ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ว่าด้วย คนไทยดิจิตอล 4.0 VS คนไทยจริยธรรม 5.0

                                      คนไทยดิจิตอล 4.0 VS คนไทยจริยธรรม 5.0
                                                                              พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เห็นการประชาสัมพันธ์เรื่องประเทศไทย 4.0  และคนไทย 4.0  โดยเชื่อมโยงการพัฒนาประเทศกับระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีดิจิตอลแล้ว  ผมคิดว่าสิ่งที่สังคมไทยต้องการพัฒนาควบคู่ไปด้วยคือการพัฒนาเพื่อยกระดับเหตุผลทางจริยธรรมเชิงปฏิบัติของสังคมไทยให้สูงขึ้น เพราะการเป็นมนุษย์เศรษฐกิจหรือ “มนุษย์ดิจิตอล” อย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างมีสันติสุข  จำเป็นอย่างที่จะต้องพัฒนาสังคมไทยและคนไทยให้เป็นมีจริยธรรมควบคู่กันไป ซึ่งตัวแบบจริยธรรมที่จะเสนอถัดไปนี้ผมขอเรียกว่า “ตัวแบบมนุษย์จริยธรรม 5.0”    
ตัวแบบมนุษย์จริยธรรม 5.0 เป็นตัวแบบที่ผมเขียนขึ้นมาโดยนำแนวคิดพัฒนาการเหตุผลทางจริยธรรมของนักวิชาการชื่อ ลอเรนซ์ โคลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg) ผสมผสานกับแนวคิดของนักปรัชญา จริยศาสตร์สำนักอรรถประโยชน์นิยมอย่าง จอห์น สจวร์ต มิลล์ (John Stuart Mill)  และแนวคิดนักปรัชญาสำนักกรณียธรรมหรือเจตจำนงแห่งหน้าที่อย่าง อิมมานูเอล คานท์ ( Immanuel Kant)  แต่ในที่นี้จะเขียนแบบง่ายๆไม่ซับซ้อนมากนัก เอาเป็นแบบพอเข้าใจครับ
เริ่มต้นจากเหตุผลทางจริยธรรมของการกระทำในระดับต่ำสุด ซึ่งมนุษย์จะแสดงพฤติกรรมหรือกระทำโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ตัวเองและเอาตัวเองเป็นใหญ่  ผมเรียกคนแบบนี้ว่า “มนุษย์จริยธรรม 1.0”  มนุษย์พวกนี้จะแสดงพฤติกรรมด้วยเหตุผลที่พวกเขาคาดหวังว่าจะได้รับตอบแทนจากสิ่งที่เขากระทำ    การกระทำที่ถูกต้องสำหรับคนพวกนี้คือ การกระทำที่ส่งผลให้พวกเขารับรางวัลหรือตอบสนองสนองความพอใจของตนเองได้  ส่วนการกระทำที่ผิดคือ การกระทำที่ส่งผลให้ต้องถูกลงโทษ  พวกเขาจะไม่รับรู้ว่าสังคมมีกฎเกณฑ์เชิงคุณธรรมดำรงอยู่ พวกเขากระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับรางวัล หรือตอบสนองความต้องการของตนเอง และหลีกเลี่ยงการลงโทษเป็นหลัก
การพัฒนาการเหตุผลเชิงจริยธรรมของคนบางคนอาจมีปัญหาได้ หากในวัยเด็ก เขาได้รับรางวัลแต่เพียงอย่างเดียวไม่ว่าจะแสดงพฤติกรรมแบบใดก็ตาม และไม่เคยถูกลงโทษจากการกระทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเลย คนแบบนี้ก็จะเรียนรู้ว่าการกระทำของตนเองถูกต้องทุกอย่าง และนับวันก็ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นของการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลมากขึ้น 
หากใครมีประสบการณ์แบบนี้จากวัยเด็กต่อเนื่องจนเป็นผู้ใหญ่ จะทำให้เขาไม่สามารถแยกแยะได้ว่า การกระทำใดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการกระทำใดเป็นสิ่งที่ผิดจริยธรรม  พวกเขามีแนวโน้มกระทำตามความพึงพอใจของตนเองเป็นหลัก  โดยไม่สนใจว่าพฤติกรรมของตนเองจะสร้างผลกระทบหรือสร้างความเสียหายแก่บุคคลหรือสังคมอย่างไร
ปัญหาสังคมจำนวนมากเกิดจากคน ซึ่งชีวิตในวัยเด็กถูกเลี้ยงดูโดยการปล่อยปละละเลย หรือถูกเลี้ยงดูแบบตามใจ โดยไม่ได้รับการกล่อมเกลาหรือสั่งสอนอย่างเหมาะสมจากครอบครัวหรือผู้เลี้ยงดู และหากบังเอิญว่า คนผู้นั้นไปทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณะ ศักยภาพในการสร้างปัญหาต่อสังคมก็ยิ่งมากตามไปด้วย
สำหรับคนส่วนใหญ่ของสังคมที่ได้รับการกล่อมเกลาทางจริยธรรมในช่วงวัยเด็ก ก็จะมีการพัฒนาเหตุผลทางจริยธรรมสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง นั่นคือการกระทำเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้อื่นตั้งแต่คนในครอบครัว ผู้เลี้ยงดู กลุ่มเพื่อนและครูที่โรงเรียน ซึ่งผมเรียกว่า “มนุษย์จริยธรรม 2.0”
มนุษย์จริยธรรม 2.0 จะสังเกตว่าคนรอบข้างคาดหวังให้เขาแสดงพฤติกรรมอะไรบ้าง  จากนั้นเขาก็แสดงพฤติกรรมตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของครอบครัว กลุ่ม และสังคม  คนเหล่านี้พยายามทำตัวเป็นคนดี โดยยึดมาตรฐานการปฏิบัติที่พวกเขาเรียนรู้จากครอบครัว โรงเรียน วัดหรือโบสถ์  บุคคลที่พัฒนาเหตุผลทางจริยธรรมในระดับนี้จะยึดว่า การกระทำที่ถูกต้องทางจริยธรรมคือ การกระทำที่ตอบสนองความคาดหวังของผู้อื่น โดยเฉพาะคนใกล้ชิด หรือคนที่มีอิทธิพลสูงต่อชีวิตเขา
ศูนย์กลางจักรวาลของมนุษย์จริยธรรม2.0 คือ ครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน  หากสังคมใดที่คนส่วนใหญ่ในสังคมพัฒนาเหตุผลทางจริยธรรมเพียงในระดับนี้ และหยุดชะงักไม่พัฒนาต่อในระดับที่สูงขึ้น สังคมนั้นจะเปี่ยมไปด้วยระบบอุปถัมภ์ การเล่นพรรคเล่นพวกจะแพร่หลาย  ความเกรงใจจะกลายเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมหลักที่คนส่วนใหญ่ยึดถือ ผู้คนจะระมัดระวังการกระทำ โดยพยายามไม่สร้างความขุ่นข้องหมองใจ หรือทำให้คนใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนฝูงผิดหวัง   การกระทำใดที่ทำให้ผู้ใกล้ชิดผิดหวังมักถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง  
แต่หากสังคมใดที่คนส่วนใหญ่พัฒนาเหตุผลทางจริยธรรมขึ้นไปอีกระดับหนึ่งโดยเรียนรู้เชื่อมโยงเหตุผลทางจริยธรรมไปสู่สาธารณะ พวกเขาก็จะพบและตระหนักว่า ในสังคมมีอำนาจและระเบียบสังคมบางอย่างที่อยู่นอกเหนือครอบครัว กลุ่มเพื่อน และโรงเรียน  พวกเขาจะเรียนรู้และเข้าใจถึงความหมายของการเป็น “พลเมืองดี” (good citizen) และเข้าใจความสำคัญของการปฏิบัติตามแบบแผน/ธรรมเนียมของสังคม ความคิดเกี่ยวกับ “หน้าที่” (duty) และ การยึดมั่นในความดี/ความถูกต้อง (honor) เป็นคุณธรรมสำคัญที่บุคคลพึงปฏิบัติ
ศูนย์กลางทางความคิดเชิงจริยธรรมของคนเหล่านี้ได้เคลื่อนตัวไปเชื่อมโยงกับกฎหมายและธรรมเนียม/บรรทัดฐานของสังคม  การกระทำที่ที่และถูกต้องคือการกระทำในสิ่งที่กฎหมายและกฎเกณฑ์ของสังคมโดยรวม ส่วนการกระทำที่ผิดคือคือการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย หรือละเมิดกฎเกณฑ์ หรือแบบแผนการปฏิบัติที่สังคมยึดถือร่วมกัน  ขอเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “มนุษย์จริยธรรม 3.0”
สังคมใดที่คนส่วนใหญ่พัฒนาเหตุผลทางจริยธรรมมาถึงระดับนี้จะเป็นสังคมที่ผู้คนจะปฏิบัติโดยยึดระเบียบกฎหมาย เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม และมีวินัย การบังคับใช้กฎหมายก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง  ขณะที่พฤติกรรมการทุจริตคดโกง การหลอกลวง การขโมย การทำร้ายผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและจริยธรรมจะมีแนวโน้มลดลง 
ในสังคมมีบุคคลบางคนส่วนสามารถพัฒนาเหตุผลทางจริยธรรมสูงขึ้นไปอีกระดับ โดยตระหนักถึงประโยชน์ของสังคมส่วนรวม และมองว่ามนุษย์มีสิทธิและเสรีภาพเสมอเหมือนกัน  เหตุผลทางจริยธรรมที่พวกเขายึดถือคือการกระทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคม  และพวกเขาเชื่อว่าบุคคลมีเสรีภาพในการกระทำสิ่งใด ตราบเท่าที่การกระทำนั้นไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น  รวมทั้งตระหนักว่ากฎหมายย่อมเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม  คนกลุ่มนี้เป็น “มนุษย์จริยธรรม 4.0”
ยิ่งกว่านั้น มีความเป็นไปได้ว่าบางสังคม บุคคลบางกลุ่มสามารถพัฒนาเหตุผลทางจริยธรรมขึ้นไปสู่ขั้นสูงสุด พวกเขาจะกระทำสิ่งใดโดยยึดหน้าที่ตาม “กฎทางจริยธรรม” ที่ตนเองตั้งขึ้นมาภายใต้ความเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยกฎจริยธรรมนี้จะไม่ขึ้นกับระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม ความปรารถนาและผลประโยชน์ของตนเอง  กฎทางจริยธรรมได้รับการตั้งขึ้นมาโดย “การใช้เหตุผลเชิงปฏิบัติอย่างบริสุทธิ์” ซึ่งเป็นเหตุผลที่ตั้งใจให้กฎจริยธรรมที่เขาตั้งเป็น “กฎสากล” ที่ทุกคนปฏิบัติร่วมกันและเป็นกฎที่ “ยึดมนุษย์เป็นเป้าหมายในตัวเอง” โดยตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์เท่ากันทุกคนในฐานะที่เป็นมนุษยชาติซึ่งมีศักยภาพในการใช้เหตุผลเหมือนกัน คนกลุ่มนี้คือ “มนุษย์จริยธรรม 5.0”   
มนุษย์จริยธรรม5.0 จะไม่ยอมรับการกระทำใดที่ใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะโดยรัฐหรือปัจเจกบุคคล หรือ แม้กระทั่งตัวเขาเองก็ไม่สามารถใช้ตัวเองเป็นเครื่องมือได้   พวกเขาไม่ยอมรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าการกระทำแบบนั้นจะเป็นไปเพื่อความสุขของคนส่วนใหญ่ หรือเพื่อความมั่นคงของชาติ หรือในนามของสิ่งอื่นใดก็ตาม
สังคมใดที่มีคนส่วนใหญ่พัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรมถึงระดับนี้ จะเป็นสังคมที่อยู่บนฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน  ผู้คนจะมีการปฏิบัติต่อกันอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น สังคมจะดำรงอยู่อย่างสงบสันติ และมนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ โดยมีมนุษยชาติเป็นศูนย์กลางนั่นเอง
สำหรับสังคมไทยนั้นผมคิดว่า คนส่วนใหญ่ยังมีการพัฒนาเหตุผลทางจริยธรรมอยู่ในระดับเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางหรือระดับมนุษย์จริยธรรม 1.0  ผสมกับการเอาครอบครัวเพื่อนพ้องเป็นศูนย์กลางหรือมนุษย์จริยธรรม 2.0   มีบุคคลเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เริ่มใช้กฎหมายและระเบียบของสังคมเป็นศูนย์กลางหรือระดับมนุษย์จริยธรรม 3.0   ส่วนบุคคลที่กระทำโดยยึดผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือมนุษย์จริยธรรม 4.0 ก็มีไม่มากนัก  และบุคคลที่ยึดมนุษยชาติเป็นศูนย์กลาง หรือมนุษย์จริยธรรม 5.0นั้นมีน้อยเป็นอย่างยิ่ง
ผมเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรประโคมโหมการพัฒนาประเทศไทยและคนไทยให้เป็นมนุษย์เศรษกิจ 4.0 แต่เพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้สังคมไปไม่รอดและยิ่งนำความเสื่อมทรามทางจริยธรรมมากขึ้น และจะยิ่งทำให้คนไทยติดอยู่ในกับดักแต่เพียงมนุษย์จริยธรรม1.0 และ 2.0 เท่านั้น   รัฐบาลควรมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจริยธรรมของสังคมไทยขึ้นมาอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายยกระดับมนุษย์จริยธรรมให้สูงขึ้น อย่างน้อยก็น่าจะเป็นระดับ 3.0 และหากทำได้จนไปถึงระดับ 4.0 และ 5.0 ก็ยิ่งดี
   เริ่มที่คณะรัฐมนตรีและสนช.ก่อนก็ได้ โดยให้พัฒนาตนเองเพื่อข้ามพ้นจากจริยธรรมแบบเอาตัวเองและพวกพ้องเป็นศูนย์กลาง ไปสู่จริยธรรมแบบการยึดกฎหมาย ระเบียบสังคม และผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นศูนย์กลางของการกระทำให้ได้ครบทุกคนภายใน 2-3 ปีนี้   สำหรับจริยธรรมขั้นสูงสุดซึ่งยึดมนุษยชาติเป็นศูนย์กลางนั้น ก็ค่อยๆพัฒนาต่อไปในระยะยาว

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ