ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ความมีสติและการใช้อารมณ์ในสังคม


ความมีสติและการใช้อารมณ์ในสังคม
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาที่มีหลักการสำคัญหลายอย่างในการควบคุมอารมณ์และความปรารถนา  หลักการสำคัญประการหนึ่งคือการใช้ “สติ” ในการคิด พูด และทำ  ศาสนาพุทธได้มีคำสอนเกี่ยวกับ “การเจริญสติ” อยู่หลากหลายวิธี โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนา “สติ” ให้มีความเข้มแข็ง
ภาวะการมีสตินั้นตรงกันข้ามกับภาวะหุนหันพลันแล่น  การมีสติเป็นภาวะที่บุคคลตระหนักรู้อย่างกระจ่างชัดว่าตนเองกำลังคิด พูด และกระทำอะไร  และรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีฐานคิดหรือหลักการสำคัญอย่างไร  รวมทั้งผลสืบเนื่องที่ตามมาคืออะไร  คนที่มีสติเข้มแข็งจะมองสถานการณ์ที่กำลังเขาเผชิญหน้าอย่างเข้าใจ  สามารถรับมือได้อย่างเยือกเย็น และตอบสนองได้อย่างเหมาะสม
คนที่มีสติเข้มแข็งจะตระหนักว่า  พวกเขามีทางเลือกในการปฏิบัติ   พวกเขาสามารถเลือกตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เข้ามากระทบได้  และมองเห็นว่าทางเลือกแต่ละทางที่ใช้ในการตอบสนองนั้น จะมีผลที่สืบเนื่องต่อตัวเขา ผู้อื่น และสังคมอย่างไร
การเข้าใจตนเอง เข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่ง เข้าใจความเป็นไปของสังคม และเข้าในพฤติกรรมของมนุษย์เป็นคุณสมบัติสำคัญของคนที่มีสติเข้มแข็ง  ซึ่งจะช่วยให้เขาเลือกใช้ทางเลือกที่เหมาะสมในการกระทำยิ่งขึ้น  หากคนมีสติเข้มแข็งเป็นผู้บริหารประเทศ เขาก็จะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าธรรมชาติของกลุ่มต่างๆในสังคมเป็นอย่างไรและมีความต้องการอะไรบ้าง   ซึ่งจะทำให้เขาสามารถเลือกตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง การกระทำ หรือคำถามจากกลุ่มต่างๆได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์
ไม่ใช่ว่าคนที่มีสติเข้มแข็งจะเป็นคนที่ไร้อารมณ์เสียทีเดียว  พวกเขายังคงมีอารมณ์เหมือนคนอื่นๆ แต่พวกเขาเข้าใจและตระหนักรู้ถึงอารมณ์ของตนเองได้เป็นอย่างดี   เมื่อมีความโกรธ พวกเขาก็รู้ว่าตนเองกำลังโกรธ  เมื่อกลัวก็รู้ว่าตนเองกำลังกลัว  ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้   คนมีสติเข้มแข็งสามารถกำราบอารมณ์ด้านลบของตนเองให้สงบและจางหายไป   ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาอารมณ์ทางบวกขึ้นมา โดยเฉพาะอารมณ์เมตตา กรุณาและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมโลก  คนที่มีสติเข้ฒแข็งจึงเป็นคนที่มี “วุฒิภาวะทางอารมณ์สูง”
                การที่สามารถตระหนักรู้ถึงธรรมชาติของสังคมและพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้คนมีสติเข้มแข็งมีความอดกลั้นต่อความแตกต่างทางความเชื่อและวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี     พวกเขาปราศจากอคติและความรังเกียจต่อคนอื่นๆที่มีความเชื่อทางการเมือง ศาสนา เชื้อชาติ และความเชื่อทางสังคมอื่นๆที่แตกต่างจากตนเอง  ตราบใดที่ผู้มีความเชื่อเหล่านั้นไม่กระทำการที่เป็นภยันตรายต่อมนุษยชาติ    
ส่วนภาวะหุนหันพลันแล่นคือสถานการณ์ที่บุคคลมีสติอ่อนแอ และใช้อารมณ์ด้านลบเป็นฐานในการขับเคลื่อนการคิด การพูด และการทำ   เพื่อตอบสนองความปรารถนาของตนเอง และตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกที่มากระทบตามอารมณ์ของตนเอง  โดยมิได้คำนึงถึงผลสืบเนื่องที่ตามมา
อารมณ์ด้านลบมีหลายแบบ อารมณ์ที่เป็นพื้นฐานคือความโกรธ ความกลัว ความเกลียดชัง ความโลภ ความหลง และความหดหู่   อารมณ์ด้านลบเกิดจากที่คนมีความคิดโดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง มีแรงปรารถนาที่จะครอบครองหรือเป็นเจ้าของสรรพวัตถุและชีวิตอย่างรุนแรง  พวกเขาจึงโกรธเมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนาหรือมีคนทำอะไรที่กระทบกับตัวตนของพวกเขา   ด้วยความรู้สึกที่อยากเป็นเจ้าของ พวกเขาจึงแสวงหาสิ่งต่างๆมาครอบครองให้มากที่สุด และกลัวการสูญเสียในสิ่งที่คิดว่าตนเองมี  และหากมีการสูญเสียที่พวกเขาไม่อาจทำอะไรได้ พวกเขาก็จะหดหู่ เศร้าหมองอย่างยาวนาน
อารมณ์ด้านลบเป็นสาเหตุของปัญหาสังคมนานับประการ เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงและบั่นทอนความสงบสุขของสังคม   สังคมใดก็ตามที่คนจำนวนมากในสังคมแสดงพฤติกรรมและกระทำโดยใช้อารมณ์ทางลบเป็นหลัก สังคมนั้นย่อมไม่ใช่สังคมที่ดี
ในสังคมไทยอารมณ์ด้านลบดำรงอยู่ไม่น้อยและถูกผลิตซ้ำโดยกลุ่มคนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีบทบาทนำทางสังคม   ผนวกกับในปัจจุบันช่องทางการเผยแพร่ก็มีเป็นจำนวนมาก มีความรวดเร็ว และครอบคลุมทั่วทั้งสังคม ทั้งยังสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ใครก็ทำได้   ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งทำให้อารมณ์ทางลบระบาดอย่างรวดเร็วและมีความแข็งแกร่งขึ้น  ในทางกลับกันก็จะส่งผลให้ “การมีสติ” อ่อนแอลง
อย่างในปัจจุบัน ความโลภหรือความอยากได้ใคร่มีอย่างรุนแรงกลายเป็นอารมณ์หลักของสังคม เพราะถูกขับเคลื่อนโดยผู้นำทางการเมือง นักธุรกิจชั้นนำ ข้าราชการระดับสูง และดารานักแสดงจำนวนมาก  สถานการณ์ที่ดำรงอยู่คือผู้คนส่วนมากอยากร่ำรวยและอยากครอบครองวัตถุสิ่งของโดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่ได้มาของเงิน  จนนำไปสู่ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การใช้ความรุนแรง การค้ายาเสพติด  การพนันเล่นหวย  การฉ้อฉลหลอกลวง และอาชญากรรมอื่นๆอีกมากมาย
หรืออย่างเรื่องความโกรธ ความเกรี้ยวกราด ก็เช่นเดียวกัน  ผู้นำประเทศยุคปัจจุบันก็แสดงอารมณ์แบบนี้บ่อยครั้ง และบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมวงการอื่นๆจำนวนไม่น้อยก็พลอยผสมโรงเติมเชื้อเพลิงของความโกรธและความเกลียดชังลงไปสู่สังคมอย่างขาดสติ  การแพร่กระจายของอารมณ์แบบนี้นำไปสู่การเพิ่มและการขยายของความรุนแรง  และทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติไปในที่สุด    สังคมใดที่ความรุนแรงกลายเป็นสิ่งที่มีความชอบธรรม   สังคมแบบนั้นย่อมเป็นสังคมที่ไม่ปกติ
หากเรามีเป้าประสงค์ให้สังคมไทยในอนาคตเป็นสังคมที่ดีและมีความสงบสุข  เราจำเป็นจะต้องทำให้คนในสังคม “มีสติเข้มแข็ง”    ต้องทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจวิธีการและมีการปฏิบัติเพื่อเจริญสติและพัฒนาอารมณ์ด้านบวกอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง  ขณะเดียวกันก็ต้องมีสมรรถนะในการจัดการกับอารมณ์ด้านลบอย่างมีประสิทธิผลด้วย
บรรดากลุ่มผู้นำ และผู้มีสถานภาพและบทบาทสูงในวงการต่างๆของสังคมต้องรู้จักระงับและควบคุมอารมณ์โกรธ อย่าได้แสดงต่อสาธารณะ  อย่างนายกรัฐมนตรี  ไม่ว่านักข่าวถามคำถามแบบใด ก็ควรตอบไปตามเนื้อหาด้วยอารมณ์ที่สงบเยือกเย็น โดยมีฐานคิดว่าธรรมชาติของนักข่าวคือ ความสงสัยและการตั้งคำถาม หากคิดว่านักข่าวมีธรรมชาติแบบนี้ ก็จะสามารถควบคุมอารมณ์โกรธเอาไว้ได้  แม้ว่าคำถามบางข้อจะดูเหมือนเป็นการท้าทาย ไม่เชื่อใจ หรือไม่ไว้วางใจ ก็ตาม    และเมื่อใดที่มีอารมณ์โกรธขึ้นมา ก็ให้รู้ว่ากำลังโกรธ และพิจารณาดูความเป็นอนิจจังของอารมณ์ดังกล่าวให้ชัดเจน  อารมณ์โกรธก็จะหายไปเอง
ผู้มีสถานภาพทางสังคม ทั้งดารา ศิลปิน หรือผู้มีชื่อเสียง อื่นๆก็เช่นเดียวกัน พึงระวังอย่างยิ่ง ในการพูดหรือเขียนข้อความใดลงไปในสื่อของตน   ระวังอย่าให้อารมณ์โกรธเป็นสิ่งขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ความรุนแรง    
นอกจากการจัดการความโกรธแล้ว  การใช้สติระงับความโลภก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  ผู้นำของบางประเทศแสดงให้สาธารณะเห็นถึงการใช้สติระงับความโลภได้เป็นอย่างดี  โดยมีการเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย สมถะ และประหยัด  ในสังคมไทยหากผู้นำประเทศ ผู้นำราชการ ผู้นำทางธุรกิจ และผู้นำทางสังคม ดำเนินชีวิตโดยใช้สตินำความโลภ และแสดงให้สังคมเห็นเป็นประจักษ์ว่า การดำรงชีวิตและการปฏิบัติงานดำเนินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง  ก็อาจทำให้อารมณ์โลภของคนในสังคมบรรเทาเบาบางลงไปได้บ้าง
การพัฒนาความเข้มแข็งของสติและอารมณ์เชิงบวกของผู้คนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สังคมมีความสงบสุขและเกิดความปรองดอง   แต่สิ่งเหล่านี้จะดำเนินการได้อย่างมีพลังขับเคลื่อนสูง   บรรดาผู้นำทั้งหลายในทุกวงการและทุกระดับของสังคมต้องทำตัวเป็นแบบอย่างครับ

   

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั