เส้นทางการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ชาวกรุงเทพมหานครกำลังอยู่ในห้วงเวลาแห่งการพิจารณาคัดเลือกผู้บริหารคนใหม่แทน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ซึ่งบริหารงานมาครบวาระสี่ปีเต็ม การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่จะเกิดขึ้นในต้นเดือนมีนาคม2556 ช่วงเวลานี้ผมคิดว่า การทำความเข้าใจลักษณะของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯเป็นเรื่องที่น่าสนใจ จึงนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์บางประการมาเล่าสู่กันฟัง
การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2518 นายธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ได้รับเลือกด้วยคะแนน 99,247 18 คะแนน ในครั้งนั้นมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 13.86 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด แต่ต่อมาในวันที่ 29 เมษายน 2520 นายธรรมนูญ ถูกปลดจากตำแหน่งและรัฐบาลยุคนั้นได้ยกเลิกระบบการเลือกตั้งและใช้การแต่งตั้งแทน
ระบบการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯมหานครถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในปี 2528 และมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้ระบบใหม่เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 จากนั้นก็มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องโดยมิได้สะดุดหยุดลง แม้ว่าบางช่วงเวลาการเมืองระดับชาติมีปัญหา แต่ก็หาได้กระทบต่อระบบการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯแต่อย่างใด จวบจนปัจจุบันเวลาผ่านไป 28 ปี ระบบนี้ก็ยังคงอยู่ อาจกล่าวได้ว่า ระบบการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครมีอายุยืนยาวอย่างต่อเนื่องยิ่งกว่าระบบการเลือกตั้งใดๆของประเทศไทย
ใน 28 ปี ที่ผ่านมา กรุงเทพฯมีผู้ว่าฯจำนวน 6 คน ได้แก่ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ร.อ. กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา นายพิจิตต รัตตกุล นายสมัคร สุนทรเวช นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร มี 2 คนที่เป็นผู้ว่าฯสองสมัย คือ พล ต. จำลอง และ นายอภิรักษ์ แต่ในวาระที่สองของทั้งสองคนล้วนอยู่ไม่ครบวาระ
พล. ต. จำลอง ศรีเมืองลาออกจากตำแหน่งในช่วงต้นปี 2535 ภายหลังดำรงตำแหน่งวาระที่สองประมาณสองปี สถานการณ์ที่นำไปสู่การตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งของพล. ต.จำลอง ศรีเมือง คือช่วงเวลานั้นมีปัญหาการเมืองระดับชาติอันเกิดจากการรัฐประหารในปี 2534 ของคณะทหารกลุ่มหนึ่งที่มี พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นผู้นำ ต่อมาคณะรัฐประหารดำเนินการสร้างระบบสืบทอดอำนาจเผด็จการ พล. ต.จำลองศรีเมือง จึงตัดสินใจลาออกจากผู้ว่ากรุงเทพฯ และนำประชาชนต่อสู้กับคณะรัฐประหาร จนกระทั่งสามารถหยุดยั้งระบบสืบทอดอำนาจเผด็จการของกลุ่มคณะรัฐประหารนั้นได้ในเดือนพฤษภาคม 2535
ส่วนกรณีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน หลังจากได้รับเลือกตั้งในวาระที่สองเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551 เพียงเดือนเศษ ต้องลาออกไปเมื่อวันที่ 19พฤศจิกายน 2551 เพราะถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีมติชี้มูลความผิดกรณีซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง และแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายใดที่ระบุว่าเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นถูกชี้มูลความผิดจาก ปปช.แล้วต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือลาออก แต่นายอภิรักษ์ โกษะโยธินก็ตัดสินใจลาออก โดยให้เหตุผลแก่สังคมว่าต้องการสร้างมาตรฐานใหม่แก่การเมืองไทย
การสังกัดพรรคการเมืองอาจจะไม่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ผู้สมัครได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะยุคแรกๆของการเลือกตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯมักจะเป็นผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรคการเมืองแม้ว่าบางคนภายหลังจะสังกัดพรรคการเมือง และบางคนเคยสังกัดพรรคการเมืองมาก่อนสมัครเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯ เช่น พล. ต. จำลอง ศรีเมืองร.อ. กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา นายพิจิตต รัตตกุล แต่ขณะที่บุคคลเหล่านี้ได้รับการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ครั้งแรกต่างก็เป็นผู้สมัครอิสระ กรณีนี้กล่าวได้ว่าคุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัครที่สอดคล้องกับรสนิยมของคนกรุงเทพฯในแต่ละช่วงเวลา น่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของชาวกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตามผู้สมัครที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯเกือบทั้งหมดเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการทำงานการเมืองระดับชาติหรือท้องถิ่นมาก่อนทั้งสิ้น ยกเว้น นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เช่น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เคยเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสมัยที่พล อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีมาเป็นเวลานาน นายพิจิตต รัตตกุล และนายสมัคร สุนทรเวชก็เช่นเดียวกัน การที่บุคคลเหล่านี้ทำงานการเมืองระดับชาติหรือท้องถิ่นมาก่อนทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนชาวกรุงเทพฯ และเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่มีผลต่อคะแนนนิยมไม่น้อยทีเดียว
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือกรณี พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งฐานเสียงสำคัญในการเมืองระดับชาติพื้นที่หนึ่งคือกรุงเทพมหานคร แต่สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯช่วง 19 ปีแรก พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ตลอดมา แม้กระทั่ง กรณีนายพิจิตต รัตตกุล เอง เมื่อคราวลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพฯครั้งแรกเมื่อปี 2535 ในนามพรรคประชาธิปัตย์ก็ประสบความพ่ายแพ้ ต่อมาเมื่อสมัครในนามอิสระในปี 2539 จึงประสบความสำเร็จ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ที่ประสบความสำเร็จได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯคนแรกคือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในการเลือกตั้งปี 2547
แม้ว่าพรรคการเมืองระดับชาติไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครมากนัก แต่การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาการเมืองในระดับชาติอย่างใกล้ชิด
ในการเลือกตั้งปี 2528 และ 2533 ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครเอือมระอากับการทุจริตและฉ้อฉลของนักการเมืองระดับชาติอย่างรุนแรง เมื่อพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์และคุณธรรมเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะเสนอตัวเข้ามาเป็นทางเลือก ชาวกรุงเทพฯจึงเทคะแนนเสียงให้อย่างล้นหลาม
ส่วนในการเลือกตั้งในปี 2539 กระแสของการเมืองระดับชาติเป็นเรื่องของการปฏิรูปการเมือง ประชาชนต้องการเห็นสิ่งใหม่ๆในแวดวงการเมือง เมื่อนายพิจิตต รัตตกุล เสนอทางเลือกเชิงนโยบายในการเน้นสิ่งแวดล้อม และภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ จึงเกิดเป็นกระแสนิยมส่งผลให้นายพิจิตต รัตตกุลได้รับการเลือกตั้งในครั้งนั้น
แต่การทำงานของนายพิจิตต รัตตกุลไม่ได้เป็นไปอย่างที่ประกาศไว้ตามนโยบายที่ใช้หาเสียงอย่างชัดเจน ในการเลือกตั้งครั้งถัดมาปี 2543 ประชาชนชาวกรุงเทพฯ จึงได้เปลี่ยนทัศนคติในการเลือกคุณสมบัติของผู้ว่าใหม่ เป็นการเลือกผู้สมัครที่เป็นคนเก่าคนแก่อันเป็นที่รู้จักคุ้นเคยอย่างยาวนาน ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯในครั้งนั้น และได้รับการคาดหวังจากประชาชนว่าเขาจะทุ่มเทการทำงานในการแก้ปัญหาและพัฒนากรุงเทพอย่างมีประสิทธิผล แต่เมื่อผ่านไปสี่ปี ปรากฏว่าผลงานของนายสมัคร สุนทรเวชกลับไม่เป็นที่ประทับใจของคนกรุงเทพฯมากนัก
การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯในปี 2547 เป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางความรุ่งเรืองอย่างสุดขีดของพรรคไทยรักไทยในการเมืองระดับชาติ แต่กลับกลายเป็นว่าพรรคไทยรักไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ หลังจากที่เคยส่งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในนามพรรค แต่แพ้แก่นายสมัครเมื่อคราวเลือกตั้งปี 2543 ในทางกลับกันพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งประสบความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งระดับชาติได้ส่งนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ลงสมัครในนามพรรคและได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพฯคนแรกที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ (นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2528)
เงื่อนไขหลักที่ทำให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งคือ ความสามารถในการสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ และผนวกกับฐานคะแนนนิยมเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งการที่ชาวกรุงเทพฯได้รับบทเรียนจากการเลือกนายสมัคร สุนทรเวชครั้งก่อนที่เลือกคนประเภทที่เป็นนักการเมืองเก่า แต่ปรากฏว่าทำงานไม่ได้ตามความคาดหวัง ประชาชนชาวกรุงเทพฯจึงเปลี่ยนวิธีการตัดสินใจใหม่ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ
การทำงานของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน สร้างความรู้สึกที่ดีแก่ชาวกรุงเทพฯมากพอสมควร จึงทำให้เขาได้รับเลือกอีกครั้งในสมัยถัดมา และเมื่อเขาลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กระแสความนิยมได้ส่งต่อไปยัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรและทำให้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าในปี 2552 แต่ทว่าดูเหมือนการทำงานของ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร มิอาจสร้างความประทับใจแก่ชาวกรุงเทพมหานครมากนัก
การเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2556 นี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังตัดสินใจส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯในนามพรรคแม้จะทราบว่าคะแนนนิยมของผู้สมัครคนนี้อาจไม่ดีนักก็ตาม ด้านพรรคเพื่อไทยได้ส่ง พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้มีความสามารถในการประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์แก่ตนเองเข้าสู่สนามแข่งขัน ส่วนผู้สมัครอิสระอื่นๆที่พอมีชื่อเสียงในสังคมบ้าง เช่น พล ต. อ. เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส เป็นต้น
กล่าวได้ว่า ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพฯในนามพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคมิใช่เป็นบุคคลที่มีความโดดเด่นจนทำให้เราสามารถทำนายผลการเลือกตั้งที่แน่นอนได้ว่าใครมีแนวโน้มจะเป็นผู้ชนะเลือกตั้งเหมือนในบางยุค การที่ผู้สมัครในนามพรรคการเมืองไม่โดดเด่นมาก ในแง่มุมหนึ่งทำให้การรณรงค์แข่งขันเลือกตั้งเป็นเรื่องน่าสนใจน่าติดตาม และทั้งยังทำให้ผู้สมัครอิสระมีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น
ส่วนใครจะได้เป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนต่อไปก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาสามารถคิดค้น ผลิตนโยบายในการหาเสียงได้ตรงกับรสนิยมของชาวกรุงเทพฯได้มากน้อยเพียงใด หากมีผู้สมัครคนใดคนหนึ่งทำได้และพัฒนาจนกลายเป็นกระแส เขาก็ย่อมมีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น