ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ว่าด้วย ความคลั่งไคล้การพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นวัตถุแบบมืดบอด

ความคลั่งไคล้การพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นวัตถุแบบมืดบอด
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
หากสังคมใดยังดำรงอยู่ โดยไม่ถูกทำลายล้างให้ย่อยยับจนปราศจากผู้คนอาศัย ย่อมเป็นการยากที่มนุษย์ไม่ว่าจะมีอำนาจมากเพียงใดก็ตาม จะสามารถทำให้สังคมหยุดนิ่งได้  การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกขณะด้วยการเคลื่อนไหวทางความคิด ความปรารถนาและการปฏิบัติของมนุษย์  นวัตกรรมทั้งในรูปวัตถุ เทคโนโลยี กฎเกณฑ์ ค่านิยมและแบบแผนการปฏิบัติเกิดขึ้นมาแข่งขันกับสิ่งดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ในทุกอาณาบริเวณของสังคม 
เทคโนโลยี กฎกณฑ์และแบบแผนปฏิบัติใหม่ๆทางสังคมที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมามักทำในนามของความเจริญก้าวหน้าของสังคม ความมีประสิทธิภาพ การเพิ่มความมั่งคั่ง และการเพิ่มความสะดวกสบายแก่มนุษย์เป็นหลัก มีอยู่บ้างที่ถูกทำในนามของความยุติธรรม ความเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพของมนุษย์  บ่อยครั้งที่เราเห็นแบบแผนความคิดและการปฏิบัติใหม่ๆสามารถไปด้วยกันได้กับแบบแผนเก่า ผสมผสานกันดำรงอยู่คู่ขนานกันไปในสังคม แต่ก็มีแบบแผนใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่อาจดำรงอยู่ร่วมกันได้กับแบบแผนเก่า มีการแข่งขัน ต่อสู้ในหลากหลายมิติ บางครั้งก็พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง
ผลลัพธ์การต่อสู้แข่งขันระหว่างแบบแผนความคิดและการปฏิบัติแบบใหม่และบบเก่าที่เกิดขึ้นมีความเป็นไปได้หลายทาง  บางเรื่องแบบแผนเก่าก็เอาชนะแบบแผนใหม่ได้ ผลักดันให้แบบแผนใหม่ตกไปอยู่ชายขอบและสูญหายไป   บางเรื่องแบบแผนใหม่ก็เอาชนะแบบแผนเก่าและทดแทนได้ทั้งหมด  แต่บางเรื่องก็ต่อสู้กันยืดเยื้อยันกันอยู่เป็นเวลายาวนาน กว่าจะเกิดผลลัพธ์ก็กินเวลาเป็นชั่วอายุคน    แบบแผนความคิดและการปฏิบัติทางสังคมที่มักประสบชัยชนะคือ  แบบแผนที่ตอบสนองความต้องการทางวัตถุแก่ผู้คนในสังคมได้อย่างทั่วถึง สามารถเพิ่มความสะดวกสบายแก่มนุษย์มากขึ้น และตอบสนองตัวตนในเชิงปัจเจกมากขึ้น เช่น ความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และได้รับการยอมรับในอัตลักษณ์
อย่างไรก็ตามกฎเกณฑ์และแบบแผนเก่าบางอย่างดำรงอยู่ในสังคมเป็นเวลายาวนาน แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ตาม  แต่ดูเหมือนเป็นที่ยอมรับและไม่กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้ง  นั่นก็เพราะว่าผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังไม่ทราบหรือพอทราบ  แต่ไม่เข้าใจถึงกลไกการสร้างความเหลื่อมล้ำของกฎเกณฑ์และแบบแผนนั้นว่าเป็นอย่างไร  และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคืออะไร ด้วยเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและไกลตัวจากชีวิตประจำวันของพวกเขานั่นเอง
การพัฒนาประเทศดูเป็นตัวอย่างที่เห็นอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ กล่าวคือกลุ่มคนที่เป็นรัฐบาล ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจจำนวนมากในยุคสมัยนี้ ถูกครอบงำด้วยแบบแผนความคิดที่เรียกว่า “คลั่งไคล้ความเจริญทางวัตถุ”  รูปธรรมของความคลั่งไคล้ความเจริญทางวัตถุปรากฎให้เห็นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและการลงทุน ระเบียบกฎเกณฑ์ของหน่วยงานราชการ และการปฏิบัติต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแบบแผนดังกล่าว
 ความคลั่งไคล้ความเจริญทางวัตถุขับเคลื่อนผลักดันให้มีการสร้างโครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ถนนสี่เลน ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ความสำคัญน้อยมากกับผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมของประชาชน และไม่แยแสกับข้อเสนอที่เป็นทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักคิดความคลั่งไคล้ความเจริญทางวัตถุ 
การมีแผนและผลักดันการจัดตั้งเมืองอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องยาวนานในจังหวัดสตูลเป็นตัวอย่างของความคลั่งไคล้ความเจริญแบบสุดขั้วที่ปรากฎชัด  ซึ่งในโครงการนี้มีทั้งท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา รถไฟเชื่อมสตูลกับสงขลา พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อู่ต่อเรือ โรงไฟฟ้ถ่านหินที่สงขลาและกระบี่ ฯลฯ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลกี่รัฐบาลแผนสร้างเมืองอุตสาหกรรมในจังหวัดสตูลและโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ก็ยังดำรงอยู่ต่อไป ตราบที่ผู้มีอำนาจรัฐยังถูกครอบงำด้วยลัทธิคลั่งไคล้ความเจริญทางวัตถุ ดังนั้นแม้คนที่ดำรงตำแหน่งเปลี่ยนแปลง แต่หากแบบแผนของหลักคิดนี้ดังดำรงอยู่  การผลักดันให้สร้างเมืองอุตสาหรรมก็จะดำเนินต่อไป
ลัทธิคลั่งไคล้ความเจริญทางวัตถุ เป็นการพัฒนาที่มุ่งสร้างความเจริญแบบล้นเกิน ไม่พอดี  ส่งผลให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  กวาดล้างวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของประชาชน สุขภาพของผู้คนถูกทำลายและชีวิตถูกบั่นทอน  ทั้งเป็นการเจริญแบบไร้เหตุผล เพราะเป็นความเจริญที่ไม่ได้ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาศัยการลอกเลียนปัญญา ความรู้ และเทคโนโลยีจากภายนอก  ขณะที่กำจัดภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งยังทำให้ผู้คนในพื้นที่มีภูมิคุ้มกันลดลง ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการรับสารพิษ โรคร้ายและอาชญากรรมที่มาพร้อมกับการทะลักเข้ามาของแรงงานต่างชาติที่จะเข้ามาก่อสร้าง ทั้งเสี่ยงกับการถูกทำลายอาชีพดั้งเดิม  คุณธรรมแบบเอื้ออาทรก็จะหายไป และถูกทดแทนด้วยการแข่งขันและความเห็นแก่ตัว
สิ่งที่เราพบเห็นเป็นประจำในสังคมไทยคือ กลุ่มคนที่ถูกครอบงำด้วยลัทธิคลั่งไคล้ความเจริญทางวัตถุมักจะผลิตวาทกรรมเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ที่มีแบบแผนความคิดต่างว่าเป็น “ผู้ขัดขวางความเจริญบ้าง”  “เป็นจระเข้ขวางคลองบ้าง”  และที่ร้ายในบางยุคถึงกับมีการกล่าวหาว่า“รับเงินจากต่างชาติบ้าง” และพยายามที่จะทำลายหรือทำร้ายก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง  
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าลัทธิคลั่งไคล้ความเจริญทางวัตถุจะมีกระแสเชี่ยวกรากและมีพลังในการครอบงำอำนาจรัฐ  แต่ในสังคมก็มีแบบแผนความคิดที่เป็นคู่แข่งกับลัทธิคลั่งไคล้ความเจริญทางวัตถุ นั่นคือ แบบความคิด “การเจริญแบบพอเพียง”   ซึ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบพอประมาณ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสุขภาพ ไม่ทำลายวิธีชีวิตและวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่  เป็นการเจริญที่มีเหตุมีผล เพราะสร้างความเจริญจากฐานทรัพยากรที่มีอยู่เดิม อาศัยความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับความรู้จากภายนอกอย่างกลมกลืน ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีภูมิคุ้มกัน ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญกับปัญหาสังคม อาชญากรรม สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ  คุณธรรมดั้งเดิมถูกรักษาเอาไว้และสืบทอดต่อไปยังคนรุ่นต่อไปได้
อันที่จริงการเจริญแบบพอเพียงนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐได้มีการนำมาเขียนในแผนพัฒนาประเทศและปรากฎในนโยบายและโครงการอยู่บ้างตามสมควร เพราะว่าแบบแผนความคิดนี้เป็นหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง    แต่ทว่าสิ่งที่เรารับรู้ได้ในสังคมไทยเกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลในเรื่องนี้คือการใช้กลยุทธแบบแยกส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องระหว่าง “กฎเกณฑ์เชิงรูปแบบ” (rules in form) กับกฎเกณฑ์ที่ใช้จริง (rules in use)
ผู้นำรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐมักจะพูดเรื่องการเจริญแบบพอเพียงแบบนกแก้วนกขุนทอง ท่องจำมาพร่ำสอนประชาชน  แต่นโยบายและแบบแผนการปฏิบัติจริงกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง บอกให้ประชาชนรู้จักประมาณตน แต่รัฐกลับมุ่งสร้างอภิมหาโครงการแบบล้นเกิน   บอกให้ประชามีเหตุผล แต่ต้องเป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับแบบแผนความคิดแบบคลั่งความเจริญทางวัตถุเท่านั้น  บอกให้ประชาชนสร้างภูมิคุ้มกัน แต่รัฐกลับทำลายภูมิคุ้มกันของประชาชนเสียเอง  บอกให้ประชาชนใช้ความรู้ แต่รัฐกลับใช้อวิชาในการทำให้โครงการได้รับการรับรอง  ดังการเสกปั้นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่มักบิดเบือนข้อมูลเพื่อให้ผ่านการรับรอง   บอกให้ประชาชนมีคุณธรรม แต่ผู้นำและเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับใช้เล่ห์กลเพื่อให้ตนบรรลุเป้าหมาย ดังที่การใช้เล่ห์กลหลอกลวงว่ามีถ่านหินสะอาด ทั้งที่ในความจริงไม่มีถ่านหินในโลกนี้ที่สะอาด
หากจะใช้แบบแผนความคิดการเจริญแบบพอเพียงอย่างแท้จริง ตัวอย่างที่ทำได้ทันทีคือ การปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้โดยรวม จังหวัดสตูล และจังหวัดอื่นๆให้มีทิศทางมุ่งสู่ “การเป็นเมืองเกษตร ประมงและท่องเที่ยวแบบพอเพียง”    แต่ก่อนอื่น สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการใช้ปัญญาไตร่ตรองให้กระจ่างชัด เพื่อปรับกระบวนทัศน์และแบบแผนความคิดของตนเองเสียก่อน โดยต้องขจัดแบบแผนความคิดคลั่งไคล้ความเจริญทางวัตถุเสียให้หมด และทดแทนด้วยความคิดการเจริญแบบพอเพียงให้มั่นคง   
หากจะให้ดี ก็ใช้หลักคิดแบบโสคราติสที่ว่า  “ให้ตระหนักรู้ว่า เรายังไม่รู้”   อย่าคิดว่ามีความรู้แล้วเพราะไปฟังเพียงพวกนักวิชาการ ข้าราชการ นักธุรกิจ และนักเทคนิคที่อยู่ใกล้ตัวแต่เพียงอย่างเดียว เพราะพวกนี้ถูกครอบงำด้วยความคิดคลั่งไคล้ความเจริญทางวัตถุอย่างมืดบอดเกือบทั้งสิ้น   ลงไปรับฟังและเรียนรู้อย่างอ่อนโน้มถ่อมตนจากประชาชนในพื้นที่หลายๆแห่ง ที่พวกเขาใช้แบบแผนความคิดแบบพอเพียงอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน  และนำมาบูรณาการเป็นภาพรวมของแผนพัฒนาภาคใต้เสียใหม่  จากนั้นก็ส่งเสริมและปลูกฝังแบบแผนความคิดนี้ให้กลายเป็นความคิดกระแสหลักของผู้กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ตลอดจนข้าราชการ นักธุรกิจและประชาชนขึ้นมา 
หากรัฐมีแบบแผนความคิดและการปฏิบัติที่มุ่งเน้นความเจริญแบบพอเพียงอย่างแท้จริง  การพัฒนาประเทศของเราก็จะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีรากฐานจากภูมิปัญญาและทรัพยากรของเราเอง  ซึ่งจะทำให้เราหลุดพ้นจากการถูกครอบงำทางความคิดแบบคลั่งไคล้ความเจริญทางวัตถุได้ในที่สุด   โปรดระลึกว่า การพัฒนาประเทศนั้นไม่ได้มีแนวทางที่ดีที่สุดเพียงแนวทางเดียวดังที่เชื่อและทำกันอยู่ในปัจจุบัน  หากแต่มีแนวทางที่หลากหลาย ซึ่งควรเลือกให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจของเราเอง
หากเรามีหลักคิดว่า เราไม่ควรลอกเลียนประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมล้นเกินจากตะวันตกมาใช้ทางการเมืองอย่างมืดบอดฉันใด  เราก็ควรมีหลักคิดว่า  เราไม่ควรลอกเลียนการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นความเจริญทางวัตถุมาใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมืดบอดฉันนั้นด้วยครับ    
  


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ