ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ว่าด้วย ปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ


ปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
                ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์ส่วนใหญ่มีความคิดและเชื่อว่าตนเองเป็นเผ่าพันธุ์พิเศษมีอภิสิทธิ์เหนือเผ่าพันธุ์อื่นที่อยู่ในโลกใบนี้ ดังนั้นมนุษย์จึงปฏิบัติต่อธรรมชาติในฐานะที่เป็นทรัพยากรและเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้เกิดความสนุกสนาน  ความพึงพอใจ  ความสะดวกสบาย และความอยู่รอด   การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทำลายล้างจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย  จนในที่สุดก็เกิดผลกระทบย้อนกลับมาคุกคามการอยู่รอดของมนุษย์เอง
                การทำลายล้างธรรมชาติและเผ่าพันธุ์อื่นๆโดยน้ำมือของมนุษย์เกิดขึ้นมากมายนับตั้งแต่มนุษย์ได้สร้างอารยธรรมขึ้นมาในอดีตอันยาวไกลจวบจนถึงปัจจุบัน  จนทำให้เผ่าพันธุ์ของสัตว์และพืชหลากหลายชนิดถูกขจัดจนหายสาบสูญไป  และเมื่อมนุษย์ได้ทำลายล้างธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงตนเองจนหมดสิ้นแล้ว  หายนะก็คืบคลานมาเยือนมนุษย์ และนั่นก็จะทำให้มนุษย์พบชะตากรรมเดียวกับสิ่งที่พวกเขาทำลาย
                มีอารยธรรมหลายแห่งในอดีตพบจุดจบ หายสาบสูญไปด้วยเหตุที่ผู้มีอำนาจและประชาชนในสังคมนั้นร่วมกันทำลายล้างธรรมชาติจนกระทั่งนำไปสู่การล่มสลายของสังคม  และเผ่าพันธุ์หายสาบสูญไป  เหลือเพียงแต่หลักฐานทางวัตถุบางอย่างที่บ่งบอกว่าเคยมีอารยธรรมเช่นนี้ดำรงอยู่ในสังคมมนุษย์  ดังเช่น อารยธรรมของชาวเกาะอีสเตอร์ในมหาสมุทรแปซิฟิก    อารยธรรมเผ่ามายาในทวีปอเมริกากลาง  และอารยธรรมขอมในเอเชีย  เป็นต้น   
                 ในช่วงที่รุ่งเรือง ชาวเกาะอีสเตอร์สามารถสร้างรูปสลักหินอันใหญ่โตจำนวนมากหลงเหลือให้คนรุ่นหลังได้ทราบว่าครั้งหนึ่งในอดีตเคยมีมนุษย์เผ่าพันธุ์หนึ่งที่มีความสามารถสูงและมีโครงสร้างสร้างสังคมที่ซับซ้อนดำรงอยู่ในโลกใบนี้   อะไรคือคำพูดของชาวเกาะอีสเตอร์ที่กำลังโค่นต้นปาล์มต้นสุดท้ายในเกาะ จะใช่  “ต้นไม้สร้างได้ สัตว์ป่าสร้างได้” ดังเช่นผู้มีอำนาจในสังคมไทยปัจจุบันพูดหรือเปล่า ไม่แน่ใจ
                แต่ชุดของวิธีคิดของบรรดามนุษย์ที่นิยมทำลายล้างธรรมชาติทั้งหลาย มักคิดว่ามนุษย์มีความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำลายล้างธรรมชาติได้  หรือ ไม่ก็มีความคิดแบบสุขนิยมปลอบใจตนเองว่า ทรัพยากรธรรมชาติมีมากมายใช้ไม่มีวันหมด และตำหนิผู้อนุรักษ์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติว่าเป็นผู้ถ่วงความเจริญหรือเป็นพวกกระต่ายตื่นตูม
                ปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์เหนือธรรมชาติ ความหยิ่งยโสในสติปัญญาของมนุษย์ว่าจะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดการกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สยบอยู่ภายใต้แบบแผนที่ตนเองกำหนดได้   ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในมายาคติของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยและใช้ชีวิตอย่างประมาทและหากสังคมใดโชคร้ายมีผู้บริหารประเทศวิสัยทัศน์แคบสั้น  มองแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้นมุ่งหวังจะได้รับผลประโยชน์เศรษฐกิจและการเมืองส่วนตนก็ยิ่งทำให้เกิดการกำหนดนโยบายแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันจะนำไปสู่ความหายนะเร็วขึ้น
                ภายใต้ความคิดและการปฏิบัติแบบทำลายล้างธรรมชาติของมนุษย์ในปัจจุบัน   พอล เทย์เลอร์ นักทฤษฎีด้านสิ่งแวดล้อมท่านหนึ่งได้เสนอมุมมองที่แตกต่างออกไปเพื่อกระตุกความคิดและสำนึกของมนุษย์กระแสหลักว่า
1.             มนุษย์เป็นสมาชิกของชุมชนโลกแห่งสรรพชีวิต เฉกเช่นเดียวกับกับสรรพชีวิตอื่นๆทั้งหมด
2.             มนุษยชาติและสรรพชีวิตประกอบด้วยระบบพลวัตรที่มีความเชื่อมโยงและพึ่งพาซึ่งกันและกัน
3.             สิ่งมีชีวิตแต่ละสิ่งมี “สาเหตุศูนย์ของชีวิต” ที่ดำเนินไปเพื่อบรรลุสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง
4.             มนุษย์มิได้มีความเหนือกว่าหรือมีอภิสิทธิ์เหนือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
5.             ดังนั้นสรรพชีวิตไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือพืชต่างก็มีสิทธิในการดำรงชีวิตของตนเองอย่างเท่าเทียมกัน
แม้ว่าแนวคิดของ พอล เทย์เลอร์ดูจะสุดขั้วไปสำหรับคนจำนวนมาก แต่ก็ทำให้เราต้องกลับมาครุ่นคิดและทบทวนถึงความเหมาะสมในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเสียใหม่  และตั้งคำถามว่า การใช้วิธีคิดแบบทำลายล้างธรรมชาติ เพื่อสนองตอบตัณหาและความต้องการทางเศรษฐกิจของมนุษย์อย่างไร้เหตุผลควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ 
ส่วนวิธีคิดที่ว่ามนุษย์จะสามารถสร้างธรรมชาติใหม่ขึ้นมาทดแทนสิ่งที่ถูกทำลายได้นั้นก็เป็นวิธีคิดที่โง่เขลาเบาปัญญา ซึ่งไม่มีหลักฐานและความสมเหตุสมผลทางวิชาการใดรองรับแม้แต่น้อยว่าจะเป็นจริงขึ้นมาได้    สิ่งที่มนุษย์ทำได้อย่างดีที่สุดก็เพียงแค่การเลียนแบบธรรมชาติอย่างฉาบฉวยเท่านั้น  หาใช่ความจริงแท้อย่างที่มันเป็นแต่อย่างใด
ภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง ดินถล่ม สิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบันนั้นล้วนแล้วแต่เกิดจากวิธีคิดแห่งการทำลายล้างธรรมชาติ  มักง่าย ฉ้อฉลเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของกลุ่มผู้มีอำนาจรัฐ นายทุน และชาวบ้านที่ตกอยู่ในวังวนของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสามานย์ทั้งหลาย
                น้ำท่วมในภาคกลางมิใช้เกิดจากการไม่มีเขื่อน หรือมีเขื่อนไม่พอดังที่นักการเมืองที่ไร้วิสัยทัศน์หลายคนคิด ดังนั้นการสร้างเขื่อนจึงมิใช่เป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม
สังคมไทยในอดีตมีการดำเนินการรับมือกับธรรมชาติอย่างอ่อนน้อมและคล้อยตามธรรมชาติ ปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสธรรมชาติ  แม้มีภัยพิบัติใดมาก็ได้รับผลกระทบไม่มากนัก และสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน
แต่เมื่อเราไปรับวิธีคิดของการควบคุมธรรมชาติแบบตะวันตก การมุ่งแต่จะสร้างการเติบโตแบบเศรษฐกิจแบบสิ้นคิด  การขยายสิ่งก่อสร้างโดยขาดการพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศโดยรวม  จนกระทั่งไปขัดขวางหรือทำลายเส้นทางความกลมกลืนของธรรมชาติ   ภัยพิบัติที่เราได้รับนับวันจึงมีแต่จะมากและรุนแรงขึ้น

มีแต่การเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปวิธีคิดจัดความสัมพันธ์กับธรรมชาติเสียใหม่  ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองความรอบคอบ อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ เรียนรู้อดีตอย่างลึกซึ้ง  ใช้การมีส่วนร่วมที่แท้จริงจากทุกภาคส่วน  เพื่อกำหนดแนวทางในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม กลมกลืน ยั่งยืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ผมคิดว่าแนวทางนี้น่าจะเป็นทางออกที่ควรจะได้รับการนำไปพิจารณาอย่างจริงจังสำหรับสังคมไทยต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั