ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ว่าด้วย ความเดือดร้อนของประชาชนคือเหยื่ออันโอชะของ “นักฉวยโอกาส” และ “นักเลี้ยงปัญหา”

ความเดือดร้อนของประชาชนคือเหยื่ออันโอชะของ “นักฉวยโอกาส” และ “นักเลี้ยงปัญหา”
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ทำให้ผมมองว่าแบบแผนความคิดของตัวแสดงทางการเมืองของสังคมไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด  การแข่งขันกันโดยอาศัยความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตทางการเมืองเป็นสิ่งที่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลาย  เราจึงเห็นการช่วยเหลือประชาชนแบบฉาบฉวย แล้วสร้างกระแสข่าวสารอย่างใหญ่โต เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ของความเป็นคนดีที่ไม่ทิ้งประชาชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การใช้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหาเสียงสร้างคะแนนนิยมและเป็นบันไดไต่ไปสู่ความสำเร็จเป็นแบบแผนการปฏิบัติที่นักการเมืองไทยและข้าราชการจำนวนมากใช้เป็นยุทธศาสตร์หลักมาอย่างยาวนาน ด้วยพวกเขาเชื่อว่าวิธีการแบบนี้มีสมรรถนะในการตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้
 เงื่อนไขที่ทำให้แบบแผนการปฏิบัติที่เน้น “การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนแบบฉาบฉวย” กลายเป็นวิธีการที่มีพลังและผู้คนในแวดวงการเมืองและราชการนิยมนำไปใช้กันอยู่เป็นประจำมีอย่างน้อยสามประการคือ ความง่ายในการปฏิบัติ   การได้รับการสนใจจากสื่อมวลชน และการทำให้เกิดภาพลักษณ์ของความเป็นคนดี
 การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนอย่างฉาบฉวยเป็นวิธีการที่กระทำได้โดยง่ายหรือมีความง่ายในการคิดและการปฏิบัติ   เรียกว่าในการนำวิธีการนี้มาทำ  ผู้ใช้แทบจะไม่ต้องใช้สมองมากมายนักในการคิดอะไรที่ซับซ้อนยุ่งยากเพื่อนำไปปฏิบัติ    เพราะว่าความเดือดร้อนเรื่องต่างๆในสังคมไทยที่เกิดขึ้นมักเป็นความเดือดร้อนที่ซ้ำซากและเกิดเป็นประจำแทบทุกปี   จนเราสามารถทำนายได้อย่างค่อนข้างชัดเจนว่า ช่วงเดือนไหนจะมีความเดือดร้อนเรื่องใดเกิดขึ้นบ้าง  และกลุ่มใดบ้างที่มีโอกาสประสบกับความเดือดร้อนดังกล่าว และความเดือดร้อนแต่ละอย่างก็มีวิธีการที่เป็นแบบแผนอยู่แล้วว่า จะสามารถช่วยเหลืออย่างไรได้บ้างในระยะสั้นเพื่อบรรเทาให้ทุเลาลงไป 
ตัวอย่างเช่น ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะมีปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาเกิดขึ้น โดยลักษณะของความเดือดร้อนคือ การมีราคาข้าวเปลือกตกต่ำ   ส่วนวิธีการบรรเทาความเดือดร้อนคือ การที่รัฐบาลหาเงินงบประมาณก้อนหนึ่งเพื่อไปรับซื้อหรือจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงจากชาวนา ซึ่งก็จะทำให้ปัญหาความเดือดร้อนบรรเทาลงไปชั่วขณะหนึ่ง  แต่ในปีนี้มีเหตุการณ์อันน่าประหลาดเกิดขึ้นคือ บรรดานักการเมืองทั้งหลายผสมโรงลงไปซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงด้วย         หรืออย่างปัญหาน้ำท่วม ก็มีแบบแผนที่พอจะทำนายได้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหนบ้าง ส่วนวิธีการแก้ไขที่ใช้กันอยู่บ่อยๆคือ การลดการปล่อยน้ำจากเขื่อน การหาทางระบายน้ำให้เร็วขึ้น และการนำสิ่งของไปแจกจ่ายแก่ผู้ที่ประสบภัย  
ประการที่สอง การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนแบบฉาบฉวยเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวล ซึ่งจะทำให้ผู้ช่วยเหลือได้หน้าและชื่อเสียงอย่างเร็ว   ทำไมสื่อมวลชนจึงให้ความสนใจเรื่องการช่วยเหลือผู้เดือดร้อน  ก็เพราะความเดือดร้อนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกที่แฝงความน่าตื่นเต้นอยู่ภายใน เมื่อคนเห็นผู้อื่นเดือดร้อนก็มักจะเกิดความรู้สึกสงสารและคอยติดตาม คอยลุ้นว่าเมื่อไรที่ผู้เดือดร้อนเหล่านั้นจะได้รับการช่วยเหลือ   ดังนั้นเมื่อใครหรือหน่วยงานใดลงไปช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน ก็มักจะได้รับการประโคมจากสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง จนคนช่วยเหลือกลายเป็นที่รู้จัก และมักจะได้รับการยกย่องว่าเป็นฮีโร่บ้าง คนดีบ้าง คนที่ไม่ทิ้งประชาชนบ้าง
เราจึงเห็นภาพที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้  กล่าวคือเมื่อประชาชนประสบความเดือดร้อนเรื่องใด ก็มักจะมีนักการการเมืองพรรคต่างๆแย่งชิงกระโจนลงไปช่วยเหลือเพื่อให้เป็นข่าว  ใครเร็วกว่าก็จะได้เป็นข่าวก่อน ได้รับความชื่นชมก่อน ส่วนใครช้ากว่าก็ล้าหลัง ได้เป็นข่าวพอประมาณ และอาจถูกมองว่าทำตามผู้อื่นเพื่อไม่ให้ตนเองตกกระแส
ดังในช่วงนี้เราได้เห็นทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ ดารา และหน่วยงานราชการต่างๆ แห่กระโจนโหนกระแสความเดือดร้อนลงไปช่วยซื้อข้าวเปลือกจากชาวนากันอย่างยกใหญ่  บ้างก็นำมาขาย สร้างกระแสต่อเนื่อง  บ้างก็นำมาใช้ในหน่วยงาน  เรียกว่าได้เป็นข่าว ได้หน้าได้ตากันทั่วทุกคน   วิธีการ “ยื่นน้ำดับกระหาย” แล้วแพร่กระจายให้เป็นข่าวเป็นความถนัดของคนไทยจำนวนมากอยู่แล้ว  ส่วนวิธีการแบบ “สร้างบ่อน้ำก่อความมั่นคงทำนองปิดทองหลังพระ”  ซึ่งต้องใช้ปัญญา ความอดทน และต้องทำอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือไม่ค่อยเป็นข่าว เป็นแนวทางที่มีคนจำนวนไม่มากนักนำไปใช้
ประการที่สาม การได้ภาพลักษณ์ความเป็นคนดี  อันเป็นเหตุผลที่สืบเนื่องมาจากการที่สังคมไทยมีความคิดหลักอยู่ประการหนึ่งซึ่งสืบทอดมาอย่างยาวนานตามความเชื่อศาสนาว่า  การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเป็นกุศลอันใหญ่หลวง    หากผู้ใดยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่นในยามเดือดร้อนหรือมีปัญหา  ผู้นั้นจะได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดีและมีพระคุณหรือบุญคุณต่อผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ    ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือก็จะมีภาระเชิงศีลธรรมที่ต้องตอบแทนบุญคุณในภายภาคหน้า ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกำลังที่พอจะทำได้
    ดังนั้นความเป็นคนดีในความคิดของคนไทยส่วนใหญ่คือ คนที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้ช่วยเหลือผู้อื่นในยามเดือดร้อนนั่นเอง  จนกระทั่งมีคนจำนวนไม่น้อยคิดไปถึงขนาดที่ว่า ยิ่งใครช่วยเหลือผู้อื่นในเรื่องที่มีความเดือดร้อนมากเท่าไร ก็ยิ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดีมากเท่านั้น
การยกย่องคนที่มาช่วยเหลือยามเดือดร้อนว่าเป็นคนดี ไม่ใช่วิธีคิดที่ผิดแต่อย่างใด  ทว่าไม่เพียงพอต่อการสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม   ยิ่งกว่านั้นหากให้วิธีคิดแบบนี้ครอบงำจิตใจทั้งหมดในการตัดสินผู้คน กลับจะยิ่งส่งผลร้ายต่อการพัฒนาสังคมและการเมือง
จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยพบว่ามีคนจำนวนมากในหลากหลายวงการ โดยเฉพาะแวดวงทางการเมืองอาศัยวิธีคิดแบบนี้ของคนไทยสร้างประโยชน์ สร้างคะแนนนิยมและใช้เป็นบันไดไต่อำนาจให้แก่ตนเอง    ครั้นเมื่อได้อำนาจแล้วก็ไม่สนใจแก้สาเหตุของปัญหาอันเป็นรากเหง้าที่แท้จริงของความเดือดร้อน  กลับมุ่งแต่จะแก้ไขอาการของปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าเป็นคราวๆไป ประดุจเป็นหมอที่มุ่งรักษาเฉพาะอาการของโรค โดยไม่ให้ความสำคัญกับสมุทัยอันเป็นเหตุแห่งโรคนั้นๆ
เมื่อสาเหตุของปัญหาความเดือดร้อนไม่ได้รับการขจัดออกไป  ความทุกข์ความเดือดร้อนก็จะหวนกลับมาเป็นระยะ ซึ่งทำให้พวกนักฉวยโอกาสทางการเมืองดำเนินการใช้ “ปฏิบัติการนักบุญ” เข้าไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อน เพื่อดำรงรักษาภาพลักษณ์ของความเป็นคนดีของตนให้ดำรงอยู่ต่อไป 
ที่ร้ายกว่านั้น มีคนบางจำพวกไม่ยอมให้ปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนหมดไป พวกนี้เราเรียกว่า “นักเลี้ยงปัญหา”   เมื่อไรก็ตามที่ปัญหาทำท่าว่าจะสามารถแก้ไขหรือถูกขจัดออกไปได้  พวกนักเลี้ยงปัญหาก็ดำเนินการสร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก  เพราะหากปัญหาต่างๆหายไปอย่างถาวร  พวกเขาก็ไม่อาจอาศัยความเดือดร้อนของประชาชนมาสร้างผลงาน สร้างความสำเร็จ และสร้างความเป็นคนดีให้แก่ตนเองได้อีกต่อไป  ซึ่งจะทำให้พวกเขาหมดบทบาท หมดความสำคัญ และหมดทางทำมาหากินลง อันเป็นเรื่องที่พวกเขายอมให้เกิดขึ้นไม่ได้  

ความเดือดร้อนของชาวบ้านจึงกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของพวกนักฉวยโอกาส และนักเลี้ยงปัญหาที่คอยจ้องตะครุบ โดยใช้ปฏิบัติการแบบนักบุญ หนุนกระแส สร้างข่าว  เพื่อสร้างชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของความเป็นคนดี  การรักษาผลประโยชน์และความสำเร็จให้แก่ตนเอง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั