ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เหยื่อของประชาธิปไตยแบบฝูงชน


เหยื่อของประชาธิปไตยแบบฝูงชน

 ASTVผู้จัดการรายวัน 29 มิถุนายน 2555 20:19 น.





ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       กรุงเอเธนส์เมื่อประมาณ 2,400 ปี นักคิดสามัญชนร่างเตี้ยห่มผ้าที่มีรอยยับย่นเดินช้าๆไปตามถนนในเมือง มองความบ้าคลั่งทางการเมืองแบบประชาธิปไตยอย่างเยือกเย็น เขาเป็นคุรุที่ผู้คงแก่เรียนและคนหนุ่มผู้เร่าร้อนชมชอบมารุมล้อมฟังการสนทนาแสวงหาความรู้ร่วมกันเป็นประจำ การสนทนาที่มีชีวิตชีวาและประเทืองปัญญาเริ่มขึ้น คำถามข้อแล้วข้อเล่าถูกตั้งขึ้นมา คำตอบก็เฉกเช่นเดียวกัน ผุดออกมาไม่หยุดย่อน แต่ไม่มีบทสรุปจบดุจบันไดวนขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง นักคิดผู้นี้คือ โสคราติส
     
        โสคราติสได้รับการชื่นชอบจากสานุศิษย์ เพราะเขามีทั้งความเป็นคนสามัญและนักปรัชญาอยู่ร่วมกัน เขาไม่เคยโอ้อวดว่าตนเองเป็นผู้มีความรู้ กล่าวเสมอว่าตนเองเป็นมือสมัครเล่นทางปัญญา ใฝ่หาความรู้ด้วยความรัก เมื่อมีคนยกย่องว่าเขาเป็นผู้ฉลาดที่สุดในกรีก เขาตอบว่า “ข้าพเจ้ารู้อยู่อย่างหนึ่งว่า ตัวข้าพเจ้านั้นไม่รู้อะไรเลย” ปรัชญาจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อมนุษย์เริ่มสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อในทฤษฎีหรือความจริง
     
        เอเธนส์ในยุคนั้นผู้คนคลั่งไคล้ในลัทธิปัจเจกชนเสรีซึ่งนิยมทำอะไรตามใจปรารถนาถ้าสิ่งนั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย ระบบศีลธรรมที่มีรากฐานจากความกลัวเทพเจ้าถูกพวกโซฟิสต์ทำลายโดยการเสนอว่าเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ส่วนในการปกครองชาวเอเธนส์คลั่งไคล้ประชาธิปไตยมาก เมืองถูกปกครองโดยฝูงชน การบริหารและการตัดสินใจเป็นไปอย่างปราศจากความยั้งคิด แม้กระทั่งศาลสูงก็ได้มาด้วยการจับสลากจากพลเมืองที่เป็นชาวนาและพ่อค้า
     
        โสคราติสเห็นว่า เราไม่อาจชักชวนให้ผู้คนเชื่อฟังกฎหมายและคำนึงถึงส่วนรวมได้ หากบ้านเมืองวุ่นวายและไร้เหตุผล ความหลงงมงายร้ายแรงประการหนึ่งคือความเชื่อที่ว่า ความเห็นมหาชนคือสิ่งที่ฉลาดหลักแหลมเพราะสิ่งที่พบเห็นได้เสมอคือเมื่อมนุษย์เกาะกลุ่มกันจะโง่เขลาและโหดร้ายมากกว่าเมื่อแยกกันอยู่ และการถูกปกครองโดยนักพูดผู้ตระเวณโอ้อวดความกลวงเปล่าของตนเองเสมือนหม้อที่ถูกเคาะจะเกิดเสียงดังกังวานเป็นสิ่งที่น่าละอาย พวกนี้จะหยุดเคาะก็ต่อเมื่อมี “มือของใครสักคนมาหยุด”
     
        การสอนของโสคราติสท้าทายอำนาจรัฐของเอเธนส์ เขาจึงถูกฟ้องในข้อหาทำให้คนหนุ่มเสียคน และถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการดื่มยาพิษ โสคราติสปฏิเสธการร้องขอความเมตตาจากฝูงชน แม้คนเหล่านั้นจะมีอำนาจในการปล่อยเขา ชีวิตของเขาจบลงเพราะต้องการยืดหยัดและปฏิบัติตามในสิ่งที่ตนเองเชื่อมั่น และแล้วชาวเอเธนส์ก็ได้ประหารการใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็น ในนามของประชาธิปไตย
     
       การตายของโสคราติสเป็นชะตากรรมของนักปรัชญาผู้มีสติปัญญา ความรอบรู้ คุณธรรม และความกล้าหาญที่ต้องกลายเป็นเหยื่อของประชาธิปไตย แม้ว่าเขาอาจเป็นคนแรก แต่คงไม่ใช่คนสุดท้ายอย่างแน่นอน การทำร้ายและเข่นฆ่าผู้เชิดชูคุณธรรมในนามของประชาธิปไตย ดูเหมือนสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
     
        เพลโตผู้สืบทอดมรดกทางปัญญาของโสคราติสอธิบายเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยว่า รากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอยู่ที่การมีสิทธิเท่าเทียมของประชาชนในการครองอำนาจและการบริหาร หากมองอย่างผิวเผินดูเหมือนจะดี ทว่าระบอบนี้จะพังพินาศหากมนุษย์ในสังคมไม่ได้รับการศึกษาที่สอนให้เลือกผู้ปกครองที่ดีที่สุดอย่างชาญฉลาด
     
       เพลโตชี้ว่า ปวงชนขาดความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบการเมือง พวกเขาจึงท่องจำสิ่งที่นักการเมืองบอกให้เขาจำ เช่น นักการเมืองบอกว่าศรัตรูของพวกเขาคืออำมาตย์เพราะเป็นต้นเหตุความเหลื่อมล้ำและรังแกคนที่พวกเขารัก ปวงชนก็จำเอาไว้ และพูดตามที่นักการเมืองบอก หากมีผู้ใดไปถามว่าอำมาตย์คือใคร มีลักษณะเป็นอย่างไร ปวงชนจะตอบไม่ได้ หรือไม่ก็อาจตอบได้เพียงว่า อำมาตย์คือศัตรูเท่านั้น
     
        ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย การทำให้ประชาชนยอมรับหรือปฏิเสธความเชื่อและความจริงใดเป็นเรื่องง่ายมาก เพียงแค่ยกย่อง ล้อเลียน หรือวิพากษ์ความเชื่อนั้นในบทละคร หรือในเวทีปราศรัยและรายการโทรทัศน์ในยุคปัจจุบัน เช่น หากให้เชื่อว่าผู้ก่อการร้ายฆ่าคนเผาเมืองเป็นวีรบุรษประชาธิปไตยก็ยกย่องเชิดชูคนเหล่านั้นให้บ่อยครั้ง ในที่สุดประชาชนก็เชื่อว่าผู้ก่อการร้ายเป็นวีรบุรุษไปจริงๆ
     
        เพลโตเปรียบเปรยว่า การปกครองโดยฝูงชนเสมือนการนำรัฐนาวาแล่นไปในทะเลคลั่ง ลอยอยู่ท่ามกลางคลื่นลมพายุแห่งวาทกรรมซึ่งคอยกระชากทิศทางเรือให้หันเห ท้ายที่สุดประชาธิปไตยแบบฝูงชนก็มักจะลงเอยในการปกครองแบบทรราชย์ เพราะว่าฝูงชนหลงใหลในคำโกหกหลอกลวง เคลิบเคลิ้มกับคำหวานที่ป้อยอ และหิวกระหายกับเศษเนื้อที่ถูกโยนไปให้
     
        ยิ่งไตร่ตรองมาก เพลโตก็รู้สึกประหลาดใจในความโฉดเขลาของมนุษย์ เหตุไฉนจึงปล่อยให้ฝูงชนที่เบาปัญญาและโลเลเลือกผู้บริหารสังคม เพลโตได้เขียนข้อคิดที่น่าสนใจว่า หากเราทำรองเท้า เราจะมอบให้ช่างทำรองเท้าผู้เชี่ยวชาญทำ หากเราป่วย เราให้แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้วินิจฉัยและรักษา เราคงไม่เลือกแพทย์มารักษาเราเพราะว่าแพทย์ผู้นั้นรูปงามที่สุด แต่ในเรื่องการเมืองนี่แปลก เรากลับคิดทึกทักเอาเองว่าทุกคนที่มีความเชี่ยวชาญในการหาเสียงเลือกตั้งย่อม รู้วิธี มีความสามารถและมีคุณธรรมในการบริหารประเทศด้วย เราก็เชื่อตามๆ มาอย่างนั้นนับพันปี
     
        เพลโตชี้ว่า หากรัฐเกิดความเจ็บป่วยเป็นการสมควรที่จะเรียกหาคนที่ฉลาดที่สุดและดีที่สุดมาช่วยแนะนำแก้ไข แต่ปัญหาคือจะมีวิธีการใดที่กำจัดคนไม่มีความสามารถและเลวทรามให้พ้นจากการเข้ามามีอำนาจ ขณะเดียวกันจะมีวิธีการใดที่จะเลือกสรรและเตรียมคนที่มีปัญญา คุณธรรม จริยธรรม ให้เข้ามาปกครองประเทศเพื่อความดีของส่วนรวม
     
       เพลโตประสงค์ให้ผู้ปกครองเป็นปราชญ์ผู้ค้นพบความจริง รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ และเมื่อปราชญ์เป็นผู้ปกครองย่อมนำพาประชาชนไปตามวิถีแห่งจริยธรรมได้
     
        อย่างไรก็ตามปัญหาที่เพลโตตั้งมาสองพันกว่าปีเกี่ยวกับประชาธิปไตยก็ยังไม่สามารถแก้ได้ตกในปัจจุบัน สิ่งที่โสคราติสและเพลโตกล่าวในยุคนั้นก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในปัจุบัน โดยเฉพาะในสังคมไทยปัญหาการปกครองแบบฝูงชนนับวันจะหนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้น
     
        แม้ว่าในปัจจุบันระดับการศึกษาของผู้คนจะสูงกว่ากรีกในอดีต แต่ผู้คนส่วนใหญ่ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยมีวิธีคิดเกี่ยวกับการศึกษาไม่ต่างกับที่ฟรานซิส เบคอน กล่าวไว้ตั้งแต่ช่วงต้นคริสตวรรษที่17 คือใช้การศึกษาเป็นเพียงเครื่องประดับเพื่อแสดงการโอ้อวด มากกว่าใช้เพื่อแสวงหาความรู้และพัฒนาภูมิปัญญาอย่างแท้จริง ทั้งที่ความสุขทางปัญญานั้นเหนือกว่าความสุขทางอารมณ์และประสาทสัมผัสเพราะยกระดับจิตมนุษย์ให้พ้นจากความสับสนของสรรพสิ่ง
     
       เมื่อลักษณะการศึกษาดังที่เป็นอยู่มีส่วนช่วยยกระดับปัญญาของมนุษย์น้อย ปวงชนก็เลือกผู้ปกครองประเทศที่สามารถตอบสนองความสุขทางประสาทสัมผัสของตนเอง เช่น เลือกผู้นำประเทศที่มีรูปงาม หรือเลือกตั้งบุคคลเป็นผู้แทนตนเองโดยตัดสินจากความสามารถในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานทางกายภาพ มากกว่าการเลือกผู้นำหรือผู้แทนที่สามารถเข้าไปนำพาและยกระดับภูมิปัญญาและจิตวิญญานของพวกเขา
     
       บางคนอาจโต้แย้งว่าการยกระดับปัญญาและจิตวิญญาณเป็นเรื่องเฉพาะตัวของบุคคล ข้อโต้แย้งนี้มีส่วนถูกอยู่เล็กน้อยเท่านั้น เพราะทั้งการค้นพบทางสังคมวิทยาและประสาทวิทยาได้ข้อสรุปตรงกันประการหนึ่งว่าเงื่อนไขหนึ่งที่กำหนดการกระทำหรือพฤติกรรมของผู้คนคือการเลียนแบบผู้คนที่เขาชื่นชอบหรือเลียนแบบผู้นำ
     
       ในทางสังคมวิทยาการเลียนแบบเป็นการปรับตัวทางสังคมของมนุษย์เพื่อทำให้ตนเองได้รับการยอมรับหรือเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มที่พวกเขาใช้เป็นกรอบอ้างอิง ส่วนวิทยาการด้านประสาทวิทยาก็มีการค้นพบเซลล์กระจกเงากลุ่มหนึ่งในสมองซึ่งทำหน้าที่เลียนแบบบุคคลอื่น โดยเฉพาะบุคคลที่เขายึดเป็นต้นแบบของเขา ดังนั้นผู้นำประเทศหรือบุคคลชั้นนำของประเทศที่ปรากฏตัวให้ผู้อื่นเห็นอยู่อย่างสม่ำเสมอจึงกลายเป็นตัวแบบที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยนำไปปฏิบัติตาม
     
       หากผู้นำมีคุณธรรมก็ย่อมส่งอิทธิพลชักนำประชาชนให้เดินไปในทิศทางแห่งคุณธรรม แต่หากผู้ปกครองไร้คุณธรรม เป็นพวกโอ้อวด ฉ้อฉล ไร้ความสามารถ ก็ย่อมส่งอิทธิพลให้ประชาชนเดินไปในทิศทางนั้นด้วย
     
       การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ให้สิทธิปวงชนทุกคนเลือกผู้บริหารประเทศทั้งที่คนจำนวนมากยังมีระดับปัญญาและมีเหตุผลจำกัด จึงเป็นการลดทอนความเป็นไปได้ที่จะให้ได้มาซึ่งผู้ปกครองประเทศที่มีวิสัยทัศน์ มีปัญญา และมีสำนึกแห่งพันธกิจเพื่อประเทศชาติ แน่นอนว่าแนวโน้มนี้อาจมีข้อยกเว้นสำหรับบางประเทศที่ด้วยความบังเอิญและเงื่อนไขเฉพาะเจาะจงทางประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งทำให้ได้ผู้นำที่ดีมาบริหารประเทศ
     
       แต่กระแสนิยมและการครอบงำทางวาทกรรมของโลกปัจจุบันทำให้ทางเลือกของสังคมเกี่ยวกับระบอบการปกครองมีความจำกัดและถูกบีบให้เหลือเพียงทางเลือกเดียวคือ ต้องให้ฝูงชนเลือกตั้งผู้บริหารปะเทศและต้องใช้ป้ายคำว่า “ประชาธิปไตย” ปักเอาไว้ข้างๆ เพื่อให้ดูดี จึงนับว่าเป็นโศกนาฏกรรมอันน่าอดสูของหลายประเทศที่ถูกปกครองโดยฝูงชนที่ไร้สติ
     
       แต่สำหรับโสคราติส เขายอมตายดีกว่ายอมรับและจำนนต่อระบอบประชาธิปไตยแบบฝูงชน หากสังคมไทยจะข้ามพ้นจากหุบเหวของระบอบประชาธิปไตยแบบนี้หรือเรียกให้ดูทันสมัยว่า “ประชาธิปไตยแบบฝูงชนภายใต้การบงการของทุนนิยมสามานย์” ไปได้ เราอาจจำเป็นต้องมีนักปราชญ์ที่กล้าหาญและยืนหยัดแบบโสคราติสอีกหลายคนกระมัง


Joy Nugranad-Marzilli, Petch OrPam and 303 others like this
จำนวนคนอ่าน 5623 คน          

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั