ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

วัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่กับแบบเก่า

วัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่กับแบบเก่า
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เมื่อปลายศตวรรษที่ยี่สิบ (1998) เทอรี่ นิโคลส์ คล๊าก และ วินเซนต์ ฮอฟฟ์แมนน์-มาร์ตินอท ได้ร่วมกันเป็นบรรณาธิการผลิตหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อ วัฒนธรรมการเมืองใหม่ (the new political culture)  ในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็นสามส่วน  ส่วนแรกเป็นกรอบแนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมการเมืองใหม่เพื่อใช้ในการตีความ ว่าอะไรเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนที่ไหน และทำไมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง   ส่วนที่สองเน้นการตอบคำถามว่าวัฒนธรรมการเมืองใหม่อุบัติขึ้นที่ไหนและทำไม   และส่วนที่สาม เกี่ยวกับคำถามที่ว่าพรรคการเมืองและโครงสร้างแบบลำดับชั้นก่อให้เกิดทิศทางใหม่เกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นทางการเมืองและนโยบายอย่างไร   ผมเห็นว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจจึงนำบางส่วนมาถ่ายทอดให้ลองอ่านกันดู  อันจะเป็นประโยชน์ในการนำมาวิเคราะห์ เปรียบเทียบเพื่อทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศไทยต่อไป
ในช่วงสังคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะต้นและกลางศตวรรษที่ยี่สิบ วัฒนธรรมการเมืองของโลกตะวันตกได้รับอิทธิพลจากเรื่องชนชั้นและความขัดแย้งทางชนชั้น  การต่อสู้ทางการเมืองมีการแบ่งเป็นขั้วขัดแย้งอย่างชัดเจนระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา   แต่ในปลายศตวรรษที่ยี่สิบประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวได้เสื่อมพลังลงไป จนแทบไม่สามารถเป็นปัจจัยหลักในอธิบายปรากฎการณ์ทางการเมืองได้อีกต่อไป 
ปรากฎการณ์ทางการเมืองหลายประการที่เป็นภาพสะท้อนของของวัฒนธรรมการเมืองใหม่ได้อุบัติขึ้น ดังตัวอย่าง ในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษที่ 1980s   สัดส่วนของผู้เลือกตั้งอิสระที่ระบุว่าตนเองไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งในสามของผู้เลือกตั้งทั้งหมด   ในช่วงเวลาเดียวกันขบวนการนิเวศวิทยาและพรรคกรีนก็ได้เกิดขึ้นหลังปี 1982    การอุบัติขึ้นของกลุ่มการเมืองที่มีความเชื่อแบบรากฐานนิยมทางศาสนา  และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่เพื่อเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย และการกระจายอำนาจที่เข้มข้นมากขึ้น
ระยะแรกของการเกิดปรากฎการณ์การเมืองเหล่านั้น  บรรดานักวิชาการจำนวนมากไม่ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง  การวิเคราะห์ก็ยังคงใช้แนวคิดแบบเดิมซึ่งไม่เพียงต่อการทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง    แม้ว่าแนวคิดเดิมเช่น การเมืองเรื่องชนชั้น   ระบบอุปถัมภ์  และการจัดช่วงชั้นทางสังคม ยังคงสามารถใช้ทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางการเมืองบางอย่างได้ แต่ไม่เพียงพอต่อการอธิบายและทำความเข้าใจกับปรากฎการณ์ทางการเมืองใหม่ๆที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป
เทอรี่ นิโคลส์ คล๊าก และ โรนัลด์ อิงเกิ้ลฮาร์ท จึงได้ร่วมกันนำเสนอกรอบแนวคิดในการวิเคราะห์วัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ขึ้นมา โดยมีแกนหลักเชิงแนวคิดเจ็ดด้าน ดังนี้
1.           การเปลี่ยนรูปของมิติการเมืองแบบฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา ดั้งเดิม  ในแวดวงทางการเมืองปัจจุบันผู้คนยังคงสนทนาเกี่ยวฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา  แต่ทว่าความหมายแบบเดิมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว    ความเป็นฝ่ายซ้ายในปัจจุบันจะเน้นให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดความสำคัญในประเด็นการเมืองเรื่องชนชั้นลงไป     ในยุโรปตะวันออกความเป็นขั้วค่ายระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาเปลี่ยนแปลงเสียจนกระทั่งไม่เหลือร่องรองของความหมายเดิมในอดีต ที่ตลกร้ายก็คือ ความหมายกลับตรงกันข้ามกับอดีตด้วยซ้ำไป  ซึ่งเห็นได้จากการนิยามการเป็นฝ่ายซ้ายทางการเมืองว่า เป็นกลุ่มที่สนับสนุนกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและการลดบทบาทของรัฐในการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ         แม้ว่าในยุโรปตะวันตกการเปลี่ยนแปลงความหมายจะไม่กลับหัวกลับหางเหมือนฝั่งยุโรปตะวันออก  แต่การเพิ่มบทบาทของรัฐบาลในระบบเศรษฐกิจไม่ได้มีความหมายเท่ากับความก้าวหน้าอีกต่อไป    และแม้กระทั่งในกลุ่มของฝ่ายซ้ายเองประเด็นความขัดแย้งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของและการควบคุมวิถีการผลิตอีกต่อไป
2.           ความแยกอย่างชัดเจนระหว่างประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจ    ประเด็นสังคมได้รับการวิเคราะห์อย่างเข้มข้นภายใต้แนวคิดทฤษฎีที่หลากหลายมากขึ้น มิได้เป็นเพียง “โครงสร้างอุดมการณ์ส่วนบน” หรือ “จิตสำนึกที่ผิดพลาด” เท่านั้น  ดังนั้นจุดยืนต่อประเด็นทางสังคมของประชาชน เช่น  การเพิ่มขึ้นของบทบาทสตรี   นโยบายเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย  นโยบายเกี่ยวกับการทำแท้ง   นโยบายเกี่ยวกับยาเสพติด และการทุจริตคอรัปชั่น  เป็นต้น จึงไม่ใช่ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจหรือชนชั้นแบบเดิมอีกต่อไป   
3.           ประเด็นทางสังคมได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประเด็นทางเศรษฐกิจ  เมื่อประชาชนมีความมั่งคั่งมากขึ้น   ความสนใจเกี่ยวกับคุณภาพของสังคม  ความต้องการได้รับบริการที่มีคุณภาพจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน  การใช้ชีวิตแบบสะดวกสบาย และการมีสุขภาพที่ดีก็มีมากขึ้น 
4.           การเติบโตของปัจเจกชนนิยมแบบตลาดและปัจเจกชนนิยมแบบสังคม    ปัจเจกชนนิยมภายใต้วัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่มิใช่การหวนคืนไปสู่แนวคิดปัจเจกชนนิยมแบบดั้งเดิมที่สนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีแบบตลาดอย่างสุดขั้ว  อีกทั้งยังคัดค้านนโยบายแบบรัฐนิยมของนโยบายฝ่ายซ้ายแบบดั้งเดิม เช่น นโยบายการโอนอุตสาหกรรมเป็นของรัฐและการเติบโตของรัฐสวัสดิการ   วัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่มีการผสมผสานระหว่างเสรีนิยมแบบตลาดกับความก้าวหน้าทางสังคม ซึ่งนำไปสู่การสนับสนุนนโยบายและแผนงานแบบใหม่ และการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ในเกมการเมือง
5.                        การตั้งคำถามกับรัฐสวัสดิการ   ผู้คนที่มีวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่สรุปว่า  “การปกครองที่หมายถึง การวางแผนจากรัฐส่วนกลางเป็นสิ่งที่ไม่สมจริงในการให้บริการทางเศรษฐกิจและสังคม  พวกเขาตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบราชการส่วนกลางในการจัดบริการทางเศรษฐกิจและสังคม  และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน  เพราะมีหลักฐานจำนวนมากที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลส่วนกลางขาดความรับผิดชอบและห่างเหินจากประชาชน  ดังนั้นพวกเขาจึงสนับสนุนการกระจายอำนาจแก่ภาคประชาสังคมและเอกชนหากภาคส่วนเหล่านั้นทำงานได้ดีกว่า
6.           การเกิดขึ้นของการเมืองเชิงประเด็นและการขยายการมีส่วนร่วมทางการเมือง  รวมทั้งการเสื่อมขององค์การทางการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจ        กลุ่มคนที่มีวัฒนการเมืองแบบใหม่จะต่อต้านระบบราชการ พรรคการเมือง และผู้นำทางการเมืองแบบดั้งเดิม      ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ และการเมืองเชิงประเด็นกลายเป็นเนื้อหาสำคัญของกระบวนการทางการเมือง     ขบวนการเหล่านี้สนับสนุนให้รัฐบาลตอบสนองทางตรงมากขึ้นต่อประเด็นปัญหาต่างๆ   พรรคการเมืองในรูปแบบเดิม  หน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติงานตามลำดับชั้นการบังคับบัญชา หรือแม้กระทั่งสหภาพแรงงาน ถูกมองว่าเป็นสิ่งล้าสมัย    พลเมืองที่ชาญฉลาดและนักเคลื่อนไหวทางสังคมปฏิเสธการปฏิบัติที่ทำให้พวกเขาเป็นเสมือน “สัตว์เลี้ยงที่เชื่องๆ”  หรือ  “เป็นผู้ที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์” ซึ่งรอการประทานหรือสั่งการจากพรรคการเมืองและหน่วยงานของรัฐอีกต่อไป
     พวกเขาได้จัดตั้งและเคลื่อนไหวประเด็นใหม่ๆเกี่ยวกับการจัดบริการสวัสดิการของรัฐ เช่น รูปแบบใหม่ในการการดูแลเด็ก หรือผู้สูงอายุ   การดูแลสุขภาพ  หรือ การจัดการสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ     สื่อมวลชนมีการเติบโตมีความสำคัญและสามารถสัมผัสได้มากยิ่งขึ้น  ในสังคมมีกลุ่มใหม่ๆเกิดขึ้นและแสวงหาการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และการนำนโยบายไปปฏิบัติมากขึ้น   กลุ่มเหล่านี้จึงมักได้รับการมองว่าเป็นผู้ก่อกวนสร้างความปั่นป่วน    ความขัดแย้งของกลุ่มเหล่านี้กับบรรดาผู้มีวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่าที่เป็นผู้นำทางการเมืองและยึดติดกับระบบอุปถัมภ์จึงมีแนวโน้มที่จะรุนแรง
7.           ปัจจัยที่ผลต่อการสร้างและขยายวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่     วัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่มีการขยายตัวมากในกลุ่มหนุ่มสาว ผู้มีการศึกษาสูง และปัจเจกบุคคลที่มีฐานะดี    วัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่เกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม  กล่าวคือในทางเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบแนวตั้ง สู่เศรษฐกิจแบบแนวระนาบมากขึ้น  ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ในทางกลับกันเกิดการขยายตัวของอุตสหกรรมเป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของผู้คนในสังคม  ที่มีเทคโนโลยีสูง โดยเฉพาะเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและการบริการ  รวมทั้งประชาชนมีความมั่งคั่งมากขึ้นซึ่งช่วยลดความตึงเครียดของความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของกลุ่มต่างๆในสังคมลงไป       
ด้านสังคม เกิดการลดลงของครอบครัวแบบขยาย และความอ่อนตัวของการเชื่อมโยงระหว่างครอบครอบครัวกับการศึกษาและอาชีพ  ในทางกลับกันการศึกษาของสมาชิกในครอบครัวได้รับจากสื่อมวลชนมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเกิดขึ้นของค่านิยมสมานฉันท์แบบเปิดกว้างที่เน้นความอดกลั้นต่อความแตกต่างมากขึ้น
กล่าวโดยสรุปวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่เป็นสิ่งเกิดขึ้นในโลกทางการเมืองของสังคมตะวันตกและสังคมของประเทศเอเชียที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า จนผู้คนมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลง    สำหรับสังคมไทยเราก็อาจเห็นร่องรอยของกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่อยู่บ้าง  แต่ก็มิใช่เป็นวัฒนธรรมการเมืองหลักของสังคมไทยแต่อย่างใด  ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงจมอยู่ในกระแสของวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่า  
ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมไทยที่เกิดขึ้นในระยะสิบปีที่ผ่านมา  ผมคิดว่า (ซึ่งจะต้องวิเคราะห์กันต่อไป) ส่วนหนึ่งเกิดจากการปะทะกันของวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมทางการเมือง การตรวจสอบอำนาจรวมศูนย์ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ  และการมีพรรคการเมืองแบบใหม่ที่เน้นโครงสร้างแนวระนาบกระจายอำนาจ  กับวัฒนธรรมการเมืองแบบเก่า  ที่เน้นการทำให้ประชาชนกลายเป็น “สัตว์เลี้ยงที่เชื่องๆ” ภายใต้นโยบายประชานิยมของพรรคการเมือง  การขยายกลไกอำนาจรัฐในการควบคุมตลาด (เช่นการจำนำข้าว) การรวมศูนย์อำนาจของพรรคการเมืองในมือของกลุ่มทุนสามานย์   เป็นต้น


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ