ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ใหญ่คับประเทศ แต่ลนลานซบเท้าสหรัฐฯ


ใหญ่คับประเทศ แต่ลนลานซบเท้าสหรัฐฯ

ASTVผู้จัดการรายวัน 13 กรกฎาคม 2555 19:47 น.




ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       มีพฤติกรรมสองประการของแกนนำเสื้อแดงและรัฐบาลที่น่าสนใจในขณะนี้ พฤติกรรมแรกคือ การชูก้ามคับประเทศ เกิดขึ้นเมื่อประชาชนส่วนหนึ่งรู้ทันว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยกำลังจะนำพาประเทศไปสู่ระบอบที่คล้ายกับระบอบเผด็จการนาซี และดำเนินการขัดขวางโดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย จนทำให้แกนนำเสื้อแดงน้อยใหญ่ออกมาแสดงอาการข่มขู่ คุกคามศาล
     
       ส่วนประการที่สองคือ การซบแทบเท้าสหรัฐอเมริกา เริ่มมาตั้งแต่หัวหน้าใหญ่นักโทษชายหนีคุกอยากได้วีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา เกือบถวายอธิปไตยของไทยให้อเมริกาได้สำเร็จหากไม่มีการต่อต้านจากประชาชน และเมื่อฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐมาเยือนกัมพูชา และเรียกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรไปพบ เธอก็ลนลานบินไปหาตามคำสั่งอย่างไม่รอช้า
     
        การชูก้ามคับประเทศมีเจตนาข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ ของแกนนำเสื้อแดงกระทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของประชาชนให้วินิจฉัยว่า การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยถือเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่
     
       พฤติกรรมการข่มขู่และโจมตีศาลรัฐธรรมนูญโดยแกนนำเสื้อแดงและคนของพรรคเพื่อไทยทำอย่างเป็นกระบวนการต่อเนื่องในทุกระดับตั้งแต่ลิ่วล้อแบบตลกคาเฟ่ จนไปถึงหัวหน้าใหญ่อาชญากรหนีคุกอย่าง นช.ทักษิณ ชินวัตรซึ่งกล่าวเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2555 ว่า “ขบวนการปล้นอำนาจกำลังเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ชะลอไว้ไม่ให้โหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” การกล่าวแบบนี้เป็นการแสดงอาการไม่ยอมรับกฎหมายบ้านเมืองอีกครั้งของ นช. ทักษิณ ชินวัตร มิหนำซ้ำยังพูดชี้นำยุยงประชาชนว่า “ จะปล่อยให้กระบวนการปล้นอำนาจเกิดขึ้นอีกครั้งหรือ ตกลงจะยอมรับอำนาจที่ไม่มีอำนาจหรือ” คำพูดเช่นนี้มีนัยอย่างชัดเจนในการกระตุ้นให้ประชาชนไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
     
       การไม่ยอมรับอำนาจศาลและกระทำตัวเป็นอันธพาลอยู่เหนือกฎหมายของ นช. ทักษิณ ชินวัตร เป็นพฤติกรรมที่เขาแสดงออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคราใดก็ตามที่ศาลตัดสินไม่เป็นคุณต่อตัวเขาและเครือญาติของเขา ครานั้นพฤติกรรมอันธพาลก็สำแดงออกมาให้ประจักษ์สายตาแก่ชาวโลก แต่หากคราใดศาลตัดสินในทางที่เป็นคุณแก่เขาและเครือญาติ ครานั้นก็จะแสดงวาจาชื่นชมศาล พฤติกรรมกลับไปกลับมาของ นช.ทักษิณ ที่มีต่อศาลนั้นเป็นสิ่งบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจของเขาว่า เขาไม่ยอมรับกฎหมายบ้านเมืองและไม่ยอมรับอำนาจศาลอันเป็นอำนาจอธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ
     
       เมื่อลูกพี่แสดงพฤติกรรมไว้เป็นแบบอย่างเช่นนี้แล้ว มีหรือลูกน้องจะไม่นำไปปฏิบัติตาม โดยเฉพาะสมุนผู้พยายามทำตัวเด่นเพื่อให้เข้าตาเจ้านาย อย่างผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายที่ชื่อ ก่อแก้ว พิกุลทอง บุคคลผู้นี้ประกาศศักดา ชูก้าม ชูหาง ราวกับว่าประเทศนี้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ซึ่งที่จริงก็เป็นเช่นนั้นนับตั้งแต่มีแก๊งอันธพาลเสื้อแดงครองเมือง
     
        ข่าวจากเว็บไซด์ผู้จัดการ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ก่อแก้ว พิกุลทอง กล่าวว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการเพื่อล้มล้างการปกครอง พวกตนก็เตรียมพร้อมอยู่แล้ว และก็ขอให้คนเสื้อแดงร่ำลาครอบครัวเอาไว้ได้เลย เพราะจะเป็นการต่อสู้ที่แตกหักอย่างแน่นอน เพราะหากศาลวินิจฉัยเช่นนั้น ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คงจะไม่รับฟังคำตัดสินครั้งนี้ และจะดำเนินการไปสู่การจับกุมศาล หากตำรวจไม่กระทำตาม ประชาชนก็จะดำเนินการเอง ซึ่งกลุ่มอำมาตย์ก็คงจะจัดมวลชนออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องศาล และเมื่อประชาชนสองกลุ่มขัดแย้งและปะทะกัน ทางทหารก็จะต้องออกมาเพื่อยึดอำนาจ ซึ่งคนเสื้อแดงจะต่อสู้กับทหารอย่างตาต่อตา ฟันต่อฟัน สุดท้ายความสูญเสียก็จะเกิดขึ้นอย่างมากมาย ที่ตนพูดเช่นนี้ไม่ได้เป็นการข่มขู่ แต่ตนยอมรับว่าคนเสื้อแดงมีจำนวนเยอะ ซึ่งบางกลุ่มก็เห็นว่าการต่อสู้ของแกนนำที่จะชุมนุมประท้วงนั้น นานเกินไปกว่าจะได้รับชัยชนะ เพราะฉะนั้นก็อาจจะก่อความรุนแรงได้
     
       สิ่งที่ผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายกล่าวข้างต้น ก็คือการเตรียมการก่อการร้ายครั้งต่อไปโดย 1) ดื้อแพ่งไม่รับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ หากคำตัดสินของศาลไม่ถูกใจพวกตนเอง 2) ยุยงมวลชนเสื้อแดงให้ใช้อำนาจเถื่อนจับกุมตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ 3) ให้ต่อสู้ด้วยความรุนแรง ตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพราะการชุมนุมประท้วงไม่ได้ผล เนื่องจากใช้เวลานานเกินไป
     
       ผมตีความว่าสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ที่นายก่อแก้ว ประกาศต่อสังคมมีนัยถึงการเตรียมยึดอำนาจรัฐเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ โดยใช้วิธีการก่อการร้ายจับผู้คนเป็นตัวประกันและใช้ความรุนแรง ทั้งนี้จะปฏิบัติการโดยกองกำลังมวลชนเสื้อแดงและกองกำลังติดอาวุธเสื้อดำ
     
       พฤติกรรมการใช้มวลชนและกองกำลังเถื่อนกึ่งทหารข่มขู่ คุกคามและทำร้ายผู้คนเป็นพฤติกรรมเดียวกับการที่พรรคนาซีของฮิตเลอร์ใช้กองกำลังพลพรรคพรรคนาซีหรือหน่วยเอสเอ- The Sturmabteilung (SA) ซึ่งเป็นกองกำลังมวลชนจัดตั้งกึ่งทหารจัดการกับบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือมีพฤติกรรมต่อต้านพรรคนาซี ฮิตเลอร์ใช้กองกำลังเอสเอเป็นฐานในการเข้าสู่อำนาจในประเทศเยอรมัน ส่วนพรรคเพื่อไทยใช้มวลชนเสื้อแดงและกองกำลังเสื้อดำขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง
     
       สำหรับกองกำลังมวลชนติดอาวุธของพรรคนาซีอีกหน่วยหนึ่งคือ กองกำลังพิทักษ์ผู้นำ The Schutzstaffel (SS) ซึ่งเป็นหน่วยที่เริ่มจากการพิทักษ์การประชุมของพรรคนาซีที่เมืองมิวนิค ต่อมากลายเป็นกองกำลังพิทักษ์ฮิตเลอร์ จากนั้นพัฒนาไปสู่การเป็นหน่วยรบของพรรคนาซีที่มีกำลังพลถึง 52,000 คน เป็นหน่วยที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการเข่นฆ่า กวาดล้าง ศัตรูทางการเมืองของพรรคนาซี และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว
     
       หากเปรียบไปแล้วมวลชนเสื้อแดงก็เปรียบเสมือนกองกำลังเอสเอ ส่วนกองกำลังติดอาวุธเสื้อดำก็เปรียบเสมือนกองกำลังเอสเอสของพรรคนาซี ส่วนพรรคเพื่อไทยก็กระทำการหลายประการที่คล้ายคลึงกับพรรคนาซี เช่น การใช้เสียงส่วนใหญ่ในสภาออกกฎหมาย ทำลายรัฐธรรมนูญที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้อำนาจตนเอง และเตรียมการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อกระชับอำนาจของพรรคให้เข้มแข็งขึ้น คล้ายคลึงกับที่ฮิตเลอร์เสนอร่างกฎหมายที่ให้อำนาจ (Enabling Act) โดยแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลบริหารประเทศด้วยกฎหมายที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเป็นเวลาสี่ปี ในการประชุมสภาไรค์ซตาก ฮิตเลอร์ใช้หน่วยเอสเอสที่ติดอาวุธล้อมรอบห้องประชุม ท้ายที่สุดกฎหมายนี้เป็นไปตามที่ฮิตเลอร์ต้องการ ทำให้รัฐบาลฮิตเลอร์มีอำนาจเด็ดขาดและเป็นอิสระจากการควบคุมของประธานาธิบดีและรัฐสภา ทั้งยังมีอำนาจในการเสนอกฎหมายแทนสภาไรค์ซตาก และมีอำนาจเต็มในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามความใจชอบ
     
       การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กับพรรคเพื่อไทยต้องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอย่างแรงกล้าและแกนนำเสื้อแดงอย่างก่อแก้ว พิกุลทองประกาศแตกหักกับศาลรัฐธรรมนูญ หากการวินิจฉัยไม่ตรงกับความต้องการของพวกเขา เพราะบรรดาคนเหล่านี้ประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการใช้อำนาจรัฐเป็นระบบแบบใหม่ที่ทำให้พวกตนเองสามารถใช้อำนาจรัฐตามแต่ใจปรารถนา และเป็นอิสระจากการถูกตรวจสอบและควบคุมทั้งปวงเหมือนกับที่ฮิตเลอร์เคยทำนั่นเอง
     
       บางคนอาจจะคิดว่าผมกล่าวเกินเลยไป แต่หากดูพฤติกรรมของ นช.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคการเมืองทุกพรรคที่เขาตั้งขึ้นมา ก็จะเห็นความคล้ายคลึงแบบแผนการรวบอำนาจที่ฮิตเลอร์เคยทำสำเร็จมาก่อนในประเทศเยอรมัน แบบแผนเหล่านั้น เช่น การไม่ยอมรับการตรวจสอบของสภาและองค์กรอิสระ ไม่เคยเข้าไปตอบกระทู้ในสภา ไม่เคยยอมให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การบริหารแบบสั่งการไม่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การใช้ความรุนแรงผ่านนโยบายปราบยาเสพติดจนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตหลายพันคน และการใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิมในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนอาจเข้าข่ายเป็นอาชญากรต่อมนุษยชาติเหมือนกับที่ฮิตเลอร์เคยกระทำต่อชาวยิว
     
        ส่วนพฤติกรรมการลนลานเข้าไปซบแทบเท้าสหรัฐอเมริกาของรัฐบาลไทย เกิดขึ้นเมื่อ นางฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเรียกน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประเทศไทยเข้าไปพบที่ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 13 ก.ค. ในวันดังกล่าวมีการจัดการประชุมของหอการค้าอเมริกันในประเทศกัมพูชา ที่โรงแรม Le Meridien Argkor เมืองเสียมเรียบ ภายใต้หัวข้อ “Commitment to Connectivity C2C :The US - ASEAN Business Forum”
     
       คนสำคัญที่เข้าร่วมเช่น นางฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจชาติต่างๆในอาเซียน เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาเลเซีย รัฐมนตรีต่างประเทศและการค้าประเทศบรูไน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของฟิลิปปินส์ และนายกรัฐมนตรีประเทศไทย
     
       คนสำคัญประเทศอื่นในละแวกนี้ที่ไปร่วมงานนี้เป็นแค่ รัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ของประเทศไทยเป็นถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งไปร่วมงานโดยไม่แยแสกับพิธีการทางการทูตและศักดิ์ศรีของประเทศแม้แต่น้อย มีที่ไหนผู้นำการบริหารสูงสุดของประเทศที่มีความอิสระอย่างประเทศไทย ยอมเดินทางไปพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ในประเทศกัมพูชา อย่างนี้เท่ากับว่าประเทศไทยเป็นแค่ลูกไล่ลูกน้องลูกสมุนของสหรัฐอเมริกาหรือไร เมื่อเจ้านายเรียกไปพบ ก็รีบลนลานไปหา เอาหน้าไปซบแทบเท้าเขา
     
       ส่วนตัวแทนของภาคเอกชนที่ได้รับเชิญให้ร่วมงานมีหลายบริษัท เช่น บริษัทเชฟรอน บริษัท ดีเอชแอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท โคคา โคล่า จำกัด บริษัท โบอิ้ง จำกัด รวมทั้งบริษัทจากประเทศไทย อย่าง อิตาเลียนไทย เดเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท อมตะ คอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยจะมีเวทีหารือกันในหลายหัวข้อ เช่น พลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในต่างประเทศและการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตระดับโลก โอกาสในการลงทุนในอาเซียน เป็นต้น
     
       เห็นบริษัทเชฟรอนอยู่ในชื่อแรกๆ และมีหัวข้อเรื่องพลังงานในเวทีการพูดคุย ก็คาดการณ์ได้ว่าคงต้องมีการเจรจาเกี่ยวกับการจัดสรรพื้นที่ในอ่าวไทยที่เต็มไปด้วยก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอย่างแน่นอนระหว่างฮิลลารี่ คลินตัน บริษัทเชฟรอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และฮุนเซน และก็ชวนสงสัยต่อไปว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ร่วมเจรจาด้วยหรือเปล่า
     
        ภายในประเทศทำตัวใหญ่โตคับแผ่นดิน หาญกล้าข่มขู่ศาล หาญเผาผลาญบ้านเมือง หาญหาเรื่องทำลายประเทศ พูดอะไรตามใจปาก ทำอะไรตามใจชอบ ไม่สนใจกฎหมายและนิติรัฐ ข่มขู่คุกคามผู้คนเขาไปทั่ว คิดว่าคนอื่นเขาจะกลัวหรือไง ส่วนภายนอกประเทศทำตัวเป็นลูกสมุนของมหาอำนาจ เอาประโยชน์ของชาติ ของประชาชน ไปปรนเปรอให้รัฐบาลและบริษัทต่างชาติ เพื่อให้ตนเองและพวกพ้องได้รับประโยชน์
     
        ขอถามหน่อยเถอะ หรือจะให้ประชาชนไทยต้องทนอยู่กันอย่างนี้ไปเรื่อยๆ


จำนวนคนอ่าน 7419 คน    Kamolporn Banlueคิด ไปเอง and 410 others like this

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ