ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ใครจะโดนข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติก่อนกัน : ทักษิณหรืออภิสิทธิ์


ใครจะโดนข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติก่อนกัน : ทักษิณหรืออภิสิทธิ์

 ASTVผู้จัดการรายวัน 3 สิงหาคม 2555 17:33 น.





ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       ในปัจจุบันมีอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยที่กำลังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการกระทำผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติสองคนคือ ทักษิณ ชินวัตร และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งสองกระทำในเรื่องใดบ้างจึงถูกตั้งข้อกล่าวหานี้ และแนวโน้มที่จะถูกดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามยิ่งนัก
     
       ความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติเป็นเรื่องที่ทำให้ ทักษิณ ชินวัตรมีความหวั่นวิตกอยู่ลึกๆ ว่าตนเองอาจโดนก็ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง และจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเขาอย่างรุนแรง จนทำให้ไม่มีที่ยืนในต่างประเทศ ทั้งนี้เป็นเพราะการกระทำและผลกระทบของนโยบายปราบปรามยาเสพติดสมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไป ปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) สรุปว่า มีความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crime against humanity) เกิดขึ้น
     
       ส่วนอภิสิทธิ เวชชาชีวะได้ถูกนางธิดา โตจิราการ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์แล้ว ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 กรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์มีคำสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง แต่ดูเหมือนนายอภิสิทธิ์ จะไม่ค่อยหวาดวิตกในเรื่องนี้เท่าไรนัก ต่างจากทักษิณ ชินวัตรที่ดูลุกลี้ลุกลนมาก ดูได้จากการพยายามผลักดัน พ.ร.บ. ปรองดองอย่างเร่งรีบ เพื่อทำให้ตนเองสามารถกลับประเทศไทยอย่างเท่ๆ
     
       หากทักษิณ ชินวัตร อยู่ในประเทศไทยเขาไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับตัวส่งศาลอาญาระหว่างประเทศเพราะเขาสามารถควบคุมรัฐบาลซึ่งมีน้องสาวเป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่หากอยู่ในประเทศอื่น หากศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับ ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่รัฐบาลประเทศนั้นๆจะจับทักษิณ ชินวัตรไปดำเนินคดีในศาลที่กรุงเฮก
     
       อะไรคือความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ มีผู้นำการเมืองของประเทศใดบ้างที่เคยถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดฐานนี้
     
       ธรรมนูญกรุงโรมของศาลอาญาระหว่างประเทศนิยาม “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่น่ารังเกียจอันเนื่องมาจากการทำร้ายอย่างรุนแรงต่ออัตลักษณ์ของมนุษย์หรือการเหยียดหยามอย่างร้ายแรงหรือการลดความเป็นมนุษย์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล อาชญากรรมต่อมนุษยชาติมิใช่เหตุการณ์ที่โดดเดี่ยวหรือเกิดขึ้นนานๆครั้ง แต่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล (ผู้ทำผิดไม่จำเป็นต้องระบุว่าตนเองเกี่ยวข้องกับนโยบายนี้อย่างไร) หรือ การปฏิบัติอย่างป่าเถื่อนโหดร้ายที่รัฐบาลให้การยอมรับหรือไม่เอาผิดดำเนินคดีแก่ผู้ปฏิบัติ
     
       รูปธรรมของการปฏิบัติได้แก่ การฆาตกรรม การทำลายล้างแบบเผาบ้านเผาเมือง การทรมาน การข่มขืน และการจับมาลงโทษด้วยสาเหตุความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ และการเมือง สำหรับการกระทำที่ลดความเป็นมนุษย์หรือขาดมนุษยธรรมอื่นๆเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อเมื่อมีการกระทำอย่างเป็นระบบและกว้างขวาง การกระทำที่ขาดมนุษยธรรมอื่นๆในกรณีเฉพาะแต่ละกรณีโดยพื้นฐานแล้วเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง แต่อาจไม่เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติก็ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเรื่องที่เกิดขึ้นว่าเข้าเงื่อนไขและองค์ประกอบของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่
     
       พูดง่ายๆ การกระทำที่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติมีองค์ประกอบดังนี้
     
       1. รัฐบาลเป็นผู้กระทำอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง หรือมีส่วนในการสนับสนุนการกระทำ กรณีรัฐบาลกระทำด้วยตนเองคือ การกำหนดนโยบาย มีการมอบนโยบาย มีการนำนโยบายไปปฏิบัติด้วยกลไกรัฐ ส่วนกรณีรัฐบาลสนับสนุนหรือเพิกเฉยต่อการกระทำผิดคือ แม้ว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่หากรัฐบาลเพิกเฉยต่อผู้กระทำผิดหรือให้อภัยต่อผู้กระทำผิดก็เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเช่นเดียวกัน หรือหากรัฐบาลใดสนับสนุนกลุ่มที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติก็มีความผิดเช่นเดียวกัน เช่น รัฐบาลบางประเทศเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีต่อกลุ่มมวลชนของตนเองที่มีขบวนการจัดตั้งอย่างเป็นระบบไปเข่นฆ่า ทำร้าย ข่มขู่คุกคาม ประชาชนที่ไม่เห็นด้วย นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และ ศาล การเพิกเฉยของรัฐบาลประเทศนั้นอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้
     
       2. การกระทำนั้นเป็นการทำลายตัวตนหรืออัตลักษณ์ ลดความเป็นมนุษย์ และเหยียดหยามผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายในการกระทำ เช่น การลดความเป็นมนุษย์ของผู้ค้ายาเสพติด และประกาศต่อสาธารณะว่าผู้ค้ายาเสพติดถูกยิงตายบ้างก็เป็นเรื่องปกติ บางทีถูกยิงตายแล้วต้องถูกยึดทรัพย์
     
       3. การกระทำนั้นไม่ใช่เหตุการณ์เดียว แต่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราว เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล ผู้มีส่วนร่วมในการสร้างการกระทำที่รุนแรงไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับนโยบายโดยตรงก็ได้ แต่การกระทำของพวกเขาได้รับอิทธิพลจากนโยบาย เช่น ในหมู่บ้านหนึ่ง นาย ก เห็นนาย ข ซึ่งไปทำงานขายแรงงานในเมืองหลายปีกลับมาอยู่ในหมู่บ้านเปิดร้านขายของและมีรถกระบะใช้ นาย ก จึงไปแจ้งตำรวจว่า สงสัยนาย ข ค้ายาเสพติดเพราะร่ำรวยผิดปกติ และต่อมาไม่นาน นาย ข ถูกยิงเสียชีวิต
     
       4. รูปแบบของความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีหลายลักษณะ เช่น การเข่นฆ่า การอุ้มทำให้หายตัวไป การจับมาทรมาน การจับมาขังคุก การข่มขืน และการทำให้กลายเป็นคนที่สังคมรังเกียจไม่คบค้าสมาคมด้วย เป็นต้น
     
       ผมจะหยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำประเทศบางประเทศที่ถูกศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาตัดสินจำคุกมาเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่าง เป็นเรื่องราวของสองประเทศที่มีความเชื่อมโยงกัน ผู้นำประเทศหนึ่งมีความผิดฐานช่วยเหลือและสนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ส่วนอีกประเทศหนึ่งเป็นผู้นำกองกำลังกบฏที่มีการกระทำผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
     
       ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 ศาลอาญาระหว่างประเทศอ่านคำพิพากษาและตัดสินให้ นายชาร์ลส์ เทย์เลอร์ อดีตประธานาธิบดีไลบีเรีย จำคุก 50 ปี ในความผิดฐานช่วยเหลือและสนับสนุนอาชญากรสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยจัดส่งอาวุธให้ “แนวร่วมเอกภาพปฏิวัติ” (RUF- Revolutionary United Front)ใช้ก่อกบฏในประเทศสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน (The Republic of Sierra Leone) ซึ่งทำให้เกิดสงครามกลางเมืองที่ทารุณโหดร้ายถึง 11 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1991 – 2002 และทำให้ประชาชนเสียชีวิตกว่า 120,000 คน แรงจูงใจที่ผลักดันอดีตประธานาธิบดีคนนี้ร่วมทำผิดคือ ผลประโยชน์จากเหมืองเพชรและการค้าอาวุธ โดยนายชาร์ล เทย์เลอร์ส่งอาวุธให้กลุ่มกบฏเพื่อแลกกับเพชรที่กลุ่มแนวร่วมฯได้จากการใช้แรงงานทาสขุดจากเหมือง เพชรเหล่านี้ถูกเรียกว่าเป็น “เพชรสีเลือด”
     
       กลุ่มแนวร่วมเอกภาพปฏิวัติมีนายโฟเดย์ แซงโก เป็นผู้นำ สมาชิกประกอบด้วยกลุ่มเยาวชนและกลุ่มชนชั้นล่างที่ไร้การศึกษา ช่วงแรกกลุ่มแนวร่วมฯประกาศเป้าประสงค์ต่อสาธารณะอย่างสวยหรูว่า “จะฟื้นฟูประเทศจากความยากจน ความอดอยาก ปราบปรามการทุจริต และปกป้องผลประโยชน์ของชาติ” แต่การกระทำจริงคือ การจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อสร้างความมั่งคั่งแก่กลุ่มตนเอง โดยการปล้น เผาหมู่บ้าน หรือเผาบ้านเผาเมือง ช่วงชิง ฆ่า ข่มขืน ลงโทษประชาชนอย่างทารุณผิดมนุษย์ เช่น การตัดแขน ตัดขา แม้กระทั่งเด็กก็โดน เป็นต้น ต่อมาสหประชาชาติจึงเข้าแทรกแซง โดยการส่งกองกำลังนานาชาติไปจัดการกับกลุ่มแนวร่วมฯ และในท้ายที่สุดผู้นำกลุ่มแนวร่วมฯถูกจับขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ และถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 52 ปี
     
        เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทยบ้าง ในการมอบหมายนโยบาย และการควบคุมกำกับนโยบายปราบปรามยาเสพติดของทักษิณ ชินวัตร เขาเคยประกาศว่า
     
       “การทำงานหนักในช่วง 3 เดือน ถ้าจะมีผู้ค้ายาเสพติดตายไปบ้างก็เป็นเรื่องปกติ บางทีถูกยิง ตายแล้วต้องถูกยึดทรัพย์ด้วย ผมคิดว่าเราต้องเหี้ยมพอกัน ที่อยู่ของขบวนการค้ายาเสพติดจึงมีอยู่ 2 ที่ ถ้าไม่ไปคุก ก็ไปวัด สำหรับคนที่ค้าท่านต้องใช้กำปั้นเหล็กใช้ความเด็ดขาดอย่างชนิดไม่ปรานี เรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องสำคัญที่อันตรายต่อความมั่นคงของชาติที่เราต้องทำสงครามสู้รบให้แตกหัก และเป็นเรื่องจำเป็นที่จะมีการบาดเจ็บกันบ้าง”
     
       หลังจากที่ทักษิณ ชินวัตร หมดอำนาจทางการเมืองมีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระฯ (คตน.)เพื่อตรวจสอบการนำนโยบายปราบปรามยาเสพติดของทักษิณไปปฏิบัติและผลกระทบที่เกิดขึ้น คตน. ศึกษาอย่างละเอียดและมีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการ ที่เป็นหลักฐานว่า การกระทำของทักษิณ ชินวัตรอาจเข้าข่ายความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ข้อสรุปเหล่านั้นคือ
     
       1) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2546 กระบวนการมอบนโยบายของทักษิณ เป็นไปในทิศทางที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ปฏิบัติ ว่าตนมีอำนาจที่จะจัดการในทุกรูปแบบ เพื่อให้ปัญหายาเสพติดหมดไป
     
       2) เมื่อผู้ปฏิบัติตามนโยบายมีความจำเป็นต้องดำเนินการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะการถูกจูงใจ หรือถูกบีบบังคับก็ตาม เป็นผลให้วิธีการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติเกิดความผิดพลาด และที่เห็นชัดที่สุดคือการสูญเสียชีวิตประชาชนเป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลาแค่สามเดือน (ประมาณสองพันกว่าคน)
     
       3). ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่ผิดพลาด ก่อให้เกิดความสูญเสียที่ร้ายแรงกับประเทศชาติ เพราะประเทศไทยต้องตกเป็นที่วิพากษ์ของประชาคมโลก เป็นเหตุให้รัฐบาลไทย ถูกเรียกร้องให้มีการไต่สวนหาผู้รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น
     
       4). คตน.เห็นว่าอาจมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความรับผิดตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศว่าด้วยอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ แต่การหาตัวผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไป และควรทำวิจัยเพื่อหามาตรการป้องกันความผิดพลาดต่อไป
     
       อย่างไรก็ตาม แม้ว่า คตน. จะมีการศึกษาและได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนแล้ว แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดต่อมาก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันอยู่ภายใต้การบงการของทักษิณ ชินวัตร
     
       แต่ที่น่าแปลกคือ สังคมไม่ได้ยินข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างกระตือรือร้นจริงจัง โดยนำข้อมูลที่ คตน.ศึกษาไปยื่นฟ้องทักษิณ ชินวัตรต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ช่างแตกต่างวิธีดำเนินการของกลุ่ม นปช. ที่มีการสร้างแนวร่วมดึงนักวิชาการและบริษัทกฎหมายต่างประเทศมาช่วยเหลือ และฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว
     
       ดังนั้นแม้ว่า ทักษิณ ชินวัตร ดูจะมีการกระทำที่อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติมากกว่า อภิสิทธิ เวชชาชีวะ แต่หากไม่มีใครในพรรคประชาธิปัตย์นำเรื่องนี้ไปฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ เขาก็คงลอยนวลต่อไป และดีไม่ดีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจจะต้องไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศก่อนทักษิณ ก็ได้


You, Nouvarat Laoworavit and 150 others like this
จำนวนคนอ่าน 7155 คน


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ