ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2


บทวิจารณ์หนังสือ
 พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

Kathy Charmaz  2006.
Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis.
London: SAGE   จำนวน  208  หน้า
ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก
ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก  
ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณภาพถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับระเบียบวิธีที่ใช้ในการศึกษาจากนักวิชาการที่ใช้การวิจัยเชิงปริมาณว่าเป็นเพียงการวิจัยแบบพรรณนา เรื่องเล่า ไร้ระบบ  มีอคติ  และไม่อาจพัฒนาความรู้ในศาสตร์ได้      ต่างจากการวิจัยเชิงปริมาณที่สามารถพัฒนาความรู้ได้อย่างน่าเชื่อถือเพราะสามารถพัฒนาระเบียบวิธีในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างซับซ้อน   และมีฐานคติเชิงระเบียบวิธีที่หยิบยืมมาจากวิทยาศาสตร์ธรรมชาติซึ่งมีความเชื่อว่าการพัฒนาความรู้ต้องมีการสังเกตอย่างเป็นระบบ  มีการทดลองที่สามารถทำซ้ำได้   มีนิยามเชิงปฏิบัติของแนวความคิด   มีสมมติฐานซึ่งใช้การนิรนัยเชิงตรรกะและยืนยันหลักฐาน    ฐานคตินี้เป็นกระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยม (Positivism) ซึ่งเน้นภววิสัย (Objectivity) สามัญการ (Generalization) การพิสูจน์ผิด (Falsification) การอธิบายเชิงสาเหตุ และการทำนาย    
Glaser และ Strauss ได้เสนอการวิเคราะห์ในงานวิจัยเชิงคุณภาพอย่างเป็นระบบ มีตรรกะในตัวเองและสามารถสร้างการอธิบายเชิงทฤษฎีที่เป็นนามธรรมของกระบวนการทางสังคม   โดยใช้องค์ประกอบเชิงปฏิบัติของทฤษฎีฐานราก 7 ประการคือ
การดำเนินการไปพร้อมๆกันระหว่างการเก็บรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล
สร้างรหัสการวิเคราะห์และการจัดประเภทจากข้อมูล  ไม่ใช่จากแนวคิดที่กำหนดมาก่อนภายใต้สมมุติฐานที่ถูกนิรนัยเชิงตรรกะ
ใช้วิธีการเปรียบเทียบที่คงเส้นคงวา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบตั้งแต่ระยะขั้นแรกๆของการวิเคราะห์
พัฒนาทฤษฎีระหว่างแต่ละขั้นตอนของการรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล
การเขียนบันทึกเพื่อสร้างรายละเอียดของประเภท  การระบุคุณลักษณะ  การกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประเภท และการระบุความแตกต่าง
การเลือกกลุ่มเป้าหมายการศึกษา หน่วยการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งอยู่บนฐานของการสร้างทฤษฎี  ไม่ใช่จากฐานของการเป็นตัวแทนประชากร
กระทำการทบทวนวรรณกรรม แนวคิด ทฤษฎีหลังจากพัฒนาการวิเคราะห์อย่างเป็นอิสระ
สิบกว่าปีนับจากการเริ่มนำเสนอระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก  Glaser กับ Strauss เริ่มมีความคิดแตกต่างกัน  และมีการวิวาทะทางวิชาการระหว่างนักวิชาการทั้งสองคน  Glaser (1992) ยังยืนยันอย่างเหนียวแน่นกับหลักการดั้งเดิมของทฤษฎีฐานรากที่เสนอครั้งแรก  และนิยามทฤษฎีฐานรากในฐานะวิธีการค้นพบความจริง ปฏิบัติการจำแนกประเภทในฐานะที่อุบัติจากข้อมูล  อาศัยข้อมูลเชิงประจักษ์โดยตรง  และวิเคราะห์กระบวนการสังคมระดับพื้นฐาน  Glaser ยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่า  นักวิจัยไม่ควรนำความรู้ที่มีมาก่อนไปใช้ในการศึกษาวิจัยเพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อการวิเคราะห์ข้อมูล       แต่ Strauss ได้ปรับเปลี่ยนความคิดและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับวิธีการทฤษฎีฐานราก  Strauss และ Corbin (1990) ได้เสนอกระบวนเทคนิคใหม่โดยใช้คำถามเชิงวิเคราะห์ การตั้งสมมติฐาน และการประยุกต์ระเบียบวิธี  ซึ่งแตกต่างจากเทคนิคเดิมที่เน้นวิธีการเปรียบเทียบและการแยกประเภทโดยไม่มีการตั้งสมมติฐานของ Glaser    แต่สิ่งที่แตกต่างกันมากระหว่างบุคคลทั้งสองคือ การจัดวางตำแหน่งของนักวิจัยกับโลกทางสังคมที่พวกเขาศึกษา  Strauss สนับสนุนให้นักวิจัยใช้ประสบการณ์ทั้งส่วนบุคคลและวิชาชีพ เพื่อเพิ่มความละเอียดอ่อนทางทฤษฎี (Theoretical Sensitivity) มากกว่าการพยายามสร้างความคลุมเครือทางความคิดในการวิจัย   แต่สิ่งที่ทั้งสองยังคงมีความเหมือนกันคือ การมีฐานคติทางญานวิทยาแบบปฏิฐานนิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งเพราะทั้งสองนำเสนอทฤษฎีฐานรากเพื่อให้การวิจัยเชิงคุณภาพหลุดพ้นจากการครอบงำของการวิจัยเชิงปริมาณแบบปฏิฐานนิยม   แต่ก็กลายเป็นว่าทฤษฎีฐานรากของนักวิชาการทั้งสองนั้นมีฐานคติแบบปฏิฐานนิยมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะประเด็น การค้นพบความจริง  การอธิบายเชิงสาเหตุ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ศึกษากับสิ่งที่ถูกศึกษา  เพียงแต่เป็นปฏิฐานนิยมเชิงอุปนัย  ขณะที่การวิจัยเชิงปริมาณเป็นปฏิฐานนิยมเชิงนิรนัย
ในขณะเดียวกัน  นักวิชาการจำนวนหนึ่งได้พัฒนาระเบียบวิธีทฤษฎีฐานรากให้เคลื่อนตัวออกจากฐานคิดแบบปฏิฐานนิยม  ไปสู่ฐานคิดแบบการตีความนิยม (Interpretation)   ในท่ามกลางนักวิชาการจำนวนมาก มีนักวิชาการผู้หนึ่งซึ่งมีความโดดเด่นมาก คือ Kathy Charmaz (2006) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัย Sonoma State  ซึ่งได้เสนอแนวทางการใช้ทฤษฎีฐานรากภายใต้การตีความนิยมและสร้างสรรค์นิยม (Constructionism) และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีฐานราก ชื่อ Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis โดยผสานการใช้ฐานคติของกระบวนทัศน์การตีความเพื่อเข้าใจ (Understanding) ต่อโลกทางสังคมที่ศึกษา กับกระบวนทัศน์ปฏิฐานนิยมเพื่ออธิบาย (Explanation) ปรากฎการณ์ที่ศึกษา
เนื้อหาและการวิจารณ์
       หนังสือเล่มนี้ของ Charmaz แบ่งออกเป็น 8 บท  บทที่ 1  การเชื้อเชิญสู่ทฤษฎีฐานราก   (Invitation to Grounded Theory)  เริ่มจากการอุบัติของทฤษฎีฐานรากในฐานะที่เป็นระเบียบวิธีของการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งเกิดขึ้นภายในบริบททางประวัติศาสตร์ของโลกวิชาการสังคมศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาที่ถูกครอบงำโดยการวิจัยเชิงปริมาณ   Charmaz ได้อธิบายให้เห็นว่า Glaser และ Strauss เสนอทฤษฎีฐานรากอย่างเป็นระบบโดยการใช้วิธีการเชิงอุปนัยในการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อท้าทายการวิจารณ์ของนักวิชาการเชิงปริมาณที่มีต่อการวิจัยเชิงคุณภาพ   ในเรื่องความไร้ระบบของการวิเคราะห์ข้อมูล และการมีอคติของผู้วิจัย       จากนั้นวิธีการวิจัยที่ใช้ทฤษฎีฐานรากก็ได้รับความนิยมในแวดวงวิชาการอย่างกว้างขวาง  ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในสาขาต่างๆด้านสังคมศาสตร์เป็นจำนวนมาก  แม้กระทั่งนักปริมาณนิยมก็ยังให้การยอมรับระเบียบวิธีนี้  อย่างไรก็ตามแม้ว่า Glaser และ Strauss  จะเสนอทฤษฎีฐานรากเพื่อให้การวิจัยเชิงคุณภาพหลุดพ้นการครอบงำโลกทางวิชาการของนักปฏิฐานนิยม  แต่ปรากฏว่า ทฤษฎีฐานรากที่พวกเขาเสนอนั้น ก็ได้แฝงฐานคติที่สำคัญของปฏิฐานนิยม  โดยเฉพาะเรื่องการเน้นการค้นพบความจริง  การสร้างทฤษฎีเพื่ออธิบายกระบวนการสังคม   และความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดระหว่างนักวิจัยกับข้อมูล     อย่างไรก็ตามความแตกต่างทางความคิดระหว่าง Glaser และ Strauss ก็เกิดขึ้น เพราะ Glaser ยืนกรานหลักการดั้งเดิมของทฤษฎีฐานรากที่เขาเสนอเมื่อ ปี 1967   ส่วน Strauss นั้นมีความยืดหยุ่นในเรื่องการมีความคิดนำในการวิจัย  ยอมรับการตั้งสมมติฐานชั่วคราว และยอมรับวิธีการวิเคราะห์ที่หลากหลาย   ถึงกระนั้นทั้งคู่ก็ยังดำรงฐานคติที่สำคัญด้านภววิทยาของปฏิฐานนิยม ที่ว่า ความจริงดำรงอยู่แล้ว มนุษย์เพียงไปค้นพบความจริงนั้น
ส่วนจุดยืนของ Chamaz ที่ระบุไว้ในบทที่ 1 คือ การเน้นแนวทางที่ยืดหยุ่นของทฤษฎีฐานราก  ไม่ได้มองว่าทฤษฎีฐานรากเป็นสูตรสำเร็จทางระเบียบวิธีที่ตายตัวดังที่ Glaser ยืนกราน    Chamaz มีฐานคติเกี่ยวกับโลกคือ ไม่เชื่อว่าข้อมูลและทฤษฎีเป็นการค้นพบ  แต่มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้วิจัย ปรากฎการณ์ที่ศึกษา และข้อมูลที่รวบรวม     นักวิชาการสร้างทฤษฎีฐานรากจากการเกี่ยวพันอดีตและปัจจุบันของตนเองและการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน  มุมมองทางสังคม และปฏิบัติการวิจัย   ทฤษฎีฐานรากเป็นการวาดภาพของความเป็นจริงที่เกิดจากการตีความของผู้วิจัย  ไม่ใช่ภาพแห่งความเป็นจริงตามธรรมชาติของมัน    โดยนัยนี้นักวิจัยในฐานะผู้ศึกษาจึงสร้างความเป็นจริงขึ้นมาชุดหนึ่งเกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่ตนศึกษา    และท้ายที่สุด Charmaz ได้ย้ำว่าแนวทางทฤษฎีฐานรากสร้างมาจากพื้นฐานของนักปฏิบัตินิยม (Pragmatist) และการวิเคราะห์เชิงการตีความ
ในบทนี้ Chamaz  ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นมา การกำเนิด และพัฒนาการของทฤษฎีฐานรากอย่างสังเขป ซึ่งทำให้ผู้อ่านเห็นความเชื่อมโยงสำหรับการเขียนในบทต่อไปของหนังสือเล่มนี้  อย่างไรก็ตามเนื้อหาส่วนที่แสดงความแตกต่างทางความคิดระหว่าง Glaser และ Strauss มีน้อยเกินไป ซึ่งทำให้เห็นภาพไม่ชัดเจนเท่าที่ควรเกี่ยวกับประเด็นที่ผู้ให้กำเนิดทฤษฎีฐานรากทั้งสองมีความเห็นต่างกัน  อันที่จริงหาก Chamaz เพิ่มเติมการวิเคราะห์ความแตกต่างของนักวิชาการทั้งสองในประเด็น การอุบัติของแบบแผนทางทฤษฎี   การพัฒนาทฤษฎี  ขั้นตอนการวิเคราะห์  การจัดประเภท  การสร้างรหัส  และระยะห่างของนักวิจัยกับข้อมูล  ก็จะสร้างความเข้าใจแก่ผู้อ่านได้มากขึ้น
การที่ Charmaz  ระบุว่าแนวทางทฤษฎีฐานรากในหนังสือเล่มนี้มีความยืดหยุ่น ไม่ใช่สูตรสำเร็จเชิงเส้นตรง  มีจุดยืนแบบปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ และมีฐานคติแบบกระบวนทัศน์การตีความ  จึงเป็นการเสนอทางเลือกที่สามารถโน้มน้าวใจให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งซึ่งปฏิเสธการใช้ทฤษฎีฐานรากที่อยู่ภายใต้กระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยมของ Glaser และ Strauss    มาใช้ทฤษฎีฐานรากเป็นระเบียบวิธีในการวิจัย  ในการศึกษาปรากฎการณ์ทางสังคมได้อย่างสะดวกใจมากขึ้น
บทที่ 2  การรวบรวมข้อมูลอย่างเข้มข้น (Gathering Rich Data)    เป็นการอธิบายเกี่ยวกับการตัดสินใจเริ่มต้นและเลือกแนวทางรวบรวมข้อมูล    Charmaz มองยุทธศาสตร์การรวบรวมข้อมูลเป็นเครื่องมือมากกว่าเป็นสูตรสำเร็จ   สนับสนุนให้นักวิจัยเก็บข้อมูลจำนวนมากอย่างเข้มข้น  และวางลงในสถานการณ์และบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้อง    ในบทนี้ Charmaz ได้เสนอแนวทางรวบรวมข้อมูล และการใช้ข้อมูลเพื่อเรียนรู้วิธีการที่ผู้คนให้ความหมายต่อสถานการณ์และการกระทำของพวกเขา
Charmaz ชี้ว่า การศึกษาวิจัยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์  ความสำคัญ และความเกี่ยวข้องของข้อมูล   การพัฒนาแบบแผนหรือการจำแนกประเภทเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Categorization) ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูล   สำหรับแนวทางในการรวบรวมข้อมูล Charmaz เสนอให้เริ่มต้นจากการตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์กระบวนการทางสังคมพื้นฐาน   คำถามแรกคือ  “อะไรเกิดขึ้นที่นี่”  ซึ่งสามารถแยกออกเป็นสองระดับคือ  “อะไรคือกระบวนการทางสังคมระดับพื้นฐาน”  และ “อะไรคือกระบวนการจิตวิทยาสังคมพื้นฐาน”  จากนั้นให้ถามคำถามเหล่านี้ตามมา  “ จากมุมมองของใครที่ทำให้กระบวนการนั้นเป็นพื้นฐาน”  และ “ทัศนะของใครที่มองกระบวนนั้นเป็นชายขอบหรือไม่ใช่สิ่งสำคัญ”     “กระบวนการทางสังคมนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร” “การกระทำของผู้มีส่วนร่วมสร้างกระบวนการนั้นเกิดขึ้นอย่างไร”  “ใครใช้อำนาจควบคุมกระบวนการนั้น” “ภายใต้สถานการณ์แบบใด”    “อะไรคือความหมายที่แตกต่างที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ต่อกระบวนการนั้น” “พวกเขาพูดอย่างไรเกี่ยวกับมัน”  “อะไรที่พวกเขาเน้น”  “อะไรที่เขาละทิ้ง”  “ความหมายและการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการนั้นเกิดขึ้นเมื่อไรและอย่างไร”
นอกจากนี้ Charmaz ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างแนวทางทฤษฎีฐานรากฐานเชิงชาติพันธุ์วรรณา (Grounded Theory in Ethnography) ซึ่งมุ่งเน้นการให้ความสำคัญต่อปรากฎการณ์ หรือกระบวนการ    กับการศึกษาแนวชาติพันธุ์วรรณาทั่วไปที่เน้นการพรรณาสภาพของสถานที่ศึกษา (Setting)
สำหรับการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์  Charmaz ใช้คำว่า “การสัมภาษณ์แบบเข้มข้น” (Intensive Interviewing) ซึ่งเป็นการสนทนาค้นหาอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับหัวข้อบางอย่างกับบุคคลผู้มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้น   ผู้สัมภาษณ์จะถามเพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์พรรณนาและสะท้อนประสบการณ์ของพวกเขาในวิถีที่เกิดขึ้นน้อยในชีวิตประจำวัน   ผู้สัมภาษณ์จะฟังอย่างตั้งใจ  สังเกตด้วยความละเอียดถี่ถ้วน และกระตุ้นให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ตอบสนอง   ดังนั้นในการสนทนาผู้ถูกสัมภาษณ์จะเป็นผู้พูดเกือบทั้งหมด  ในขณะเดียวกัน Chamaz ยังได้เสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับการสัมภาษณ์เรื่องที่มีความอ่อนไหว เช่น การถูกตีตรา หรือ การหย่าร้าง  ไว้อย่างน่าสนใจ เช่น  ควรให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้สัมภาษณ์มากกว่าข้อมูล  การให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดเมื่อพบประเด็นที่ต้องพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง  เป็นต้น   และในหนังสือยังได้นำเสนอตัวอย่างคำถามการสัมภาษณ์ที่เป็นแนวทางสำหรับผู้อ่านอีกด้วย  ตั้งแต่คำถามเริ่มต้น  คำถามระหว่างกลาง และคำถามปิดท้าย
การรวบรวมข้อมูลอีกประการที่ Charmaz เสนอไว้ในหนังสือเล่มนี้คือ  การวิเคราะห์หนังสือและเอกสาร   ผู้คนสร้างเอกสารสำหรับวัตถุประสงค์บางอย่าง และกระทำภายใต้บริบททางสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจ  นักวิจัยสามารถเปรียบเทียบ ท่วงทำนองการเขียน เนื้อหา ทิศทาง และการนำเสนอเอกสารกับวาทกรรมที่ใหญ่กว่าซึ่งเอกสารนั้นเป็นส่วนหนึ่งของมัน  เอกสารบอกบางอย่างที่ผู้กระทำทางสังคมตั้งใจทำหรือไม่ตั้งใจทำก็ได้  
Charmaz แบ่งเอกสารเป็นสองประเภท คือ 1) เอกสารที่กลุ่มเป้าหมายการวิจัยเป็นผู้เขียนเอง (Elicited Texts) และผู้วิจัยมีส่วนในการสร้างคำถามหรือแนวทางการเขียน เช่น แบบสอบถามปลายเปิด  บันทึกประจำวัน  หรือ ข้อความที่ผู้วิจัยขอให้กลุ่มเป้าหมายเขียน    2)  เอกสารที่ผู้วิจัยไม่มีส่วนร่วมในการสร้าง (Extant Texts)  เช่น รายงานรัฐบาล  เอกสารองค์การ สื่อมวลชน บันทึกการรักษาพยาบาล  
ในบทนี้ Charmaz ได้เสนอแนวทางและวิธีการรวบรวมข้อมูลหลักเอาไว้ค่อนข้างดี ซึ่งช่วยให้นักวิจัยที่จะใช้วิธีทฤษฎีฐานรากสามารถมีจุดเริ่มต้นในการรวบรวมข้อมูล   มีการเสนอตัวอย่างสำหรับการสัมภาณ์แบบเข้มข้น  เสนอวิธีการและเกณฑ์ในการรวบรวมข้อมูลเอกสารไว้อย่างเป็นระบบ  รวมทั้งข้อเสนอแนะและข้อควรระวัง สำหรับการปฏิบัติจริงในการรวบรวมข้อมูลที่กลั่นมาจากประสบการณ์การทำวิจัยอันยาวนานของเธอ
บทที่ 3 การสร้างรหัสในการปฏิบัติของทฤษฎีฐานราก (Coding in Grounded Theory) แสดงวิธีการทำรหัส กำหนดชื่อและนิยามรหัส โดยเน้นสองวิธีการหลัก 1)  การทำ “รหัสบรรทัดต่อบรรทัด”ขั้นต้น (Line-by-Line Coding) และเริ่มต้นก่อรูปกรอบความคิด  และ 2) การทำ “รหัสแบบเพ่งความสนใจ” (Focused Coding) ซึ่งทำให้สามารถแยกแยะ จัดประเภท และสังเคราะห์ข้อมูล   หลักสำคัญในการทำรหัสคือสร้างรหัสให้สอดคล้องกับข้อมูล  มิใช่บังคับข้อมูลให้สอดคล้องกับรหัส
 Charmaz อธิบายว่า การเริ่มต้นทำรหัสแบบบรรทัดต่อบรรทัดคือการกำหนดชื่อแต่ละบรรทัดที่เขียน  แม้ว่าการทำรหัสทุกบรรทัดจะดูเหมือนจะเป็นการสร้างแบบมากเกินความจำเป็นเพราะแต่ละบรรทัดอาจไม่ใช่ประโยคสมบูรณ์หรือเป็นประโยคที่ไม่สำคัญ แต่ก็เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก เพราะจะทำให้ความคิดบังเกิดขึ้นเมื่อผู้วิจัยอ่านเพื่อวิเคราะห์
 Charmaz เสนอยุทธศาสตร์ที่ยืดหยุ่นการทำรหัส อันได้แก่  การแยกข้อมูลออกเป็นองค์ประกอบหรือคุณสมบัติ   การนิยามการกระทำ   การค้นหาฐานคติที่ซ่อนเร้น  อธิบายการกระทำที่แอบแฝงและความหมาย   ตกผลึกจุดสำคัญ  เปรียบเทียบข้อมูลกับข้อมูล  และระบุช่องว่างในข้อมูล   ผลจากการทำรหัสทำให้นักวิจัยสามารถจัดประเภทและเห็นกระบวนการ อันนำไปสู่การวิเคราะห์  คำถามสำคัญเพื่อพัฒนากรอบความคิดขั้นต่อไปคือ  อะไรคือกระบวนการของประเด็นนี้ และจะนิยามมันอย่างไร   กระบวนการนี้พัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร   ผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ทำอย่างไรเมื่อเกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้  อะไรคือสิ่งที่ผู้ถูกสัมภาษณ์คิดและรู้สึกขณะที่กำลังอยู่ในกระบวนการนี้   อะไรคือพฤติกรรมที่ระบุว่าพวกเขารู้สึกอย่างนั้น   กระบวนการนี้เปลี่ยนเมื่อไร เปลี่ยนอย่างไร และมีเหตุอะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง   อะไรคือผลสืบเนื่องของกระบวนการ
สำหรับการทำ “รหัสแบบเพ่งความสนใจ” เป็นใช้ “รหัสจากรหัสเริ่มต้น” ที่มีความสำคัญและ/หรือที่มีความถี่บ่อยครั้งมาพิจารณาเพื่อตัดสินว่า “รหัสเริ่มต้น” ใดมีความหมายต่อการวิเคราะห์มากที่สุดเพื่อนำไปสู่การจัดประเภทข้อมูล        นอกจากการจัดทำรหัสสองประเภทหลักข้างต้นแล้ว Charmaz ยังได้เสนอการจัดทำ “รหัสแบบย่อย” (Axil Coding) ที่เชื่อมโยงกับประเภทหลัก ทั้งในรูปแบบ “ประเภทย่อย” และ “รูปแบบองค์ประกอบ”    จากนั้นนำไปสู่การจัดทำ “รหัสเชิงทฤษฎี” (Theoretical Coding) โดยเชื่อมโยงรหัสที่มีความสำคัญ ซึ่งสัมพันธ์กันในลักษณะเป็นสมมติฐาน อันจะบูรณาการไปสู่การสร้างทฤษฎีต่อไป
มีบางปัญหาที่ Charmaz เตือนให้ระวังในการทำรหัสคือ การทำรหัสกว้างเกินไป  การระบุหัวข้อมากกว่าการกระทำและกระบวนการ   การมองข้ามวิธีการที่ผู้คนสร้างการกระทำและกระบวนการ  ใช้ความรู้จากสาขาของตนเองเป็นหลักแทนที่จะเป็นข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมาย  การทำรหัสที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบทที่ศึกษา  และการใช้รหัสเพื่อการสรุปแทนที่จะเป็นการวิเคราะห์
ในบทนี้ Charmaz ได้นำเสนอวิธีการทำรหัสหลายวิธี โดยเน้นที่สองวิธีหลักดังที่กล่าวในข้างต้นแล้ว ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงกระบวนการตั้งแต่การเริ่มต้นทำรหัส การใช้รหัสในการจัดทำประเภทของแนวคิด   นำไปสู่การเชื่อมโยงเชิงสมมติฐาน และสร้างเป็นทฤษฎีพื้นฐานได้อย่างชัดเจน  และมีตัวอย่างจากงานวิจัยประกอบในแต่ละประเด็นซึ่งช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น  รวมทั้งมีการตั้งคำถามในประเด็นหลักเพื่อทบทวนกระบวนการจัดทำรหัส  ทำให้นักวิจัยไม่จมดิ่งอยู่ใน “ทะเลของรหัส” จนกระทั่งเกิดความสับสนในการวิเคราะห์   การเขียนของ Charmaz ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกว่า การทำรหัสไม่ได้เป็นงานที่ยากจนเกินไป และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้แนวทฤษฎีฐานราก
บทที่ 4 การเขียนบันทึก (Memo-writing)  บทนี้อธิบายถึงวิธีการเขียนบันทึก แสดงตัวอย่างในการเขียนบันทึก  การปรับยุทธศาสตร์ของนักเขียนมาใช้ในการร่างเบื้องต้นของงานวิจัย  การใช้บันทึกในการยกระดับ “รหัสที่เพ่งความสนใจ” สู่ประเภทของมโนทัศน์
การเขียนบันทึกเป็นวิธีการสำคัญของทฤษฎีฐานรากเพราะจะช่วยให้ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลและรหัสในช่วงเริ่มแรกของการทำวิจัย  ทำให้ผู้วิจัยใช้เวลาในการคิดและไตร่ตรองเกี่ยวกับข้อมูล   จัดระบบรหัสเชิงคุณภาพเป็นประเภทต่างๆเพื่อการวิเคราะห์ พัฒนาท่วงทำนองแห่งนักเขียนของผู้วิจัย  กระตุ้นให้เกิดความคิดเพื่อไปตรวจสอบในภาคสนาม  ค้นพบช่องว่างของข้อมูล และเพิ่มความมั่นใจในสมรรถภาพของนักวิจัยเอง  
Charmaz ได้เสนอให้ใช้ยุทธศาสตร์ของนักเขียน โดยใช้วิธีการเขียนแบบกลุ่มชั้น (Clustering)  และการเขียนแบบอิสระ (Free Writing)   สำหรับการเขียนแบบกลุ่มชั้นเริ่มจากหัวข้อหลักหรือความคิดแกนกลาง  จากนั้นเคลื่อนตัวจากศูนย์กลางไปสู่กลุ่มชั้นย่อย  กำหนดให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันอยู่ในกลุ่มชั้นย่อย   ทำให้เกิดการเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างความคิด รหัส และประเภทต่างๆ   เขียนขยายกิ่งก้านสาขาออกไปจนกว่าจะหมดภูมิรู้ที่มี  พยายามเขียนกลุ่มชั้นที่แตกต่างกันกลายกลุ่มในหัวข้อเดียวกัน  ใช้กลุ่มชั้นเล่นกับข้อมมูลดิบ   จัดการกลุ่มชั้นแบบยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงได้ และปลายเปิด  ทำกลุ่มชั้นหลายกลุ่มและนำมาเปรียบเทียบกัน        ส่วนการเขียนแบบอิสระ เริ่มจากเขียนความคิดลงในกระดาษเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้   เขียนในลักษณะที่ให้ตนเองอ่าน   ปล่อยใจให้เขียนอย่างอิสระไม่มีขอบเขต ไม่ต้องสนใจไวยากรณ์ การจัดโครงสร้างการเขียน ตรรกะ  หลักฐาน หรือ ผู้อ่าน    เขียนให้เหมือนกับการพูด
ในระหว่างการเขียนบันทึก  นักวิจัยจะใช้ “รหัสที่เพ่งความสนใจ” และประเภทมโนทัศน์ โดยการนิยามประเภท  การเขียนขยายรายละเอียดคุณสมบัติต่างๆของประเภท   การระบุเงื่อนไขที่ประเภทนั้นเกิดขึ้นมา ดำรงอยู่ และเปลี่ยนแปลง  พรรณนาผลสืบเนื่อง และแสดงให้เห็นว่าประเภทมนโนทัศน์นั้นสัมพันธ์กับมโนทัศน์อื่นอย่างไร
ในบทนี้เรียกว่าเป็นการทดลองเขียนเบื้องต้น หรือออกกำลังกายทางความคิด  เริ่มจัดระบบข้อมูลประเภทต่างๆเข้าด้วยกัน เชื่อมโยงกันและเขียนออกมาเป็นบันทึกสั้นๆ  ซึ่งนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของนักวิจัยเชิงคุณภาพ  Charmaz ได้แนะนำวิธีการต่างๆได้อย่างเป็นระบบชัดเจน และมีตัวอย่างเช่นเดียวกับบทอื่นๆ และทำให้เห็นว่าการเขียนบันทึกมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาไปสู่การวิเคราะห์และการเขียนงานวิจัยในขั้นตอนต่อๆไป
บทที่ 5 การสุ่มตัวอย่างเชิงทฤษฎี การอิ่มตัว และการจัดรูปแบบประเภท (Theoretical Sampling, Saturation, and Sorting)  เป็นการใช้ยุทธศาสตร์ทฤษฎีฐานรากเแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม กลั่นกรอง และขัดเกลาประเภทมโนทัศน์ (Conceptual Categories) ที่สร้างขึ้นมาในช่วงเริ่มต้น  จนกระทั่งถึงจุดอิ่มตัวเชิงทฤษฎี (Theoretical Saturation)  ซึ่งไม่มีคุณสมบัติใหม่ใดๆเกิดขึ้นเพิ่มเติมอีกระหว่างการรวบรวมข้อมูล   จากนั้นนำไปสู่การอภิปรายบันทึกการจัดรูปแบบประเภท (Sorting) เพื่อให้สอดคล้องกับประเภทมโนทัศน์และแสดงความสัมพันธ์ที่บูรณาการสิ่งต่างๆเข้าด้วยกันโดยการใช้แผนผังความคิด (Diagramming) ซึ่งจะทำให้เห็นการเชื่อมโยงของกระบวนการและตรรกะได้อย่างชัดเจน
ในบทนี้ Charmaz ได้อธิบายหลักการของการสุ่มตัวอย่างเชิงทฤษฎีและการสุ่มตัวอย่างประเภทอื่นๆ ที่อาจเกิดความเข้าใจผิดกัน  เช่น   “การสุ่มตัวอย่างเชิงทฤษฎี” ชี้ทิศทางผู้วิจัยว่าควรเดินไปทางไหน ขณะที่ “การสุ่มตัวอย่างเริ่มแรกสำหรับคำถามวิจัย” จะบอกว่านักวิจัยจะเริ่มการวิจัย ณ จุดใด     “การสุ่มตัวอย่างเชิงทฤษฎี” มีเป้าประสงค์เพื่อหาข้อมูลมาพัฒนาแนวความคิดและทฤษฎี  มิใช่การหาตัวแทนประชากรเพื่อเพิ่มความเป็นสามัญการของผลการศึกษา
สำหรับการอิ่มตัวของประเภทมโนทัศน์ เกิดขึ้นเมื่อผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลเพิ่มมากขึ้น แต่ข้อมูลที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจใหม่ใดๆต่อทฤษฎีที่สร้างขึ้นมาอีกต่อไป   ซึ่งแสดงว่าข้อมูลข่าวสารที่รวบรวมมานั้นเพียงพอสำหรับการอธิบายและตีความปรากฎการณ์ที่ศึกษาแล้ว   Charmaz ยังได้อธิบายเกณฑ์ในการพิจารณาการอิ่มตัวของประเภทมโนทัศน์ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่จะนำไปใช้สำหรับการตัดสินใจว่าเมื่อใดควรยุติการรวบรวมข้อมูล
ในการจัดรูปแบบประเภทเชิงทฤษฎี การสร้างแผนผังความคิด และการบูรณาการ  Charmaz ชี้ว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการจัดระบบความคิดของผู้วิจัยให้ชัดเจน นำไปสู่การเปรียบเทียบประเภทมโนทัศน์ การเชื่อมโยงตรรกะ และการก่อรูปของทฤษฎีขึ้นมา
 บทที่ 6  การสร้างทฤษฎีใหม่ในการศึกษาทฤษฎีฐานราก (Reconstructing Theory in Grounded Theory Studies)   ในบทนี้ Charmaz ได้อธิบายความหมายของทฤษฎีในสังคมศาสตร์และมโนทัศน์ของการสร้างทฤษฎีในทฤษฎีฐานราก   มีการนำจุดยืนของทฤษฎีฐานรากแบบปฏิฐานนิยมและแบบการตีความนิยมมาเปรียบเทียบเพื่อสร้างความกระจ่างต่อรูปแบบการวิเคราะห์ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง  และมีการอภิปรายตัวอย่าง 3 ตัวอย่างในการสร้างทฤษฎี และ การสร้างใหม่ของตรรกะเชิงทฤษฎี   แต่ละตัวอย่างมีความแตกต่างในจุดเน้น  ขอบเขต  และการใช้  แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการมีประโยชน์ของระเบียบวิธีทฤษฎีฐานรากเช่นเดียวกัน
Charmaz อธิบายว่า  ทฤษฎีภายใต้จุดยืนของปฏิฐานนิยมคือ ชุดแนวความคิดที่มีการเชื่อมโยงในรูปของตัวแปร มีการเชื่อมโยงเชิงสาเหตุอย่างเป็นระบบ เพื่ออธิบายและทำนาย  มีการพิสูจน์ความถูกต้องโดยการทดสอบสมมติฐาน และมีลักษณะเป็นสามัญการและสากล    ขณะที่แนวตีความนิยมมองว่าทฤษฎีเป็นความเข้าใจเชิงจินตนาการของปรากฎการณ์ที่ถูกศึกษา  ซึ่งผุดเกิดขึ้นมาระหว่างการศึกษา  ความจริงมีความหลากหลาย  ชั่วคราว ไม่มีลักษณะเชิงการกำหนดที่แน่นอน  ข้อเท็จจริงและค่านิยมมีการเชื่อมโยงกันและชีวิตทางสังคมเป็นกระบวนการ
Charmaz ชี้ว่า การใช้ทฤษฎีฐานรากมีสองแนวทางคือ ทฤษฎีแนวภววิสัยนิยม (Objectivist Grounded Theory) และ แนวสร้างสรรค์นิยม (Constructionist Grounded Theory)   แนวทางแรกมีรากฐานจากปรัชญาปฏิฐานนิยม ดังนั้นจึงมุ่งเข้าไปสู่ข้อมูลโดยตรง  ไม่สนใจในกระบวนการและบริบทที่ผลิตข้อมูลเหล่านี้ขึ้นมา เพราะตัวข้อมูลเป็นตัวแทนข้อเท็จจริงเชิงภววิสัยเกี่ยวกับโลกที่เราศึกษาอยู่แล้ว     ส่วนแนวสร้างสรรค์นิยมนั้นเน้นให้ความสำคัญกับปรากฎการณ์ที่ศึกษา  และมองทั้งข้อมูลและการวิเคราะห์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างมาจากประสบการณ์และความสัมพันธ์ของกลุ่มที่ศึกษา  แนวทางนี้จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการและบริบทที่ทฤษฎีถูกสร้างขึ้นมา
สำหรับตัวอย่างการสร้างทฤษฎีโดยใช้แนวทฤษฎีฐานรากแบบปฏิฐานนิยม  Charmaz ได้หยิบยกงานของ Jane Hood เรื่อง Becoming a Two-job Family เป็นตัวอย่าง  ในงานชิ้นนี้ Hood ใช้การวิเคราะห์เชิงภววิสัยเพื่ออธิบายและทำนายปรากฎการณ์ที่ศึกษา โดยกำหนดให้การที่สามีตระหนักและการให้คุณค่าต่อการมีส่วนร่วมรับผิดชอบทางการเงินในครอบครัวของภรรยา (ตัวแปรเหตุ) มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมของสามีในการทำงานบ้านและการดูแลบุตร (ตัวแปรผล)  
ด้านตัวอย่างงานวิจัยที่ใช้ทฤษฎีฐานรากแบบผสมระหว่าง แนวทางภววิสัยนิยมเป็นหลักและใช้แนวทางตีความนิยมในบางส่วน   Charmaz ได้ใช้งานของ Patrick Biermacki เรื่อง Pathways from Heroin Addiction เป็นตัวอย่าง     งานชิ้นนี้เป็นการศึกษาถึงการที่ผู้ติดยาเสพติดกลายเป็นผู้เลิกเสพยาได้อย่างไรและมีสาเหตุใดที่ส่งผลให้ผู้ติดยาเสพติดสามารถเลิกเสพยาได้ทั้งที่ไม่ผ่านการบำบัด  รวมทั้งเพื่อทำความเข้าใจกับประสบการณ์ของผู้ติดยาเสพติดระหว่างการเลิกและภายหลังการเลิกเสพยาแล้ว   ในส่วนที่เป็นแนวทางภววิสัยของงานชิ้นนี้คือ การอธิบายกระบวนการ และสาเหตุที่ผู้ติดยาเสพติดเลิกการเสพยาโดยไม่ต้องเข้ารับการบำบัด   สำหรับส่วนที่เป็นแนวทางตีความนิยมคือการใช้มุมมองของผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาอธิบายประสบการณ์ของตนเองระหว่างกระบวนการเลิกเสพยาและหลังการเลิกเสพยา   Beirmacki ได้สร้างทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ ( Theory of Identity Transformation) ขึ้นมาจากงานวิจัยเรื่องนี้ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์สำหรับศึกษารูปแบบพฤติกรรมเบี่ยงเบนแบบอื่นๆได้หลายแบบ เช่น การกระทำผิดกฎหมาย และ โสเภณี เป็นต้น
สำหรับการใช้ทฤษฎีฐานรากแบบสร้างสรรค์นิยม  Charmaz ได้ใช้งานของเธอเอง เรื่อง Good Days, Bad Days: The Self in Chronic Illness and Time เป็นตัวอย่าง    ในงานวิจัยเรื่องนี้ Charmaz ศึกษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังว่าจะรับมือกับโรคที่ตนเองประสบอยู่อย่างไร      Charmaz  ได้หยิบยกวลีธรรมดาสามัญวลีหนึ่งที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำขึ้นมาตีความเพื่อขุดหาความหมายที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน นั่นคือ  “Living One Day at a Time”   ความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้วลีนี้คือ  การที่ผู้ป่วยจัดการกับสภาวะป่วยของตนเองในแต่ละวัน โดยไม่คิดถึงหรือกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ผู้ป่วยมุ่งเน้นการกำหนดจิตและการปฏิบัติของตนเองในปัจจุบัน  ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมตนเองภายใต้สภาวะที่ไม่แน่นอนได้อย่างเป็นระบบ
  งานที่ Charmaz หยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างทั้ง 3 เรื่อง ทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพของการสร้างทฤษฎีโดยการใช้ทฤษฎีฐานรากที่มีจุดยืนทางปรัชญาของศาสตร์แตกต่างกันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  และเป็นการขยายความเข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระหว่างระเบียบวิธีการวิจัยกับปรัชญาของศาสตร์ให้กระจ่างขึ้น
บทที่ 7  การเขียนร่าง (Writing the Draft) เนื้อหาในบทนี้อธิบายความแตกต่างระหว่างการเขียนเพื่อพัฒนาการวิเคราะห์กับการเขียนสำหรับคนอ่านทั่วไป   ยุทธศาสตร์ทฤษฎีฐานรากนำผู้วิจัยไปสู่การจดจ่อในการวิเคราะห์มากกว่าการวิวาทะกับการวิเคราะห์  และนำไปสู่การสร้างทฤษฎีต้นฉบับของตนเองอันเกิดจากการตีความข้อมูล   ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ตรงข้ามกับการเขียนรายงานการวิจัยแบบดั้งเดิมของสังคมศาสตร์ที่แนะนำให้วิวาทะกับทฤษฎีก่อนเขียนรายงานการวิจัย    บทนี้ได้นำเสนอแนวทางการประนีประนอมระหว่างรูปแบบการเขียนงานวิจัยตามแนวทฤษฎีฐานรากกับรูปแบบการเขียนรายงานตามประเพณีดั้งเดิมของการวิจัย โดยการเสนอแนวทางสำหรับการสร้างข้อถกเถียง  การเขียนทบทวนวรรณกรรม และการพัฒนากรอบความคิด
ข้อเสนอของ Charmaz ในการเขียนร่างรายงาน เริ่มจากการนำบันทึกการวิเคราะห์ ประเภทมโนทัศน์ รูปแบบการจัดประเภท และแผนผังความคิดต่างๆมาตรวจสอบ และจัดระบบโดยยึดตรรกะ  จากนั้นนำมาบูรณาการเขียนเป็นร่างแรก  Charmaz ยังได้เสนอแนวทางในการสร้างข้อถกเถียง โดยให้ตั้งคำถามว่า “ข้อถกเถียงนั้นสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร”  และเหตุผลใดบ้างที่ระบุถึงคุณูปการของทฤษฎีฐานรากที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมา    สำหรับแนวทางการจัดลำดับหัวข้อให้ยึดมโนทัศน์หลัก จากนั้นขยายให้ครอบคลุมประเด็นในการวิเคราะห์     ในประเด็นการทบทวนวรรณกรรม แม้ว่านักวิชาการอย่าง Glaser และ Strauss แนะนำว่าควรทำเมื่อการวิเคราะห์เสร็จแล้ว  เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของความคิดเดิมกับสิ่งที่ผู้วิจัยค้นพบจากทฤษฎีฐานราก  แต่ Charmaz กลับมิได้เข้มงวดเช่นนักวิชาการทั้งสอง  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าจุดยืนทางวิชาการแบบการตีความนิยมของเธอนั่นเอง   Charmaz เห็นว่าการทบทวนวรรณกรรมอาจทำก่อนการลงภาคสนามเพื่อเป็นแนวทางอย่างกว้างๆ แต่ควรระวังอย่าให้กลายมาเป็นกรอบที่จำกัดความคิดสร้างสรรค์  ส่วนการทบทวนวรรณกรรมหลังการวิเคราะห์  จะทำให้ช่วยเพิ่มความแหลมคม และความแข็งแกร่งของข้อถกเถียง    ในประเด็นนี้ผู้วิจารณ์เห็นด้วยกับข้อเสนอของ Charmaz  คือนักวิจัยควรทบทวนวรรณกรรมอย่างกว้างขวางก่อนจะลงไปรวบรวมข้อมูลภาคสนาม  แต่อย่าใช้วรรณกรรมเป็นคุกขังความคิดของตนเอง ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นก็จะผิดเจตนารมณ์ของทฤษฎีฐานราก   ผู้วิจัยอาจใช้วรรณกรรมสำคัญเป็นแนวทาง และเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จแล้วก็ควรกลับไปทบทวนอีกครั้งเพื่อเพิ่มความแหลมคมและแข็งแกร่งของข้อถกเถียงในการวิเคราะห์
บทที่ 8 การสะท้อนต่อกระบวนการ (Reflecting the Process)   อภิปรายเกณฑ์สำหรับการประเมินทฤษฎีฐานรากในฐานะผลผลิตของการวิจัย และคำถามเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้และการตัดสินใจกระทำ Charmaz เสนอเกณฑ์ 4 มิติในการประเมินทฤษฎีฐานราก  มิติแรกคือ ความน่าเชื่อถือ (Credibility)  ในเรื่องความเพียงพอและความลึกของข้อมูล   การเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบ  การแข็งแกร่งของตรรรกะที่เชื่อมโยงระหว่างข้อมูลกับการวิเคราะห์และข้อถกเถียง     มิติที่สองคือ ความริเริ่มสร้างสรรค์ (Originality) ในเรื่องการสร้างประเภทมโนทัศน์ใหม่  การสร้างแนวคิดใหม่  นัยสำคัญของงานวิจัยต่อทฤษฎีและสังคม   การท้าทาย  การขยาย และ การปรับปรุง ความคิด (Ideas)  แนวความคิด (Concepts)  และการปฏิบัติที่เป็นอยู่   มิติที่สาม การสะท้อน (Resonance)  ซึ่งเกี่ยวกับความสมบูรณ์ครบถ้วนของปรากฎการณ์ที่ศึกษา  การเชื่อมโยงระหว่างสถาบันทางสังคมกับชีวิตของปัจเจกบุคคล เมื่อมีข้อมูลบ่งชี้  และ  การทำให้ผู้เป็นเป้าหมายของการศึกษามีความเข้าใจสถานการณ์ของพวกเขาเพิ่มขึ้น  และ การใช้ประโยชน์ (Usefulness) บ่งถึงความสามารถในการใช้ประโยชน์ของทฤษฎีฐานรากที่ค้นพบในชีวิตประจำวัน  การมีนัยต่อการวิจัยที่จะทำต่อไป และการสร้างคุณูปการของงานวิจัยต่อการพัฒนาความรู้ และเชิงนโยบายในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
อันที่จริงเกณฑ์ที่ Charmaz เสนอเพื่อประเมินงานวิจัยทฤษฎีฐานราก ก็ไม่แตกต่างจากเกณฑ์การประเมินงานวิจัยประเภทอื่นๆ  แต่ก็มีประโยชน์สำหรับผู้คิดจะทำวิจัยทฤษฎีฐานราก อย่างน้อยก่อนเริ่มทำก็ควรคิดถึงเกณฑ์เหล่านี้ไว้ล่วงหน้า  และเมื่อทำเสร็จแล้วก็นำเกณฑ์เหล่านี้มาประเมินงานของตนเองอีกทีเพื่อตรวจสอบว่างานที่ทำมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด
กล่าวโดยสรุป  หนังสือ Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis ของ Charmaz  เป็นหนังสือที่ช่วยสร้างความเข้าใจปรัชญา แนวทาง และกระบวนการทฤษฎีฐานรากอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้อ่านเห็นถึงพัฒนาการของทฤษฎีฐานรากตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังช่วยขยายความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระหว่างระเบียบวิธีการวิจัยและปรัชญาสังคมศาสตร์     ในแต่ละบทเขียนอธิบายอย่างเป็นระบบ  ใช้ภาษาที่ไม่ยากนัก  มีการเน้นประเด็นสำคัญเป็นระยะๆ ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านจับประเด็นสำคัญได้ง่ายขึ้น  และมีการนำเสนอตัวอย่างประกอบการอธิบายในแต่ละเรื่องที่นำเสนอซึ่งทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงรูปธรรมในการปฏิบัติอย่างชัดเจน     จึงกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้มีคุณค่าและเหมาะกับนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาทั้งระดับปริญญาโทและเอก  รวมทั้งอาจารย์และนักวิชาการทั่วไปที่สนใจการวิจัยเชิงคุณภาพด้วย
บรรณานุกรม
Charmaz, K. 2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE.
Jones, R., & Noble, G. 2007. Grounded Theory and Management Research: A Lack of Integrity? Qualitative Research in Organizations and Management: An International Journal, 2(2), 84-103.
Strauss, A., & Corbin, J. 1990. Basics of Qualitative Research: Grounded Theory Procedures and Techniques. Newbury Park: SAGE.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ