ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เมื่อเขาบอกว่า “คุณคิดไปเอง”


เมื่อเขาบอกว่า “คุณคิดไปเอง”

 ASTVผู้จัดการรายวัน 11 พฤษภาคม 2555 18:08 น.



ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       เมื่อมีใครสักคนบอกเราว่า “คุณคิดไปเอง” บุคคลผู้นั้นกำลังสื่อสารกับเราว่าสิ่งที่เราพูด รับรู้ และผ่านประสบการณ์มาไม่ดำรงอยู่ในโลกของความเป็นจริงทางวัตถุวิสัย ทั้งนี้เป็นเพราะเราได้รับข้อมูลมาไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วนจึงทำให้เกิดการสรุปผิดพลาดและเกิดจินตนาการเกินเลยจากสภาพความเป็นจริง
     
       ใครก็ตามที่พูดว่า “คุณคิดไปเอง” ยังแสดงว่า ผู้พูดมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า ความเชื่อ หรือสิ่งที่ตนเองรับรู้มา เป็นความจริงแท้แน่นอน ส่วนความเชื่อและการรับรู้ของผู้อื่นที่แตกต่างจากนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น เช่น หากประชาชนบอกว่าของแพง แล้วนายกรัฐมนตรีพูดว่า “ประชาชนคิดไปเองว่าของแพง” ก็แปลว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า ความเป็นจริงคือสินค้าราคาไม่แพง ส่วนที่ประชาชนบอกว่าของแพงนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องไม่จริงหรือเป็นเท็จ ที่ดำรงอยู่เฉพาะในความคิดหรือความฝันของประชาชนเท่านั้น มิได้ดำรงอยู่ในสภาพของความเป็นจริงแต่อย่างใด
     
        อาจเป็นไปได้เช่นกันว่า ผู้ที่พูดว่า บุคคลอื่นคิดไปเอง เพราะมีเจตนาปกปิดความจริงบางประการ ด้วยเขาคิดว่าความเป็นจริงที่ผู้อื่นพูดออกมานั้น หากยอมรับก็จะส่งผลลบในทางใดทางหนึ่งต่อตนเอง เช่น ถูกผู้อื่นมองว่าเป็นผู้ไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร เป็นคนไม่มีความยุติธรรม เป็นคนเห็นแก่พวกพ้อง และประโยชน์ส่วนตน หรือเป็นคนทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นต้น
     
       เมื่อนักการเมืองพูดว่า ประชาชนคิดไปเองว่ามี การวิ่งเต้นหรือซื้อตำแหน่งในการโยกย้ายข้าราชการ การคิดเปอร์เซ็นหักค่าหัวคิวจากโครงการต่างๆ การเลี่ยงภาษี การซื้อขายเสียง การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังการเผาเมือง และการกินสินบน ก็หมายความว่านักการเมืองผู้นั้นมีความประสงค์ปกปิดความจริงที่ไม่อาจเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เพราะหากความจริงเหล่านี้เผยแพร่ออกไป หายนะจะเกิดขึ้นกับพวกเขาอย่างแน่นอน
     
       ดังนั้นเมื่อมีใครสักคนกล่าวว่า “คุณคิดไปเอง” ออกมา ปฏิกริยาที่ตอบสนองต่อผู้กล่าวประโยคนี้มีอย่างน้อยสามประการคือ การถกเถียงโต้แย้ง การแลกเปลี่ยน และ การคล้อยตาม
     
       การถกเถียงโต้แย้งเกิดขึ้นเมื่อเรามีความมั่นใจว่าประสบการณ์และข้อมูลข่าวสารที่เราสัมผัสมามีอยู่จริงในสภาพของวัตถุวิสัย มิได้เกิดมาจากการจินตนาการ เพ้อฝัน สร้างเรื่อง หรือตีความเอาเองตามใจชอบ เมื่อเรามั่นใจในข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มีอยู่แล้ว ท่วงทำนองในการโต้แย้งขึ้นอยู่กับบริบทที่มีการเปล่งประโยคนี้ออกมา
     
       ในบริบทที่เป็นปรปักษ์กันการถกเถียงโต้แย้งมีความโน้มเอียงเพื่อหักล้างซึ่งกันและกัน เพราะเมื่อไรก็ตามที่บุคคลใดบุคลหนึ่งถูกผู้อื่นระบุว่า “คิดไปเอง” ก็เท่ากับว่า ผู้พูดแสดงการสบประมาทและดูถูก ว่าผู้นั้นเป็นคนโง่หรือมีความเชื่อผิดๆ เช่น ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล พูดว่า ส.ส. ฝ่ายค้านคิดไปเอง ก็แปลว่า ส.ส. รัฐบาลกำลังสบประมาทว่า ส.ส.ฝ่ายค้านไม่รู้ข้อเท็จจริงหรือไม่มีความรู้ ฝ่ายค้านก็ย่อมตอบโต้ด้วยความรุนแรงและแสวงหาหลักฐานมาโต้แย้งว่า สิ่งที่ฝ่ายค้านพูดเป็นเรื่องจริง ขณะเดียวกันก็จะวิจารณ์ว่าฝ่ายรัฐบาลปกปิดบิดเบือนความจริง
     
       ประโยคที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ในการโต้แย้งคือ “ คุณกล่าวหาว่าผม/ฉันคิดเองได้อย่างไร ในเมื่อมีข้อเท็จจริงเห็นกันอยู่กระจ่างชัดเช่นนี้” “นี่ไง หลักฐานที่ยืนยันการพูดของผม/ฉัน” “คุณกำลังหลอกลวงประชาชนอย่างไม่ละอายใจ ทั้งที่ความเป็นจริงปรากฎออกมาอย่างชัดเจน”
     
       สำหรับการตอบสนองในเชิงการแลกเปลี่ยน จะเกิดขึ้นในบริบทที่มีความเป็นมิตรระหว่างผู้พูดประโยคนี้ กับผู้ที่ถูกระบุว่าคิดไปเอง แต่การพูดประโยคนี้อาจเป็นไปในรูปของคำถาม เช่น คุณคิดไปเองหรือเปล่าว่านักการเมืองซื้อเสียง คุณคิดไปเองหรือเปล่าว่านักการเมืองทุจริต เป็นต้น การสนทนาทำนองนี้มักเกิดขึ้นในครอบครัว ระหว่างเพื่อนฝูง หรือการสนทนาในแวดวงวิชาการ เป้าหมายการสื่อสารเป็นไปเพื่อให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อสรุปที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น
     
       ยามใดที่ผู้กล่าวประโยคนี้เป็นผู้มีอำนาจเหนือกล่าวอีกฝ่ายหนึ่ง การตอบสนองก็เป็นไปในทิศทางที่คล้อยตาม เช่น เมื่อมวลชนเสื้อแดงตั้งข้อสงสัยว่า การที่ยิ่งลักษณ์เข้าพบพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นการสยบยอมต่ออำมาตย์ แกนนำเสื้อแดงก็อาจตอบว่า “พี่น้องอย่าคิดไปเอง” คุณยิ่งลักษ์คงไม่สยบยอมต่ออำมาตย์อย่างแน่นอน นี่เป็นการปฏิบัติการลับลวงพลางของพวกเรา เพื่อให้อำมาตย์ตายใจ และเราจะตลบหลังกลับในช่วงการแก้รัฐธรรมนูญ โดย เราจะตัดหมวดที่ว่าด้วยองคมนตรีให้เกลี้ยงไปเลย” มวลชนเสื้อแดงเมื่อฟังถ้อยความเหล่านี้ก็คล้อยตามอย่างว่าง่าย
     
       การตอบสนองแบบคล้อยตามยังเกิดขึ้นในองค์การต่างๆ เมื่อผู้บังคับบัญชากล่าวว่าลูกน้องตนเองคิดไปเอง ลูกน้องส่วนใหญ่ก็จะรับฟังและยอมรับอย่างง่ายดายว่าตนเองคิดไปเองจริงๆ ทั้งที่ลูกน้องอาจมีข้อโต้แย้งอยู่ในใจว่า เจ้านายของตนเองทำไมโง่อย่างนี้ ไม่รู้แม้กระทั่งข้อเท็จจริงพื้นๆ หรือ เขาอาจคิดว่าเจ้านายของเรากำลังปิดกั้นความจริงอีกแล้ว หรือ เมื่อผู้มีอำนาจไม่ยอมรับความจริง เห็นทีอีกไม่กี่ปีองค์การคงประสบกับวิกฤตการณ์
     
       ในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ภัยพิบัติ และสิ่งแวดล้อม ประโยคที่ว่า “คุณคิดไปเอง” ได้ก่อให้เกิดความหายนะขึ้นมาหลายครั้งหลายคราแล้ว โดยเฉพาะหากผู้กล่าวประโยคนี้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ที่ต้องตัดสินใจและแก้ปัญหาของประเทศชาติ การกล่าวประโยคนี้เป็นการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับสภาพปัญหาและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม สิ่งที่ตามมาคือการวางเฉยไม่คิดวางแผนและไม่เตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหา และเมื่อปัญหาปรากฎขึ้นความเสียหายที่ตามมาก็จะมีมากมายจนมิอาจประมาณการได้
     
       ดังความหายนะทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายครั้งเพราะรัฐบาลไม่รับฟังนักเศรษฐศาสตร์ทางเลือกหรือนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ใช่พวกเดียวกับรัฐบาล รัฐบาลจะฟังเฉพาะในสิ่งที่ตนเองอยากฟัง เช่น เศรษฐกิจมีการขยายตัวสูง มีการขยายตัวของการลงทุน นักท่องเที่ยวเข้าประเทศมาก มีการจ้างงานมาก คนตกงานน้อย ค่าครองชีพต่ำ และเงินเฟ้อต่ำ ส่วนความเป็นจริงที่แตกต่างจากที่กล่าวมาข้างต้นรัฐบาลเกือบทุกรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะพูดว่า “พวกนักเศรษฐศาสตร์คิดไปเอง”
     
       นักสังคมศาสตร์เตือนว่า การจัดตั้งหมู่บ้านแดง เป็นการสร้างและขยายความแตกแยกของสังคมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทำให้สังคมไทยแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย แบ่งเขาแบ่งเรา เป็นการบ่มเพาะความเกลียดชังระหว่างคนไทยให้มีมากขึ้น รัฐบาลก็บอกว่า นักสังคมศาสตร์คิดไปเอง
     
       เมื่อนักรัฐศาสตร์เตือนว่า การออกกฎหมายปรองดองเพื่อนิรโทษกรรมให้นักโทษหนีคุกคดีทุจริต และ/หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมอย่างกว้างขวาง รัฐบาลก็บอกว่านักรัฐศาสตร์คิดไปเอง
     
       เมื่อมีนักวิทยาศาสตร์เตือนเรื่องภัยพิบัติคลื่นสึนามิ หรือภัยจากธรรมชาติอื่นๆ รัฐบาลก็จะบอกว่า นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นคิดไปเอง
     
       อย่างไรก็ตามก็มีอีกมุมหนึ่งที่ควรหยิบยกมากล่าวถึง คือ ความจริงที่ว่า มีคนไทยและนักการเมืองจำนวนมากที่คิดไปเอง โดยไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ใดที่เข้ากันได้กับถ้อยแถลงหรือหลักการที่มีการเสนอมา
     
       คนไทยจำนวนมากคิดไปเองว่านักการเมืองเป็นความหวังของประเทศ ทั้งที่มีข้อมูลมากมายที่ระบุว่านักการเมืองจำนวนมากเป็นตัวการในการทำลายเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม ประเทศอย่างมหาศาล
     
       เช่นเดียวกันก็มีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่คิดไปเองว่า การรัฐประหารจะแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ทั้งที่มีข้อมูลทางประวิติศาสตร์มากมายบ่งบอกว่าคณะรัฐประหารหลายคณะสร้างความหายนะให้แก่ประเทศไม่แพ้นักการเมืองทุนสามานย์
     
       ส่วนนักการเมืองบางคนคิดไปเองว่าตนเองความสวยและฉลาด เหตุที่คิดเช่นนั้นก็เนื่องจากมีแต่บรรดาผู้ประสบสอพลออยู่รอบข้าง มีการชื่นชม ยกยอกันเองอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ถูกประชาชนกว่าครึ่งค่อนประเทศดูถูกดูแคลนว่า เป็นนักการเมืองที่มีสติปัญญาต่ำกว่ามาตรฐานขึ้นต่ำของคนไทยทั่วไป
     
       บางคนคิดว่าตนเองเป็นผู้บริหาร ดึงโครงการต่างๆเข้าไปสู่จังหวัดของตนเองมากมาย แต่ถูกประชาชนค่อนประเทศมองอย่างดูหมิ่นดูแคลนว่าเป็นนักการเมืองจอมปล้นประเทศ โกงกินงบประมาณแผ่นดินอย่างขาดความละอาย หากเป็นฝ่ายค้านเมื่อไรก็ร้องคร่ำครวญว่าอดอยากปากแห้ง
     
       บางคนก็คิดไปเองว่ารูปหล่อและทำงานดี แต่ถูกผู้คนจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์ว่าดีแต่พูดหลักการหรือวิจารณ์คนอื่น แต่คิดสร้างสรรค์นโยบายไม่เป็น รวมทั้งขาดความสามารถในการขับเคลื่อนการนำนโยบายไปปฏิบัติอีกด้วย
     
       กล่าวโดยสรุปเมื่อไรก็ตามที่ประโยคประเภท “คุณคิดไปเอง” “คนไทยคิดไปเอง” “ชาวบ้านคิดไปเอง” ออกมาจากปากของนักการเมืองบ่อยครั้ง เมื่อนั้นแปลว่าคงต้องมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น โดยอาจเป็นความผิดปกติของตัวผู้พูดประโยคนี้ คือเป็นคนที่มีความจำกัดของสมองจนไม่อาจรับรู้สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและเห็นกันได้อย่างทั่วหน้า หรือ อาจเป็นความเจ้าเล่ห์ในการใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อกลบเกลื่อนความจริงต่างๆที่ผู้พูดไม่ประสงค์ให้สาธารณะทราบก็ได้
     
       ขณะนี้ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีหญิงเป็นผู้บริหารประเทศจริงหรือเปล่า หรือคุณคิดไปเอง...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ