ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

รศ. ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ว่าด้วยการอ้างมงแตสกีเยอในการเมืองไทย

การอ้างมงแตสกีเยอในการเมืองไทย

เผยแพร่: 


"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

สังคมไทยช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีกระแสการพูดถึง มงแตสกีเยอ นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งอย่างกว้างขวาง อันเป็นผลมาจากการทวีตในสื่อสังคมออนไลน์ของ นายทักษิณ ชินวัตร ภายหลังจากเหตุการณ์หลบหนีคดีจำนำข้าวของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาว 

ข้อความของมงแตสกีเยอที่นายทักษิณ หยิบยกขึ้นมาอ้างคือ “ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม” เมื่อดูนัยของข้อความโดยเชื่อมโยงกับการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกดำเนินคดีแล้ว ผมเข้าใจว่านายทักษิณคงมองว่า การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกดำเนินคดีเป็นการกระทำที่เลวร้ายที่สุด นับว่าเป็นการตีแสกหน้ารัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมของไทยโดยตรง 

การหยิบยกข้อความของนักปราชญ์มาอ้างในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเป็นเรื่องที่เราพบได้โดยทั่วไปในโลกปัจจุบัน เพราะว่าการค้นคว้าและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทำได้ง่ายขึ้น เมื่อเราพบว่ามีข้อความใดที่โดนใจและเข้ากับสถานการณ์ เราก็จะหยิบยกมาอ้างอิงและเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนจะเข้าใจบริบทที่มาและความหมายที่แท้จริงหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

ผู้หยิบยกข้อความสั้น ๆ ของนักปราชญ์ขึ้นมาอ้างมีวัตถุประสงค์บางอย่างเสมอ บางคนหยิบมาเพื่อวิจารณ์หรือเสียดสีความเป็นจริง สถานการณ์ การตัดสินใจ หรือพฤติกรรมทางการเมืองที่ดำรงอยู่ของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม บางคนหยิบมาเพื่อใช้ทำลายความน่าเชื่อถือ หรือบั่นทอนความชอบธรรมของปรปักษ์ทางการเมือง และบางคนใช้เพื่อสร้างความยอมรับและความชอบธรรมให้กับการกระทำของฝ่ายตนเอง

สำหรับมงแตสกีเยอที่พูดถึงกันนั้นเป็นนักปราชญ์ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ หรือสามร้อยกว่าปีที่แล้ว ฝรั่งเศสยุคนั้นมีความโกลาหลทางสังคม ระบบการเมืองก็ไร้เสถียรภาพ มีความขัดแย้งที่รุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นระยะตลอดช่วงศตวรรษ เรียกว่าเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านของฝรั่งเศสก็ได้ ความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อระบบการเมือง ศาสนาและอภิปรัชญาแบบเดิม ๆ กำลังตกอยู่ในภาวะเสื่อมสลาย ขณะเดียวกันบรรดานักปราชญ์ต่างก็พยายามนำเสนอระบบคิดและทฤษฎีใหม่ ๆ ขึ้นมาทดแทน 

นักคิดนักปราชญ์ของฝรั่งเศสในช่วงนี้ นอกจากมงแตสกีเยอแล้วก็ยังมีที่โดดเด่นอีกหลายคน แต่ที่คนไทยพอจะคุ้นชื่ออยู่บ้างก็มี วอลแตร์ และ รุสโซ มงเตสกีเยอนั้นมีผลงานสำคัญอยู่ ๒ เรื่อง คือ จดหมายชาวเปอร์เซีย กับ จิตวิญญาณแห่งกฎหมาย เรื่องแรกเป็นนิยายเชิงการวิจารณ์แบบเสียดสีสังคมฝรั่งเศสในยุคนั้น ขณะที่เรื่องหลังจะเป็นงานเชิงวิชาการที่วิเคราะห์กฎหมายและรูปแบบของรัฐบาล

จดหมายชาวเปอร์เซียเป็นการเล่าเรื่องการปกครอง ศาสนา และพฤติกรรมของชาวปารีส ผ่านการเขียนจดหมายของตัวละครซึ่งเป็นขุนนางชาวเปอร์เซีย ผู้เดินทางไปปารีส ชาวเปอร์เซียรู้สึกประหลาดใจกับวิถีการดำเนินชีวิตของชาวปารีสยุคนั้นเป็นอย่างมาก ทั้งพฤติกรรมของชนชั้นสูง บาทหลวง และสามัญชน อย่างเช่น การเสียดสีว่าพวกผู้ดีในฝรั่งเศส ได้รับการอบรมน้อยกว่าผู้ดีของประเทศอื่นๆ พูดถึงพระเจ้าหลุยส์ที่๑๔ ว่า ทรงรักศาสนา แต่ทนไม่ได้ถ้าใครพูดว่าต้องปฏิบัติตามศาสนาอย่างเคร่งครัด การสอดรู้สอดเห็นชอบมุงดูเหตุการณ์ของชาวเมืองปารีส (คงคล้ายๆ ไทยมุงในปัจจุบัน) หรือ การแต่งตัวที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามกระแสแฟชั่น เป็นต้น

การเขียนนิยาย “จดหมายชาวเปอร์เซีย” ดูจะเป็นการสร้างความบันเทิงแก่มงแตสกีเยอไม่น้อย ดังตอนหนึ่งเขากล่าวว่า “ความรื่นรมย์ของฉันคือ การได้เห็นขบวนยาวของตัณหาและความชั่วร้ายนานาประการเหล่านั้น” i 

แต่หนังสือเล่มที่ทำให้มงแตสกีเยอถูกรับรู้ในฐานะที่เป็นนักปรัชญาการเมืองคือ “จิตวิญญาณแห่งกฎหมาย” ซึ่งมีการวิเคราะห์และมีข้อเสนอที่แหลมคมเกี่ยวกับกฎหมายและระบอบการเมือง แต่เป็นหนังสือที่นักวิชาการรุ่นหลังจำนวนไม่น้อยเห็นว่าเข้าใจยาก เพราะไร้การจัดระเบียบและขาดความชัดเจน เหตุผลหนึ่งมาจากทัศนะของมงแตสกีเยอเองในการเขียนหนังสือ โดยเขาระบุว่า “ไม่ได้เขียนหนังสือให้อ่าน แต่เขียนให้คิด” 

นักวิชาการรุ่นหลังบางคนมองว่า มงแตสกีเยอเขียนหนังสือเพื่อให้คนมีปัญญาและคนไร้ปัญญาได้อ่าน สำหรับคนไร้ปัญญาจะรับรู้งานของมงแตสกีเยออย่างผิวเผิน จะประทับใจกับสำนวนเสียดสีและเร้าอารมณ์ โดยไม่เข้าใจความหมายที่ซ่อนเร้นภายใต้ข้อความนั้น ส่วนผู้มีปัญญาจะอ่านด้วยความไตร่ตรองในรายละอียดและจะค้นพบหลักการสำคัญที่เขาเสนอ 

หนังสือ “จิตวิญญาณแห่งกฎหมาย” เป็นหนังสือที่ถูกมองว่าบรรจุคำสอนที่พัฒนาทางความคิดอย่างเต็มที่แล้วของมงแตสกีเยอ และมีเป้าหมายสองประการ อย่างแรกคือการทำความเข้าใจกับความหลากหลายของกฎหมายและกฎแห่งจารีต ซึ่งเป็นเรื่องทางแนวคิดและทฤษฎี และอย่างที่สองคือเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลที่มีปัญญา ซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติ

มงแตสกีเยอนิยามว่า กฎหมายเป็นความสัมพันธ์ที่จำเป็น อันเกิดจากธรรมชาติของสรรพสิ่ง กฎหมายดำรงอย่างมีจุดมุ่งหมาย มีเหตุผล และมีความจำเป็น รวมทั้งควบคุมการกระทำ กฎหมายแต่ละชาติจะต้องสัมพันธ์กับรูปแบบการปกครอง ประวัติศาสตร์ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ และสภาพสังคมวัฒนธรรม และความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ๆ ที่กฎหมายพึงมี และเมื่อบูรณาการสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน “จิตวิญญานห่งกฎหมาย” หรือ “เจตนารมณ์ของกฎหมาย” แต่ละฉบับก็จักเกิดขึ้น

สำหรับรูปแบบการปกครองนั้น มงแตสกีเยอจำแนกออกเป็นสี่แบบคือ ประชาธิปไตยซึ่งรากฐานคือ “คุณธรรม” ระบอบอภิชนาธิปไตยซึ่งมี “ความพอประมาณในชนชั้นสูง” เป็นรากฐาน ระบอบกษัตริย์อันมี “เกียรติยศ” เป็นรากฐาน และระบอบเผด็จการทรราช ซึ่งมี “ความกลัว” เป็นรากฐาน

มงแตสกีเยอเสนอว่า “คุณธรรม” คือหลักการของประชาธิปไตย เพราะว่าการที่คนทั้งปวงมีส่วนร่วมในการบัญญัติกฎหมายและเลือกตั้งผู้ปกครอง ประชาชนจะต้องมีจิตสำนึกสาธารณะหรือการอุทิศตนแก่ประโยชน์ส่วนรวม คุณธรรมในทัศนะของมงแตสกีเยอได้แก่ ความรักชาติ ความรักในประชาธิปไตย และการรักกฎหมาย การรักในสิ่งเหล่านี้จะบ่มเพาะให้เกิดความซื่อสัตย์ ความพอประมาณ ความประหยัด ความกล้าหาญ และความมุ่งมั่นในการสร้างก้าวหน้าแก่ชาติ

คุณธรรมเหล่านี้จะรักษาเอาไว้ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงทั้งความร่ำรวยและความยากไร้ที่มากเกินไป หรือมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อยนั่นเอง โดยประเทศต้องมีการออกกฎหมายกำหนดการครอบครองทรัพย์สินระดับต่ำสุดและสูงสุดเอาไว้อย่างเหมาะสม เพราะว่าผู้ที่ร่ำรวยมากเกินไป หรือยากไร้แสนสาหัสนั้น ยากที่จะดำรงพฤติกรรมเชิงคุณธรรมเอาไว้ได้

มงแตสกีเยอชี้ว่า คุณลักษณะเฉพาะที่สง่างามและมีเสน่ห์มากที่สุดของประชาธิปไตยอยู่ที่ “ความยิ่งใหญ่ทางศีลธรรมของพลเมือง” 

สำหรับอภิชนาธิปไตยคือ รูปแบบที่ประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นชนชั้นสูงมีอำนาจในการปกครอง มงแตสกีเยอใช้รัฐโรมันในช่วงแรกเป็นภาพตัวแทนของระบอบแบบนี้ ภายใต้ระบอบนี้ผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้งกันเองในกลุ่มคนชั้นสูง ส่วนสภาพสังคมของรัฐแบบนี้จะมีความไม่เท่าเทียมทางการเมืองและเศรษฐกิจดำรงอยู่ การยืนยาวของระบอบขึ้นอยู่กับ “ความรู้จักพอประมาณ” ของผู้ปกครองที่จะไม่สร้างความมั่งคั่งและการขยายอำนาจของกลุ่มตนเองเหนือกลุ่มอื่นและประชาชนมากเกินไป

ส่วนระบอบราชาธิปไตยที่ดีในสายตาของมงแตสกีเยอคือ ราชาธิปไตยแบบมีดุลยภาพระหว่างอำนาจของกษัตริย์กับสภาฐานันดร ซึ่งจะทำให้สามารถทัดทานการกระทำซึ่งกันและกันได้ และมงแตสกีเยอเห็นว่าคุณลักษณะทางศีลธรรมของกษัตริย์มีความสำคัญต่อประเทศ เท่าๆกับกฎหมายของประเทศนั้น หลักการสำคัญของราชาธิปไตยคือ “เกียรติยศ” ประชาชนในระบอบนี้แสวงหาเกียรติภูมิ ซึ่งสามารถชักนำให้เกิดพฤติกรรมที่เกื้อหนุนผลประโยชน์ส่วนรวมได้ นอกจากนี้ หลักแห่งเกียรติยศจะช่วยจำกัดการกระทำตามอำเภอใจของกษัตริย์และประชาชนได้ด้วย

และท้ายที่สุดระบบเผด็จการอำนาจเด็ดขาด หรือการปกครองโดยบุคคลเดียวใช้อำนาจตามอัตวิสัยของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย ในยุคนั้นเวลาพูดถึงระบอบนี้มงแตสกีเยอจะใช้ประเทศในเอเชียเป็นตัวอย่าง การปกครองแบบนี้ใช้กำลังความรุนแรงแบบป่าเถื่อนเป็นเครื่องมือในการสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน รัฐบาลแบบนี้มักไร้ความเมตตา โง่เขลา และชั่วช้าจนมิอาจประมาณได้ และการปกครองแบบนี้จะงอกงามในประเทศที่ประชาชนเป็นคนขลาดเขลา

เล่าเรื่องของมงแตสกีเยอพอเป็นสังเขป เพื่อให้ผู้ที่สนใจและมีปัญญาได้ไปศึกษาในรายละเอียดอย่างไตร่ตรองต่อไป ส่วนการหยิบยกถ้อยคำที่มีท่วงทำนองแบบเสียดสี และภาษาเร้าอารมณ์มาอ้างและใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองนั้น เป็นเพียงแค่เปลือก ซึ่งมักจะกระทำโดยคนไร้ปัญญาเสียส่วนใหญ่ 
*ผู้สนใจความคิดของนักปรัชญาฝรั่งเศสเพิ่มเติมดูใน  ฝรั่งเศส : วิวัฒนาการของความคิดในสิบศตวรรษ 1 จากยุคแรกเริ่มถึง ค.ศ. 1800  ของ Alfred Bonningue,  แปลโดย สุดา ภักษา,  มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ https://www.openbase.in.th/textbookproject  และผู้ที่สนใจงานเขียนเชิงวิชาการอ่านได้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์การเมือง เล่มที่ ๒ บทที่ว่าด้วย มงแตสกีเยอ ที่มี ลีโอ สเตร๊าส์ และ โจเซ็ฟ คร็อปซีย์ เป็นบรรณาธิการ แปลโดย ศ. ดร.สมบัติ จันทรวงศ์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ