ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ทักษิณถูกพิชิตอย่างไร และจะพ่ายแพ้อีกหรือไม่


ทักษิณถูกพิชิตอย่างไร และจะพ่ายแพ้อีกหรือไม่

 ASTVผู้จัดการรายวัน 8 มิถุนายน 2555 18:38 น.

คิด ไปเองKiattisak Auafua and 440 others like this


ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       การศึกในสงครามปรองดองยกแรกผ่านไป พร้อมกับความพ่ายแพ้ของทักษิณและพรรคเพื่อไทย ภาคประชาชนพิชิตทักษิณได้อย่างไร เป็นสิ่งที่น่าวิเคราะห์และประเมินเป็นบทเรียน ผมคิดว่ามีเงื่อนไขสำคัญ 4 ประการที่ส่งผลให้ภาคประชาชนสามารถเอาชนะทักษิณได้
     
       ประการแรกคือ สำนึกแห่งพันธกิจเพื่อบ้านเมืองของประชาชน
     
       ประการที่สอง การนำและการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
     
       ประการที่สาม การต่อสู้และการใช้ยุทธวิธีที่เหนือความคาดหมายของพรรคประชาธิปัตย์
     
       และประการที่สี่ ความอหังการของทักษิณ และพรรคเพื่อไทย
     
       อันที่จริงประชาชนจำนวนมากในสังคมไทยมีสำนึกแห่งพันธกิจเพื่อบ้านเมือง ในบางช่วงบางเวลายามที่แผ่นดินดูเหมือนสงบ สำนึกแห่งพันธกิจนี้อาจไม่แสดงออกมาอย่างชัดเจน แต่เมื่อมีเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง สำนึกแห่งพันธกิจของประชาชนก็จะแสดงพลานุภาพออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ในการพิทักษ์รักษาบ้านเมือง
     
       เมื่อทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจสั่งให้ พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน และ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลบล้างความผิดและความเป็นอาชญากรหนีคุกของตนเอง ก็ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองอย่างใหญ่หลวง เพราะหากร่าง พ.ร.บ. นี้ผ่านสภาออกเป็นกฎหมายได้จะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง กว้างไกล และรุนแรง ระบบนิติรัฐจะถูกทำลายลงไปอย่างยับเยิน รัฐไทยจะกลายเป็นรัฐป่าเถื่อนที่มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ อาชญากรผู้กระทำผิดกฎหมายร้ายแรง นักการเมืองและข้าราชการทุจริต ผู้ก่อการร้ายเผาบ้านเผาเมืองไม่ต้องได้รับโทษอีกต่อไป
     
       เมื่อกฎหมายถูกทำให้ไร้สมรรถภาพและไร้ความศักดิ์สิทธิ์ รัฐไทยก็จะแปรสภาพจาก “นิติรัฐ” เป็น “รัฐล้มเหลว” บ้านเมืองไร้ขื่อแป อันถือได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์อย่างร้ายแรงของสังคม ด้วยการเล็งเห็นว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต หากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านสภาเป็นกฎหมาย สำนึกแห่งพันธกิจเพื่อบ้านเมืองของประชาชนทุกภาคส่วนจึงถูกปลุกขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียงกัน ประชาชนทุกกลุ่มทุกอาชีพผู้ไม่ยอมให้ระบบนิติธรรมและนิติรัฐของแผ่นดินไทยต้องถูกทำลายด้วยน้ำมือของกลุ่มทุนนิยมสามานย์และเผด็จการรัฐสภา จึงร่วมใจกันอย่างพร้อมเพรียงออกจากบ้านเดินลงสู่ท้องถนนเพื่อชุมนุมหยุดยั้งร่างกฎหมายล้างผิดแก่อาชญากรฉบับนี้
     
        ท่ามกลางกลุ่มประชาชนที่หลากหลาย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นพลังหลักต่อการชี้ขาดชัยชนะ แกนนำ พธม. ใช้การนำและการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ จนทำให้ทักษิณและรัฐบาลตามไม่ทัน เป็นเหตุให้ต้องประสบความพ่ายแพ้ไปในที่สุด
     
       ลักษณะการนำและการตัดสินใจของแกนนำ พธม. ใช้การนำแบบมีส่วนร่วมและใช้วิธีการตัดสินใจแบบเอกฉันท์ ซึ่งเป็นแนวทางการตัดสินใจในวิถีประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ อันเป็นแนวคิดประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ใช้วิธีการตัดสินใจโดยอาศัยเสียงข้างมาก ด้วยการนำและการตัดสินใจดังกล่าวทำให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหว และไม่นำมวลชนไปสู่ความสุ่มเสี่ยง ยุทธวิธีในการถนอมกำลังในที่ตั้ง การระดมแบบฉับพลัน การเคลื่อนที่เร็วไปสู่จุดยุทธศาสตร์ รวมทั้งการปฏิบัติการเชิงจิตวิทยา จนกระทั่งฝ่ายรัฐไม่สามารถคาดเดาแผนการ ไม่สามารถจับทาง และไม่สามารถตั้งรับได้ทัน และส่งผลให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่สามารถเข้าประชุมสภาได้ จนต้องเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกไปอย่างไม่มีกำหนด
     
       สำหรับการต่อสู้ในสภา พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้วิธีการทุกรูปแบบในการยับยั้งร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง โดยในวันแรกหยิบยกประเด็นปัญหาของตัวร่าง พ.ร.บ. ว่า เป็น พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่ ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรง แต่ในที่สุด นายสมศักดิ์ เกียรติ์สุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอญัตติเลื่อน ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองมาพิจารณาเป็นลำดับแรก และจะให้มีการลงมติรับรอง โดยอ้างว่าตนเองมีอำนาจในการวินิจฉัยว่าร่างนี้เป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงินหรือไม่
     
       จากนั้นประธานสภาจะปิดการอภิปรายและให้ลงคะแนนเลื่อนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทันที ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งจึงได้ขึ้นไปบนบัลลังก์ ล้อมประธานสภาไว้ และเมื่อประธานสภาลงจากเก้าอี้ไปแล้ว นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ได้ปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์อันมีนัยว่า นายสมศักดิ์ เกียรติ์สุรนนท์ไม่เหมาะสมในการเป็นประธานสภา โดยการดึงเก้าอี้ของประธานสภาลงไปไว้ด้านล่าง ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทย 3 คน นำโดย นางสาวขัตติยา สวัสดิผล จึงปฏิบัติการแย่งเก้าอี้คืน จนวุ่นวายไปทั้งสภา
     
       วันถัดมาในช่วงเช้าประธานสภาจัดประชุมประธานกรรมาธิการทุกคณะของสภาเพื่อวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่ เสียงส่วนใหญ่ของประธานกรรมาธิการซึ่งมาจากพรรคร่วมรัฐบาล ลงมติว่า ร่าง พ.รบ.ปรองดอง ไม่ใช่ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน และได้มีการประชุมสภาต่อไปโดยนายสมศักดิ์ ได้เสนอที่ประชุมให้ลงมติเลื่อน ร่าง พ.รบ. ปรองดอง ขึ้นมาเป็นลำดับแรก โดยไม่ฟังคำทักท้วงของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ด้วยระบบเสียงข้างมากลากไปในที่สุด พรรคเพื่อไทยก็ได้เลื่อน ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับแรก ด้วยคะแนน 272 เสียง
     
       หลังลงมติ นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรค ปชป.ได้สร้างปรากฎการณ์อันเป็นนวัตกรรมในการประชุมสภาด้วยการโยนแฟ้มเอกสารใส่ประธานสภา และจากนั้น ส.ส. อีกหลายคนก็โยนเอกสาร ทำให้กระดาษปลิวว่อนไปทั้งสภา เกิดเหตุวุ่นวายจน นายสมศักดิ์ ต้องสั่งปิดประชุมสภา และได้นัดประชุมอีกครั้งในวันรุ่งขึ้นคือ 1 มิ.ย. 2555
     
       ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น เหตุการณ์จะไม่ปกติอย่างไร ประธานสภาคนนี้ก็จะประชุมสภาให้ได้เพื่อที่จะให้ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองผ่านสภาโดยเร็วที่สุดตามที่ได้รับมอบหมายมา
     
       ปฏิบัติการของ ส.ส. ปชป. ในสภาด้านหนึ่งส่งผลให้ยุทธวิธีการรุกเร็วอย่างรวบรัดของทักษิณและพรรคเพื่อไทยชะงักงันไปชั่วขณะ และอีกด้านหนึ่งเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับนี้ มีแต่เพียงชื่อเท่านั้นที่ ปรองดอง เพราะทันทีที่มีการเสนอเพื่อพิจารณา ความขัดแย้งอย่างรุนแรงก็เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในสภาผู้แทนราษฎร
     
       ปฏิบัติการเพื่อหยุดยั้งร่าง พ.ร.บ. ปรองดองของพรรค ปชป. มิได้กระทำแต่เฉพาะในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น หากยังทำนอกสภาอีกด้วยโดยการพยายามจัดตั้งกลุ่มมวลชนที่ชื่อ “กลุ่มสายล่อฟ้า”อันเป็นชื่อรายการทางสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้จัดรายการ พรรค ปชป.ได้เชิญชวนให้ประชาชนออกไปชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดองในนามของกลุ่มสายล่อฟ้าอีกด้วย และยังมีการรณรงค์เคลื่อนไหวนอกสภาอย่างต่อเนื่องทั้งการจัดปราศรัยและการติดป้ายรณรงค์ต่อต้าน พ.ร.บ.ล้างผิดคนโกง
     
       สำหรับเงื่อนไขสุดท้ายที่ส่งผลให้ทักษิณประสบความพ่ายแพ้ในศึกปรองดองคือ ความอหังการของทักษิณเอง ที่มีความเชื่อมั่นแบบผิดๆและประเมินพลังการต่อต้านของภาคประชาชนต่ำเกินจริง ขณะเดียวกันก็คาดไม่ถึงว่า ส.ส.พรรคปชป. จะต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งร่าง พ.ร.บ.นี้ทำให้ไม่สามารถคุมเกมในสภาได้อย่างที่หวัง
     
       ทักษิณคิดไม่ถึงว่าภาคประชาชนที่ตนเองประเมินว่าอ่อนกำลัง จะกลับมีพลังขึ้นมาอย่างมหาศาล จนสามารถหยุดยั้งยุทธวิธีเร่งรีบรวบรัด ปิดประตูตีแมว ผ่านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองโดยอาศัย ส.ส.ที่อยู่ในอาณัติของตนเองได้
     
       หลังจากที่สภาไม่สามารถประชุมเพื่อพิจารณารับหลักการร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ในวาระที่ 1 ได้ มีความเป็นไปได้สูงที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของทักษิณ ทำให้เขาโกรธแค้นแสนสาหัส และยิ่งในตอนเย็นของวันที่ 1 มิถุนายน 2555 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญประกาศมติและสั่งการให้รัฐสภาชะลอการลงมติเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3ไว้ก่อน เนื่องจากมีผู้ส่งคำร้องไปถึงศาลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตา 291 ของพรรคเพื่อไทย อาจเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ศาลรับคำร้องและจะเปิดการไต่สวนในต้นเดือนกรกฎาคม 2555 ระหว่างรอการไต่สวนและวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลจึงสั่งให้ชะลอการลงมติไปก่อนเพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นตามมาภายหลัง
     
       คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้จึงเท่ากับทำให้แผนการล้างผิดตนเองของทักษิณต้องหยุดชะงักลงไปชั่วคราว และเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เขารู้ว่าเรื่องราวในอนาคตอาจไม่เป็นอย่างที่เขาคาดหวังเอาไว้
     
       หลังจากถูกตอบโต้จนพ่ายแพ้ในศึกแรก ทักษิณและสมุนของเขาก็กลับมาวางแผนใหม่เพื่อที่จะโต้กลับ เรื่องแรกที่ทำคือ การกลับไปงอนง้อมวลชนเสื้อแดง ที่ตนเองเคยถีบหัวส่งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2555 โดยเอ่ยปากขอโทษและอ้างแบบข้างๆคูๆว่า สิ่งที่พูดในวันนั้นแล้วทำให้คนเสื้อแดงไม่พอใจ เพราะสัญญาณการสื่อสารไม่ดี อีกทั้งยังได้หลุดปากออกมาในทำนองว่า ตนเองถูกหลอก แต่ใครเล่าที่หลอกทักษิณได้
     
        ปฏิบัติการถัดมาคือ การเลื่อนประชุมสภาออกไปก่อนเพื่อตั้งหลักและคิดยุทธวิธีที่รัดกุมในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง ต่อไป อีกทั้งยังสั่งให้กระชับขุมกำลังตำรวจในการควบคุมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน โดยย้ายผู้บัญชาการและรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่ดูแลการชุมนุมออกไป โทษฐานไม่สามารถยับยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนได้ และได้แต่งตั้งนายตำรวจคนสนิทผู้มีชื่อเสียงอื้อฉาวในการใช้ความรุนแรงกับประชาชนจังหวัดสงขลาและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานั่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแทน อันเป็นการส่งสัญญาณว่า ต่อไปอาจให้ตำรวจใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนที่ขัดขวางการล้างผิดของเขา
     
        ขณะเดียวกันก็ได้สั่งการให้สมุนเก่าที่มีชื่อเสียงด้านการใช้ความรุนแรง ระดมมวลชนเสื้อแดงออกมาเป็นกองกำลังพิทักษ์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย เพื่อเปิดทางให้บรรดา ส.ส. เหล่านี้สามารถเข้าประชุมสภาเพื่อรับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองได้
     
        ปฏิบัติการกระชับขุมกำลังตำรวจและการเตรียมมวลชนแดงออกมา เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ทักษิณ เลือดเข้าตา ดึงดันที่จะผลักดันกฎหมายล้างผิดให้ตนเองออกมาให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนที่ต้องจ่ายออกไป และไม่สนใจใยดีกับความสูญเสียหรือความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นตามมา
     
        การศึกครั้งใหม่ระหว่างภาคประชาชนกับทักษิณและนักการเมืองทุนนิยมสามานย์อันเป็นสมุนของเขากำลังเคลื่อนตัวใกล้เข้ามาถึงจุดแตกหัก เมื่อพิจารณาแนวทางที่ทักษิณตัดสินใจดำเนินการอย่างรอบด้านแล้ว ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้เขาพบกับความหายนะเร็วยิ่งขึ้น และอาจเป็นหนทางนำไปสู่จุดจบของระบอบประชาธิปไตยจอมปลอมของกลุ่มเผด็จการทุนนิยมสามานย์
     
        ผมเชื่อมั่นว่า ทักษิณจะถูกพิชิตอีกครั้งและพ่ายแพ้ตลอดกาล ด้วยพลังของประชาชนชาวไทยผู้ยึดมั่นในธรรมนำหน้า ผู้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ผู้รักหวงแหนสถาบัน ผู้ไม่ยอมจำนนต่อความชั่วร้าย และผู้กล้าต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับอำนาจอธรรมของระบอบทักษิณ




จำนวนคนอ่าน 20025 คน จำนวนคนโหวต 119 คน


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ