ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ


ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ

 ASTVผู้จัดการรายวัน 28 กันยายน 2555 18:01 น.



ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะนี้ ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า
     
       ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์ ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป
     
       ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626 วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า (Idols of the Tribe) ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ (Idols of the Cave) ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place) และความผิดพลาดแบบรูปเคารพของโรงมหรสพ (Idols of the Theatre)
     
       ความผิดพลาดแบบ “รูปเคารพของชนเผ่า” เป็นการอ้างเหตุผลผิดพลาดอันเกิดจากการยึดติดกับความเข้าใจ ความเชื่อ ความชอบ หรือความพึงพอพอใจ เบคอน กล่าวว่า ประโยคที่บอกว่ามนุษย์เป็นมาตรฐานของสรรพสิ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะจิตของมนุษย์นั้นคล้ายกระจกที่ขรุขระ เมื่อรับรู้และสะท้อนสิ่งใดออกมาก็มักจะบิดเบือนจากสภาพความเป็นจริงเสมอ ดังนั้นประสาทสัมผัสของมนุษย์จึงมักยืนยันผิดๆเสมอ
     
       เบคอน ยังกล่าวอีกว่า ความเข้าใจของมนุษย์มีธรรมชาติที่แปลกประหลาด คือมักจะทึกทักเอาเองว่า สรรพสิ่งมีระเบียบ แบบแผน และความสม่ำเสมอมากกว่าที่พบจริงๆ เมื่อมนุษย์เชื่อในแบบแผนใดแบบแผนหนึ่ง พวกเขาก็พยายามผลักดันทุกสิ่งให้สนับสนุนและยืนยันแบบแผนนั้น แม้ว่ามีข้อมูลหรือตัวอย่างที่น่าเชื่อถือมากมายบ่งบอกไปในทิศทางตรงข้าม พวกเขาก็จะมองไม่เห็นการดำรงอยู่ของมัน ยิ่งกว่านั้นยังปฏิเสธหรือวิพากษ์วิจารณ์ และคัดออกไปด้วยความรุนแรงและอคติที่เป็นอันตราย
     
       ลองดูตัวอย่างปรากฎการณ์ในสังคมไทยปัจจุบัน กรณีแรก กลุ่มคนเสื้อแดงเข้าใจว่าคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นคนเก่ง ฉลาด และสวย ด้วยความเข้าใจเช่นนั้นกลุ่มเสื้อแดงทั้งที่เป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ และชาวบ้าน ก็มองไม่เห็นหลักฐานที่แสดงสิ่งตรงข้ามกับความฉลาด ความเก่งของคุณยิ่งลักษณ์ เมื่อใครหรือบุคคลใดเสนอหลักฐานที่สะท้อนถึงความเซ่อซ่าหรือทึมทึบทางปัญญาของคุณยิ่งลักษณ์ พวกเสื้อแดงก็จะปฏิเสธการดำรงอยู่ของหลักฐานเหล่านั้น หรือไม่ก็วิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้ผู้นำเสนอหลักฐานนั้นด้วยความรุนแรง
     
       อีกกรณีหนึ่ง คือ กลุ่มลัทธิเสื้อแดงสร้างความเชื่อขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อเป็นฐานความชอบธรรมทางการเมืองของตนเอง นั่นคือ การชุมนุมทางการเมืองของสาวกลัทธิเสื้อแดงเป็นการชุมนุมที่สงบสันติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อมีผู้เสนอหลักฐานอย่างชัดเจนว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงหาได้เป็นอย่างที่บรรดาแกนนำทั้งหลายประกาศ แต่กลับเป็นการชุมนุมที่มีการใช้อาวุธสงครามทั้งปืนและระเบิดทำร้ายและสังหารเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มเสื้อแดงด้วยความรุนแรง แกนนำเสื้อแดงก็ออกมาวิจารณ์และตอบโต้กลุ่มผู้เสนอหลักฐานนั้นอย่างรุนแรง
     
       เบคอนกล่าวว่า เมื่อมนุษย์ได้กำหนดปัญหาและความเชื่อตามเจตจำนงของเขาแล้ว มนุษย์จะหันไปหาประสบการณ์หรือข้อเท็จจริง จากนั้นจะจัดสภาพ จัดการ และโน้มน้าวปรับสภาพข้อเท็จจริงให้สอดคล้องกับความเชื่อ ความคิด และความชอบของตน มนุษย์ลากจูงข้อเท็จจริงไปราวเป็นเชลยศึกในขบวนแห่ฉลองชัยชนะของสงคราม
     
       เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดนี้ เบคอน เสนอว่า เมื่อไรก็ตามที่จิตของเราให้ความสนใจหรือฝังใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความพอใจอย่างประหลาด ให้ตั้งสติและตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน และจะต้องเพ่งพิจพิจารณาอย่างระมัดระวังให้มากขึ้น ในการวิเคราะห์ต้องทำความเข้าใจโดยพยายามแขวนหรือปล่อยวางอคติเอาไว้ อย่าปล่อยให้จิตด่วนสรุปกระโดดจากสิ่งเฉพาะไปสู่กฎทั่วไปโดยปราศจากการพิสูจน์ เช่น เมื่อเห็นผู้ชุมนุมเสื้อแดงคนหนึ่งเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่เสียชีวิตทั้งหมด เกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะเป็นการด่วนสรุปโดยปราศจากข้อพิสูจน์ การคิดหรือการใช้จินตนาการแบบด่วนสรุปเป็นศัตรูของปัญญาและความรู้แจ้ง
     
       ความผิดพลาดแบบแบบที่สอง เบคอน เรียกว่า “รูปเคารพของถ้ำ” มนุษย์ทุกคนมีถ้ำของตนเอง ซึ่งเป็นแหล่งที่หล่อหลอมกล่อมเกลาจิต และสร้างธรรมชาติอันเป็นคุณลักษณะทางจิตของมนุษย์ขึ้นมา จิตของมนุษย์บางคนเป็นจิตของการวิเคราะห์ชอบมองสรรพสิ่งอย่างจำแนกแยกแยะ ขณะที่จิตบางคนเป็นจิตของการสังเคราะห์ที่ชอบมองสรรพสิ่งในลักษณะประสานสอดคล้องเชิงบูรณาการ
     
       จิตบางคนมีความเชื่อและความชื่นชมในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม แต่จิตบางคนกลับกระตือรือร้นในการรับสิ่งที่แปลกใหม่ มีจิตของมนุษย์ไม่มากนักที่พยายามสร้างความสมดุลระหว่างการรักษารากฐานในอดีตและการสนับสนุนนวตกรรมและการเปลี่ยนแปลง
     
       ความผิดพลาดแบบนี้เปรียบเสมือนมนุษย์ตกอยู่ในถ้ำของตนเอง และคิดว่าทั้งจักรวาลมีถ้ำของตนเองเพียงถ้ำเดียวที่เป็นความจริง ส่วนถ้ำอื่นๆนั้นเป็นเพียงมายาภาพ รูปเคารพของถ้ำจึงทำให้มนุษย์มองความจริงเพียงด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว เข้าใจเอาเองว่าความจริงแบบเสี่ยงเสี้ยวที่ตนเองเชื่อนั้นเป็นสัจธรรม ที่สำคัญคือคนจำนวนมากต้องการให้คนอื่นเชื่อตามตนเอง และผลสืบเนื่องตามมาคือความขัดแย้ง
     
       ความผิดพลาดแบบที่สามเป็นแบบ “รูปเคารพของตลาด” เป็นรูปเคารพที่เกิดมาจากการปฏิสัมพันธ์และการคบหาสมาคมของมนุษย์ ในกระบวนการนี้ภาษาได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือการสื่อสาร แต่ทว่าความหมายของถ้อยคำ วลี และประโยคถูกกำหนดด้วยความเข้าใจรวมหมู่ของมนุษย์ คำที่เลวและไม่เหมาะสมแต่สอดคล้องกับกระแสของตลาดจึงเกิดขึ้นมา และกลายเป็นกำแพงอันทรงประสิทธิภาพในการกีดขวางปัญญาของมนุษย์
     
       ในสังคมไทยคำบางเช่น การปรองดอง มีสภาพเป็นรูปเคารพของตลาดและกลายเป็นเครื่องมือในการลบล้างความผิดของอาชญากร หรือ คำว่า “ประชาธิปไตย” ก็กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนสามานย์และนักการเมืองที่ใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการฉ้อฉล ทุจริต และคอรัปชั่นของกลุ่มตนเอง หรือ “นโยบายประชานิยมเป็นการคืนกำไร” แท้จริงแล้วคือประโยคที่ใช้ปกปิดความโง่เขลาและชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกผิดของผู้ใช้
     
       สำหรับความผิดพลาดแบบที่สี่ เบคอน เรียกว่า “รูปเคารพของโรงมหรสพ” ในรูปเคารพแบบนี้เป็นการสร้างบทละครหลายองค์ หรือเรื่องเล่าที่สะท้อนถึงโลกความเป็นจริงที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เป็นของปลอมที่เลียนแบบอย่างงดงาม กล่าวอีกนัยหนึ่งโลกหรือความเป็นจริงที่มนุษย์บรรยายเป็นสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาจากจินตนาการ และทำให้เราเห็น “ตัวตนของผู้สร้าง” มากกว่าเป็น “โลกของความจริง”
     
       สังคมไทยขณะนี้ กลุ่มลัทธิแดงมีการพยายามสร้างหมู่บ้านแดงขึ้นมา หรือพยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่าแดงทั้งแผ่นดิน โดยหมู่บ้านแดงเป็นของปลอมที่พยายามเลียนแบบชุมชนประชาธิปไตย มีการเขียนป้ายใช้คำขวัญต่างๆนานาเพื่อให้สอดคล้องกับจินตนาการของประชาธิปไตย แต่ทว่าเรื่องเหล่านั้นกลับเป็นเรื่องหลอกลวง เพราะว่าหมู่บ้านเหล่านี้มีสภาพเป็นเครื่องมือหรือจักรกลทางการเมืองของพรรคการเมืองบางพรรค คอยรับคำสั่งให้เคลื่อนไหวสนับสนุนผู้นำพรรค ขณะเดียวกันก็ออกมาไล่ล่า คุกคาม ข่มขู่ผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากกลุ่มตนเอง
     
       เราไม่มีทางไปได้ไกลในการแสวงหาความจริง หากความผิดพลาดแบบรูปเคารพอย่างนี้ดำรงอยู่ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ อวิชชาและความโง่เขลาจะถูกเรียกว่าปัญญาและความรู้ ความชั่วและการฉ้อฉลจะถูกเรียกว่าความดีและความซื่อตรง ความรุนแรงจะถูกเรียกว่าสันติวิธี เผด็จการและการใช้กฎหมู่ถูกเรียกว่าประชาธิปไตยและเสรีภาพ การใช้กฎหมายบังคับใช้อย่างรุนแรงต่อกลุ่มที่ไม่ใช่พวกตนเองถูกเรียกว่านิติรัฐ การใช้เงินงบประมาณแผ่นดินตอบแทนพวกตนเองที่กระทำการก่อการร้ายเผาเมืองจะถูกเรียกว่านิติธรรม และอาชญากรจะถูกเรียกว่าวีรบุรุษ
     
       ด้วยเหตุนี้หากสังคมใดมีการแพร่ระบาดของความผิดพลาดทั้งสี่แบบ สังคมนั้นก็มีแนวโน้มเป็นสังคมแห่งความมืดบอด โลกทางปัญญาและความจริงจะถูกปิดตาย เราจึงต้องหาทางหยุดยั้งวิธีคิดที่ผิดพลาดเหล่านี้
     
       การตั้งสติ ปล่อยวางอคติ สร้างปัญญา พัฒนาขอบเขตของความเข้าใจปรากฎการณ์ให้รอบด้านอย่างสมดุลย์ และการวิพากษ์ ถ้อยคำ วลี ประโยค และข้อสรุปที่ปิดกั้น บิดเบือน ความจริงและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ จะเป็นเส้นทางสายหนึ่งที่นำพาสังคมไทยหลุดพ้นจากปลักตมแห่งความมืดบอดในปัจจุบันได้

จำนวนคนอ่าน 2501 คน


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั