ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ว่าด้วย ชาวโลกไม่เอานักการเมืองขยะ

ชาวโลกไม่เอานักการเมืองขยะ
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
                ในทศวรรษนี้ กระแสการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนเกิดขึ้นทั่วโลก  ประชาชนหลายประเทศได้ลุกออกจากบ้านเดินสู่ท้องถนนเพื่อต่อต้านนักการเมือง “ขยะ”  และพยายามขจัดมลพิษของระบบการเมืองให้จางหายไป
                นักการเมืองขยะ คือนักการเมืองที่มีความฉ้อฉล ทุจริตคอรัปชั่น กอบโกยโกงกินบ้านเมือง ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบและไม่เป็นธรรม  ล้างความผิด ฟอกอาชญากร ทั้งยังประพฤติตัวเป็นมาเฟีย ข่มขู่คุกคามเล่นงานข้าราชการที่พูดความจริงและประชาชนที่ไม่ใช่พวกพ้องฝ่ายตน   ขณะเดียวกันก็ปรนเปรอมวลชนที่สนับสนุนตนเองด้วยงบประมาณของรัฐ  เล่นพวกเล่นพ้อง แต่งตั้งคนที่ยืนยอมรับใช้ตนเองในตำแหน่งสำคัญโดยไม่คำนึงถึงความสามารถ  
                นักการเมืองขยะมีอยู่ในทุกประเทศในโลกใบนี้ บางประเทศมีน้อย บางประเทศมีมาก ประเทศใดที่มีนักการเมืองขยะมาก ประเทศนั้นก็เดินหน้าสู่ความหายนะ ประชาชนเดือดร้อนไปทั่วทุกหัวระแหง เมื่อประชาชนประเทศใดทนไม่ไหว พวกเขาก็ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองในหลากหลายวิธีเพื่อกำจัดนักการเมืองขยะออกไป   ตั้งแต่การไม่ไปเลือกตั้ง  การไปใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ไม่ลงคะแนนให้แก่นักการเมืองคนใด  การแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนและสื่อสังคมผ่านอินเตอร์เน็ต  การใช้กลไกทางกฎหมายเท่าที่สังคมนั้นเอื้ออำนวยให้ การชุมนุมประท้วงอย่างสันติ  การชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง การก่อการจลาจล และการก่อสงครมกลางเมือง
                ในการกำจัดนักการเมืองขยะ ประชาชนมักจะเริ่มต้นจากวิธีการที่อยู่ในระบบ ใช้กฎหมายและใช้อย่างสันติวิธี  แต่หากใช้สันติวิธีอย่างยาวนานแล้วไม่เกิดประสิทธิผลใดๆ ประชาชนก็จะหันไปใช้วิธีการที่มีความเข้มข้นมากขึ้น  บางวิธีอาจเป็นความรุนแรง และอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองได้
                   นักการเมืองขยะของบางประเทศอาจเป็นนักการเมืองที่หน้าบาง เมื่อเห็นประชาชนจำนวนมากแสดงอาการไม่พอใจกับการบริหารประเทศของตน หรือชุมนุมขับไล่เพียงไม่กี่ครั้ง พวกเขาก็ลาออกไป  หรือบางประเทศที่มีระบบและกระบวนการยุติธรรมเข้มแข็ง  ทั้งตำรวจ อัยการ  ศาล และองค์กรอิสระของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และตรงไปตรงมา ประเทศนั้นก็สามารถขจัดนักการเมืองขยะออกไปได้โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย ประชาชนไม่ต้องเหนื่อยยากออกไปเดินขบวนชุมนุมขับไล่   ความเข้มแข็งของระบบยุติธรรมจะทำให้นักการเมืองขยะบางคนชดใช้กรรมในคุก บางคนฆ่าตัวตาย และบางคนถูกประหารชีวิตก็มี   วิธีการนี้จึงเป็นวิธีการที่ขจัดนักการเมืองขยะออกไปได้อย่างมีประสิทธิผลวิธีหนึ่ง
                แต่หากประเทศใดโชคร้าย  มีนักการเมืองขยะที่ปราศจากความละอายในบาปและความชั่วใดๆแล้ว แม้จะขับไล่กี่หนกี่ครา นักการเมืองขยะเหล่านั้นก็ไม่มีวันลาออก ยังคงดื้อด้าน ทำหูทวนลม สั่งสมความชั่วต่อไปเรื่อยๆ   และหากผนวกกับโชคร้ายหนักๆที่ระบบและกระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ  บุคลากรส่วนใหญ่ทั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางของระบบยุติธรรม หากไม่ถูกนักการเมืองขยะซื้อตัวก็กลายกลายเป็นลูกน้องที่เชื่องๆที่อยู่ในโอวาทของนักการเมืองขยะ   ประเทศนั้นก็จะถูกบริหารปกครองโดยนักการเมืองขยะอย่างยาวนานหลายสิบปี
                ความโชคร้ายของประเทศจะมีมากขึ้นไปอีกหากว่าประเทศนั้นมีประชาชนจำนวนมากมีความรู้สึก “เฉยชา” ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความชั่วร้ายของนักการเมืองขยะ  ไม่ว่านักการเมืองขยะจะสร้างความวิบัติหายนะเท่าไร ก็ยังไม่เห็น ไม่สนใจ ไม่สำนึก  คิดว่าไม่เป็นไร  กว่าจะรู้ตัวตื่นขึ้นมา ก็สายเกินไป ไม่อาจร่วมเหนี่ยวรั้งสถานการณ์ไว้ได้อีกต่อไป
                แต่สิ่งที่เป็นโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดก็คือ  การมีประชาชนบางส่วนหลงผิด คิดว่านักการเมืองขยะเป็นมหาบุรุษหรือเป็นยอดสตรี เทิดทูนบูชานักการเมืองขยะเหล่านั้นราวกับเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่า  ประชาชนเหล่านั้น ด้วยความที่มีขีดความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์และความเป็นจริงที่จำกัด ทำให้พวกเขาหลงเชื่อในคำโฆษณาชวนเชื่อของนักการเมืองขยะโดยง่าย
           นักการเมืองขยะจำนวนมากมีความสามารถสูงในการสร้างวาทกรรม สร้างภาพมายาคติที่ชวนให้ลุ่มหลงงมงาย โดยใช้ความจริงครึ่งหนึ่งและหลอกลวงอีกครึ่งหนึ่ง  สร้างเรื่องราวที่เป็นเท็จให้กลายเป็นเสมือนเรื่องจริง  สร้างเรื่องราวที่เป็นฟองสบู่ ดุจเป็นเรื่องที่ยั่งยืนถาวร  ขายความเพ้อฝันของอนาคตที่มีวันที่จะบรรลุ  ไม่ต่างกับลัทธิศาสนาอันวิปริตบางลัทธิที่เอานิพพานมาขายคนบ้าบุญนั่นเอง    
           นักการเมืองขยะใช้กลไกการโฆษณาชวนเชื่อหลายรูปแบบ ผลิตซ้ำทางความคิด และตอกย้ำจนประชาชนอันไร้เดียงสาทางการเมืองจำนวนมากเกิดจิตสำนึกที่ผิดพลาด  เทิดทูนคนที่กดขี่ขูดรีดตนเอง หลงเข้าใจไปว่านักการเมืองขยะมีบุญคุณต่อตนเอง  เมื่อนักการเมืองขยะใช้ให้ทำอะไร ไปคุกคามใคร หรือไปสนับสนุน พวกเขาก็ไปอย่างว่าง่าย  บางคนมีอาการหนักโดยยอมเป็นทาสเป็นขี้ข้ารับใช้นักการเมืองขยะอย่างสุดหัวใจ  ไม่ว่าพวกเขาสั่งให้ทำอะไรก็ทำ โดยไม่หลงเหลือสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่เลย    ดังนั้นประเทศที่มีประชาชนเป็นทาสของนักการเมืองขยะจึงมักมีการทำร้าย หรือ เข่นฆ่ากันด้วยสาเหตุทางการเมืองเป็นจำนวนมาก 
                แต่หากประเทศใดที่มีประชาชนจำนวนมากมีจิตสำนึกที่ถูกต้อง รับรู้ความเป็นจริงอย่างรอบด้าน มีความสามารถในการจำแนกแยกแยะความถูกความผิด ความจริงและความเท็จ  มีความกล้าหาญทางการเมือง  และมีทักษะในการใช้ยุทธศาสตร์การต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง   ประเทศนั้นก็จะมีแนวโน้มที่ประชาชนสามารถจำกัดนักการเมืองขยะออกไปจากระบบการเมืองได้ 
                 แต่การกวาดล้างนักการเมืองขยะออกไปให้หมดสิ้นอย่างถาวรเป็นเรื่องที่มีความยากพอสมควร  เพราะนักการเมืองขยะมีลักษณะเหมือนหญ้าคา หากไม่ขุดรากถอนโคน ปล่อยทิ้งไว้สักพักก็จะโผล่ขึ้นมาใหม่    ดังบทเรียนในหลายประเทศ ที่ประชาชนร่วมกันเก็บกวาดนักการเมืองขยะเดิมทิ้งไป  หากไม่มีระบบการเมืองที่มีประสิทธิภาพ ในไม่ช้านักการเมืองขยะชุดใหม่ก็โผล่ขึ้นมาอีก

                

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ