อุดมการณ์การเมือง (๑)
อุดมการณ์การเมือง : “อวสานนิยม” ของอุดมการณ์และประวัติศาสตร์การเมืองโลก (1)
เผยแพร่: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
อุดมการณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของประวัติศาสตร์โลกมากกว่าสองร้อยปี มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างใหญ่หลวง อุดมการณ์ยังเป็นพลังการขับเคลื่อนความก้าวหน้าที่ต่อเนื่องของการเปลี่ยนรูปลักษณ์ทางสังคมและการพัฒนาการเมือง กระนั้นก็ตามในโลกทางวิชาการมักมีข้อเสนอและการถกเถียงเกี่ยวกับการอวสานของอุดมการณ์และประวัติศาสตร์เป็นระยะ คำถามที่ว่า อุดมการณ์และประวัติศาสตร์ถึงจุดจบจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
อุดมการณ์กำเนิดขึ้นในสังคมอุตสาหกรรมตะวันตก ต่อมาก็แพร่กระจายไปทั่วโลก และสร้างชุดของภาษาและวาทกรรมการเมืองในแทบทุกประเทศ อย่างไรก็ตามความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับบทบาทของอุดมการณ์ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์แบ่งออกเป็นสองมุมมองคือ มุมมองแรกมีทัศนะเชิงบวกต่ออุดมการณ์ เห็นว่าอุดมการณ์เป็นปฐมเหตุของสัจธรรม ความก้าวหน้า และความยุติธรรม ขณะที่มุมมองที่สองเห็นว่า อุดมการณ์เป็นสิ่งที่ก่อให้มนุษย์มีโลกทัศน์ที่บิดเบือน จิตที่คับแคบ และส่งผลให้จิตของผู้คนเต็มไปด้วยมิจฉาทิฐิ และการกดขี่ก็ตามมา
การถกเถียงบรรจุด้วยคำศัพท์ในเชิงลบในการวิพากษ์อุดมการณ์ และมักทำนายการอวสานที่กำลังใกล้เข้ามาของอุดมการณ์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจคือ การประดิษฐ์ถ้อยคำที่หลากหลายเกี่ยวกับการสิ้นสุดบทบาทของอุดมการณ์อยู่ภายใต้กรอบคิดที่เรียกว่า “อวสานนิยม” (endism) ซึ่งมีแนวคิดอยู่ 4 เรื่องหลักคือ การอวสานของอุดมการณ์ การอวสานของประวัติศาสตร์ การข้ามพ้นการแบ่งแยกเป็นซ้ายกับขวา และ แนวคิดเกี่ยวกับชัยชนะของเหตุผล
เริ่มจาก ความคิดเกี่ยวกับ “การอวสานของอุดมการณ์” (the end of ideology) แนวคิดนี้กลายเป็นกระแสหลักในการเมืองของประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1950 และช่วงต้นทศวรรษ 1960 ซึ่งมีนัยว่า “การเมืองไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในเชิงอุดมการณ์” อีกต่อไป เพราะว่าในช่วงเวลาดังกล่าว คำถามเชิงเทคนิคเกี่ยวกับ “วิธีการสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศ” กลายเป็นประเด็นหลักที่ครอบงำการวิวาทะทางการเมืองของประเทศตะวันตก แทนประเด็นในเชิงอุดมการณ์นั่นเอง
แนวคิดอวสานของอุดมการณ์ เสนอโดย Daniel Bell (1960) ซึ่งอธิบายว่า หลังสงครามโลกครั้งที่สองอุดมการณ์ฟาสซิสต์และคอมมิวนิสต์ในโลกตะวันตกสูญเสียแรงดึงดูดจากมวลชน และเสื่อมความนิยมลงไป พรรคการเมืองที่อยู่ในสนามการเลือกตั้งนำเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ในทิศทางเดียวกันเกี่ยวกับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุ จะแตกต่างกันบ้างก็เป็นรายละเอียดที่ไม่มีนัยสำคัญอะไร กล่าวได้ว่ามิติของเศรษฐกิจได้พิชิตมิติทางการเมืองลงไออย่างราบคาบ การเมืองถูกลดรูปลงเหลือเพียงคำถามเชิงวิธีการว่า ทำอย่างไรในการส่งมอบความมั่งคั่งแก่ประชาชนและสังคมให้มีประสิทธิผล ส่วนประเด็นทางคุณธรรมและปรัชญาเกี่ยวกับธรรมชาติของสังคมที่ดีหรือ เป้าประสงค์ของสังคมคืออะไร อันเป็นคำถามเชิงอุดมการณ์นั้นได้เลือนหายไปจากสนามของการแข่งขันทางการเมือง
อันที่จริงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับอวสานของอุดมการณ์ หาใช่เป็นการอวสานแต่อย่างใด หากแต่เป็นสถานการณ์การเมืองที่พรรคการเมืองใหญ่มีฉันทามติร่วมในทิศทางเดียวกันจึงทำให้ดูเหมือนว่า การวิวาททะเชิงอุดมการณ์ได้ยุติลงไป ทิศทางร่วมทางการเมืองในตะวันตกช่วงหลังสงครามโลกคือ การยอมรับอุดมการณ์หลัก 3 อุดมการณ์ อันได้แก่ อุดมการณ์เสรีนิยม สังคมนิยม และอนุรักษ์นิยม โดยมองว่าอุดมการณ์ทั้งสามได้รับการยอมรับร่วมกันของบรรดาพรรคการเมืองในตะวันตกว่าเป็นอุดมการณ์ที่มีเป็นเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือ การสร้างความรุ่งเรืองและยั่งยืนแก่ระบบทุนนิยม
ทว่า เป้าหมาย โดยตัวของมันเองก็คือ อุดมการณ์อย่างหนึ่ง หากองค์ประกอบของอุดมการณ์ประกอบด้วย ความศรัทธาในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด การยึดมั่นในระบบทรัพย์สินส่วนบุคคล และการยอมรับว่าแรงจูงใจด้านวัตถุเป็นสิ่งขับเคลื่อนชีวิตของมนุษย์ ความเชื่อในสังคมสวัสดิการและการแทรกแซงของรัฐบาลต่อระบบเศรษฐกิจในบางระดับ องค์ประกอบเหล่านี้ถูกเรียกชื่อใหม่ว่า อุดมการณ์ “ทุนนิยมสวัสดิการ” หรือ อุดมการณ์ “ประชาธิปไตยสังคม” นั่นเอง ดูเหมือนว่าอุดมการณ์นี้มีชัยชนะเหนืออุดมการณ์คู่แข่งทั้งหลาย ทว่า ก็เป็นชัยชนะเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ในทศวรรษที่ 1960 แนวความคิด “ซ้ายใหม่” เกิดขึ้นมาในแวดวงการเมืองของประเทศตะวันตก ซึ่งสะท้อนความพยายามรื้อฟื้นแนวความคิดมาร์กซิสต์และอนาคิสต์ขึ้นมาใหม่ของนักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายซ้าย ยิ่งกว่านั้นหน่ออ่อนต้นกล้าของอุดมการณ์สมัยใหม่ก็โผล่ขึ้นมาจากผืนดินการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุดมการณ์ “สตรีนิยม” และ “นิเวศนิยม” ซึ่งเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ทางอำนาจในเวทีการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อเข้าสู่ ทศวรรษที่ 1970 การถดถอยตกต่ำของเศรษฐกิจในตะวันตก 1970 กระตุ้นให้เกิดการรื้อฟื้นเกี่ยวกับคัมภีร์ของตลาดเสรีขึ้นมา จนกระทั่งพัฒนาเป็นแนวคิดทฤษฎี “ขวาใหม่” การเกิดขึ้นของอุดมการณ์ขวาใหม่ได้ท้าทายฉันทามติทางอุดมการณ์การเมืองแบบ “ทุนนิยมสวัสดิการ” และ “ประชาธิปไตยสังคม” ของหลังสงครามโลกอย่างหนักหน่วง กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วข้อเสนอเรื่อง “อวสานของอุดมการณ์” เป็นเรื่องเน้นความสนใจและให้ความสำคัญแก่การเมืองของประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมตะวันตกเท่านั้น และหาได้ใส่ใจต่อความจริงทางการเมืองในระดับโลกที่ว่า ระหว่างทศวรรษที่ 1950 และ 1960 อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ยังคงเป็นอุดมการณ์หลักและดำรงอยู่อย่างแข็งแกร่งในสหภาพโซเวียต ประเทศยุโรปตะวันออก และจีน รวมทั้งเป็นอุดมการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ขบวนการเคลื่อนไหวแบบปฏิวัติในประเทศแถบละตินอเมริกา และเอเชีย ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย
ต่อมา ภายหลังการล่มสลายของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แนวคิดที่เรียกว่า “การอวสานของประวัติศาสตร์” (end of history) ก็เกิดขึ้นมาอีกแนวคิดหนึ่ง นักทฤษฎีการเมืองผู้สนับสนุนแนวคิดนี้อธิบายว่า ความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ได้พบจุดจบหรืออวสานลงแล้ว พร้อมด้วยชัยชนะอย่างงดงามของ “ประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตก” นั่นเอง
แนวคิดจุดจบของประวัติศาสตร์ ได้รับการประดิษฐ์โดย Francis Fukuyama (1989, 1992) นักรัฐศาสตร์นามกระเดื่องชาวอเมริกัน เพื่ออธิบาย สภาวะที่อุดมการณ์เสรีนิยมแบบตะวันตกพิชิตอุดมการณ์ฟาสซิสต์ใน ค.ศ.1945 และต่อมาก็กำราบอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ อันเป็นคู่แข่งที่ต่อสู้กันมาหลายสิบปีในช่วงสงครามเย็นได้ใน ค.ศ. 1989 ซึ่งเกิดการล่มสลายของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต กล่าวได้ว่านับจากนั้นเป็นต้นมา อุดมการณ์มาร์กซิสต์มิได้มีนัยสำคัญต่อการเมืองโลกอีกต่อไป
โดยนัยนี้ วลี “จุดจบของประวัติศาสตร์” หมายถึง ประวัติศาสตร์ที่ความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองจำนวนหนึ่งที่เคยมีอิทธิพลต่อระบอบการเมืองของโลก ประสบพบกับจุดจบหรือสูญสิ้นอิทธิพลต่อการเมืองลงไป และในโลกของการเมืองเหลือเพียงอุดมการณ์หลักเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นอุดมการณ์ที่ได้รับชัยชนะเหนืออุดมการณ์อื่น ๆ ดังนั้น เมื่อโลกทางการเมืองหลงเหลืออุดมการณ์เพียงอุดมการณ์เดียว การวิวาทะระหว่างอุดมการณ์ก็ยุติลงไปด้วย Fukuyama อ้างว่า ประเทศต่าง ๆ ในโลกล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า ระบอบการปกครองที่พึงปรารถนาคือ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมในรูปแบบของตลาดหรือระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และระบบการเมืองแบบเปิดที่มีการแข่งขันเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจอย่างเสรีนั่นเอง
แม้มีส่วนจริงในบางระดับ ทว่าข้อสรุปของ Fukuyama ยังห่างไกลจากวลี “อวสานของประวัติศาสตร์” อยู่ไม่น้อย หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการเมืองหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน ทำให้ข้อสรุปที่ว่านี้ กลายเป็นข้อสรุปที่ไม่สอดคล้องกับความจริงทางการเมือง คัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การอุบัติขึ้นมาของอุดมการณ์ “อิสลามนิยม” ที่ท้าทายอุดมการณ์เสรีนิยมอย่างถึงรากถึงโคน อิสลามนิยมได้ขยายตัวในวงกว้าง และถูกปรับใช้ในหลายประเทศทั่วโลก และที่สำคัญอีกอย่างคือ มีความเป็นไปได้ว่า การสิ้นสุดลงของของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกนั้น เป็นเพียงการปูทางให้แก่การฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งของอุดมการณ์ “ชาตินิยม” และอุดมการณ์ “รากฐานนิยมทางศาสนา” มากกว่าจะนำไปสู่ชัยชนะขั้นสุดท้ายของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ดังที่ Fukuyama ระบุเอาไว้
เบื้องหลังความคิดของ Fukuyama คือ ความเชื่อแบบโลกสวย ซึ่งเป็นมรดกจากเสรีนิยมดั้งเดิม ที่มองว่าทุนนิยมอุตสาหกรรมจะทำให้สมาชิกทุกคนของสังคมมีความหวังในการเคลื่อนสถานภาพทางสังคมและความมั่นคงทางวัตถุอย่างทั่วหน้าได้ จึงมีการสร้างความเชื่อและส่งเสริมพลเมืองทุกคนให้ยึดถือค่านิยมอุด4มการณ์ของทุนนิยมอุตสาหกรรมว่าเป็น สิ่งที่เปี่ยมด้วยเหตุผลและมีเสน่ห์ดึงดูดใจให้ผู้คนสนับสนุน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการเชื่อว่าสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมเป็นสังคมที่พึงปรารถนานั่นเอง ทว่าความจริงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกาเองกลับไม่เป็นไปตามความคิดเชิงอุดมคติของเสรีนิยม
แม้จะเป็นความจริงระดับหนึ่งว่า ตลาดแบบทุนนิยมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ความเป็นนอยู่ทางวัตถุของพลเมืองดีขึ้น ทว่า กลับสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างรุนแรง รวมทั้งปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมใหม่จำนวนมากก็เกิดขึ้น อันเป็นผลพวงจากนำอุดมการณ์เสรีนิยมเป็นรากฐานในการผลิตนโยบายและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ ความไม่เท่าเทียมของชนชั้นทางสังคมและปัจเจกบุคคลจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากยังใช้อุดมการณ์นี้เป็นความคิดหรืออุดมการณ์หลักในการกำหนดทิศทางการพัฒนาสังคม
กล่าวอย่างถึงที่สุด ความขัดแย้งและการวิวาทะระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองจึงเป็นเรื่องยากที่จะยุติลงไปได้ด้วยชัยชนะของเสรีนิยม และนั่นหมายถึงว่า กระบวนการทางประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางอุดมการณ์ก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด (ยังมีต่อ)
หมายเหตุ บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่อุบัติขึ้นในการเมืองไทยยุคปัจจุบัน และผู้เขียนวางแผนจะเขียนอยู่หลายตอน โดยในตอนที่ ๑ จะเป็นการนำเสนอพัฒนาการแนวคิดที่เกี่ยวกับการมองเรื่องอวสานอุดมการณ์และประวัติศาสตร์การเมืองโลก ซึ่งกรอบคิดบางส่วนเรียบเรียงและอ้างอิงจากหนังสือชื่อ Political Ideologies ของ Andrew Heywood (2014)
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
อุดมการณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของประวัติศาสตร์โลกมากกว่าสองร้อยปี มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างใหญ่หลวง อุดมการณ์ยังเป็นพลังการขับเคลื่อนความก้าวหน้าที่ต่อเนื่องของการเปลี่ยนรูปลักษณ์ทางสังคมและการพัฒนาการเมือง กระนั้นก็ตามในโลกทางวิชาการมักมีข้อเสนอและการถกเถียงเกี่ยวกับการอวสานของอุดมการณ์และประวัติศาสตร์เป็นระยะ คำถามที่ว่า อุดมการณ์และประวัติศาสตร์ถึงจุดจบจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
อุดมการณ์กำเนิดขึ้นในสังคมอุตสาหกรรมตะวันตก ต่อมาก็แพร่กระจายไปทั่วโลก และสร้างชุดของภาษาและวาทกรรมการเมืองในแทบทุกประเทศ อย่างไรก็ตามความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับบทบาทของอุดมการณ์ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์แบ่งออกเป็นสองมุมมองคือ มุมมองแรกมีทัศนะเชิงบวกต่ออุดมการณ์ เห็นว่าอุดมการณ์เป็นปฐมเหตุของสัจธรรม ความก้าวหน้า และความยุติธรรม ขณะที่มุมมองที่สองเห็นว่า อุดมการณ์เป็นสิ่งที่ก่อให้มนุษย์มีโลกทัศน์ที่บิดเบือน จิตที่คับแคบ และส่งผลให้จิตของผู้คนเต็มไปด้วยมิจฉาทิฐิ และการกดขี่ก็ตามมา
การถกเถียงบรรจุด้วยคำศัพท์ในเชิงลบในการวิพากษ์อุดมการณ์ และมักทำนายการอวสานที่กำลังใกล้เข้ามาของอุดมการณ์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจคือ การประดิษฐ์ถ้อยคำที่หลากหลายเกี่ยวกับการสิ้นสุดบทบาทของอุดมการณ์อยู่ภายใต้กรอบคิดที่เรียกว่า “อวสานนิยม” (endism) ซึ่งมีแนวคิดอยู่ 4 เรื่องหลักคือ การอวสานของอุดมการณ์ การอวสานของประวัติศาสตร์ การข้ามพ้นการแบ่งแยกเป็นซ้ายกับขวา และ แนวคิดเกี่ยวกับชัยชนะของเหตุผล
เริ่มจาก ความคิดเกี่ยวกับ “การอวสานของอุดมการณ์” (the end of ideology) แนวคิดนี้กลายเป็นกระแสหลักในการเมืองของประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1950 และช่วงต้นทศวรรษ 1960 ซึ่งมีนัยว่า “การเมืองไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นในเชิงอุดมการณ์” อีกต่อไป เพราะว่าในช่วงเวลาดังกล่าว คำถามเชิงเทคนิคเกี่ยวกับ “วิธีการสร้างความมั่งคั่งให้ประเทศ” กลายเป็นประเด็นหลักที่ครอบงำการวิวาทะทางการเมืองของประเทศตะวันตก แทนประเด็นในเชิงอุดมการณ์นั่นเอง
แนวคิดอวสานของอุดมการณ์ เสนอโดย Daniel Bell (1960) ซึ่งอธิบายว่า หลังสงครามโลกครั้งที่สองอุดมการณ์ฟาสซิสต์และคอมมิวนิสต์ในโลกตะวันตกสูญเสียแรงดึงดูดจากมวลชน และเสื่อมความนิยมลงไป พรรคการเมืองที่อยู่ในสนามการเลือกตั้งนำเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ในทิศทางเดียวกันเกี่ยวกับการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุ จะแตกต่างกันบ้างก็เป็นรายละเอียดที่ไม่มีนัยสำคัญอะไร กล่าวได้ว่ามิติของเศรษฐกิจได้พิชิตมิติทางการเมืองลงไออย่างราบคาบ การเมืองถูกลดรูปลงเหลือเพียงคำถามเชิงวิธีการว่า ทำอย่างไรในการส่งมอบความมั่งคั่งแก่ประชาชนและสังคมให้มีประสิทธิผล ส่วนประเด็นทางคุณธรรมและปรัชญาเกี่ยวกับธรรมชาติของสังคมที่ดีหรือ เป้าประสงค์ของสังคมคืออะไร อันเป็นคำถามเชิงอุดมการณ์นั้นได้เลือนหายไปจากสนามของการแข่งขันทางการเมือง
อันที่จริงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับอวสานของอุดมการณ์ หาใช่เป็นการอวสานแต่อย่างใด หากแต่เป็นสถานการณ์การเมืองที่พรรคการเมืองใหญ่มีฉันทามติร่วมในทิศทางเดียวกันจึงทำให้ดูเหมือนว่า การวิวาททะเชิงอุดมการณ์ได้ยุติลงไป ทิศทางร่วมทางการเมืองในตะวันตกช่วงหลังสงครามโลกคือ การยอมรับอุดมการณ์หลัก 3 อุดมการณ์ อันได้แก่ อุดมการณ์เสรีนิยม สังคมนิยม และอนุรักษ์นิยม โดยมองว่าอุดมการณ์ทั้งสามได้รับการยอมรับร่วมกันของบรรดาพรรคการเมืองในตะวันตกว่าเป็นอุดมการณ์ที่มีเป็นเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือ การสร้างความรุ่งเรืองและยั่งยืนแก่ระบบทุนนิยม
ทว่า เป้าหมาย โดยตัวของมันเองก็คือ อุดมการณ์อย่างหนึ่ง หากองค์ประกอบของอุดมการณ์ประกอบด้วย ความศรัทธาในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด การยึดมั่นในระบบทรัพย์สินส่วนบุคคล และการยอมรับว่าแรงจูงใจด้านวัตถุเป็นสิ่งขับเคลื่อนชีวิตของมนุษย์ ความเชื่อในสังคมสวัสดิการและการแทรกแซงของรัฐบาลต่อระบบเศรษฐกิจในบางระดับ องค์ประกอบเหล่านี้ถูกเรียกชื่อใหม่ว่า อุดมการณ์ “ทุนนิยมสวัสดิการ” หรือ อุดมการณ์ “ประชาธิปไตยสังคม” นั่นเอง ดูเหมือนว่าอุดมการณ์นี้มีชัยชนะเหนืออุดมการณ์คู่แข่งทั้งหลาย ทว่า ก็เป็นชัยชนะเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ในทศวรรษที่ 1960 แนวความคิด “ซ้ายใหม่” เกิดขึ้นมาในแวดวงการเมืองของประเทศตะวันตก ซึ่งสะท้อนความพยายามรื้อฟื้นแนวความคิดมาร์กซิสต์และอนาคิสต์ขึ้นมาใหม่ของนักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายซ้าย ยิ่งกว่านั้นหน่ออ่อนต้นกล้าของอุดมการณ์สมัยใหม่ก็โผล่ขึ้นมาจากผืนดินการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุดมการณ์ “สตรีนิยม” และ “นิเวศนิยม” ซึ่งเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ทางอำนาจในเวทีการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อเข้าสู่ ทศวรรษที่ 1970 การถดถอยตกต่ำของเศรษฐกิจในตะวันตก 1970 กระตุ้นให้เกิดการรื้อฟื้นเกี่ยวกับคัมภีร์ของตลาดเสรีขึ้นมา จนกระทั่งพัฒนาเป็นแนวคิดทฤษฎี “ขวาใหม่” การเกิดขึ้นของอุดมการณ์ขวาใหม่ได้ท้าทายฉันทามติทางอุดมการณ์การเมืองแบบ “ทุนนิยมสวัสดิการ” และ “ประชาธิปไตยสังคม” ของหลังสงครามโลกอย่างหนักหน่วง กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วข้อเสนอเรื่อง “อวสานของอุดมการณ์” เป็นเรื่องเน้นความสนใจและให้ความสำคัญแก่การเมืองของประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมตะวันตกเท่านั้น และหาได้ใส่ใจต่อความจริงทางการเมืองในระดับโลกที่ว่า ระหว่างทศวรรษที่ 1950 และ 1960 อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ยังคงเป็นอุดมการณ์หลักและดำรงอยู่อย่างแข็งแกร่งในสหภาพโซเวียต ประเทศยุโรปตะวันออก และจีน รวมทั้งเป็นอุดมการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ขบวนการเคลื่อนไหวแบบปฏิวัติในประเทศแถบละตินอเมริกา และเอเชีย ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย
ต่อมา ภายหลังการล่มสลายของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แนวคิดที่เรียกว่า “การอวสานของประวัติศาสตร์” (end of history) ก็เกิดขึ้นมาอีกแนวคิดหนึ่ง นักทฤษฎีการเมืองผู้สนับสนุนแนวคิดนี้อธิบายว่า ความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ได้พบจุดจบหรืออวสานลงแล้ว พร้อมด้วยชัยชนะอย่างงดงามของ “ประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตก” นั่นเอง
แนวคิดจุดจบของประวัติศาสตร์ ได้รับการประดิษฐ์โดย Francis Fukuyama (1989, 1992) นักรัฐศาสตร์นามกระเดื่องชาวอเมริกัน เพื่ออธิบาย สภาวะที่อุดมการณ์เสรีนิยมแบบตะวันตกพิชิตอุดมการณ์ฟาสซิสต์ใน ค.ศ.1945 และต่อมาก็กำราบอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ อันเป็นคู่แข่งที่ต่อสู้กันมาหลายสิบปีในช่วงสงครามเย็นได้ใน ค.ศ. 1989 ซึ่งเกิดการล่มสลายของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต กล่าวได้ว่านับจากนั้นเป็นต้นมา อุดมการณ์มาร์กซิสต์มิได้มีนัยสำคัญต่อการเมืองโลกอีกต่อไป
โดยนัยนี้ วลี “จุดจบของประวัติศาสตร์” หมายถึง ประวัติศาสตร์ที่ความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองจำนวนหนึ่งที่เคยมีอิทธิพลต่อระบอบการเมืองของโลก ประสบพบกับจุดจบหรือสูญสิ้นอิทธิพลต่อการเมืองลงไป และในโลกของการเมืองเหลือเพียงอุดมการณ์หลักเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นอุดมการณ์ที่ได้รับชัยชนะเหนืออุดมการณ์อื่น ๆ ดังนั้น เมื่อโลกทางการเมืองหลงเหลืออุดมการณ์เพียงอุดมการณ์เดียว การวิวาทะระหว่างอุดมการณ์ก็ยุติลงไปด้วย Fukuyama อ้างว่า ประเทศต่าง ๆ ในโลกล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า ระบอบการปกครองที่พึงปรารถนาคือ ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมในรูปแบบของตลาดหรือระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และระบบการเมืองแบบเปิดที่มีการแข่งขันเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจอย่างเสรีนั่นเอง
แม้มีส่วนจริงในบางระดับ ทว่าข้อสรุปของ Fukuyama ยังห่างไกลจากวลี “อวสานของประวัติศาสตร์” อยู่ไม่น้อย หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการเมืองหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน ทำให้ข้อสรุปที่ว่านี้ กลายเป็นข้อสรุปที่ไม่สอดคล้องกับความจริงทางการเมือง คัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การอุบัติขึ้นมาของอุดมการณ์ “อิสลามนิยม” ที่ท้าทายอุดมการณ์เสรีนิยมอย่างถึงรากถึงโคน อิสลามนิยมได้ขยายตัวในวงกว้าง และถูกปรับใช้ในหลายประเทศทั่วโลก และที่สำคัญอีกอย่างคือ มีความเป็นไปได้ว่า การสิ้นสุดลงของของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกนั้น เป็นเพียงการปูทางให้แก่การฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งของอุดมการณ์ “ชาตินิยม” และอุดมการณ์ “รากฐานนิยมทางศาสนา” มากกว่าจะนำไปสู่ชัยชนะขั้นสุดท้ายของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ดังที่ Fukuyama ระบุเอาไว้
เบื้องหลังความคิดของ Fukuyama คือ ความเชื่อแบบโลกสวย ซึ่งเป็นมรดกจากเสรีนิยมดั้งเดิม ที่มองว่าทุนนิยมอุตสาหกรรมจะทำให้สมาชิกทุกคนของสังคมมีความหวังในการเคลื่อนสถานภาพทางสังคมและความมั่นคงทางวัตถุอย่างทั่วหน้าได้ จึงมีการสร้างความเชื่อและส่งเสริมพลเมืองทุกคนให้ยึดถือค่านิยมอุด4มการณ์ของทุนนิยมอุตสาหกรรมว่าเป็น สิ่งที่เปี่ยมด้วยเหตุผลและมีเสน่ห์ดึงดูดใจให้ผู้คนสนับสนุน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการเชื่อว่าสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมเป็นสังคมที่พึงปรารถนานั่นเอง ทว่าความจริงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกาเองกลับไม่เป็นไปตามความคิดเชิงอุดมคติของเสรีนิยม
แม้จะเป็นความจริงระดับหนึ่งว่า ตลาดแบบทุนนิยมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ความเป็นนอยู่ทางวัตถุของพลเมืองดีขึ้น ทว่า กลับสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างรุนแรง รวมทั้งปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมใหม่จำนวนมากก็เกิดขึ้น อันเป็นผลพวงจากนำอุดมการณ์เสรีนิยมเป็นรากฐานในการผลิตนโยบายและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ ความไม่เท่าเทียมของชนชั้นทางสังคมและปัจเจกบุคคลจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากยังใช้อุดมการณ์นี้เป็นความคิดหรืออุดมการณ์หลักในการกำหนดทิศทางการพัฒนาสังคม
กล่าวอย่างถึงที่สุด ความขัดแย้งและการวิวาทะระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองจึงเป็นเรื่องยากที่จะยุติลงไปได้ด้วยชัยชนะของเสรีนิยม และนั่นหมายถึงว่า กระบวนการทางประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ทางอุดมการณ์ก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด (ยังมีต่อ)
หมายเหตุ บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์ที่อุบัติขึ้นในการเมืองไทยยุคปัจจุบัน และผู้เขียนวางแผนจะเขียนอยู่หลายตอน โดยในตอนที่ ๑ จะเป็นการนำเสนอพัฒนาการแนวคิดที่เกี่ยวกับการมองเรื่องอวสานอุดมการณ์และประวัติศาสตร์การเมืองโลก ซึ่งกรอบคิดบางส่วนเรียบเรียงและอ้างอิงจากหนังสือชื่อ Political Ideologies ของ Andrew Heywood (2014)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น