ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ไทยแลนด์ 4.0 การต่อสู้ในสงครามที่ไม่มีวันชนะ

ไทยแลนด์ 4.0 การต่อสู้ในสงครามที่ไม่มีวันชนะ

โดย ผู้จัดการรายวัน   
http://www.manager.co.th/images/blank.gif21 กรกฎาคม 2560 13:17 น.

http://www.manager.co.th/images/blank.gif

        "ปัญญาพลวัตร"
       "
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
      
       
ถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศในยุคนี้ที่เราได้ยินบ่อยคือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” “ไทยแลนด์ 4.0” “ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” “ประชารัฐ” “นวตกรรม” “ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง” “ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังและ ความเหลื่อมล้ำ” นายกรัฐมนตรีและทีมงานด้านเศรษฐกิจได้พูดตอกย้ำวาทกรรมชุดนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ใช้กลไกรัฐในทุกส่วนขับเคลื่อนการบริหารและการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับวาทกรรมชุดนี้
      
       
เท่าที่ติดตามจากเนื้อหาสาระของไทยแลนด์ 4.0 ที่นายกรัฐมนตรีถ่ายทอดออกมาสู่สาธารณะ ผมเห็นว่ารากฐานของวิธีคิดในการพัฒนาประเทศของรัฐบาลยังคงเป็นการมอง การพัฒนาแบบเส้นตรงโดยมีการจำแนกขั้นตอนการพัฒนาศรษฐกิจไทยเป็น 4 ยุค ยุคแรกคือเกษตรและหัตกรรม ซึ่งถูกเรียกว่า ยุค 1.0 ต่อมาเป็นยุคอุตสาหกรรมเบา เรียกว่า 2.0 ถัดจากนั้นเป็นยุคอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน เรียกว่า 3.0 และ ยุคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและนวัตกรรม เรียกว่า 4.0 ตามลำดับ
      
       
ดุเหมือนว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยพัฒนาเป็นไทยแลนด์ 4.0 โดยหวังว่าระบบเศรษฐกิจฐานเทคโนโลยีและนวตกรรมจะเป็นพลังในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศจนสามารถหลุดพ้นจากประเทศที่ตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนแก่ประเทศต่อไป
      
       
อย่างไรก็ตามวิธีคิดการพัฒนาแบบเส้นตรง ซึ่งเป็นกรอบความคิดและการใช้เหตุผลแบบตะวันตก การเน้นความก้าวหน้าทางวัตถุ การใช้วิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้น และการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ใช้เป็นรากฐานของไทยแลนด์ 4.0 นั้น ดูเหมือนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมไทยมากนัก อีกทั้งการคิดว่าประเทศไทยในปัจจุบันตกอยู่ในกับดักของรายได้ปานกลางนั้น ผมมองว่าก็เป็นมายาคติอีกแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน ที่ไปรับมาจากตะวันตกเช่นเดียวกัน
      
       
ความคิดและความเชื่อของคนในสังคมไทยได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากศาสนาพุทธ ซึ่งมี วิธีคิดการพัฒนาเป็นแบบวัฎจักร” อันได้แก่หลักเหตุผลที่ว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย และการเกิดใหม่วนเวียนในสังสารวัฏอุบัติขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าหลายภพหลายชาติ จนกว่าสามารถปฏิบัติจิตให้บรรลุนิพพานจึงจะหลุดพ้นจากเหตุผลเชิงวัฏจักรเช่นนี้ได้ อีกทั้งยังมีหลักคิด การมองสรรพสิ่งเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนันตา ซึ่งก่อให้เกิดสภาพจิตใจที่รู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป ดังที่เรามักจะพูดว่า ไม่เป็นไร อยู่เสมอ เมื่อเผชิญกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง เพราะเรามีจิตวิญญาณที่ฝังลึกอยู่อย่างหนึ่งว่า เรารู้ว่าสรรพสิ่งมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง เราจึงปล่อยวาง ไม่ไปยึดติดกับมัน และพร้อมจะแบ่งปันแก่กันและกัน อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เน้นค่านิยมเกื้อกูลซึ่งและและกัน โดยไม่เน้นค่านิยมเรื่องการแข่งขัน
      
       
สังคมไทยจึงไม่เหมาะกับการพัฒนาประเทศที่กำหนดทิศทางของการพัฒนาภายใต้การใช้หลักเหตุผลแบบตะวันตก การแข่งขันแบบเข้มข้น และการใช้วิทยาศาสตร์ระดับสูงเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวตกรรม ผมคิดว่าทั้งความสามารถในคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผลเชิงเส้นตรงเชื่อมโยงห่วงโซ่งระหว่างสาเหตุและผล และการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์เป็นจุดอ่อนที่ยากจะแก้ไขได้โดยง่ายของสังคมไทย เราจึงไม่ควร นำสิ่งที่เป็นจุดอ่อนมาเป็นธงนำหรือเป็นทิศทางของการพัฒนาประเทศ เพราะว่าการเล่นตามเกมการพัฒนาของตะวันตกนั้น จะเป็นการต่อสู้ในสงครามที่เราไม่วันเอาชนะประเทศตะวันตกได้ เราไม่มีทางตามทันได้ ดังนั้นเป้าหมายนี้ นอกจากจะไม่ทางบรรลุได้แล้ว ยังจะสร้างปัญหาอีกหลายประการตามมาในอนาคต 
      
       
แต่การที่ผมมองว่า การใช้เหตุผล วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวตกรรมเป็นจุดอ่อนของสังคมไทย ไม่ได้หมายความว่า เราจะทอดทิ้งสิ่งเหล่านี้ ตรงกันข้ามเราจำเป็นต้องพัฒนาสิ่งเหล่านี้ต่อไป แต่การพัฒนานั้นจะทำแบบเร่งรัดไม่ได้ และยากที่จะครอบคลุมในทุกกลุ่มของสังคม เราจะต้องมุ่งเน้นไปในกลุ่มที่มีศักยภาพบางกลุ่ม และที่สำคัญคือเราไม่อาจคาดหวังว่าจะใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแข่งขันเป็น แกนหลักของยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศได้ สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการใช้เป็นองค์ประกอบรองของยุทธศาสตร์ โดยดำเนินการลดจุดอ่อนเหล่านี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
      
        
แล้วอะไรคือจุดแข็งของเราที่ควรนำมาเป็นแกนหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ
      
       
อย่างแรกคือ ความรุ่มรวยและหลากหลายทางวัฒนธรรม อารมณ์ และจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นมรดกที่สำคัญของประเทศ วัฒนธรรมของสังคมไทยอันเป็นวิถีชีวิตแห่งการแบ่งปัน ความมีน้ำใจ อัธยาศัยไมตรี อารมณ์ดียิ้มแย้มแจ่มใส จิตใจอ่อนโยน การมีจิตวิญาณที่ลึกซึ้ง อันเกิดจากวิถีการปฏิบัติทางจิตที่มีรากฐานจากศาสนาพุทธ จุดแข็งเช่นนี้เหมาะสมกับการนำมาเป็นแกนหลักของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยใช้เป็นฐานการขับเคลื่อนที่อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และการพักพิงและเสริมพลังทางจิตวิญญาณ
      
       
ภายใต้จุดแข็งนี้ เราอาจกำหนดตัวแบบ เศรษฐกิจสุนทรียภาพขึ้นมาเป็นยุทธศาสตร์หลัก โดยเน้นการใช้วัฒนธรรมเป็นสิ่งขับเคลื่อน ตั้งเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางของการบริการแบบบูรณาการทางสุนทรียภาพทางจิตใจแห่งโลก โดยสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ ซึ่งเป้นการเสริมพลังให้แก่จิตใจ โดยอิงกับความเชื่อ สถานที่ วัตถุ พิธีกรรม และแนวทางการปฏฺบัติทางศานาทั้งพุทธ มุสลิม และคริสต์ การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ
      
       
สื่งที่ผมกล่าวมาในปัจจุบันก็มีการดำเนินการอยู่หลายแห่งแล้ว หากรัฐบาลกำหนดเป็นยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ โดยส่งเสริม สนับสนุน ทั้งในการลงทุน การอบรมบุคลากร และองค์ความรู้ สิ่งเหล่านี้จะขยายออกไปอย่างมหาศาล ในระยะสิบถึงยี่สิบปีข้างหน้า ผมคิดว่าจะมีผู้คนชาวตะวันตก ชาวจีน ชาวอาหรับ และชาวญี่ปุ่น ไหลทะลักเข้ามาใช้บริการอย่างมากมาย
      
       
จุดแข็งอย่างที่สองคือ เรามีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและงดงาม ทั้งภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำ ลำธาร ทะเล และสัตว์หลากหลายชนิด สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นจุดแข็งที่เกื้อกูลต่ออุคสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ภายใต้จุดแข็งนี้เราสามารถพัฒนาตัวแบบ เศรษฐกิจนิเวศน์ ขึ้นมา โดยมีหลักคิดว่า ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม อย่างมีดุลยภาพระหว่างการสร้างประโยชน์แก่ประชาชน กับการอนุรักษ์และฟื้นฟู และจัดระบบการบริหารจัดการโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตัวแบบเศรษฐกิจนิเวศน์ มีรูปธรรมอยู่ไม่น้อยในสังคม หากมีการนำมาจัดระบบและสร้างเป็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมยิ่งขึ้นก็จะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญให้กับสังคมไทย
      
       
จุดแข็งอย่างที่สามคือ เรามีความหลากหลายของภาคการเกษตรและประมง และมีภูมิปัญญามากมายในเรื่องเหล่านี้ จากการที่ภาคเกษตรและประมงเป็นแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ สังคมไทยของเราจึงใช้ภูมิปัญญาในการพัฒนาเป็นอาหารนานาชนิด เราเป็นประเทศที่รุ่มรวยไปด้วยเมนูอาหารสารพัดประเภท ผมไม่อาจบอกว่าเรามีชนิดของอาหารมากที่สุดในโลก แต่ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูง หากมีการสำรวจแล้วพบว่า ที่ประเทศไทยมีประเภทของเมนูอาหารเป็นอันดับหนึ่งหรือไม่ก็อันดับสองในโลก
      
        
ด้วยฐานทางทรัพยากรอาหาร เราสามารถจัดเทศกาลอาหาร ขนม และผลไม้ ได้ในแทบทุกอำเภอหรือตำบลของประเทศไทย รวมทั้งสามารถแปรรูปอาหารส่งออกไปขายต่างประเทศได้อย่างมหาศาล ดังนั้นหากเรามีการพัฒนายกระดับเกษตรและประมงมีคุณภาพ ปลอดจากสารเคมี อย่างเป็นระบบครบวงจร สร้างมูลค่าเพิ่ม คิดค้นนวตกรรมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในการหลอมรวมเชื่อมโยงเกษตรและประมงให้กลายเป็น ตัวแบบเศรษฐกิจอาหาร ขึ้นมา ก็จะสร้างความสำราญอย่างยั่งยืน และการอยู่ดีมีสุขแก่คนไทยโดยทั่วหน้า
      
        
เราจึงเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติเรื่องนี้ เพราะข้อเท็จจริงที่ว่าคนไทยเกือบครึ่งประเทศยังทำการเกษตรและประมง แต่ภาคเกษตรและประมงกลับมีสัดส่วนในผลผลิตมวลรวมประชาชาติต่ำกว่าภาคอุตสาหกรรมและบริการ นั่นแปลว่าคนส่วนมากของประเทศมีรายได้ต่ำนั่นเอง ซึ่งเป็นความจริงที่เจ็บปวด และสะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาเราละเลยและไม่ใส่ใจกับการพัฒนาภาคเกษตรและประมงบนรากฐานภูมิปัญญาจึงทำให้ภาคเกษตรและประมงอ่อนแอ
      
       
ไม่อาจปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้ต่อไป เพราะหากปัญหาความยากจนและความไม่แน่นอนเรื่องรายได้ของเกษตรกรและชาวประมงไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
       
สำหรับแนวคิดกับดักของรายได้ปานกลาง ถูกกำหนดขึ้นมาจากองค์การระหว่างประเทศ โดยระบุว่าประเทศใดที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ต้องก้าวพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หรือมีรายได้ต่อคน 23,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ส่วนประเทศใดที่คนยังมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าวถือว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
      
       
ที่ผมเรียกว่าสิ่งนี้เป็นมายาคติก็เพราะว่า ความคิดการพัฒนาของเราถูกครอบงำด้วยการเอา เงินเป็นตัวตั้งนั่นเอง เราคิดเพียงว่า หากหาเงินได้ถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ก็ถือว่า พัฒนาแล้วและความคิดของผู้นำประเทศก็ดูเหมือนถูกชักจูงด้วความเชื่อดั่งกล่าว โดยปราศจากการตั้งคำถามว่า วิธีคิดแบบนี้ถูกต้อง และเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่
      
       
ความผิดพลาดยิ่งมากขึ้น หากยึดเอาข้อมูลรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศเป็นฐานในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายการพัฒนา ทำไม ก็เพราะว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำของรายได้สูงเป็นลำดับสามของโลกอย่างไรเล่า แปลว่า เรามีคนรายมหาศาลอยู่เพียงแค่หยิบมือหนึ่งดั่งใบไม้ในกำมือ ขณะที่มีคนรายได้ต่ำอยู่เหลือคณานับดั่งใบไม้ในป่าทั้งป่า และบอกได้เลยว่า ไทยแลนด์ 4.0 จะขยายโอกาสแก่คนที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว ให้มีรายได้สูงยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนคนจนก็จะยิ่งมีรายได้ถดถอยและตกต่ำลงไปอีก 
      
       
มีคนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามอย่างน่าคิดว่า รายได้ปานกลาง” เป็นกับดักอย่างไร เพราะว่าเอาเข้าจริง หากคนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้ปานกลางจริง ไม่ใช่ รายได้ปานกลางลวง ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราก็สามารถดำรงชีวิตอย่างพอดีและพอเพียงได้ เพียงแต่ว่าสถานการณ์ของประเทศเรานั้น ตกอยู่ในภาวะรายได้ปานกลางลวงเสียมากกว่า ด้วยเหตุที่เราใช้ค่าเฉลี่ยรายได้เป็นฐานคิดหลักนั่นเอง อันที่จริงแล้วมีคนไทยจำนวนนับสิบล้านคนที่มีรายได้ไม่ถึงแม้กระทั่งเกณฑ์ขั้นต่ำในการดำรงชีวิตให้อยู่ดีมีสุขได้ แต่อยู่ในสภาพปากกัดตีนถีบ หรือ ชักหน้าไม่ถึงหลัง มีหนี้สินรุงรังโดยทั่วกัน
      
       
ผมคิดว่าทิศทางหลักในการเพิ่มรายได้ ไม่จำเป็นต้องมุ่งยกระดับรายได้เฉลี่ยให้เข้าสู่เกณฑ์ประเทศที่พัฒนาแล้วดังที่ต่างชาติกำหนด หากแต่ควรมีทิศทางในการทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยกระดับจากการมีรายได้ต่ำไปสู่ระดับการมีรายได้ปานกลาง จะดีกว่า ส่วนกลุ่มที่รวยอยู่แล้ว รัฐไม่จำเป็นต้องไปส่งเสริมเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่พวกเขาอีกก็ได้
      
       
ผมคิดว่ารัฐบาลควรทบทวนหลักคิดและวาทกรรมไทยแลนด์`4.0 เสียใหม่ เพราะว่าหากยังมีการนำแนวทางตามวาทกรรมนี้ไปปฏิบัติ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือจะมีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจำนวนมาก จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ขยายออกไปมากยิ่งขึ้น ความมั่นคงและความสงบสุขก็ยากที่จะยังเกิดขึ้นมาได้
              
เป้าหมายยุทธศาสตร์ทางเลือกที่เป็นทางรอดคือ สุนทรีย สำราญ สงบสุข” โดยมี 3 ยุทธศาสตร์หลักคือ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสุนทรีย ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจนิเวศน์ และยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอาหาร ขึ้นมา เพราะตัวแบบนี้เกิดจากรากฐานที่เป็นจุดแข็งของสังคมไทย
               
ขณะที่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น เกิดจากจุดอ่อนของสังคมไทย ซึ่งยากที่จะใช้เป็นทิศทางหลักของการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าประสงค์ได้ เป็นการต่อสู้ในสงครามที่ไม่มีวันชนะ หากยังใช้ต่อไปรังแต่จะเสียงบประมาณโดยไม่คุ้มค่า และอาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของสังคมในอนาคตได้ 
       


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั