ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

มาตรฐานของสหรัฐอเมริกาในการสนับสนุนทักษิณ


มาตรฐานของสหรัฐอเมริกาในการสนับสนุนทักษิณ

 ASTVผู้จัดการรายวัน 17 สิงหาคม 2555 18:11 น.



ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
     
       หลังสงครามโลกครั้งที่สองประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในสองประเทศอภิมหาอำนาจของโลกเคียงคู่กับประเทศสหภาพโซเวียต การต่อสู้ขับเคี่ยวเพื่อช่วงชิงอำนาจในการควบคุมโลกของประเทศมหาอำนาจทั้งสองที่รู้จักกันในนาม “สงครามเย็น” ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี และยุติลงเมื่อประเทศโซเวียตรัสเซียมีความขัดแย้งภายในอย่างหนักจนกลุ่มเชื้อชาติและศาสนาต่างๆที่เคยอยู่ภายในสหภาพเดียวกันแยกตัวออกไปตั้งเป็นประเทศอิสระจำนวนมาก และสหภาพโซเวียตได้ล่มสลายลงใน ค.ศ. 1991 ตั้งแต่นั้นมาสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศจึงเข้าสู่ยุค “หลังสงครามเย็น”
     
       แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และหลังสงครามเย็นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก นั่นคือรัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน “ผู้นำทรราช” และ “ผู้ก่อการร้าย” ของประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง หากกลุ่มบุคคลเหล่ายอมเป็นผู้รับใช้ และยอมให้สหรัฐอเมริกากอบโกยผลประโยชน์อย่างไร้ข้อจำกัด ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็พร้อมที่จะเข้าไปจัดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของประเทศใดก็ตามที่ไม่ตอบสนองผลประโยชน์ของตนเอง หรือทำให้ชนชั้นนำหรือนายทุนของสหรัฐฯ เสียผลประโยชน์อย่างไม่คำนึงถึงวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการลอบสังหารบุคคลที่ต่อต้าน หรือสังหารหมู่ชาวท้องถิ่น หรือ การรัฐประหารก็ตาม
     
       ในยุคสงครามเย็นเป้าหมายการปฏิบัติการทางการเมืองและการทหารของประเทศสหรัฐอเมริกาคือ การยับยั้งการขยายอำนาจอิทธิพลของสหภาพโซเวียต และในทางกลับกันคือการขยายอำนาจและอิทธิพลของประเทศตนเองเข้าไปแทนที่ จุดสนใจหลักในการปฏิบัติการของสหรัฐอเมริกาในยุคนี้คือกลุ่มประเทศแถบเอเชียอาคเนย์
     
       นโยบายหลักในช่วงนี้ของสหรัฐมี 2 ประการคือ การรักษาปกป้องรัฐบาลที่ยอมเป็นสมุนและเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ต่อต้านหรือทำลายผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจของสหรัฐฯ
     
       รัฐบาลของหลายประเทศในเอเชียอาคเนย์ เช่น อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนามใต้ เป็นตัวอย่างของรัฐบาลที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในทุกรูปแบบเพื่อให้กลุ่มชนชั้นนำในประเทศเหล่านั้นรักษาอำนาจเอาไว้ให้ได้ สหรัฐฯ วางแผนทางการเมืองให้แก่รัฐบาลประเทศเหล่านั้นว่าจะรักษาอำนาจไว้ให้นานที่สุดอย่างไร สอนวิธีการกำจัดศัตรูทางการเมือง ยุทธวิธีการรบ และสืบราชการลับ รวมทั้งหยิบยื่นอาวุธนานาชนิดให้ใช้ทั้งการให้เปล่าและการขาย เพื่อใช้ในการปราบปรามและกวาดล้างฝ่ายตรงกันข้าม
     
       ในยุคที่ซูฮาร์โตเป็นประธานาธิบดีประเทศอินโดนีเซีย สหรัฐมอบบัญชีรายชื่อบุคคลชาวอินโดนีเซียที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองตรงข้ามกับสหรัฐฯ แก่รัฐบาลซูฮาร์โต และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำอินโดนีเซียนายมาร์แชล กรีน อนุมัติเงิน 50 ล้านรูเปี้ยะห์แก่ขบวนการเคเอพี-เกสตาปูเพื่อใช้ในการกวาดล้างปรปักษ์ทางการเมือง
     
       การสนับสนุนรัฐบาลซูฮาร์โตของสหรัฐในครั้งนั้นนำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนชาวอินโดนีเซียนับแสนคน
     
       เช่นเดียวกันในประเทศเวียดนาม รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าไปช่วยรัฐบาลเวียดนามใต้ทำสงครามกับรัฐบาลเวียดนามเหนือโดยเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1964 เริ่มจากสหรัฐฯกล่าวหาว่าเวียดนามเหนือใช้ตอร์ปิโดโจมตีเรือสหรัฐในบริเวณอ่าวตังเกี๋ย และต่อมาสหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไปประจำการในเวียดนามใต้อย่างเต็มรูปแบบใน ค.ศ. 1969 มีการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด และใช้อาวุธเคมีที่รู้จักในนาม “ฝนเหลือง” เพื่อทำลายล้างเวียดนามเหนือให้สิ้นซากอย่างต่อเนื่อง
     
       ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาใช้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งฐานทัพ ที่ตั้งอุปกรณ์สืบราชการลับ และศูนย์พักผ่อนและพักฟื้นทหารสหรัฐฯ เครื่องบินทิ้งระเบิดเกือบทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาที่โจมตีประเทศเวียดนามถูกส่งไปจากประเทศไทย และแน่นอนว่าผลจากสงครามได้สร้างความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศเวียดนามอย่างมหาศาล แม้ว่าในท้ายที่สุดสหรัฐอเมริกาจะพ่ายแพ้อย่างยับเยินในสงครามครั้งนั้นก็ตาม
     
       สำหรับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่สหรัฐฯ มีส่วนสำคัญเกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การรัฐประหารรัฐบาลประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเจนเด้ แห่งประเทศชิลีใน ค.ศ. 1973 รัฐบาลอัลเจนเด้มาจากการเลือกของประชาชนชาวชิลี และมีนโยบายชาตินิยมเป็นตัวของตัวเอง คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชิลี แน่นอนว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้นายทุนสหรัฐฯ เสียผลประโยชน์ รัฐบาลสหรัฐโดย CIA จึงสนับสนุนนายพลออกุสโต ปิโนเชต์ ก่อการรัฐประหารนองเลือด สังหารประธานีธิบดีอัลเจนเด้และผู้สนับสนุนอย่างเหี้ยมโหด และเมื่อนายพลปิโนเชต์ครองอำนาจ ก็ทำการเข่นฆ่าประชาชนชาวชิลีอย่างเหี้ยมโหดเป็นจำนวนมาก และยังทุจริตคอรัปชั่นอย่างมโหฬารจนประเทศชิลีเสียหายอย่างยับเยิน
     
       จะเห็นได้ว่าในยุคสงครามเย็นนั้น กลุ่มบุคคลหรือรัฐบาลที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุน เช่น ซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซีย ปิโนเชต์แห่งชิลี มาร์กอสแห่งฟิลิปปินส์ เหงียน วัน เทียวแห่งเวียตนามใต้ และถนอมแห่งประเทศไทย ล้วนแล้วเป็นกลุ่มบุคคลที่ภายหลังประชาชนของประเทศนั้นๆ ขนานนามว่า “ทรราช” ทั้งสิ้น โดยบุคคลเหล่านั้นมีลักษณะร่วมกันคือ มีพฤติกรรมที่โหดเหี้ยมพร้อมจะสังหารศัตรูทางการเมืองอย่างเลือดเย็น เจ้าเล่ห์ทุบายหลอกลวงประชาชน คลั่งไคล้ในอำนาจ และมีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเหลือคณานับ
     
       ต่อมาในยุคหลังสงครามเย็น เมื่อสหรัฐอเมริกาได้ครองความเป็นเจ้าในพื้นพิภพใบนี้เพียงประเทศเดียว มี จอร์จ บุช ผู้พ่อเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ (1989 – 1993) สหรัฐเริ่มใช้นโยบายต่างประเทศอย่างรุนแรงและแข็งกร้าวมากขึ้น และเข้าไปแทรกแซงการเมืองการปกครองของประเทศต่างๆ จำนวนมาก เพื่อกดดันให้ตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำในสหรัฐฯ และหากมาตรการกดดันไม่บังเกิดผล สหรัฐฯก็จะใช้องค์การ CIA เข้าไปกระตุ้น สร้างสถานการณ์ และดำเนินการจัดการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศเหล่านั้น และหากยังไม่ได้ผลอีกก็จะใช้กำลังทหารเข้าไปจัดการโดยตรง
     
       อันที่จริง จอร์จ บุช ผู้พ่อได้เริ่มแสดงอำนาจแห่งความเป็นเจ้าโลกตั้งแต่เริ่มเป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1989 โดยส่งกำลังทหารสหรัฐฯ ไปจับกุมตัว มานูเอล นอริเอกาประธานาธิบดีประเทศปานามาในข้อหาค้ายาเสพติดมาขึ้นศาลในสหรัฐอเมริกา และหนึ่งปีหลังจากนั้นก็ส่งกองทัพอเมริกาเข้าสู่สงครามอ่าวเปอร์เซียในนาม “ปฏิบัติการพายุทะเลทราย” เพื่อต่อสู้กับกองกำลังทหารของประเทศอิรักที่ยกเข้าไปยึดประเทศคูเวต
     
       และเมื่อ จอร์จ บุช ผู้ลูกขึ้นครองอำนาจเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาได้เดินตามรอยพ่อ เริ่มจากสร้างเรื่องหลอกลวงชาวโลกว่าประเทศอิรักผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ชีวภาพ และเคมีที่มีอานุภาพในการทำลายล้างสูง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการส่งกองทัพสหรัฐเข้าไปโจมตีและยึดครองประเทศอิรัก สงครามอิรักและผลสืบเนื่องจากสงครามได้ทำลายชีวิตและผู้คนชาวอิรักนับแสนคน
     
       อันที่จริงซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีอิรักผู้ที่สหรัฐอเมริกาล้มล้างอำนาจ จับกุมและสังหารทิ้งไปนั้น เป็นผู้นำระดับ “ทรราช” ซึ่งสหรัฐเคยให้การสนับสนุนมาก่อน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านประเทศอิหร่าน แต่เมื่อซัดดัม มีความพยายามเป็นอิสระและไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบงการของสหรัฐฯ เขาก็พบกับจุดจบด้วยฝีมือของสหรัฐฯ เองใน ค.ศ. 2003
     
       จากการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในลักษณะนี้ เมื่อสำนักแกลลัพโพลล์สำรวจภาพลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 2002 โดยเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ประชาชนเกือบ 10,000 คน ใน 9 ประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อันได้แก่ อินโดนีเซีย อิหร่าน จอร์แดน เลบานอน โมร็อกโก ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย และตุรกี ผลการสำรวจพบว่าภาพลักษณ์หลักของสหรัฐอเมริกาคือ “โหดเหี้ยม ก้าวร้าว โอหัง เจ้าเล่ห์ โกรธง่ายและลำเอียง”
     
       ภาพลักษณ์ดังกล่าวเมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ต่อสิ่งที่สหรัฐฯ เคยกระทำกับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ก็เรียกได้ว่าไม่เกินเลยจากความเป็นจริงแม้แต่น้อย ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ผมคิดว่าไม่มีรัฐบาลประเทศใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำให้ประชาชนของประเทศต่างๆในโลกเสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการ มากเท่ากับรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อีกแล้ว และเช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่ไม่มีรัฐบาลใดที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชนไทยมากเท่ากับช่วงรัฐบาลทักษิณอีกแล้ว
     
       จากมาตรฐานที่ใช้เป็นเกณฑ์สำหรับการสนับสนุนและช่วยเหลือบุคคลชนชั้นนำของประเทศต่างๆ ที่สหรัฐอเมริกาเคยกระทำมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าบุคคลเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็น ”ทรราช” หรือไม่ก็เป็น “ผู้ก่อการร้าย” ซึ่งมีพฤติกรรมสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาในสายตาชาวโลก นั่นคือเหี้ยมโหด โอหัง เจ้าเล่ห์ ลำเอียง และคดโกง
     
       เรียกได้ว่าสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนและช่วยเหลือคนประเภทที่มีลักษณะและพฤติกรรมเช่นเดียวกับตนเอง และคาดหวังให้บุคคลเหล่านั้นรับใช้และดำเนินการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุนผู้ทรงอำนาจในสหรัฐอเมริกา
     
       เราจึงแทบไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมรัฐบาลสหรัฐอเมริกายุคปัจจุบัน จึงให้การสนับสนุนและให้วีซ่า ทักษิณ ชินวัตร ทั้งนี้เพราะคุณลักษณะและพฤติกรรมของบุคคลผู้นี้สอดคล้องกับแบบแผนและมาตรฐานของบุคคลที่รัฐบาลสหรัฐเคยให้ความช่วยเหลือมาแล้วในอดีตนั่นเอง
     
       การสนับสนุนทรราชของประเทศต่างๆ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นรับใช้และเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มนายทุนผู้ทรงอำนาจจึงเป็นพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐบาลสหรัฐที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะมาจากพรรครีพับริกันหรือเดโมแครตก็ตาม


จำนวนคนอ่าน 4267 คน

12 people like this. Be the first of your friends

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ