ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ยายฆ่าหลาน : ความเสื่อมทรามอันซับซ้อนของสังคมไทย


ยายฆ่าหลาน : ความเสื่อมทรามอันซับซ้อนของสังคมไทย

 ASTVผู้จัดการรายวัน 20 กรกฎาคม 2555 19:00 น.



ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       ผู้คนในสังคมคงรู้สึกตระหนกและสะเทือนใจ เมื่อทราบความจริงเกี่ยวกับข่าวการฆาตกรรมของเด็กชายอายุ 13 ปี คนหนึ่ง หลายคนคงคาดไม่ถึงว่าผู้ลงมือสังหารเด็กชายผู้นั้นคือยายของเขาเอง เหตุใดยายแท้ๆ จึงลงมือฆ่าหลานที่ตนเองเลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็ก เรื่องนี้มิใช่เกี่ยวกับความใจร้ายของปัจเจกบุคคลผู้ลงมือเพียงอย่างเดียว หากแต่เกี่ยวพันกับความเสื่อมทรามอันซับซ้อนของสังคมไทย
     
       ผู้เป็นยายให้การกับตำรวจในทำนองว่า หลานเป็นเด็กเกเรชอบก่อเรื่องชกต่อยกับเพื่อนที่โรงเรียน ติดเกมออนไลน์ และมีพฤติกรรมมั่วสุมกับเพื่อนที่มีประวัติเสพยาเสพติด เมื่อยายดุด่าว่ากล่าวก็จะทุบตีทำร้ายร่างกายยายเป็นประจำจนเกิดความเก็บกดและไม่อาจอดทนกับการเป็นผู้ถูกกระทำได้อีกต่อไป ฟางเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อหลานขอเงินยายเพื่อไปเล่นเกม แต่ยายไม่ให้ หลานจึงใช้มีดข่มขู่จะฆ่ายาย แต่ในท้ายที่สุดยายก็ลงมือฆ่าหลานตนเอง
     
       เหตุผลในการฆ่าที่ยายให้แก่ตำรวจมีสองประการตือ การสิ้นสุดความอดทนกับการถูกทำร้ายร่างกายโดยหลานอย่างยาวนาน และเป็นการป้องกันไม่ให้หลานไปทำร้ายผู้อื่นในอนาคต หากสิ่งที่ยายกล่าวเป็นความจริง คำถามคือทำไมเด็กคนนี้จึงกลายสภาพเป็นเด็กที่นิยมใช้ความรุนแรง และสามารถลงมือทำร้ายผู้มีพระคุณที่เลี้ยงดูตนเองมาตั้งแต่เล็ก และทำไมยายจึงคิดว่าเด็กคนนี้จะกลายเป็นอาชญากรในอนาคต
     
       ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้เด็กคนนี้มีพฤติกรรมรุนแรงเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเด็กและบริบทที่ห้อมล้อมเขา เขากำพร้าบิดาตั้งแต่อายุประมาณสองขวบ ส่วนมารดาก็ไม่ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ปล่อยให้ยายผู้มีประวัติว่าเคยสังหารสามีของตนเองมาก่อนเป็นผู้เลี้ยงดู เหตุผลที่ยายสังหารสามีของตนเองในอดีตไม่กระจ่างชัด แต่หากดูคำพิพากษาของศาลที่ระบุว่าเป็นการป้องกันตัว ก็พออนุมานได้ว่ายายอาจถูกสามีของตนเองทำร้ายจนทนไม่ไหว จึงยิงสามีของตนเอง และดูเหมือนเหตุผลนี้เป็นเหตุผลเดียวกับที่สังหารหลานตนเอง
     
       เด็กผู้นี้จึงถูกเลี้ยงโดยยายผู้มีปมปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรงที่ถูกกระทำจากอดีตสามี และตนเองก็ตอบโต้การถูกกระทำของสามีด้วยความรุนแรงเช่นเดียวกัน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ยายจะซึมซับ รับเอาความรุนแรงเข้าไปอยู่ในจิตของตนเองทั้งในระดับจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก และอาจจะเลี้ยงดูหลานด้วยความรุนแรงตั้งแต่วัยเยาว์จนถึงวัยรุ่น
     
       เด็กคนนี้คงมีโอกาสน้อยมากที่ได้รับการแสดงออกถึงความรักทางวาจาด้วยภาษาเชิงบวกที่ให้ความหวังและสร้างกำลังใจในการพัฒนาคุณธรรมและปัญญาจากคนผู้เป็นญาติผู้ใหญ่ของตนเอง สิ่งที่เขาสัมผัสและรับรู้อยู่ทุกวันตั้งแต่เด็กอาจเป็นการดุด่าว่ากล่าวด้วยวาจา ที่ใช้ภาษาหยาบคายและรุนแรง
     
       นอกจากความรุนแรงทางวาจาแล้ว ยังมีความเป็นไปได้อีกว่าสมัยที่เขายังมีอายุน้อย เขาอาจถูกกระทำด้วยความรุนแรงเชิงกายภาพ การถูกทุบตีอาจเป็นเรื่องที่เขาสัมผัสอยู่เป็นประจำก็ได้
     
       เขาอาจไม่เคยได้รับการโอบกอดด้วยความรักและความเมตตาอย่างสม่ำเสมอจากแม่หรือยาย เขาอาจไม่เคยได้รับการเล่านิทานดีๆที่มีเนื้อหาสนุกสนานและสอนคติธรรมยามจะเข้านอนก็เป็นได้ โลกรอบตัวเขาภายในครอบครัวจึงเปี่ยมไปด้วยกระแสพลังของความรุนแรง
     
       บริบทของความรุนแรงมิใช่ดำรงอยู่แต่เพียงภายในครอบครัวของตนเองเท่านั้น แต่ยังดำรงอยู่ในอาณาบริเวณอันกว้างขวางภายในโลกทางสังคมของเขา ทั้งในละแวกเพื่อนบ้าน เพื่อนในโรงเรียน หนัง ละคร และข่าวที่เขาดู และเกมที่เขาเล่น เรียกได้ว่าทุกก้าวที่เขาย่างเดินเข้าไป และทุกสิ่งที่เขาสัมผัสเปี่ยมไปด้วยกระแสแห่งความรุนแรง
     
       อันที่จริงหากเด็กมีความสัมพันธ์ภายในครอบครัวดี ได้รับความรัก ความอบอุ่น และมีการกล่อมเกลาให้เรียนรู้คุณธรรมจากสมาชิกในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันพลังทางลบที่มาจากภายนอกไม่มากก็น้อย แต่เด็กจำนวนมากรวมทั้งเด็กที่ถูกฆ่าโดยยายคนนี้คงไม่ได้รับโอกาสเช่นนั้น ภูมิคุ้มกันของจิตใจจึงแทบจะไม่มี
     
       เด็กจำนวนมากในสังคมไทยมีชะตากรรมไม่แตกต่างจากเด็กที่ถูกยายฆ่าคนนี้ กล่าวคือแทนที่ครอบครัวจะเป็นแหล่งในการกล่อมเกลา อบรมเลี้ยงดู ให้เด็กมีจิตใจดีงาม มีภูมิคุ้มกันต่อความรุนแรงจากภายนอกที่เข้ามากระทบ ครอบครัวกลับเป็นแหล่งสร้าง บ่มเพาะ และสะสมความรุนแรงเสียเอง เด็กตัวเล็กๆ ผู้ใดจะสามารถต้านทานพลังทางลบอันแข็งแกร่งที่เขาสัมผัสอยู่ทุกวันเช่นนี้ได้เล่า
     
       พลังด้านลบเหล่านี้คงซึมผ่านจิตสำนึกของเด็กผู้นี้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งเข้าไปดำรงอยู่ในระดับจิตใจไร้สำนึกของเขา ตัวเขาและความรุนแรงจึงกลายเป็นสิ่งเดียวกัน ในความคิดของเขา พฤติกรรมรุนแรงที่แสดงออกมาจึงเป็นเรื่องปกติ และเป็นสิ่งชอบธรรมที่เขาคิดว่ากระทำได้
     
       เมื่อโตขึ้นจึงไม่แปลกที่เขามีพฤติกรรมเกเรชอบชกต่อยกับผู้อื่นเป็นประจำ จนโรงเรียนต้องเรียกยายไปพบ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ผู้อื่นเมื่อตนเองถูกกระทำ และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการข่มขู่หรือคุกคามผู้อื่นเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ
     
       ไม่แปลกอีกเช่นกันที่เขาจะติดเกมออนไลน์เพราะว่าเกมทำให้เขาอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่เขาสามารถหนีจากโลกของความเป็นจริงอันไม่พึงปรารถนาไปสู่โลกแห่งความฝันซึ่งทำให้จิตของเขามีตัวตนขึ้นมา เขากลายเป็นคนสำคัญ เป็นพระเอก เป็นผู้กำหนด เป็นผู้กระทำ ภายในโลกจินตนาการของเกม
     
       ในไม่ช้าเขาก็คงจะติดยาเสพติด หรือเข้าไปอยู่ในเครือข่ายของการค้ายาเสพติด และในอนาคตก็อาจจะเป็นอาชญากรอย่างที่ผู้เป็นยายคาดเอาไว้
     
       เมื่อสังหารหลานชายของตนเองเสียชีวิตแล้ว ดูเหมือนผู้เป็นยายจะไม่สำนึกเสียใจกับสิ่งที่ตนเองกระทำลงไป กลับคิดว่าสิ่งที่ตนเองกระทำมีความชอบธรรม ทำไปเพื่อป้องกันไม่ให้หลานไปทำร้ายผู้อื่นหรือทำร้ายสังคมได้ในอนาคต สิ่งที่ยายคิดเกี่ยวกับอนาคตของหลานตนเองอาจจะถูก แต่ยายคงลืมไปว่าตนเองก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการสร้างตัวตนของหลานขึ้นมา
     
       สถานะของยายและหลานเป็นทั้งเหยื่อและผู้กระทำความรุนแรง เป็นภาพสะท้อนพื้นผิวของปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ทั้งยังเป็นอาการแสดงออกของความเจ็บป่วยทางจิตวิญญานของผู้คนที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วงในปัจจุบัน
     
       ผมคิดว่าความรุนแรงของสังคมไทยในปัจจุบันทั้งภายในครอบครัว ชุมชน และสังคม เป็นภาพสะท้อนของความเสื่อมทรามของสังคมมีความซับซ้อนเกี่ยวพันกับปัจจัยจำนวนมาก แต่ปัจจัยหลักๆ มีอย่างน้อยสี่ประการ
     
       ประการแรก การถูกบีบคั้นทางสภาพเศรษฐกิจอันทำให้ผู้คนต้องแสวงหารายได้เพื่อความอยู่รอดโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ผู้คนใช้เวลามากขึ้นในการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้มายังชีพและเลี้ยงดูครอบครัว ดังกรณีเด็กที่ถูกยายฆ่า ผู้เป็นมารดาของเด็กคงออกไปประกอบอาชีพจนไม่มีเวลาในการเลี้ยงดูบุตรได้ด้วยตนเอง เด็กคนใดที่ขาดความรักหรือมีความรู้สึกที่เจือจางต่อมารดา เด็กผู้นั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะมีพฤติกรรมรุนแรงหรือกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่หากเด็กคนใดที่มีความรักแม่เป็นฐานของจิตใจ และแม่เป็นแบบอย่างเชิงคุณธรรมของเขาแล้วด้วย เขาจะมีภูมิคุ้มกันสูงมากในการต้านทานพลังทางลบทั้งหลาย
     
       ประการที่สอง การถูกมอมเมาด้วยลัทธิบริโภคนิยมจนทำให้จิตใจคิดแต่เสพสุข มุ่งตอบสนองความต้องการของตนเองโดยไม่สนใจกับการทำร้ายผู้อื่นและสังคม บริบททางสังคมที่ห้อมล้อมเด็กเต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุให้พวกเขาเกิดความต้องการที่เลยเถิด ก่อเป็นความหมกมุ่นกับตนเอง และหลงใหลในสิ่งยั่วยวนเหล่านั้น ทั้งในเรื่องการติดเกม การติดยาเสพติด และการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยในสิ่งที่ไม่จำเป็น
     
       ประการที่สาม การอ่อนแอของระบบความสัมพันธ์ทางสังคมทำให้การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนบ้านและระหว่างเพื่อนร่วมโรงเรียนลดลง เด็กปัจจุบันไม่มีเพื่อนบ้านคอยช่วยดูแลเหมือนเด็กชนบทในอดีต ในโรงเรียนก็มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับครูเพราะครูเองก็ต้องเอาตัวรอดจากการถูกบีบคั้นจากระบบการบริหารการศึกษาและภาวะเศรษฐกิจที่กดทับพวกเขาอยู่จนไม่มีเวลาดูแลเด็กเท่าที่ควร ส่วนความสัมพันระหว่างเพื่อนก็มีแนวโน้มห่างเหินมีการชกต่อย แข่งแย่งชิงดีกันประจำ หรือไม่ก็มีความสัมพันธ์รวมกลุ่มกันในทางที่ถูกครอบงำด้วยค่านิยมที่ผิดๆ จนกลายเป็นพฤติกรรมที่สร้างปัญหาแก่สังคมขึ้นมา
     
       ประการที่สี่ ความอ่อนแอของระบบการเมืองที่มุ่งเน้นการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ รวมทั้งสร้างค่านิยมแห่งความรุนแรง ละเมิดกฎหมายขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นแบบอย่างให้เด็กและเยาวชนประพฤติตาม ยอมรับการทุจริตและความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ
     
       ยายฆ่าหลานจึงเป็นเพียงภาพสะท้อนอีกภาพหนึ่งในหลายๆภาพของความเสื่อมทรามอันซับซ้อนของสังคมไทย และนับวันอาการปัญหาเหล่านี้จะปรากฎออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน
     
       จนกว่าผู้คนในสังคมยอมรับความจริง เลิกหลอกลวงตัวเอง และเริ่มต้นแก้ไขเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปสังคมทั้งระบบอย่างรอบด้านอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขความเสื่อมทรามเหล่านี้ เราจึงจะมีความหวังในการรื้อฟื้นสังคมไทยอยู่บ้าง


จำนวนคนอ่าน 4211 คน

Dhammadhira Bhikkhuni, Metha Megcharoen and 11 others like this

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั