หมู่บ้านเสื้อแดง รอยร้าวแห่งแผ่นดิน
ASTVผู้จัดการรายวัน 18 พฤษภาคม 2555 18:55 น.
ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
หมู่บ้านเสื้อแดงเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2553 ที่หมู่บ้านหนองหูลิง ต. หนองไฮ อ.เมือง จ. อุดรธานี โดยมี ร.ต.ต. กมลศิลป์ สิงหสุริยะ เป็นประธาน นับจากนั้นหมู่บ้านเสื้อแดงก็ได้มีการขยายตัวออกไปในหลายจังหวัดโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีนับพันแห่ง ส่วนภาคกลางและภาคใต้มีประปราย
ภาพรวมของการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือดูเหมือนเป็นไปอย่างราบรื่น ภาพของประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ออกมาคัดค้านมีจำนวนน้อย ผู้ไม่เห็นด้วยต่างพากันนิ่งเฉยปล่อยให้หมู่บ้านเสื้อขยายตัวออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้คนอยู่ในความเงียบคงเป็นเพราะพวกเขากลัวสาวกลัทธิแดงซึ่งมีพฤติกรรมแบบรวมหมู่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ต่อผู้ที่แสดงท่าทีที่คัดค้านการกระทำของพวกเขา
หมู่บ้านเสื้อแดงขยายตัวในอัตราเร่งมากขึ้นเมื่อได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในด้านงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ รัฐบาลใช้กลอุบายตบตาผู้คนทั้งแผ่นดินโดยแปลงสภาพตัดต่อ และผนวกการจัดตั้งหมู่บ้านแดงให้อยู่ภายใต้ร่มของโครงการป้องกันยาเสพติดและเผยแพร่ประชาธิปไตย ดังหลักฐานที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านจังหวัดสงขลาคนหนึ่งได้นำมาเปิดเผยต่อสังคมเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา
การกระทำของรัฐบาลเป็นใช้กระสุนนัดเดียวยิงนกสองตัว ด้านหนึ่งสามารถใช้เงินงบประมาณแผ่นดินภาษีของประชาชน เผยแพร่ความเชื่อทางการเมืองของตนเองได้อย่างแนบเนียนโดยแปลงรูปซ่อนร่างอยู่ในโครงการที่มีชื่อดูดี อีกด้านหนึ่งเป็นการจัดตั้งเครือข่ายหมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อเป็นกองกำลังมวลชนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป
นายเหวง โตจิราการ อดีตแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทย ปัจจุบัน เป็น ส.ส. พรรคเพื่อไทย เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า หมู่บ้านเสื้อแดงตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย และช่วยฝ่ายราชการในการดูแลตรวจสอบปัญหายาเสพติด สำหรับเป้าหมายเชิงปริมาณของหมู่บ้านเสื้อแดง แกนนำคนเดียวกันระบุว่า จะยกระดับจากหมู่บ้านเป็นตำบล เป็นอำเภอ และเป็นจังหวัดเสื้อแดง
หากพิจารณาจากเป้าหมายเชิงพื้นที่ที่แกนนำเสื้อแดงผู้นี้กล่าวมา ก็คงตีความนัยที่แฝงอยู่ได้ว่า เป้าหมายสูงสุดเชิงพื้นที่ของลัทธิแดงก็คือ การขยายความเป็นแดงให้ครอบคลุมราชอาณาจักรไทย จนกลายสภาพเป็นประเทศเสื้อแดง และเมื่อเป็นประเทศเสื้อแดงแล้ว ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะแปลงร่างกลายพันธุ์เป็น สาธารณรัฐแดง ไปในที่สุด
ในที่สุดเมื่อเดือนตุลาคม 2554 เป้าหมายของลัทธิแดงในการยกระดับจากหมู่บ้านแดงเป็นอำเภอแดงก็บรรลุ เมื่อแกนนำเสื้อแดงได้ประกาศอย่างอหังกา ถึงความสำเร็จในการจัดตั้งอำเภอเสื้อแดงแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นมา ที่อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี และต่อมาในเดือนมีนาคม 2555 อำเภอจุน จ. พะเยา ก็ได้รับการประกาศและเฉลิมฉลองอย่างเอิกเริกให้เป็นอำเภอเสื้อแดงอีกหนึ่ง ในอนาคตข่าวเกี่ยวกับจัดตั้งเป็นอำเภอเสื้อแดงคงทยอยออกมาเรื่อยๆ
และในไม่ช้าจังหวัดเสื้อแดงก็คงจะได้รับการสถาปนาขึ้นมาอย่างเป็นทางการโดยแกนนำลัทธิแดงภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล
นอกจากการขยายตัวในภาคเหนือ ภาคอิสาน และภาคกลางแล้ว ลัทธิแดงยังได้ขยายแผ่อิทธิพลลงไปสู่ภาคใต้อีกด้วย และมีการประกาศเปิดหมู่บ้านแดง 14 แห่งได้สำเร็จ ในอำเภอเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2555 จากนั้นวันที่ 14 พ.ค. ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน นปช. และเมียผู้ชี้นำความคิดนายเหวง โตจิราการ สามีภรรยาคู่นี้ได้ไปเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงอีกแห่งหนึ่งที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่ในวันถัดมา ศาลาเสื้อแดงก็ถูกมือมืดเผาทำลาย อย่างไรก็ตามขณะนี้ในจังหวัดสงขลามีหมู่บ้านเสื้อแดงแล้ว ประมาณ 10 หมู่บ้าน
อีกฝั่งฝากหนึ่งของคาบสมุทร แกนนำเสื้อแดงยกกำลังพลไปเพื่อเปิดปราศรัยที่จังหวัดภูเก็ต และมีความพยายามในการจัดตั้งหมู่บ้านแดงที่จังหวัดภูเก็ต แต่ได้รับการต่อต้านจากประชาชนในจังหวัดภูเก็ต จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามแผน และต้องถอยทัพกลับไป ธงแดงไม่อาจปักในเกาะแห่งไข่มุกของอันดามันได้ นับเป็นความพ่ายแพ้ในสนามรบอย่างชัดเจนเป็นครั้งที่สามของกลุ่มลัทธิแดง สองครั้งก่อนหน้านั้นพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง ส.ส. และ การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี
กระแสแห่งการรุกกลับจากภาคประชาชนเพื่อสยบความอหังการของกลุ่มเครื่องจักรการเมืองเสื้อแดง เริ่มปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในพื้นที่หลายแห่งทั้งในเวทีเลือกตั้งและเวทีการเคลื่อนไหวมวลชน
ทำไมประชาชนไทยจำนวนมากจึงปฏิเสธหมู่บ้านเสื้อแดง ทั้งที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทย ประกาศให้ท้ายอย่างกึกก้องว่า หมู่บ้านเสื้อแดงเป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาเพื่อประชาธิปไตย เพื่อให้ชาติมีความแข็งแกร่ง และเป็นการตั้งของภาคประชาชน
เราคงต้องมาดูกันว่าหมู่บ้านเสื้อแดงเป็นภาคประชาชนหรือไม่ หากใช้คำว่าภาคประชาชนเป็นผู้จัดตั้งองค์การ ชุมชน หรือ หมู่บ้าน นัยก็คือประชาชนเป็นผู้ร่วมคิดและร่วมทำด้วยตนเองโดยไม่มีการปลูกฝังความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมือง ผ่านโรงเรียนการเมืองใดๆของกลุ่มการเมืองที่มาจากภายนอก การจัดตั้งองค์การ กำหนดวัตถุประสงค์ก็เป็นไปเอง โดยไม่ถูกชี้นำและกำกับจากศูนย์การนำขององค์การอื่น อย่างที่นปช. และพรรคเพื่อไทยกระทำในการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงในปัจจุบัน
ในความเป็นจริงจากหลักฐานที่ปรากฏเห็นได้ชัดเจนว่า สมาชิกพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งปลูกฝังความคิด และกำหนดระบบการจัดการให้กับมวลชนที่จัดตั้งหมู่บ้านแดงทั้งหมด ดังนั้นเราจึงเห็นภาพ นายจตุพร นางธิดา นายประสงค์ บูรณ์พงษ์ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช และ สมาชิกพรรคเพื่อไทยอื่นๆอีกจำนวนมากไปเป็นประธานในพิธีเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงและอำเภอเสื้อแดง
บรรดานักการเมืองพรรคเพื่อไทย แกนนำนปช. และข้าราชการแดงสมุนรัฐบาลเพื่อไทยอีกจำนวนมากยังปรากฎชื่อเป็นวิทยากรในโรงเรียนเสื้อแดงอีกด้วย บรรดาคนเหล่านี้ได้ปลูกฝัง กล่อมเกลา โน้มน้าว ชี้นำ กำกับ ความคิด ความเชื่อและการกระทำของมวลชนแดง อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
จากหลักฐานเหล่านี้ย่อมแสดงว่า การจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงมิได้มาจากภาคประชาชนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับมาจากองค์การทางการเมืองที่เป็นฐานของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้มีอำนาจบงการอยู่เบื้องหลัง หมู่บ้านเสื้อแดงจึงเป็นจักรกลทางการเมืองในเชิงพื้นที่ เชิงสัญลักษณ์ และอำนาจ ของทักษิณ ชินวัตรนั่นเอง
ยิ่งหมู่บ้านเสื้อแดงขยายออกไปมากเท่าไร ก็มีนัยที่แสดงให้เห็นว่าอำนาจทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตรมีความมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น กล่าวในทางธุรกิจหมู่บ้านเสื้อแดงเป็นทรัพย์สินอีกประเภทหนึ่งของทักษิณ ชินวัตร ควบคู่ไปกับพรรคเพื่อไทยนั่นเอง
หากถามว่าหมู่บ้านเสื้อแดงเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก็คงตอบไม่ยากเพราะนายคงชัย ชัยกัน แกนนำเสื้อแดงระดับพื้นที่ผู้เป็นผู้นำหมู่บ้านหนองหูลิง ต. หนองไฮ อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 ว่า แต่เดิมการตั้งหมู่บ้านคนเสื้อแดงเป็นเพียงการแสดงออกถึงการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ตอนนี้ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการระดมคนอีกด้วย
โครงสร้างการจัดตั้งในหมู่บ้านเสื้อแดง อันเป็นมวลชนพื้นฐานหรือสำนักงานระดับท้องถิ่นของ นปช. จึงต้องฟังคำชี้นำสั่งการจากแกนนำนปช. ส่วนแกนนำนปช. ก็เป็นส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคเพื่อไทยเป็นทรัพย์สินทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นทั้งความคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติการทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวชุมนุมกดดันทางการเมือง การเลือกตั้ง หรือการลงประชามติ ล้วนแล้วแต่ถูกสั่งการตามลำดับชั้นแห่งปิรามิดของอำนาจอันมีทักษิณ ชินวัตรเป็นศูนย์กลาง
จักรวาลวิทยาของเสื้อแดงส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดถูกสร้างขึ้นมาโดยให้บูชาทักษิณ ชินวัตร จึงไม่น่าแปลกใจที่บ้านคนเสื้อแดงเหล่านั้นมีแต่รูปของทักษิณ ชินวัตร ไว้บูชา สำหรับเสื้อแดงส่วนน้อยที่แหกคอกไม่อยู่ในกรอบที่ทักษิณ และแกนนำกำหนด ก็จะถูกประกาศให้เป็น “แดงเทียม” หรือ หากใช้ภาษาแบบเก่าคือเป็นพวก “ลัทธิแก้” เหมือนกับในประเทศจีนยุคหนึ่งที่ใครไม่เห็นด้วยกับประธานเหมา เจอ ตง และแก๊งสี่คน ก็จะถูกประณามว่าเป็นพวกลัทธิแก้นั่นเอง
แม้ว่าไม่มีประชาธิปไตยเกิดขึ้นจากการสั่งการของคนๆเดียวหรือกลุ่มคน แต่กระนั้นอดีตแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์สองสามีภรรยาที่มีบทบาทสูงในกลุ่มเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน อาจเถียงว่า พวกเขาใช้ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ อันเป็นแนวคิดเก่าดั้งเดิมของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใช้ปกปิดอำนาจคณาธิปไตยของพรรค
แต่แนวคิดประชาธิปไตยแบบดั้งเดิมที่ใช้ในประเทศเสรีนิยมปัจจุบันนั้นไม่มีคำว่าประชาธิปไตยรวมศูนย์ เพราะประชาธิปไตยกับการรวมศูนย์อำนาจเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน และไม่อาจอยู่รวมเป็นเนื้อเดียวกันได้ เปรียบเสมือนน้ำกับน้ำมันนั่นเอง
หมู่บ้านเสื้อแดงจึงไม่ใช่หมู่บ้านประชาธิปไตย แบบที่นายยงยุทธ เข้าใจ ยกเว้นแต่ว่านายยงยุทธ จะเป็นนิยามหรือกำหนดความหมายของประชาธิปไตยเสียใหม่ว่า หมายถึง ระบอบที่ฟังคำสั่งโดยคนๆเดียว หากนิยามเช่นนี้ หมู่บ้านเสื้อแดงคงเป็นประชาธิปไตยแน่ แต่เป็นประชาธิปไตยแบบประหลาดพิกลเฉพาะของนายยงยุทธ และกลุ่มลัทธิแดงเท่านั้น เพราะไม่เหมือนกับนิยามชาวบ้านชาวเมืองทั่วโลกเขาใช้กัน
แต่นั่นแหละอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้นสำหรับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ เพราะแม้แต่พรรคที่เขาสังกัดหรือแม้กระทั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่เขาครอบครอง ก็เป็นประชาธิปไตยในความหมายที่เขาเข้าใจนั่นเอง ซึ่งในสายตาของวิญญูชนทั่วไปแล้วตัวตนของมันก็คือ “ทักษิณาธิปไตย” หรือ ระบอบที่อำนาจและการใช้อำนาจมาจากทักษิณ
หมู่บ้านแดงจึงมิใช่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นหมู่บ้านทักษิณาธิปไตย บูชาทักษิณ มิใช่เพื่อให้ประเทศไทยแข็งแกร่ง แต่เพื่อให้ทักษิณแข็งแกร่ง และมิใช่ภาคประชาชนจัดตั้ง แต่เป็นองค์การมวลชนการเมืองและพรรคการเมืองของทักษิณจัดตั้ง
หมู่บ้านเสื้อแดงจึงเป็นสิ่งสร้างความแปลกแยกจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของประชาชนไทยทั่วไป ดังนั้นใครสนับสนุนหมู่บ้านเสื้อแดงก็เท่ากับว่า เป็นผู้สนับสนุน ขยายความเกลียดชัง ส่งเสริมทำให้เกิดรอยร้าว และความแตกแยกอย่างรุนแรงในแผ่นดินขึ้นมาจนยากจะคืนกลับดังเดิมได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น