ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ว่าด้วย ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง:การเมืองแบบมีส่วนร่วมสำหรับยุคใหม่

ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง:การเมืองแบบมีส่วนร่วมสำหรับยุคใหม่
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
                เมื่อบริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบต่อหลักการ แนวความคิด และทฤษฎีเดิมที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์และใช้เป็นกรอบกำหนดแนวทางปฏิบัติ   เช่นเดียวกันหลักการและแนวคิดประชาธิปไตยในสังคมมนุษย์ซึ่งมีการกำเนิดมาอย่างยาวนาน ก็ย่อมมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สามารถตอบสนองปรารถนาร่วมของประชาชนในการบริหารปกครองสังคมอย่างมีประสิทธิผล
                เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ศาสตราจารย์ เบนจามิน บาร์เบอร์ นักรัฐศาสตร์นามอุโฆษชาวอเมริกัน แห่งมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ได้เขียนหนังสือเรื่อง “ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง:การเมืองแบบมีส่วนร่วมสำหรับยุคใหม่” ขึ้นมา หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1984  ต่อมาตีพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่สองเมื่อปี 1990 และต่อมาพิมพ์เป็นครั้งที่สามในปี 2004     หนังสือเล่มนี้ได้เสนอหลักการใหม่ในการพิจาณาประชาธิปไตยและรับการอ้างอิงจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์อื่นๆที่สนใจเรื่องการเมืองและประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง
                ในหนังสือได้อภิปรายว่า “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ( representative democracy) หรือ “ประชาธิปไตยแบบบางเบา”  (thin democracy) อันมีรากฐานจากความเชื่อเรื่อง “สิทธิของปัจเจกบุคคล”ทำให้บทบาทของพลเมืองในการบริหารปกครองแบบประชาธิปไตยลดลง  อีกทั้งภาวะของการมี “เสรีนิยมแบบล้นเกิน” จะนำไปสู่การทำลายสถาบันประชาธิปไตยด้วย
                ศาสตราจารย์ บาร์เบอร์ชี้ว่า อันที่จริงแล้วปรัชญาเสรีนิยมเป็นแหล่งของการสร้างประชาธิปไตยที่อ่อนแอ   เหตุผลสำคัญคือประวัติศาสตร์และการเมืองมิได้รับการสร้างและพัฒนามาจากประชาชนที่มีภูมิปัญญาและมีข้อมูลข่าวสารสมบูรณ์  ขณะที่ปรัชญาเสรีนิยมกลับมีความเชื่อพื้นฐานว่าประชาชนเป็นผู้เฉลียวฉลาด ทรงภูมิปัญญาและมีข้อมูลข่าวสารครบถ้วน  ซึ่งเป็นความเชื่อเกียวกับมนุษย์ที่คลาดเคลื่อนจากสภาพความเป็นจริงไปมาก  
                หลักการที่ถูกผลิตจากปรัชญาเสรีนิยมมุ่งเน้นไปที่เรื่องของ “สิทธิ”  “เสรีภาพ” และ “ความยุติธรรม” ซึ่งเป็นความคิดที่มีความเชื่อมโยงสอดคล้องและมีเหตุผลที่ดีในโลกทางปรัชญาหรือทางอุดมคติ  แต่ทว่าถูกทำให้แปดเปื้อนมีมลทินจากโลกการเมืองที่เป็นจริงซึ่งมนุษย์ถูกสาปให้อาศัยอยู่
                วิกฤติการณ์ของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมเห็นได้จากการแสดงออกอย่างรุนแรงถึงสภาวะที่เรียกว่า “สังคมได้กลายเป็นสภาวะที่ไม่อาจปกครองได้”   ไม่มีผู้นำ หรือ พรรคการเมือง หรือ ระบบรัฐธรรมนูญแบบใดที่สามารถจัดการกับปัญหาความสับสนอลหม่านของสังคมได้อย่างมีประสิทธิผล
                 มนุษย์สมัยใหม่ได้สร้างสัตว์ประหลาดที่พวกเขาไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป  สัตว์ประหลาดเหล่านั้นได้แก่ เครื่องจักรกล คอมพิวเตอร์ ระบบราชการ  บรรษัทขนาดยักษ์ และรัฐธรรมนูญ    สัตว์ประหลาดเหล่านี้ได้เข้ามาควบคุมวิถีการใช้ชีวิตของมนุษย์โดยความเต็มใจของพวกเขาเอง  และท้ายที่สุดพวกเขาก็ตกเป็นทาสของมัน 
                 ประชาธิปไตยซึ่งมีเป้าหมายในการปลดปล่อยมนุษย์ให้มีอิสรภาพ กลับกลายเป็นเงื่อนไขให้มนุษย์ต้องตกเป็นทาสของระบบ  เมื่อมนุษย์ไม่สามารถบริหารปกครองสังคมได้  แล้วพวกเขาจะคาดหวังจะไปปกครองตนเองได้อย่างไร   และพวกเขาจะร้องขอให้ “ตัวแทน” ปกครองพวกเขาให้ดีได้อย่างไร    
             สภาวะที่ไม่ความสามารถในการบริหารปกครองจะทำให้ผู้นำประเทศซึ่งไร้สามารถและไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศใช้เป็นข้อแก้ตัวสำหรับความผิดพลาดของตนเอง  พวกเขาจะกล่าวว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น”  หรือ ไม่ก็จะกล่าวว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นเกินความสามารถของรัฐบาล”
                หากรัฐบาลไม่สามารถปกครองได้ ประชาชนก็ปฏิเสธการถูกปกครองมากขึ้น   ความแปลกแยกระหว่างประชาชนกับรัฐบาล อำนาจรัฐ และนักการเมืองจึงเป็นตัวบ่งชี้หลักของวิกฤติการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อนักการเมืองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
                ศาสตราจารย์บาร์เบอร์ได้เสนอหลักการประชาธิปไตยแบบใหม่คือ “ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง”  โดยนิยามว่า เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมซึ่งใช้กระบวนการมีส่วนร่วม การออกระเบียบด้วยตนเองและการสร้างชุมชนทางการเมืองที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงปัจเจกบุคคลที่พึ่งพาตัวแทนไปสู่การเป็นพลเมืองที่เป็นอิสระ และเปลี่ยนแปลงการมุ่งเน้นประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
                ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจะเน้นการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมแบบปรึกษาหารือ การตัดสินใจ และการกระทำอย่างยืดหยุ่นของประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อแสวงหาเป้าหมายอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมร่วมกัน    ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจึงมีศักยภาพในการก้าวพ้นข้อจำกัดของประชาธิปไตยแบบตัวแทน และยังรักษาค่านิยมที่สำคัญของประชาธิปไตยอันได้แก่อิสรภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมทางสังคมเอาไว้ด้วย
                กิจกรรมการมีส่วนร่วมของพลเมืองจะให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชนว่า พวกเขาจะก่อรูปทางความคิดต่อประเด็นสาธารณอย่างไรในฐานะที่เป็นพลเมือง ทั้งยังสร้างสำนึกต่อความเป็นสาธารณะและความยุติธรรมในสังคมด้วย
                การเมืองก็จะกลายเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน  เป็นแหล่งเรียนรู้และอบรมบ่มเพาะสภาวะความเป็นพลเมืองให้เข้มแข็งขึ้น  ประชาชนซึ่งครั้งหนึ่งถูกทำให้เป็นผู้ที่เฉื่อยชาหรือผู้ตามโดยประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็จะกลายเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้นและเป็นตัวของตัวเอง
                ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งมิใช่ “การปกครองโดยประชาชน” หรือ “การปกครองโดยมวลชน”   เพราะว่าประชาชนยังไม่ใช่ “พลเมือง” และ “มวลชน” เป็นพียงบุคคลผู้ไม่สามารถปกครองตนเอง   อีกทั้งการมีส่วนร่วมก็ไม่ใช่กิจกรรมแบบสุ่มเสี่ยงทีทำโดยนักฉวยโอกาสทางการเมือง และไม่ใช่กิจกรรมที่ลอกเลียนแบบตามๆกันของผู้ที่ไม่มีความคิด
                สิ่งที่แตกต่างระหว่าง “มวลชน” กับ “พลเมือง” คือ   มวลชนตะโกนส่งเสียงดังรบกวนผู้คน  ขณะที่พลเมืองมีความสุขุมรอบคอบ      มวลชนแสดงพฤติกรรมตามอารมณ์ความรู้สึก  แต่พลเมืองกลับกระทำอย่างมีเหตุมีผล    มวลชนเน้นการปะทะและขัดแย้ง  ทว่าพลเมืองเน้นการมีส่วนร่วม แบ่งปัน และการช่วยเหลือสนับสนุน
                เมื่อไรที่ “มวลชน” เริ่มต้นไตร่ตรองอย่างรอบคอบ กระทำอย่างมีเหตุผล  แบ่งปัน และรู้จักการให้มากกว่าการรับ  พวกเขาก็ยุติการเป็น “มวลชน”   และกลายเป็น “พลเมือง” ขึ้นมา  และเมื่อนั้นพวกเขาก็ทำในสิ่งที่เรียกว่า “การมีส่วนร่วม” เพื่อสังคมอย่างแท้จริง มิใช่การถูกระดมจัดตั้งเข้ามาเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง    
                สิ่งสำคัญสำหรับการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้นในสังคมที่เพิ่งเริ่มต้นพัฒนาประชาธิปไตยคือการสถาปนาเงื่อนไขการให้การศึกษาทางการเมืองที่เหมาะสมแก่ประชาชนเพื่อหล่อหลอมประชาชนให้กลายเป็นพลเมืองที่มีสำนึกของการมีส่วนร่วมและสำนึกต่อส่วนร่วม   การสร้างสถาบันทางการเมือง เช่น พรรคการเมือง องค์กรอิสระ รัฐบาล รัฐสภา โดยปราศจากความพร้อมของสำนึกแห่งความเป็นพลเมือง  สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความไร้ประสิทธิภาพและฉ้อฉลในการทำหน้าที่ของสถาบันเหล่านั้น
                การที่สถาบันทางการเมืองต่างๆจะใช้หลักธรรมาภิบาลเป็นแนวทางปฏิบัติ จนเกิดประสิทธิผลและสร้างประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมได้มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ  การที่ประชาชนในสังคมนั้นยกระดับคุณภาพของตนเองจาก “มวลชน” เป็น “พลเมือง”
                สังคมใดที่คาดหวังว่าจะให้มีเสรีภาพ โดยยังมีประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดข้อมูลข่าวสารและเปี่ยมไปด้วยอวิชชาหรือความไม่รู้   ความคาดหวังนั้นจะไม่มีวันบังเกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงได้
                การทำให้เกิดประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงประชาชนผู้ถูกครอบงำด้วยจิตสำนึกแห่งการพึ่งพานักการเมือง และจิตสำนึกที่ผูกติดกับผลประโยชน์ส่วนตน  ไปสู่จิตสำนึกแห่งการพึ่งพาตนเอง  การแบ่งปันแก่ผู้อื่น และการมีจิตสาธารณะ
                สังคมใดที่ประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงตนเองจาก “มวลชน” เป็น “พลเมือง” แล้ว  ย่อมจะปราศจากนักการเมืองและผู้บริหารประเทศที่ยอมรับต่อสาธารณะอย่างหน้าชื่นตาบานว่า “ตนเองเป็นขี้ข้า” ของผู้อื่น โดยเฉพาะการเป็นขี้ข้าของอาชญากรหนีคุก

                แต่หากสังคมใดที่ประชาชนส่วนมากยังเป็น “มวลชน” ที่ถูกระดมจัดตั้งเพื่อมาเป็นเครื่องมือสำหรับการเข้าสู่อำนาจและการรักษาอำนาจทางการเมืองให้แก่นายทุนและชนชั้นนำทางการเมือง   ประชาธิปไตยในสังคมนั้นย่อมเป็นประชาธิปไตยที่อ่อนแอ และในท้ายที่สุดก็จะแปรสภาพเป็นประชาธิปไตยสามานย์  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั