ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ว่าด้วย ตรรกะของความเหมาะสม

ตรรกะของความเหมาะสม
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
โดยปกติตรรกะหลักที่มนุษย์ใช้ในการปฏิบัติมีสองประเภทคือตรรกะของความเหมาะสม กับตรรกของผลสืบเนื่อง  ตรรกะของความเหมาะสมเป็นเรื่องที่มนุษย์นำมาพิจารณาเพื่อตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำโดยอ้างอิงกับบทบาทหน้าที่และบริบทของสังคม  ส่วนตรรกะของผลสืบเนื่องนั้นมีสาระหลักว่า มนุษย์ตัดสินใจกระทำโดยพิจารณาว่าผลสืบเนื่องที่ตนเองได้รับคืออะไร หากมนุษย์ประเมินว่าผลสืบเนื่องเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ก็จะกระทำ  แต่หากประเมินแล้วว่า การทำสิ่งใดทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ ก็จะไม่ทำ
ตรรกะของความเหมาะสมเป็นกฎเกณฑ์หรือปทัสถานทางสังคมซึ่งมีอยู่สองประเภทใหญ่ๆคือ ตรรกะของความเหมาะสมแบบทั่วไปที่สมาชิกทุกคนในสังคมอ้างอิงร่วมกันในการกระทำทางสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง กับตรรกะของความเหมาะสมแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์หรือปทัสถานทางสังคมของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ
ตรรกะของความเหมาะสมแบบทั่วไปที่พลเมืองในแต่ละสังคมกำหนดขึ้นมาอาจมีความแตกต่างกัน บางสังคมกำหนดให้สมาชิกแต่ละคนปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมและเคารพซึ่งกันและกัน  ไม่ว่าจะมีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกันเพียงใดก็ตาม  ขณะที่บางสังคมกลับมีกฎเกณฑ์แตกต่างออกไป กลับใช้ตรรกะอีกชุดหนึ่งที่มองว่าการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันของสมาชิกในสังคมเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เป็นการตีตนเสมอท่านบ้าง  ไม่รู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่บ้าง  ไม่เคารพผู้อาวุโสบ้าง ไม่รู้จักกาละ เทศะบ้าง 
หากสมาชิกผู้ใดในสังคมใดกระทำแตกต่างจากตรรกะของความเหมาะสม ก็มักถูกแทรกแซงด้วยการลงโทษทางสังคม  ในสังคมที่ยึดการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อกัน ก็จะรังเกียจพฤติกรรมที่สร้างความไม่เท่าเทียม และไม่ยอมรับพฤติกรรมการใช้อภิสิทธิ์  ในทางกลับกันในสังคมที่ยึดการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมเป็นตรรกะหลักที่ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ  ผู้คนในสังคมนั้นก็จะรู้สึกว่าการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องปกติ หากสมาชิกของสังคมคนใดปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเท่าเทียม ก็มักจะถูกมองด้วยสายตาที่แปลกประหลาด และบางคนที่อยู่ในฐานะที่สามารถใช้อภิสิทธิ์ได้ แต่ไม่ยอมใช้ ก็มักจะถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยฉลาด
ตรรกะของความเหมาะสมแบบทั่วไปจะคาดหวังถึงพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสมของสมาชิกในการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างกว้างๆ  แต่ตรรกะของความเหมาะสมแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทของบุคคล ตามตำแหน่งหน้าที่และสถานภาพในสังคม มีพลังในการกำหนดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์อย่างนึกไม่ถึง  หลายครั้งหลายโอกาสที่บุคคลถึงกับยินยอมสูญเสียผลประโยชน์ของตนเองเพื่อปฏิบัติตามตรรกะของความเหมาะสม
ดังในสังคมไทย ความกตัญญูต่อบิดามารดา และดูแลท่านเมื่อยามชราภาพ เป็นบทบาทสำคัญของบุตรและธิดา  เพราะท่านเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูมาจนเติบใหญ่  จึงเป็นการที่สมควรและเหมาะสมที่บุตรและธิดาจะต้องดูแลบิดาและมารดาของตน  เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณ  หากบุตรและธิดาคนใดไม่ปฏิบัติตามตรรกะชุดนี้ ก็จะถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนอกตัญญูและเป็นคนไม่ดี  กระนั้นผู้หญิงมักจะถูกคาดหวังให้ดูแลบิดามารดายิ่งกว่าผู้ชาย  เพื่อแสดงความเป็นลูกที่ดี ผู้หญิงจำนวนมากจึงยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อทำหน้าที่ของความเป็นลูกที่ดี
มีตัวอย่างอีกมากที่แสดงให้เห็นถึงพลังของตรรกะของความเหมาะสมในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ และในหลายกรณีมีพลังมากกว่าตรรกะของความสืบเนื่อง อย่างเช่น การที่ทหารจำนวนมากยอมเสียสละชีวิตของตนเอง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทที่สังคมคาดหวัง  หรือพนักงานดับเพลิงที่ยอมเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต เพื่อทำหน้าที่ของตนเอง   กรณีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าปทัสฐานของสังคมเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้สวมตำแหน่งเหล่านั้น  มีพลังเหนือกว่าตรรกะของความสืบเนื่อง ซึ่งเน้นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
ผู้คนในสังคมแต่ละอาชีพ แต่ละตำแหน่ง แต่ละสถานภาพได้รับการปลูกฝังปทัสถานแห่งการปฏิบัติภายใต้ตรรกะของเหมาะสมอย่างยาวนาน และทำให้ปทัสฐานเหล่านั้นผนึกอยู่ในจิตสำนึกของบุคคลที่อยู่ภายในหน่วยทางสังคมนั้นๆ   แต่หากสังคมไม่มีการปลูกฝังและหล่อหลอมตรรกะของความเหมาะสมภายในอาชีพหรือตำแหน่งใดอย่างเข้มข้นแล้ว  ก็จะทำให้ตรรกะของความสืบเนื่องเป็นพลังหลักในการชี้นำการปฏิบัติของบุคคลในอาชีพนั้น 
อย่างอาชีพนักการเมืองในสังคมไทย  ซึ่งไม่มีการปลูกฝังปทัสฐานและกฎเกณฑ์การปฏิบัติที่เหมาะสม ทำให้การกระทำของนักการเมืองส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ตรรกะของความสืบเนื่อง โดยตัดสินใจทำหรือไม่ทำเรื่องใดมักจะยึดโยงกับผลประโยชน์หรือโทษที่ประเมินว่าจะเกิดขึ้นเป็นหลัก  สำหรับอาชีพตำรวจ  แม้ว่าจะได้รับการอบรมกล่อมเกลาและปลูกฝังปทัสถานที่เหมาะสมจากสถาบันการผลิตตำรวจที่เป็นทางการ  แต่ปทัสถานที่ได้รับอย่างไม่เป็นทางการผ่านรุ่นต่อรุ่น กลับขัดแย้งกับปทัสถานที่เป็นทางการ   และการปฏิบัติจริงตำรวจก็มักใช้ตรรกะของความเหมาะสม โดยใช้ฐานอิงจากปทัสถานที่ไม่เป็นทางการเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิบัติของตนเอง
ตำรวจไม่น้อยมีวิธีคิดว่า เป็นความเหมาะสมแล้วที่จะรับเงินจากผู้ทำผิดกฎหมายจราจร หรือผู้ทำผิดกฎหมายอื่นๆ เช่น เกี่ยวกับการเปิดสถานบริการ การเปิดบ่อนพนัน เพราะจะทำให้ทั้งตำรวจผู้ตรวจจับและผู้กระทำผิดได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่  โดยผู้ทำผิดก็เสียเงินน้อยกว่าอัตราการปรับสูงสุดตามกฎหมาย และไม่ต้องเสียเวลาไปเสียค่าปรับ หรือในบางกรณีก็ไม่ต้องโทษทางอาญา  ส่วนตำรวจก็ได้ประโยชน์ โดยรับเงินเข้ากระเป๋าตนเอง  และส่งให้ผู้บังคับบัญชาระดับด้วย 
ในหลายกรณีตรรกะของความเหมาะสมระหว่างกลุ่มในสังคมก็แตกต่างกัน และนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมได้    ดังความขัดแย้งระหว่างตำรวจกับผู้ใช้รถกระบะ    กลุ่มตำรวจมีตรรกะของความเหมาะสมชุดหนึ่งเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ถนน  และได้ขับเคลื่อนจนกระทั่งมีกฎหมายที่ขยายชนิดความผิดเพิ่มขึ้นมามากมาย  รวมทั้งการห้ามคนนั่งในกระบะหลังของรถกระบะ และการกำหนดให้ผู้โดยสารรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดทุกที่นั่ง รวมทั้งที่นั่งในรถกระบะตอนครึ่งด้วย เพราะรถกระบะเป็นรถสำหรับบรรทุกสิ่งของไม่ใช่บรรทุกผู้คน   ตำรวจผู้ผลักดันนโยบายมีความเชื่อว่า  กฎหมายที่เข้มข้นจะทำให้คนกลัวไม่กล้ากระทำผิด และทำให้มีความปลอดภัยในการใช้รถ อันจะนำไปสู่การลดอุบัติเหตุตามท้องถนนได้
    ขณะที่ผู้ใช้รถกระบะมีชุดของตรรกะว่า    รถกระบะเป็นรถอเนกประสงค์ ใช้ทั้งบรรทุกสิ่งของและบรรทุกผู้คน  เหมาะสมสำหรับสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของคนในสังคมไทย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด  และเชื่อว่าการออกกฎหมายในลักษณะนี้ไม่ได้ทำเพื่อความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างแท้จริง หากแต่มีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงอยู่    ความเชื่อเช่นนี้ของผู้ใช้รถยนต์สรุปจากประสบการณ์จริงที่พบได้ทั่วไปในสังคมไทย
สำหรับกรณีที่ตรรกะของความเหมาะสมมีพลังในการกำหนดพฤติกรรมน้อยกว่าตรรกะของความสืบเนื่องก็มีไม่น้อย  ที่เห็นชัดคือเหตุการณ์ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดลแบบรวมหมู่ อันเป็นผลมาจากการที่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับรองอธิการบดีต้องแสดงบัญชีต่อปปช.    การกระทำของบรรดารองอธิการบดีเหล่านั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของตรรกะของความสืบเนื่อง เพราะพวกเขาประเมินว่าการแสดงบัญชีทรัพย์จะสร้างผลกระทำทางลบต่อตนเองอย่างใดอย่างหนึ่งแต่ตนเอง  ดังนั้นเพื่อหลีกเลียงการแสดงบัญชีทรัพย์สินจึงลาออกจากตำแหน่งไป   เหตุการณ์นี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าตรรกะของความเหมาะสมหรือปทัสถานเกี่ยวกับการแสดงบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร ยังไม่มีความเป็นสถาบันเพียงพอที่จะไปทำให้บุคคลยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้
การกำหนดและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล และกลุ่มทางสังคมได้นั้น  สังคมต้องสร้างตรรรกะของความเหมาะสมที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นขึ้นมา  และทำให้กลายเป็นค่านิยมและปทัสถานทางสังคมขึ้นมา การใช้กฎหมายอย่างบุ่มบ่ามและขาดความรอบคอบ เพื่อบังคับให้บุคคลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างทันทีทันใด ดดยยังมิได้มีปทัสถานที่ดีรองรับ ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมได้ง่าย
ดังเรื่องกฎหมายจราจร ที่รัฐบาลยังมิได้สร้างปทัสถานเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้เป็นกลายเป็นสถาบันที่ชี้นำแบบแผนปฏิบัติในชีวิตประจำวันของประชาชน  รวมทั้งการไม่มีการสร้างมาตการทางเลือกในการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้รถใช้ถนนอย่างเป็นรูปธรรม อยู่ก็ใช้อำนาจหักด้ามพร้าด้วยเข่า  ความขัดแย้งก็ย่อมยากที่จะหลีกเลี่ยงได้
เช่นเดียวกันกับเรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งบริหารในหน่วยงานภาครัฐ  มีกฎหมายบังคับอย่างเป็นทางการ  แต่ยังขาดการทำให้เรื่องนี้ให้เป็นปทัสถานของวิชาชีพ  ก็ย่อมนำไปสู่การสร้างปัญหาตามมาได้   ดังนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างปทัสถานเชิงสถาบันขึ้นมาเพื่อทำให้การแสดงบัญชีทรัพย์สิน กลายเป็นตรรกะของความเหมาะสมสำหรับดำรงตำแหน่งผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐขึ้นมา
 

    

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั