ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ว่าด้วย ปมปัญหาของความเคารพนับถือกับจริยธรรม

ปมปัญหาของความเคารพนับถือกับจริยธรรม
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
มนุษย์เริ่มรับรู้การดำรงอยู่ของผู้อื่นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ครั้นเมื่อกำเนิดลืมตาดูโลกแล้ว การรับรู้ถึงสายสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับมนุษย์ผู้อื่นก็พัฒนาขยายออกไปตลอดช่วงชีวิต  ทารกมีความสามารถแยกความแตกต่างของบุคคลได้อย่างรวดเร็ว  ภายในเดือนเดียวก็สามารถแยกมารดาจากผู้หญิงคนอื่นได้  และภายในสองปีก็สามารถจำแนกกลุ่มคนได้ รู้ว่ากลุ่มใดเป็นหญิง กลุ่มใดเป็นชาย  กลุ่มใดเป็นเด็ก กลุ่มใดเป็นผู้ใหญ่
ความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างของมนุษย์มีความสำคัญต่อการอยู่รอด เพราะทำให้พวกเขาทราบว่ามีใครบ้างที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล และใครบ้างที่จะทำร้ายหรือทำลาย   ความสามารถและวิธีการในการจำแนกของมนุษย์เกิดจากข้อมูลข่าวสารที่พวกเขาได้จากการอบรบกล่อมเกลาของครอบครัว กลุ่มเพื่อนชุมชน และสังคมที่พวกเขาสังกัดในแต่ละช่วงวัย รวมทั้งบทเรียนจากประสบการณ์ส่วนบุคคลของเขาเอง  สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์ทราบว่าใครคือคนที่พวกเขารัก ชอบ ชื่นชม และเคารพนับถือ  และใครคือบุคคลที่น่ารังเกียจ น่ากลัว หรือน่าชิงชัง
ในยุคโบราณ มนุษย์พบปะผู้คนเพียงไม่กี่ร้อยคนในช่วงชีวิตของเขา  แต่ในยุคปัจจุบันมนุษย์แต่ละคนต่างรู้จักและพบปะกับผู้คนนับพันนับหมื่นคน และผู้คนยังมีโอกาสเฝ้าดูผู้อื่นที่อยู่ห่างไกลคนละซีกโลกผ่านระบบการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีการสื่อสารอื่นๆอีกมากมาย   บางคนที่เป็นผู้นำประเทศหรือมีบทบาทต่างๆในโลกก็จะมีคนรู้จักนับล้านคน
บุคคลมีจิตใจให้ความเคารพนับถือผู้อื่นและกลุ่มแตกต่างกันออกไป  คนที่เปี่ยมไปด้วยจิตที่เคารพนับถือผู้อื่นมากมักต้องการพบปะ ทำความรู้จัก และชมชอบคนอื่นมาก  คนเหล่านี้มักจะยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยแก่บุคคลอื่นเอาไว้ก่อน  หลีกเลี่ยงการใช้อคติในการตัดสินผู้อื่น  พวกเขาเริ่มต้นมองผู้อื่นด้วยความไว้วางใจ โดยมีฐานคติในการมองความแตกต่างในเชิงบวก และมองว่าโลกจะน่าอยู่มากขึ้นหากผู้คนมีความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน
   สิ่งที่คุกความความเคารพนับถือคือ การขาดความอดกลั้นหรือขาดขันติธรรม และการมีอคติ   บุคคลที่มีจิตเปี่ยมด้วยอคติมักจะยึดติดกับความคิดดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ในจิตใจพวกเขาเกี่ยวบุคคลหรือกลุ่มอื่น และมีแนวโน้มไม่ต้องการขจัดอคติเหล่านั้นออกจากจิตใจของตนเอง  กล่าวคือมีจิตใจที่ยึดติดกับอคติอย่างไม่ลืมหูลืมตานั่นเอง เช่นคนผิวขาวในประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนมากมีอคติต่อคนที่นับถือศาสนาอิสลาม  หรือคนบางคนอาจมีอคติต่อกลุ่มรักร่วมเพศ     บุคคลที่ขาดขันติธรรมจะมีพื้นที่การยอมรับความแตกต่างหลากหลายต่ำ    พวกเขามักจะมองว่าสิ่งใดหรือบุคคลใดที่มีความแตกต่างจากความเชื่อของคนเองเป็นสิ่งไม่ดี  และมักจะพูดว่า “ไม่มีเหตุผลใด ที่จะยอมรับคนที่มีความคิดหรือความเชื่อแตกต่างจากเรา”  
ยิ่งกว่านั้น รูปแบบการเสแสร้งว่าเคารพนับถือผู้อื่นมักดำรงอยู่ในจิตของผู้ขาดขันติธรรม หากสังคมใดมีการเสแสร้งมากก็ย่อมแสดงว่า สังคมนั้นเป็นสังคมที่ขาดแคลนขันติธรรมอย่างยิ่ง   ตัวอย่างของเสแสร้ง ดังคำพังเพยของไทยที่ว่า  ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก  หน้าไหว้หลังหลอก ปากหวาน ก้นเปรี้ยว ปากปราศรัย ใจเชือดคอ  เป็นต้น
เมื่อใดก็ตาม หากมีความเกลียดชัง ความไม่ไว้วางใจ หรือความไม่ชอบเกิดขึ้น การเคารพนับถือซึ่งกันและกันก็เกิดขึ้นไม่ง่ายนัก  แต่กระนั้นในโลกที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน การรื้อฟื้นความเคารพนับถือซึ่งกันและกันของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง  ในแผ่นดินที่ฉีกขาดด้วยความขัดแย้งหรือสงคราม คณะกรรมการสมานฉันท์และปรองดองย่อมเป็นหน่วยงานทางสังคมที่มีความสำคัญในการรื้อฟื้นการเคารพนับถือซึ่งกันและกันของสังคมนั้นกลับคืนมา  บางครั้งกิจกรรมอย่างกีฬาหรือวัฒนธรรมสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกัน และเป็นเส้นทางในการนำไปสู่การปรองดองกันได้ในอนาคต  แต่ทั้งนี้ต้องมีความเคารพนับถือซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ  มีการหล่อเลี้ยงฟูมฟักความสัมพันธ์ และต้องใช้เวลายาวนานนับสิบปี
ขณะที่เส้นทางแห่งการเคารพนับถือถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย  ส่วนจริยธรรมเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนกว่ามาก  บุคคลที่มีจิตใจเชิงจริยธรรมสามารถคิดเกี่ยวกับตนเองอย่างเป็นนามธรรม และมีความสามารถในการถามว่า “เราต้องการเป็นคนอย่างไรในการทำงาน”  หรือ “เราต้องการเป็นพลเมืองแบบใดของประเทศ”  ยิ่งกว่านั้นยังต้องมีความสามารถในการคิดเกี่ยวกับตนเองเกี่ยวกับสิ่งที่สูงส่งกว่า เช่น “โลกจะเป็นอย่างไรถ้าหากทุกคนมีจุดยืนในการทำงานเหมือนเรา”   หรือ “หากพลเมืองทุกคนในจังหวัดหรือประเทศดำเนินการให้บรรลุความคาดหวังตามบทบาทของตนเอง โดยใช้วิธีการแบบเดียวกับที่เราทำ สังคมจะเป็นอย่างไร”   แนวความคิดเช่นนี้เกี่ยวข้องกับการตระหนักถึงความถูกต้องและความรับผิดชอบของแต่ละบทบาท   บุคคลที่มีจริยธรรมจะกระทำสอดคล้องกับคำตอบที่พวกเขากำหนดขึ้นมา แม้ว่าบางครั้งต้องขัดแย้งกับผลประโยชน์ส่วนตนก็ตาม
บุคคลได้รับการปลูกฝังจริยธรรมตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต  แม้ว่าความสามารถในการคิดเชิงจริยธรรมยังไม่ชัดเจนนักก็ตาม  ความคิดเชิงจริยธรรมจะมีความกระจ่างมากขึ้นเมื่อบุคคลเติบโตขึ้น การพัฒนาจริยธรรมเกิดขึ้นโดยการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มทางสังคม ระบบการศึกษา และการทำงาน  บุคคลจะเรียนรู้ ว่าเมื่อเขาตัดสินใจหรือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วได้รับการตอบสนองอย่างไรจากผู้อื่น  และเรียนรู้จากพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงาน ผู้ใหญ่ หรือผู้มีอำนาจเหนือกว่าในที่ทำงาน
การจำแนกว่าพฤติกรรมใดมีจริยธรรมและไร้จริยธรรมมีทั้งที่ทำได้ง่ายและยาก  บางกรณีก็จำแนกได้ง่ายเช่น เรารู้ทันทีว่า คนโกง คนหลอกลวง หรือขโมยเป็นคนที่ขาดจริยธรรม   เช่น นักข่าวตีพิมพ์เรื่องไม่จริง  ข้าราชการทุจริต นักธุรกิจปลอมปนสินค้า   นักศึกษาลอกข้อสอบ  แต่บางกรณีอาจมีความซับซ้อนในการจำแนก เช่น นักข่าวนำข่าวจากสื่อสังคมออนไลน์หรือแหล่งข่าวไปเผยแพร่โดยขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง  หรือข้าราชการละเลยการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนที่จะประกาศต่อสาธารณะ
ความรับผิดชอบเชิงจริยธรรมไม่ได้เป็นเพียงแต่เรื่องที่เรากระทำเท่านั้น  หากแต่เราจะต้องรับผิดชอบต่อเรื่องที่เราจงใจหรือละเลยไม่กระทำ ทั้งที่มีหน้าที่ต้องทำอีกด้วย  เช่น ในบางเรื่องเราต้องตัดสินใจกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง  แต่เรากลับหลักเลี่ยงหรือเลื่อนการตัดสินใจออกไป จนสร้างความเสียหายต่อองค์การที่เราสังกัด  ในกรณีนี้การไม่ตัดสินใจหรือไม่กระทำย่อมเป็นปัญหาทางจริยธรรมได้
ในหลายครั้งบุคคลจะเกิดปมปัญหาความขัดแย้งระหว่างความเคารพนับถือและจริยธรรมขึ้นมา  บางครั้งความเคารพนับถือมีชัยชนะเหนือจริยธรรม  ดังเช่น หากมีญาติพี่น้องหรือเพื่อนร่วมงานอาวุโสที่เราเคารพนับถือทำผิดกฎหมายหรือทำการทุจริต  และเราก็ทราบว่าเพื่อนรุ่นพี่มีพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง แต่ด้วยความที่เขาเคยช่วยเหลือเกื้อกูลเรามาอย่างยาวนาน และเราก็เคารพนับถือเขามาก  แม้ทราบว่าเขาทำไม่ถูกต้อง และอาจสร้างความเสียหายแก่องค์การหรือประเทศได้  เราก็มีเลือกที่จะเงียบและไม่นำเรื่องของเขาไปเปิดเผยให้คนอื่นทราบ
บางครั้งจริยธรรมก็มีชัยชนะเหนือความเคารพนับถือ  โดยเมื่อมีเหตุการณ์ที่มีความขัดแย้งระหว่างสองสิ่งนี้เกิดขึ้น  เราจะให้น้ำหนักกับหลักการจริยธรรมมากกว่าการเคารพนับถือ  ดังเช่น แม้ว่าเราจะเคารพนับถือใครบางคน แต่หากบุคคลผู้นั้นกระทำไม่ถูกต้องตามทำนองครองธรรมหรือขัดแย้งกับหลักจริยธรรมอย่างสิ้นเชิง เราจะนำเรื่องของเขาไปบอกให้ผู้รับผิดชอบทราบและนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามระเบียบ วินัยและกฎหมายต่อไป   แม้ว่าในบางครั้งต้องแลกกับการตัดขาดความสัมพันธ์หรืออาจต้องออกจากงานก็ตาม
สังคมที่ดีนั้นประชาชนต้องมีความเคารพนับถือและจริยธรรมควบคู่กันไป  เฉกเช่นเดียวกันผู้บริหารองค์การหรือผู้บริหารประเทศก็ควรดำรงชีวิตให้ผู้คนเคารพนับถืออย่างจริงใจ โดยมีจริยธรรมเป็นที่ตั้ง  เพราะความเคารพนับถือที่มาจากปัจจัยด้านวัฒนธรรมนั้นอาจสั่นคลอนได้ หากบุคคลขาดเสียซึ่งจริยธรรม       

                

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ