ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ปฏิบัติการลวงโลกของสหรัฐและทักษิณ


ปฏิบัติการลวงโลกของสหรัฐและทักษิณ

 ASTVผู้จัดการรายวัน 22 มิถุนายน 2555 18:01 น.




ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       จากหลักฐานในประวัติศาสตร์จำนวนมากที่เคยศึกษามา ทำให้ผมอนุมานไปสู่ข้อสรุปหนึ่งว่า การเคลื่อนไหวใดๆของรัฐบาลและองค์การของประเทศสหรัฐอเมริกาในโลกนี้ มีเป้าประสงค์หลักเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ และขยายอำนาจนำในการครอบงำโลกให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของตนเองให้ได้อย่างยาวนานที่สุด เมื่อใดก็ตามที่สหรัฐอเมริกาสงสัยว่าประเทศใดมีแนวโน้มจะคุกคามผลประโยชน์หรือสั่นคลอนอิทธิพลแห่งความเป็นมหาอำนาจของตนเอง เมื่อนั้นสหรัฐอเมริกาจะใช้การตอบโต้และบ่อนทำลายประเทศนั้นในทุกรูปแบบและทุกวิธีการ
     
       รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีความเชี่ยวชาญในการใช้เล่ห์กล หลอกลวง โฆษณาชวนเชื่อ และใช้ยุทธวิธีอันซับซ้อนตบตาชาวโลกเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่ต้องการ เช่น การสร้างเรื่องว่าประเทศอิรักมีระเบิดนิวเคลียร์ จากนั้นก็ยกกองกำลังทหารเข้าไปโจมตี ทำลายล้างชีวิตประชาชนของประเทศอิรักอย่างป่าเถื่อนและยึดครองประเทศอิรักเป็นของตนเองอย่างหน้าตาเฉย โดยให้รัฐบาลหุ่นชาวอิรักที่ตนเองควบคุมได้เป็นผู้บริหารประเทศแต่เพียงในนาม เมื่อควบคุมอำนาจทางการเมืองของประเทศอิรักได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว รัฐบาลสหรัฐก็ให้นายทุนชาวอเมริกา เจ้าของบริษัทน้ำมันเข้าไปกอบโกยน้ำมันในอิรักอย่างเต็มที่
     
        การก่อสงครามของสหรัฐในประเทศอิรักทำให้ประชาชนชาวอิรักต้องเสียชีวิตนับแสนคน โดยในปี 2549 มีทีมนักวิจัยซึ่งประกอบด้วยนักระบาดวิทยาจากวิทยาลัยสาธารณสุขบลูมเบิร์ก มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ และนายแพทย์ชาวอิรัก ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการเสียชีวิตในสงครามอิรัก และตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารทางการแพทย์เดอะแลนเซ็ท (The Lancet) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากสงครามอิรักกว่า 600,000 คน โดยตัวเลขได้มาจากการสัมภาษณ์ประชาชนชาวอิรัก ขณะที่องค์กรเอ็นจีโอบางแห่ง เช่น Iraq Body Count กล่าวว่านับตั้งแต่เริ่มสงครามอิรักจนถึงปี 2552 มีพลเรือนเสียชีวิตไปแล้วถึง 93,540 คน. ส่วนรัฐบาลอิรักเสนอรายงานประเมินยอดผู้เสียชีวิตจากสงครามในอิรักตั้งแต่ปี  2547-2551 พบว่ามีชาวอิรักเสียชีวิตกว่า 85,000 คน โดยตัวเลขนี้อ้างอิงจากใบมรณบัตรที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข
     
       แม้ว่าตัวเลขของสามองค์การจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจนเป็นแบบแผนคือ ตัวเลขของหน่วยงานราชการเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากสงครามที่อาศัยเอกสารทางการมักจะเป็นตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ เพราะในยามสงครามคงมีประชาชนจำนวนมากเสียชีวิตยกครอบครัวหรือบางทีอาจจะยกชุมชน จนไม่เหลือใครจะไปแจ้งกับทางการว่าญาติของตนเองเสียชีวิต ดังนั้นการใช้ใบมรณะบัตรของทางการเป็นหลักฐานในการนับจำนวนผู้เสียชีวิตจึงมีความเป็นไปได้สูงที่นับตัวเลขผู้เสียชีวิตต่ำกว่าความเป็นจริง
     
        แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามการตายของผู้คนในโลกนี้นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ทำให้ประชาชนพลเมืองของโลกผู้ไม่ใช่ชาวอเมริกาตายมากที่สุด มากเสียยิ่งกว่ารัฐบาลเผด็จการของประเทศใดๆในปัจจุบันเสียอีก
     
       สิ่งที่แตกต่างระหว่างรัฐบาลอเมริกากับรัฐบาลเผด็จการของบางประเทศก็คือ รัฐบาลอเมริกามีส่วนในการสังหารประชาชนของประเทศอื่น ขณะที่รัฐบาลเผด็จการเช่น ประเทศพม่า ฆ่าประชาชนของประเทศตนเอง
     
        แม้ตัวเองมือเปื้อนเลือด เพราะเป็นผู้สังหารเผ่าพันธุ์มนุษย์มากที่สุด แต่สหรัฐอเมริกามักจะประนามและแทรกแซงรัฐบาลประเทศอื่นๆว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้าง ไม่เป็นประชาธิปไตยบ้าง ดูเหมือนว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงสุด อันได้แก่การละเมิดสิทธิในการดำรงชีวิตจะถูกสงวนสิทธิไว้สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวเท่านั้นในโลกนี้ เพราะไม่มีประเทศใดกล้าตำหนิประณามสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ แม้แต่รัฐบาลประเทศยุโรปตะวันตกที่ชอบอ้างนักหนาว่าเคารพและเชิดชูสิทธิมนุษยชน ก็ต้องปิดปากเงียบกับการฆาตกรรมหมู่ประชาชนชาวโลกด้วยอาวุธสงครามร้ายแรงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
     
        นี่ยังไม่นับการจับตัวและการทรมานผู้คนจำนวนมากที่ถูกสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายให้บอกข้อมูลข่าวสารที่รัฐบาลสหรัฐต้องการ การเล่นละครสองหน้าเป็นงานถนัดของรัฐบาลสหรัฐ ทางหนึ่งทำเป็นเชิดชูสิทธิมนุษยชนและบอกให้รัฐบาลของประเทศต่างๆยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน แต่อีกทางหนึ่งกลับทำตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนเองเทศนาสอนผู้อื่น โดยแอบให้หน่วยงานบางหน่วยของรัฐใช้วิธีการทุกรูปแบบในการจัดการกับผู้ถูกสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการก่อการร้าย ไม่ว่าวิธีการเหล่านั้นจะละเมิดหรือทำลายสิทธิมนุษยชนหรือไม่ก็ตาม
     
        การทรมานและการสังหารหมู่ประชาชนพลเมืองโลกจึงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในนามของการรักษาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
     
        สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีกองกำลังทหารไปตั้งอยู่ในประเทศอื่นมากที่สุดในโลก เท่าที่มีข้อมูลปรากฏ ทหารอเมริกาอยู่ในประเทศเยอรมันนี เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น คูเวต อัฟกานิสถาน อิรัก เกาะกวม ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ดังนั้นแม้จะดูเหมือนว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประชาธิปไตย มีรัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศ แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่งที่กว้างออกไปในระดับโลก ประเทศสหรัฐถือว่าเป็นเผด็จการแห่งโลกโดยใช้กำลังทหารควบคุมประเทศอื่นๆในโลกนี้เอาไว้ให้สยบยอมจำนนในอำนาจของตนเอง หากรัฐบาลประเทศใดแข็งขืนก็พร้อมจะใช้กองกำลังทหารเข้าข่มขู่ คุกคามและยึดครองได้ทันที
     
        ใครที่คิดว่ารัฐบาลสหรัฐจะให้ความช่วยเหลืออย่างไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน หรือคิดว่าเป็นมิตรที่ดีคบหาอย่างเท่าเทียมกัน หากมิใช่เป็นคนที่ซื่อ บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา โรแมนติก ก็คงเป็นประเภทที่ได้รับผลประโยชน์จากสหรัฐ สหรัฐไม่เคยมองว่าประเทศอื่นเป็นเพื่อนของตนเอง วิธีคิดของสหรัฐไม่มีคำว่าเพื่อนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ สหรัฐกำหนดสถานะของประเทศต่างๆไว้เป็นระดับ เช่นประเทศกลุ่มนาโต้ เป็นลูกน้องผู้ใกล้ชิดระดับม้า ระดับเรือ ในเกมหมากรุก ประเทศนอกนาโต้บางประเทศถูกกำหนดให้เป็นลูกน้องระดับโคน เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บางประเทศถูกกำหนดให้เป็นเบี้ยที่จะหยิบใช้หรือทิ้งเสียเมื่อไรก็ได้ เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ส่วนประเทศที่มีกำลังอำนาจพอตัวและไม่ยอมเป็นลูกน้องของสหรัฐก็จะถูกมองว่าเป็นคู่แข่ง เช่น จีน รัสเซีย อินเดีย ส่วนประเทศเล็ก ประเทศน้อยที่ท้าทายอำนาจสหรัฐก็จะถูกมองเป็นศัตรูเช่น อิหร่าน เกาหลีเหนือ เป็นต้น
     
        เผอิญเบี้ยอย่างประเทศไทยในขณะนี้ กำลังเป็นที่ต้องการของสหรัฐเพื่อใช้เป็นฐานในการแสวงหาข้อมูลการเคลื่อนไหวทางทหารของประเทศต่างๆในแถบเอเชียตะวันออกและตะวันออกกลางที่เป็นคู่แข่งหรือปรปักษ์ ทั้งยังมีความเป็นไปว่าจะใช้เป็นฐานทางทหารในการเฝ้าดู ตรึง และบั่นทอนบทบาทและอิทธิพลของประเทศจีน และการส่งกำลังไปปฏิบัติการทางทหารยังเป้าหมายบางประเทศในแถบตะวันออกกลาง และที่สำคัญอีกประการเป็นฐานในการค้นหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวน้ำมัน ก๊าซ และทรัพยากรอื่นๆ
     
       สหรัฐอ้างว่าจะใช้อู่ตะเภาของไทยตั้งเป็นศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติ แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นก็คือการตั้งกองกำลังทหารเพื่อการปฏิบัติทางยุทธวิธีในการคุกคามและบ่อนทำลายประเทศที่ถูกจัดระดับเป็นคู่แข่งหรือปรปักษ์ เพราะเป็นเรื่องที่เชื่อได้ยากยิ่งว่าประเทศที่มีประวัติมือเปื้อนเลือด นิยมการใช้ความรุนแรง ชอบส่งกองกำลังทหารไปรุกรานประเทศอื่น หลงตัวเอง และมีความเห็นแก่ตัวตนเองอย่างยิ่งยวดอย่างสหรัฐจะมีเจตนาดีอย่างบริสุทธิ์ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแต่เพียงอย่างเดียว ผมประเมินระดับจิตใจของผู้นำรัฐบาลและผู้นำทางทหารสหรัฐที่มีต่อชาวโลกอยู่ในระนาบเดียวกันกับจิตใจของทักษิณ ชินวัตรที่มีต่อคนไทย
     
        ส่วนการให้องค์การนาซาเข้ามาตั้งฐานสำรวจชั้นบรรยากาศในแถบนี้ นายอาจอง ชุมสาย ณ อยุธยาอดีตนักวิทยาศาสตร์ผู้เคยทำงานในองค์การนาซา และปัจจุบันมีความเชี่ยวชาญเรื่องเหนือธรรมชาติและจิตวิญญาณ กล่าวไว้ว่า “ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ การสำรวจของนาซาทำให้เรารู้ว่าพายุสุริยะเกิดขึ้นเมื่อไร ซึ่งจะนำไปสู่การรู้ว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร ทำให้ไทยเข้าใจและสามารถป้องกันตนเองได้ ความรู้เกี่ยวกับชั้นบรรยากาศที่มีผลต่อฝน พายุ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องน้ำท่วมได้”
     
       แต่ผมคิดต่างออกไป หากนาซามีเครื่องมือที่ทำให้เกิดความรู้ดังที่กล่าวมาจริง คำถามง่ายๆคือ ทำไมเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ช่วงก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่โทโฮะกุ นาซาไม่ให้ความรู้ หรือช่วยเหลือหรือเตือนเรื่องแผ่นดินไหวแก่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งนับเป็นมหามิตรของอเมริกา ปล่อยให้เกิดแผ่นดินไหว เกิดคลื่นสึนามิ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์พังพินาศ และทำให้ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตจำนวนมาก หรือ แม้กระทั่งในเดือนเมษายน 2511 ที่เกิดพายุทอร์นาโดในสหรัฐเอง มียอดผู้เสียชีวิต 300 กว่าคน ไม่ทราบว่านาซาไปอยู่ที่ไหน ทำไมไม่ไปเตือนล่วงหน้า และช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติของตนเอง จากข้อมูลข้าง บ่งบอกว่าประโยชน์ที่จะได้จากข้อมูลของนาซาเพื่อใช้ในการทำนายการเกิดแผ่นดินไหวหรือพายุ เป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น แม้แต่พายุบ้านตัวเองก็ยังทำนายไม่ได้ ป้องกันไม่ได้ หรือแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นมิตรใกล้ชิดที่สุดก็ยังทำนายไม่ได้เช่นกัน
     
        เท่าที่ผมทราบ ภายใต้วิทยาการปัจจุบัน มนุษย์ยังไม่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ใดที่ทำนายการเกิดแผ่นดินไหวหรือเกิดพายุได้อย่างแม่นยำ กรณีแผ่นดินไหวเรามีความรู้เรื่องรอยเลื่อนและโอกาสการเกิดแผ่นไหว แต่ยังไม่อาจทำนายว่ามันจะเกิดเมื่อไรและเกิดที่ไหน เช่นเดียวกับเรื่องพายุ เราทราบว่ามีพายุเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว และที่พอจะทำนายได้บ้างก็คือทิศทางการเคลื่อนที่ของมัน
     
       หากเครื่องมือนาซาไม่มีสมรรถภาพในการสร้างประโยชน์เกี่ยวกับภัยพิบัติดังที่กล่าวอ้าง แล้วเครื่องมือที่จะเอามาใช้คืออะไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร หากไม่ใช่เครื่องบินสอดแนมหรือดาวเทียมซึ่งมีวัตถุประสงค์ทางทหารและสำรวจทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
     
        ดังนั้นทั้งเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการได้รับประโยชน์จากการสำรวจของนาซาจึงเป็นเรื่องที่สหรัฐใช้บังหน้า เป็นปฏิบัติการลวงโลก เป็นการสมคบระหว่างรัฐบาลไทยที่อยู่ภายใต้การชักใยอาชญากรหนีคุกผู้เป็นหัวหอกของกลุ่มทุนสามานย์กับรัฐบาลจักรวรรนิยมยุคใหม่มือเปื้อนเลือด เพื่อใช้อู่ตะเภาเป็นฐานสอดแนมและฐานทัพในการรักษา ขยายอำนาจ และเป็นฐานในการส่งกำลังทหารไปสังหาร เข่นฆ่าประชาชนประเทศอื่นดังที่เคยเกิดมาแล้วช่วงสงครามเวียตนาม รวมทั้งเป็นฐานการแสวงหาและตกตวงสูบน้ำมันและกาซธรรมชาติ เพื่อต่อลมหายใจให้กับระบบเศรษฐกิจที่กำลังล่มสลายของตนเองและประเทศพันธมิตรในยุโรปตะวันตก
     
        ดังนั้นหากประเทศไทยให้สหรัฐเช่าอู่ตะเภา คนไทยมีแต่เสียประโยชน์และเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าของการโจมตีของประเทศที่เป็นปรปักษ์ของสหรัฐ ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์เต็มๆก็คือ รัฐบาลสหรัฐ กลุ่มทุนข้ามชาติของประเทศสหรัฐ และกลุ่มทุนสามานย์ชาวไทยที่ครอบงำประเทศไทยอยู่ในขณะนี้เท่านั้น

จำนวนคนอ่าน 2871 คน
Vi Chet, Bamrung Phanthusida and 680 others like this

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ