ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

วจนะแห่งความเกลียดชัง

                                                   วจนะแห่งความเกลียดชัง

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

                    วจนะแห่งเกลียดชัง (hate speech)  ครอบคลุมทั้งการพูด การเขียน การกระทำ หรือการแสดงออกใดๆที่ทำโจมตี ดูถูก เหยียดหยามบุคคลหรือกลุ่มในเรื่องที่เกี่ยวกับเพศ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สีผิว ความพิการ ความศรัทธา และรสนิยมทางเพศ  เป็นต้น  
                    การพูดในเชิงดูถูก ล้อเลียน เสียดสี  การเขียนโดยใช้ถ้อยคำที่ทำให้บางกลุ่มด้อยค่าลง  การวาดภาพล้อเลียนในเชิงดูถูก  การแสดงออกโดยใช้ท่าทางหรือภาษากายในเชิงดูหมิ่น เยาะเย้ย ถากถาง  และการกระทำในลักษณะกีดกันหรือสองมาตรฐาน ด้วยเหตุที่คนเหล่านั้นมีความแตกต่างทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ผิว ความพิการ และการมีรสนิยมเพศเดียวกัน ล้วนแล้วอาจเข้าข่ายเป็นการสร้างความเกลียดชังได้ทั้งสิ้น
                    ในหลายประเทศมีกฎหมายห้ามสร้างความเกลียดชังด้วยเหตุผลที่ว่าการแสดงออกในลักษณะนี้จะกระตุ้นมีการใช้ความรุนแรงหรือการกระทำที่มีอคติ เพื่อกีดกันกลุ่มที่เป็นเป้าหมายของการสร้างความเกลียดชัง   อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มซึ่งเป็นเป้าหมายของความเกลียดชังจะตอบโต้ผู้สร้างความเกลียดชังด้วยความรุนแรงเช่นเดียวกัน
                    กล่าวอีกนัยหนี่ง การมีกฎหมายในลักษณะนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้สังคมมีความสงบสุขและปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นั่นเอง   สำหรับการกำหนดโทษแก่บุคคลที่กระทำผิดกฎหมายนี้มีหลายระดับ เช่น ประเทศแคนาดากำหนดโทษไว้ค่อนข้างสูงตั้งแต่ 2 ปี ถึง 14 ปี    ส่วนประเทศฟินแลนด์กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี เป็นต้น  กฎหมายห้ามการสร้างความเกลียดชังในบางประเทศโดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปยังกินความไปถึงการห้ามประกาศหรือแถลงการณ์ต่อสาธารณะ หรือแสดงออกใดๆในการสนับสนุนการกระทำที่ถูกนิยามว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ด้วย
          โดยพื้นฐานการสร้างความเกลียดชังเกิดจากความรู้สึกกลัวหรือขาดความมั่นคง   กล่าวคือผู้ใดที่สร้างความเกลียดชังแก่บุคคลหรือกลุ่มอื่นๆ เป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงในชีวิตและมีความหวาดหวั่นว่าจะถูกคุกคาม  เช่น การที่นาซีสร้างความเกลียดชังชาวยิวในประเทศเยอรมันนี เพราะว่านาซีกลัวว่าชาวยิวจะครอบงำประเทศ  หรือ การที่ชาวยุโรปส่วนหนึ่งสร้างความเกลียดชังต่อชาวเอเชียที่อพยพไปอยู่ในประเทศแถบยุโรปเพราะกลัวว่า ชาวเอเชียแย่งงานพวกเขาและทำให้ความมั่งคั่งของพวกเขาลดลง   หรือ การที่ชาวอเมริกันผิวขาวในยุคหนึ่งสร้างความเกลียดชังต่อคนผิวดำเพราะกลัวว่าคนผิวดำจะมีอำนาจและความมั่งคั่งเท่าเทียมกับพวกเขา
          เป้าหมายสุดท้ายของการสร้างความเกลียดชังคือการทำลายล้างกลุ่มคนที่พวกเขารู้สึกว่าคุกคามสถานะและอำนาจของพวกเขาให้หมดไป ซึ่งนำไปสู่การทำลายล้างอย่างรุนแรงเชิงกายภาพที่เรียกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้นมา  หรือไม่ก็นำไปสู่การทำลายล้างแบบซึมลึกค่อยๆบั่นทอนและปรับเปลี่ยนความคิดและความเชื่อให้อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มผู้สร้างความเกลียดชัง
          การตอบโต้ของกลุ่มที่เป็นเป้าหมายของการสร้างความเกลียดชังมีหลายหลายรูปแบบ แบบแรกคือยอมจำนนและตกเป็นทาสของกลุ่มผู้สร้างความเกลียดชัง  แบบที่สองคือการตอบโต้โดยการสร้างความเกลียดชังขึ้นมาเป็นเครื่องมือเช่นเดียวกัน  และแบบที่สามคือการใช้ความรุนแรง  
          โดยทั่วไปกลุ่มที่เป็นเป้าหมายของการสร้างความเกลียดชังมักเป็นกลุ่มที่มีความแตกต่างเชิงปริมาณกับกลุ่มที่เป็นผู้สร้างความเกลียดชังคือมักจะเป็นกลุ่มน้อยในสังคมหรือประเทศนั้นๆ  ซึ่งต้องดำรงชีวิตอย่างจำนนและอดกลั้นต่อสิ่งที่ตนเองถูกกระทำ  เมื่อไม่อาจทนได้ก็มักใช้ความรุนแรงในการตอบโต้ และผลที่ตามมาคือยิ่งถูกคนส่วนใหญ่ในสังคมกระทำด้วยความเกลียดชังมากขึ้นไปอีกดุจเป็นวัฏจักร  หากวงจรนี้หมุนต่อไปเรื่อยๆก็จะพัฒนาไปสู่การจลาจลและสงครามกลางเมืองได้
          อย่างไรก็ตามก็มีผู้ท้วงติงว่าในบริบททางการเมือง การห้ามสร้างความเกลียดชังอาจถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการห้ามแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในบางเรื่องที่ผู้มีอำนาจไม่ประสงค์ได้ยินได้ฟัง หรือห้ามวิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้การอภิปรายทางการเมืองและสังคมไม่สามารถกระทำได้อย่างเต็มที่ เมื่อปราศจากการตรวจสอบ ก็จะนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ง่าย  ดังนั้นการนิยามว่าเรื่องใดเป็นการกระทำที่สร้างความเกลียดชังจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก  
          บางประเทศถึงขนาดกำหนดอย่างชัดเจนในการห้ามไม่ให้ใช้คำบางคำเรียกคนต่างสีผิว เช่น  ห้ามใช้คำว่า “นิโกร”  เรียกคนผิวดำ หรือ บางศาสนาก็ห้ามล้อเลียนศาสดาของตนเอง   ดังนั้นการที่จะกำหนดว่าถ้อยคำ วลี และประโยคแบบใดที่สร้างความเกลียดชังต้องทำให้ชัดเจนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้     แต่เนื่องจากกฎหมายของประเทศใดก็ใช้บังคับประเทศนั้น   แต่ละประเทศเมื่อห้ามทำในสิ่งที่แตกต่างกันก็ทำให้คนบางกลุ่มของบางประเทศ โดยเฉพาะสื่อมวลชนก็กระทำในสิ่งที่ไม่ได้ห้ามในประเทศตน  ถึงแม้ว่าการกระทำนั้นเป็นข้อห้ามของประเทศอื่นหรือของศาสนาอื่นก็ตาม  ดังที่สื่อมวลชนของประเทศฝรั่งเศสบางกลุ่มได้กระทำในการสร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มคนต่างศาสนากับตนเอง   แม้ว่าจะไม่ผิดกฎหมายในประเทศฝรั่งเศส แต่ก็สร้างความเจ็บแค้นแก่กลุ่มที่ถูกกระทำ จนนำไปสู่การตอบโต้ด้วยความรุนแรงและมีผู้เสียชีวิตหลายคน 
          อย่างในประเทศไทยยุคนี้ถึงแม้ว่ายังไม่มีกฎหมายห้ามสร้างความเกลียดชัง  แต่ก็มีการสร้างวาทกรรมในทำนองเดียวกันขึ้นมาในนามของคำว่า “ปรองดอง”   มีหน่วยงานที่กุมอำนาจควบคุมสื่อมวลชนบางหน่วยที่บ้าจี้อย่างขนาดหนักถึงขาดห้ามพูดห้ามวิจารณ์ถึงบางเรื่องและบุคคลบางคนในสื่อมวลชน เช่น ห้ามพูดคำว่าระบอบทักษิณทางรายการโทรทัศน์  ห้ามวิจารณ์พฤติกรรมการทุจริตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นต้น   โดยให้เหตุผลว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความเกลียดชังและในยามนี้ประเทศต้องการความปรองดอง
          เมื่อเร็วๆนี้ก็มีการอ้างว่า ไม่ควรถอดถอนนักการเมืองที่กระทำผิดกฎหมายเพื่อความปรองดอง  การอ้างเช่นนี้เป็นการอ้างเพื่อให้ตนเองและพรรคพวกตนเองรอดพ้นจากการตรวจสอบและลงโทษตามกฎหมาย   ที่น่าห่วงคือสังคมไทยมีคนประเภทนี้มากเสียด้วย  และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีการใช้กฎหมายห้ามการสร้างความเกลียดชังเป็นเครื่องมือปิดปากคนเพื่อปกปิดความไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน การใช้อำนาจในทางที่ผิด และการทุจริตประพฤติมิชอบของตนเอง
          การห้ามสร้างความเกลียดชังเป็นเรื่องที่ดีและควรกระทำ  แต่ต้องมีการกำหนดการนิยามให้ชัดเจนเท่าที่จะเป็นไปได้  เพราะหากมีการเขียนอะไรที่กว้างๆและคลุมเครือ โอกาสที่กฎหมายจะถูกนำไปใช้ในทางที่เกินเลยจากเจตนารมณ์ของผู้ร่างก็จะมีสูงโดยเฉพาะการนำไปกลั่นแกล้งกันทางการเมือง                                   
           มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตหากมีกฎหมายห้ามใช้วจนะแห่งความเกลียดชังขึ้นมาในสังคมไทยคำบางคำ เช่น  “ระบอบทักษิณ”  “ควายแดง”  “สลิ่ม” “แมลงสาบ”   “ไพร่”  “โสเภณี”  “ทุนสามานย์”  อาจถูกห้ามไม่ให้ใช้ก็ได้ 
          หรือ หากหนักกว่านั้นคำว่า “นักการเมือง”  “นักลากตั้ง” หรือ “นักรัฐประหาร”  ก็อาจถูกห้ามไม่ให้ใช้ด้วย และให้หันไปใช้คำว่า “นักพัฒนาประชาธิปไตย”   “นักปฏิรูปประชาธิปไตย”  หรือ “นักรักษาความสงบ”  แทนก็เป็นได้
           


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั