การเมืองเรื่องการปฏิรูปและปรองดองกับคำถามเรื่องชีวิตและสังคมที่ดี
พิชาย
รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ทุกวันนี้การถกเถียงทางการเมืองของสังคมไทยหมุนวนอยู่ในเรื่องของการปฏิรูปและการปรองดอง
บุคลากรและงบประมาณจำนวนมหาศาลของประเทศถูกใช้ไปเพื่อทำงานในเรื่องเหล่านี้ คณะกรรมการหลากหลายชุดถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาแสวงหาแนวทาง
ยุทธศาสตร์และมาตรการสำหรับการปฏิรูปและปรองดอง แต่ละชุดก็มีผลผลิตที่ได้มีการจัดพิมพ์และเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ
แต่ทว่าการยอมรับและการนำไปปฏิบัติกลับมีน้อยยิ่งนัก
การปฏิรูปเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาวะเดิมที่เราคิดว่าเป็นปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง
ไปสู่สภาวะใหม่ที่เราคาดหวังว่าจะทำให้ปัญหาเดิมคลี่คลายลง แต่การทำเช่นนี้อาจทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้นก็ได้
เพราะว่าในสังคมมีกลุ่มคนหลากหลายกลุ่มซึ่งได้รับประโยชน์และพึงพอใจอยู่กับสภาวะหรือปัญหาเดิม หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นย่อมทำให้คนกลุ่มนี้สูญเสียผลประโยชน์บางส่วนไป
และนั่นจะนำไปสู่การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงได้
สภาวะเดิมอะไรบ้างของสังคมที่ได้รับการมองว่าเป็นปัญหาขึ้นอยู่กับความคิดร่วมของคนในสังคมว่าอะไรคือสังคมที่ดีและอะไรคือชีวิตที่ดี คำถามคือความคิดร่วมของคนในสังคมมาจากไหน
และหากมีความคิดร่วมอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
จะมีหลักประกันอะไรว่าความคิดดังกล่าวจะได้รับการยอมรับจากคนทั้งหมดของสังคม
อันที่จริงคำถามในลักษณะนี้มีมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
และมีความแตกต่างกันในแต่ละสังคม
และแม้กระทั่งในสังคมเดียวกันความคิดเกี่ยวกับชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีก็ยังแตกต่างกันตามกาลเวลาอีกด้วย
ในอดีตของหลายประเทศ
กลุ่มคนที่เป็นผู้กำหนดว่าชีวิตที่ดีคืออะไรมักจะเป็นกลุ่มนักบวช
ส่วนผู้ที่เสนอสังคมที่ดีในเชิงอุดมคติคืออะไรมักจะเป็นนักปราชญ์ แต่สำหรับการกำหนดคุณลักษณะของชีวิตที่ดีและสังคมที่ดี
ซึ่งถูกนำไปเชิงปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันของผู้คนมักจะเป็นดำเนินการโดยนักปกครองของประเทศเหล่านั้น ซึ่งพวกเขามักจะกำหนดว่า
ลักษณะของชีวิตที่ดีคือ การที่สามารถเสพสุขจากกามสัมผัสทั้งห้า
และการครอบครองทรัพย์สินเงินทองจำนวนมหาศาล ทั้งยั้งสามารถสืบทอดไปยังลูกหลานของตนเองได้
แต่ก็เป็นที่แน่นอนว่าลักษณะชีวิตที่ดีเช่นนี้จำกัดแต่เฉพาะในกลุ่มของนักปกครองเท่านั้น ส่วนชีวิตที่ดีของประชาชนที่อยู่ภายในสังคมแบบนั้นถูกนิยามอีกแบบหนึ่งนั่นคือ
ต้องใช้ชีวิตอย่างสมถะ มีความซื่อสัตย์ภักดีต่อนักปกครอง และพร้อมที่จะเสียสละชีวิตของตนเองเพื่อปกป้องให้นักปกครองและเครือญาติให้มีความสุขและอำนาจสืบต่อไป ส่วนสังคมที่ดีได้ถูกนิยามว่า ต้องเป็นสังคมที่เอื้อประโยชน์เปิดโอกาสต่อการดำรงอำนาจ
และสืบทอดอำนาจของนักปกครองและลูกหลานของพวกเขา
หลายประเทศได้ปฏิบัติตามนิยามของชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีดังกล่าวเป็นเวลานับศตวรรษ
แต่ต่อมาได้มีการถกเถียงทางปรัชญาและการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงคำนิยามของชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีทั้งในระดับความคิดเชิงอุดมคติและการปฏิบัติทางการเมืองสังคมที่เป็นจริง ในโลกยุคสมัยใหม่นักปรัชญาหลายคนได้เสนอว่าชีวิตที่ดีต้องมีขอบเขตที่ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม
มิใช่จำกัดแต่นักปกครองส่วนน้อยดังในอดีตอีกต่อไป
แต่สำหรับเนื้อหาของการมีชีวิตที่ดีนั้นกลับมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตไม่มากนักนั่นคือ
การสามารถเสพสุขจากกามสัมผัสทั้งห้าอันได้แก่ ได้กินอาหารอร่อยอิ่มท้องอย่างต่อเนื่อง
ได้สัมผัสและมีความสุขทางเพศ ได้ยินเสียงดนตรีอันไพเราะตามรสนิยมที่ชอบ
ได้ดูหนังดูละคร อ่านหนังสือนวนิยาย และท่องเที่ยวตามที่ต้องการ
และการได้รับกลิ่นที่ชวนอภิรมย์จากน้ำหอมและมวลดอกไม้
การมีชีวิตที่ดีในยุคสมัยใหม่ยังรวมไปถึงการได้ทำงานในอาชีพที่ตนเองชอบ
การครอบครองทรัพย์สินเงินทอง มีบ้านเป็นของตนเอง
เป็นเจ้าของเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายในชีวิตประจำวัน
รวมทั้งการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้าง
มิติการนิยามชีวิตที่ดีนอกเหนือจากองค์ประกอบพื้นฐานข้างต้นแล้ว
นักปรัชญาจำนวนหนึ่งยังได้นำเสนอว่า การมีชีวิตที่ดีคือ การที่คนมีเสรีภาพในการทำสิ่งใดตามที่ปรารถนา
โดยที่ไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น
บางคนก็เสนอว่าชีวิตที่ดีคือการมีเสรีภาพและสามารถใช้เสรีภาพอย่างเป็นอิสระอย่างแท้จริง
ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ตนเองตั้งขึ้นด้วยสำนึกแห่งหน้าที่ต่อมนุษยชาติ การมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีของความแป็นมนุษย์
หรือหากอิงทางศาสนาหน่อย การมีชีวิตที่ดีก็คือ การปฏิบัติตัวอย่างมีคุณธรรมตามหลักศาสนา หรือ
การมีกายที่ไม่เจ็บป่วย และการมีความสงบสุขสันติภายในจิตใจนั่นเอง
ด้านสังคมที่ดีก็มีนักปรัชญาจำนวนมากเสนอออกมาให้เราได้รับรู้กัน ข้อเสนอหลักๆก็มีอย่างเช่น
เป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่มีความสุขและได้ประโยชน์มากที่สุด
ได้ครอบครองสิ่งอำนวยความสะดวกสบายอย่างทั่วหน้า
ได้รับผลประโยชน์ทางวัตถุหรือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
มีชนชั้นกลางมาก มีคนจนน้อยหรือไม่มีเลย
ปราศจากความเหลื่อมล้ำ
ผู้คนดำรงชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยมั่นคงโดยปราศจากความกลัวและมีหลักประกันหรือมีสวัสดิการในการดำรงชีวิต
รวมทั้งเป็นสังคมที่มีความยุติธรรม ประชาชนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทางกฎหมาย
มีเสรีภาพในการแสดงความคิดและการกระทำตามข้อกำหนดของกฎหมาย เป็นสังคมเปิดที่ให้ทุกคนมีโอกาสในการแสวงหาความก้าวหน้า
และมีการกระจายอำนาจไปยังกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมอย่างเหมาะสม
อย่าไรก็ตาม คุณลักษณะของชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีในยุคสมัยใหม่มิใช่เป็นเรื่องที่ใครหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมจะมากำหนดเอาตามใจชอบ
แล้วบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมรับและปฏิบัติตาม
หากแต่ต้องกระทำโดยการมีส่วนร่วมจากทุกกลุ่มอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมในการอภิปรายและสนทนากันอย่างละเอียดลึกซึ้ง
โดยใช้สติ ปัญญา เหตุผล ความเห็นอกเห็นใจ การคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม
และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นหลักการสำคัญของการสนทนา เพื่อแสวงหาเป้าหมายและแนวทางที่เป็นฉันทามติหรือได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
การปฏิรูปและการปรองดองของประเทศไทยจึงควรเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกฝ่ายในสังคมมาร่วมกันสนทนาและพิจารณาว่า
มีคุณลักษณะใดบ้างที่เป็นเป้าประสงค์ของการมีชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีสำหรับคนไทยและสังคมไทย มีสภาวะใดบ้างในปัจจุบันที่ไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์เหล่านั้น
และมีสิ่งใดบ้างที่บั่นทอนหรือทำลายเป้าหมายเหล่านั้น เมื่อได้ประเด็นต่าง ๆ มาแล้วก็ต้อง
พิจารณาและตัดสินใจว่า เรื่องอะไรบ้างที่ควรเปลี่ยนแปลง
และมีแนวทางในการเปลี่ยนแปลงอย่างไรที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์ร่วมของสังคม
ปัจจัยสำคัญที่การทำให้การปฏิรูปและการปรองดองมีความเป็นไปได้ก็คือ
คณะผู้มีอำนาจในสังคมปัจจุบันที่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่จะต้องไม่ใช้ความคิดและจุดยืนตนเองและพวกพ้องเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
แล้วใช้อำนาจบีบบังคับให้กลุ่มอื่น ๆ ในสังคมยอมรับและยอมปฏิบัติตามความหมายหรือความปรารถนาของตนเอง
การใช้อำนาจบีบบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมย่อมมิใช่หนทางที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปและการปรองดองได้
รังแต่จะทำให้สถานการณ์พัฒนาไปสู่ความเลวร้ายและความขัดแย้งยิ่งขึ้น
แต่สิ่งที่กำลังทำในเวลานี้ และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผมยังไม่เห็นหนทางว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปและความปรองดองในความหมายของการมีชีวิตที่ดีและสังคมที่ดี
ที่เสนอโดยนักปรัชญายุคสมัยใหม่ได้แม้แต่น้อย
แต่กำลังจะกลายเป็นชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีตามนิยามของนักปกครองในอดีตที่ยาวไกลเสียมากกว่า
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น