ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ว่าด้วย การแข่งขันของหลักคิดการเมืองและเศรษฐกิจ

การแข่งขันของหลักคิดการเมืองและเศรษฐกิจ
                                                                                             พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
              การกระทำใดๆของมนุษย์ย่อมมีหลักคิดบางอย่างอยู่เบื้องหลัง  แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนหรือทุกครั้งของการกระทำที่คนจะตระหนักหรือรู้อย่างกระจ่างแจ้งว่า ตนเองกระทำภายใต้หลักคิดอะไรบ้าง บ่อยครั้งทีเดียว ผู้คนกระทำอะไรลงไป โดยที่ตนเองก็ยังรับรู้ไม่ได้โดยทันทีว่า ตนเองใช้หลักคิดอะไร  และหากไม่คิดทบทวนภายหลังหรือไม่มีคนถามว่าใช้หลักคิดใดเป็นหลักในการกระทำ  คนก็มักจะละเลยการสะท้อนความคิดของตนเอง  จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยหรือแบบแผนถาวรที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก  นานๆเข้าหลักคิดดังกล่าวอยู่ลึกจนกระทั่งตนเองก็ไม่อาจดึงขึ้นมาแสดงให้ผู้อื่นได้ทราบว่า ใช้หลักคิดใดบ้างในการปฏิบัติ
             ในสังคมมีหลักคิดอยู่มากมายที่ผู้คนจะเลือกใช้เป็นกรอบสำหรับการปฏิบัติ  หลักคิดบางอย่างดำรงอยู่ภายในสังคมอย่างยาวนาน และถูกใช้เป็นหลักในการกระทำของคนในสังคมอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง   หลักคิดบางอย่างได้รับการถ่ายทอดหรือเลียนแบบจากสังคมอื่น  บางอย่างเกิดจากการผสมผสานระหว่างหลักคิดที่มีมาแต่เดิมของสังคมกับหลักคิดใหม่ที่มาจากภายนอก  หรือบางอย่างเป็นหลักคิดใหม่ที่เกิดมาจากการคิดค้นทดลองภายในสังคมนั้นเอง
            หลักคิดบางอย่างเมื่อมีผู้คนจำนวนมากในสังคมใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องยาวนาน ก็จะทำให้หลักคิดนั้นกลายเป็น “สถาบัน” ซึ่งหมายถึง แบบแผนความคิด ความเชื่อ ระเบียบกฎเกณฑ์ที่หยั่งรากฝังตรึงในวิถีคิดและวิถีปฏิบัติของคนในสังคม  เป็นสิ่งที่คนในสังคมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมนั้นๆ  หากผู้ใดดำเนินตามหลักคิดดังกล่าวก็จะได้รับผลตอบแทนในเชิงบวกหรืออย่างน้อยก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้  แต่หากใครไม่ปฏิบัติตามหรือละเมิดก็จะถูกแทรกแซงจากสังคมหรือได้รับการลงโทษและไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ  บางคนอาจถูกตีตราว่าเป็นคนที่ไม่พึงประสงค์ของสังคม และคนที่ถูกตีตราบางคนไม่สามารถอยู่ในสังคมนั้นได้อีกต่อไป
           แต่ละมิติของสังคมมีหลักคิดดำรงอยู่มากมายหลายหลักคิด บางมิติมีหลักคิดบางอย่างโดดเด่นจนครอบงำหลักคิดอื่นๆ  ขณะที่บางมิติอาจมีหลักคิดหลายหลักคิดแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงการนำ และอาจนำไปสู่การต่อสู้ระหว่างหลักคิดเพื่อขจัดหลักคิดที่เป็นคู่แข่งให้มอดมลายไป  กระนั้นในบางมิติหลักคิดที่แตกต่างกันก็อาจดำรงอยู่ร่วมกันในลักษณะผสมผสานหรือเป็นคู่ขนานกัน    
         อย่างมิติการเมืองซึ่งมีหลักคิดเรื่อง “อำนาจ” เป็นแกนกลาง   ผู้คนในสังคมมีหลักคิดในเรื่องอำนาจแตกต่างกัน ประเด็นพื้นฐานคือ “กลุ่มใดหรือใครควรเป็นผู้มีสิทธิ์ใช้อำนาจรัฐ” ซึ่งมีหลักคิดสองประการแข่งขันกันอยู่อย่างเข้มข้น นั่นคือหลักคิดที่ว่า ควรให้กลุ่มพิเศษบางกลุ่มในสังคมเท่านั้นมีสิทธิ์ใช้อำนาจ เช่น เฉพาะกลุ่มที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมสูง หรือกลุ่มเชื้อชาติ สีผิว เพศที่เฉพาะเจาะจง หรือหลักคิดที่ว่า ควรให้คนในสังคมทุกกลุ่มและทุกสถานภาพมีสิทธิ์ใช้อำนาจรัฐได้อย่างเท่าเทียม  กล่าวอย่างสรุปคือ ในสังคมควรให้มีการใช้อำนาจแบบรวมศูนย์หรือกระจายอำนาจ นั่นเอง
         การที่สังคมใดเลือกใช้หลักคิดเรื่องอำนาจแบบใดเป็นหลัก ย่อมส่งผลต่อการกำหนดกติกาสูงสุดของสิทธิในการเข้าถึงและใช้อำนาจแตกต่างกัน  และสิ่งที่ตามมาคือ การกำหนดกฎหมาย แนวทาง กลไกในการเข้าถึงอำนาจและใช้อำนาจก็แตกต่างกันไปด้วย    ในกรณีที่สังคมใดมีหลักคิดเรื่องอำนาจแบบใดตกผลึกแล้ว กฎหมาย แนวทางและกลไกต่างๆของสังคมก็มีแนวโน้มถูกกำหนดให้สอดคล้องกับหลักคิดแบบนั้น
            หากหลักคิดการกระจายอำนาจครอบงำสังคมแล้ว  ก็จะทำให้กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง นโยบายที่ออกมา มีแนวโน้มขยายโอกาส  ขยายสิทธิ ขยายเสรีภาพ และสร้างความเท่าเทียมแก่ทุกกลุ่มในสังคม เช่น ประเทศในแถบยุโรปเหนือ   ในทางกลับกัน  หากหลักคิดรวมศูนย์อำนาจครอบงำสังคม กฎหมาย ระเบียบต่างๆก็มีแนวโน้มที่จะให้โอกาส ให้สิทธิ ให้เสรีภาพ แก่คนบางกลุ่มเท่านั้น  โดยไม่ไว้วางใจและกีดกันกลุ่มอื่นๆในการเข้าถึงอำนาจ จำกัดสิทธิและเสรีภาพ  รวมทั้งสร้างความไม่เท่าเทียมด้วย  เช่น บางประเทศในตะวันออกกลาง เอเชีย และ แอฟริกา
           อย่างไรก็ตามมีหลายประเทศ ที่สถานการณ์ของการต่อสู้ระหว่างหลักคิดเรื่องรวมศูนย์และกระจายอำนาจยังไม่ตกผลึก  กฎหมาย ระเบียบ  นโยบาย ตลอดจนแบบแผนการปฏิบัติต่างๆจึงผสมผสาน ปนเปกันค่อนข้างสับสน  บางช่วงหลักคิดเรื่องกระจายอำนาจก็ทำท่าว่าโดดเด่น แต่บางช่วงก็ถูกโต้กลับด้วยผู้คนที่ยังนิยมหลักคิดรวมศูนย์อำนาจ จนกระทั่งหลักคิดเรื่องกระจายอำนาจต้องถดถอยลงไป ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดก็คือเช่น ประเทศไทย
         สำหรับด้านเศรษฐกิจ ในอดีตหลักคิดที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้นคือ ปรัชญาของเศรษฐกิจทุนนิยม กับปรัชญาของเศรษฐกิจสังคมนิยม ปรัชญาของเศรษฐกิจทุนนิยมเน้นการแสวงหาความมั่งคั่งและความสะดวกสบายของปัจเจกบุคคลเป็นหลัก หลักคิดรองๆที่ตามมาคือ การพัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นการขยายตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มรายได้ของปัจเจกบุคคล การกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนในภาคส่วนที่ผู้บริหารประเทศคิดว่าจำเป็นต่อการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเช่น อุตสาหกรรมหนัก โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี
                   ขณะที่ปรัชญาของสังคมนิยมเน้นเรื่องความมั่นคงและเสมอภาคทางสังคม   หลักคิดรองๆที่ตามมาคือ การขยายรัฐสวัสดิการ การลงทุนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคม  การกระจายรายได้ และการขยายโอกาสทางการศึกษา
                   การแข่งขันของปรัชญาเศรษฐกิจทั้งสองมีมาอย่างยาวนานนับร้อยปี และในปัจจุบันดูเหมือนปรัชญาของเศรษฐกิจทุนนิยมกลายเป็นหลักคิดที่ครอบงำประเทศต่างๆเกือบทั่วโลก แต่แนวทางปฏิบัติตามหลักปรัชญาทุนนิยมของแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน บางประเทศผู้คนตีความและปฏิบัติตามปรัชญาทุนนิยมแบบดั้งเดิมที่ไม่คำนึงถึงบุคคลอื่นๆ ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  ผลที่ตามมาคือการสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสุขภาพ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
               ต่อมากลุ่มนักคิดและองค์การระหว่างประเทศได้พยายามตีความและปรับปรุงปรัชญาของทุนนิยมให้ดูดีกว่าเดิม มีการนำมิติคุณธรรม ธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาผสมผสาน จากนั้นก็ปรับชื่อให้ดูดีขึ้นเป็น “การพัฒนาแบบยั่งยืน” หรือ ปรัชญาของทุนนิยมแบบยั่งยืน นั่นเอง   และมีการส่งหลักคิดนี้ไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกให้ถือปฏิบัติ  แต่นั่นแหละ บางประเทศก็อาจแสดงเสมือนว่านำหลักคิดนี้ไปปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงของการบริหารงานก็ยังยึดปรัชญาของทุนนิยมแบบดั้งเดิม เข้าทำนองปากว่าตาขยิบนั่นเอง
               การรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และมนุษยชาติโดยรวมนั้นหมายถึง การลดกำไรหรือลดความมั่งคั่งส่วนตัวและบริษัทลง  ในระดับประเทศดูเหมือนรัฐบาลของประเทศต่างๆพยายามส่งเสริมให้บริษัทเอกชนและหน่วยงานของรัฐดำเนินการเช่นนี้   รูปธรรมที่เห็นชัดคือ การลงทุนด้านพลังงาน ที่รัฐบาลของหลายประเทศประกาศนโยบายยกเลิกหรือยุติการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
             ถึงแม้ว่าการใช้ถ่านหินจะทำให้องค์การหรือบริษัทของรัฐที่ผลิตไฟฟ้าจะได้กำไรมหาศาล  แต่รัฐบาลของบางประเทศก็ตระหนักดีว่า การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงสร้างความเสียหายต่อสังคม ทำลายสุขภาพของมนุษย์ และทำลายสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างรุนแรง    ด้วยสำนึกแห่งคุณธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นจึงยอมลดกำไรจากการขายไฟฟ้าลง และหันไปใช้เชื้อเพลิงหรือวิธีการผลิตพลังงานแบบอื่นๆที่มีราคาสูงกว่า แต่สร้างความเสียหายและทำลายล้างน้อยกว่าแทน  
           แต่เรื่องนี้ดูเหมือนหลักคิดของรัฐบาลไทยยังไม่ตกผลึก จึงยังไม่ค่อยตระหนักถึงเท่าไรนัก และยิ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแล้วดูเหมือนว่า ยังยึดปรัชญาของทุนนิยมแบบดั้งเดิม ที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุดอย่างเหนียวแน่น
           ถึงจุดนี้ที่หยิบยกหลักคิดของสองมิติคือ การเมืองและเศรษฐกิจมาเขียนโดยสังเขป เพื่อที่จะสื่อว่าปัจเจกบุคคล กลุ่มและองค์การต่างๆในสังคมไทยไม่ได้ขาดหลักคิดดังที่นายกรัฐมนตรีของไทยเคยกล่าวไว้  อันที่จริงพวกเขาเหล่านั้นมีหลักคิดและปรัชญาหลายอย่างเป็นแนวทางการตัดสินใจและการปฏิบัติ เพียงแต่หลักคิดที่ใช้อาจมีความแตกต่างกัน บางอย่างก็แข่งขันกัน บางอย่างก็ขัดแย้งกัน  วันหน้าจะมาสาธยายหลักคิดในมิติอื่นๆที่มีการแข่งขันกันในสังคมไทยเพิ่มเติม   สำหรับวันนี้ขอจบลงด้วยคำถามว่า
              รัฐบาลไทย “ชอบ” และ “ใช้” หลักคิดใดในมิติการเมือง “หลักคิดแบบรวมศูนย์ หรือกระจายอำนาจ” ในการปฏิบัติจริง  และมิติเศรษฐกิจ “ชอบ” และ “ใช้” หลักคิดปรัชญาทุนนิยมแบบดั้งเดิม หรือ ปรัชญาทุนนิยมแบบยั่งยืน” ในการปฏิบัติจริง   ขอฝากให้ลองไตร่ตรองและสะท้อนหลักคิดของตัวเองดูครับ   

                                                                                                                                                                                       

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั