รัฐบาลเวียตนามและอินเดีย ไม่โง่ ไม่ฉ้อฉล และไม่มีอาการจิตเภท แบบรัฐบาลไทย ขณะนี้พวกเขามองรัฐบาลไทยอย่างสมเพชเวทนาหรืออาจสมน้ำหน้า พร้อมๆกับดีใจไปด้วยที่รัฐบาลไทยทำให้อุตสาหกรรมข้าวไทยอ่อนแอ และหมดสมรรถภาพในการแข่งขันจนทำให้ประเทศของเขาสามารถส่งข้าวออกเป็นลำดับหนึ่งและสองของโลก แทนประเทศไทยได้
     
       สำหรับประเทศไทยความพินาศหายนะก็จะเกิดขึ้น เพราะเงินภาษีของประชาชนถูกนักการเมืองและพวกพ้องที่ร่วมขบวนโครงการจำนำข้าวทุจริตเอาไปอย่างมหาศาล ปีที่ผ่านมาสูญเงินไปสองแสนล้านบาท จากการวิจัยของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ระบุว่าถึงมือชาวนาเพียงหกหมื่นถึงเจ็ดหมื่นล้านบาทเท่านั้น ปีนี้จะใช้เงินสี่แสนล้านบาท และก็คงจถึงมือชาวนาเพียงไม่ถึงครึ่งของงบประมาณที่ใช้ไป อย่างนี้จะทำให้ชาวนารวยได้อย่างไร
     
       การอ้างว่าชาวนารวยจึงเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องได้ผลประโยชน์จากโครงการจำนำข้าวต่อไป เพราะหากจะให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นสามพันถึงห้าพันบาทต่อตัน ไม่ต้องมีโครงการจำนำข้าวก็ได้ เพียงให้ชาวนาเอาข้าวไปขายตามราคาตลาด แล้วรัฐบาลก็โอนเงินให้ไปเลยตามเป้าหมายที่กำหนด หากรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะให้ชาวนาขายข้าวได้ตันละ 15,000 บาท เมื่อชาวนานำไปขายที่โรงสี สมมติว่าได้ตันละ 8,000 บาท ก็ให้ชาวนานำใบเสร็จรับเงินที่ได้จากโรงสีหรือพ่อค้า ไปเบิกส่วนต่างจากธนาคารที่รัฐกำหนดอีกตันละ 7,000 บาท แค่นี้เงินก็ถึงมือชาวนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่ต้องสูญเสียจากการทุจริตแบบจำนำข้าว
     
       ดังนั้นโครงการจำนำข้าวที่รัฐบาลทำอยู่ขณะนี้จึงทำให้ชาวนาได้รับเงินน้อยกว่าที่ควรจะได้เพราะ ในเงินสี่แสนกว่าล้านนี้รวมค่าบริหารโครงการการ การจัดรักษาข้าว การแปรสภาพข้าว การส่งออก และอื่นๆไปด้วย หากรัฐบาลบาลไม่ต้องเสียเงินไปกับค่าใช้จ่ายเหล่านั้น อาจทำให้ชาวนาได้เงินเพิ่มขึ้นอีกคือ แทนที่จะได้ตันละ 15,000 บาท ก็อาจจะได้ ตันละ 17,000 บาท เป็นต้น
     
       อีกประเด็นที่เชื่อมโยงกับโครงการจำนำข้าวคือ เหตุการณ์ใน พ.ศ. 2551 ที่ นช.ทักษิณ ชินวัตรชักชวนนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียชื่อ วาลิต อาเหม็ด จัฟฟาลี รองประธานซาอุดีซิเม็น เข้ามาลงทุนทำนาหรือเช่าที่ดินทำนา และส่งข้าวออกขายต่างประเทศ พร้อมตั้งบริษัทรวมใจชาวนาขึ้นมาเพื่อรองรับการลงทุนของนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย นช. ทักษิณ ได้นำนักธุรกิจคนนี้ไปชมการสาธิตการทำนาถึงจังหวัดสุพรรณบุรี
     
       ต่อมาในปี 2552 มีข่าวว่ากลุ่มประเทศอาหรับหกประเทศ ประกอบด้วย กาตาร์ โอมาน สหรับอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต และซาอุดิอาระเบีย แสดงความสนใจเข้ามาทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และทำนาในประเทศไทย โดยทำหนังสือสอบถามเกี่ยวกับนโยบายของไทยในเรื่องเหล่านี้ไปที่กระทรวงพาณิชย์
     
       นช. ทักษิณ ขณะนี้มีถิ่นฐานอยู่ที่ดูไป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คบค้ากับพวกนักลงทุนชาวอาหรับเป็นจำนวนมาก ทั้งยังยืนยันให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำโครงการจำนำข้าวต่อไปอย่างแข็งขัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าในปัจจุบันพวกชาวต่างชาติเหล่านั้นอาจเข้ามาเช่าที่ดินทำนาแล้ว และพวกเขาอาจขาดทุนมหาศาลหากขายข้าวตามราคาตลาด จึงรวมตัวกันกดดัน นช. ทักษิณ และให้ทักษิณสั่งยิ่งลักษณ์มาอีกที โครงการจำนำข้าวจึงต้องเกิดขึ้นและทำต่อไปเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของนักลงทุนที่มีอิทธิพลจากต่างชาติรวมทั้งนายทุนเกษตรไทยที่อยู่ในเครือข่าย นช.ทักษิณ
     
       และหากโครงการจำนำข้าวในราคานี้ไปเรื่อย ผมบอกได้เลยว่าต่อไปนายทุนใหญ่ต่างชาติจำนวนมากจะแห่กันมาเช่าที่ดินหรือซื้อที่ดินของชาวนาไทยเ และเป็นผู้ลงทุนทำนาผลิตข้าวแทนคนไทย เพราะการทำนำในประเทศไทยไม่มีวันขาดทุนอย่างแน่นอน ด้วยเหตุรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ตั้งราคาจำนำไว้อย่างสูงลิ่วเช่นนี้
     
       นโยบายจำนำข้าวนอกจากจะไม่ทำให้ชาวนาตัวจริงของไทยรวยขึ้นแล้ว ยังเป็นการนำเงินภาษีอาการของประชาชนไทย ไปแจกจ่ายแก่กลุ่มนายทุนผลิตข้าวทั้งที่เป็นชาวต่างชาติอีกด้วย นี่เป็นปฏิบัติการขายชาติขายแผ่นดินอย่างแท้จริง

จำนวนคนอ่าน 4289 คน

Songsak ChaisakkanontVerawut Sugsee and 23 others like this

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ