ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การเมืองไทยในมุมมองของชนชั้นกลาง

การเมืองไทยในมุมมองของชนชั้นกลาง
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
                    มีความสงสัยเกิดขึ้นแก่บรรดาชาวต่างประเทศไม่น้อยที่สังเกตการเมืองไทย พวกเขาแปลกประหลาดใจว่าทำไมชนชั้นกลางไทยจึงต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเฉพาะรัฐบาลทักษิณช่วง ค.ศ. 2001 – 2006 และรัฐบาลที่เป็นพวกพ้องและเครือญาติของทักษิณอีกหลายชุดหลังจากนั้น  บทความนี้จะทำความเข้าใจและอธิบายความคิดทางการเมืองของชนชั้นกลางไทย และเหตุผลที่พวกเขาต่อต้านระบอบทักษิณ

          นับตั้งแต่ ค.ศ. 1932 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาขึ้นมาสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง   แต่ละครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมมีการผสมปนระหว่างความสับสนความรู้สึกไม่มั่นคงและความคาดหวัง  การเปลี่ยนแปลงครั้งแรกใน ค.ศ. 1932 เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของสังคมไทยจากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ระบอบประชาธิปไตย ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นข้าราชการระดับกลางทั้งพลเรือนและทหารซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากระบอบประชาธิไตยของประเทศตะวันตก หากกล่าวในเชิงชนชั้นกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจัดได้ว่าเป็นชนชั้นกลางรุ่นใหม่ในยุคนั้น  เมื่อได้อำนาจคณะผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องเผชิญทั้งศึกจากภายนอกกลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มที่สูญเสียอำนาจและเกิดการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจกันภายใน กลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงสามารถเอาชนะปรปักษ์จากภายนอกซึ่งประกอบด้วยกลุ่มขุนนางเก่าได้  แต่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งภายในระหว่างปีกผู้นำพลเรือนกับปีกผู้นำกองทัพ  ประชาธิปไตยในช่วง 15 ปีแรกเป็นประชาธิปไตยภายใต้การกำกับและชี้นำของกลุ่มนำการเปลี่ยนแปลง องค์ประกอบรัฐสภามีทั้งสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งและสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดยกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลง  อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างปีกพลเรือนและปีกทหารในกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงมีความแหลมคมมากขึ้นในช่วงค.ศ.1947 และจบลงด้วยการรัฐประหารด้วยกำลังทหาร  หลังจากนั้นกองทัพได้เข้ามากุมสภาพการเมืองไทยโดยใช้การผสมผสานระหว่างกำลังทหารของกองทัพและกลไกการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานมาประมาณหนึ่งทศวรรษ  กระนั้นก็ตามผู้นำกองทัพก็ยังมีความรู้สึกว่าการยังคงให้มีสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งทำให้พวกเขาไม่อาจดำเนินการบริหารประเทศตามเป้าประสงค์ได้อย่างเต็มที่ เพราะว่าสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งมักมีแนวโน้มของการเรียกร้องและต่อรองผลประโยชน์อยู่เสมอจนทำให้การขับเคลื่อนนโยบายไม่ราบรื่นเท่าที่ควร  ในท้ายที่สุดกลุ่มผู้นำทหารก็ตัดสินใจรัฐประหารครั้งสำคัญในค.ศ.1958 โดยกเลิกระบอบการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด และใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จควบคุมการเมืองระหว่าง ค.ศ.1958-1969

กล่าวได้ว่าข้าราชการพลเรือน ทหาร และบรรดาสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งที่มีบทบาททางการเมืองในช่วง 20 กว่าปีแรกของการนำระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยตะวันตกมาใช้ในสังคมไทยเป็นชนชั้นกลางทางสังคม  ชนชั้นกลางกลุ่มนี้โดยเฉพาะข้าราชการพลเรือนและทหารส่วนใหญ่มีภูมิหลังจากครอบครัวที่เป็นขุนนางระดับกลางและคหบดีในส่วนภูมิภาค  ส่วนบรรดาสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการครูและทนายความในส่วนภูมิภาคส่วนเดียวกัน  ส่วนกลุ่มนายทุนยังไม่เข้ามาสู่วงจรของอำนาจทางการเมืองมากนัก    จึงกล่าวได้ว่าชนชั้นกลางทางสังคมของไทยมีบทบาททางการเมืองตั้งแต่ในยุคแรกของการทดลองใช้ประชาธิปไตยในสังคมไทย

ภายใต้การปกครองโดยอำนาจเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จของคณะทหารช่วง ค.ศ. 1958-1969 ประเทศไทยได้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ การส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งทดแทนการนำเข้าและสนับสนุนการส่งออกได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น พร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาประเทศทั้งในแง่การสร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในขอบเขตทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็มีการสร้างมหาวิทยาลัยทั้งภูมิภาคและส่วนกลางขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นในยุคนี้ได้สร้างกลุ่มพลังซึ่งต่อมาภายหลังมีบทบาททางการเมืองไทยเป็นอย่างมากสามกลุ่ม คือกลุ่มนายทุนระดับชาติ กลุ่มนายทุนท้องถิ่นที่เติบโตจากธุรกิจก่อสร้างโครงการของรัฐ และกลุ่มชนชั้นกลางทางสังคมที่มีการศึกษาอีนเป็นผลมาจากการขยายตัวของมหาวิทยาลัย
กลุ่มชนชั้นกลางที่มีการศึกษาซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาได้กลายเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตย โดยในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1973 กลุ่มนี้ได้ชุมนุมเดินขบวนขับไล่กลุ่มทหารออกจากวงจรอำนาจทางการเมืองและทำให้สังคมไทยหันหลับไปใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนอีกครั้ง แต่ทว่าในสนามการเลือกตั้งกลุ่มนักศึกษาและชนชั้นกลางกลับไม่มีพลังอำนาจในการกำหนดทิศทางแต่อย่างใด   กลับกลายเป็นว่ากลุ่มที่สามารถยึดกุมสนามเลือกตั้งได้คือกลุ่มทุนระดับชาติและทุนท้องถิ่น  ทั้งนี้เป็นเพราะว่ากลุ่มทุนได้อาศัยเงิน ระบบอุปถัมภ์ และการซื้อเสียงเป็นเครื่องอันทรงประสิทธิภาพในการได้มาซึ่งชัยชนะการเลือกตั้ง   ส่วนกลุ่มทหารก็ได้ถอยออกจากการเล่นบทบาทหน้าเวทีไปอยู่หลังเวทีชั่วคราว

การช่วงชิงอำนาจระหว่างกลุ่มพลังต่างๆในสังคมไทยช่วง 1973-1976 เป็นไปอย่างเข้มข้น กลุ่มทุนเมื่อได้อำนาจการเมืองก็มุ่งแสวงหาผลประโยชน์เป็นหลักมากกว่าที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวสังคมไทยมีการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์อย่างรุนแรงระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐไทย  กลุ่มนักการเมืองที่มีอำนาจบริหารไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ การลอบสังหารทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากผู้นำนักศึกษา นักวิชาการ และชาวนาหลายคนถูกลอบสังหาร การวางระเบิดเพื่อหวังผลทางการเมืองขึ้นบ่อยครั้ง ความรุนแรงพัฒนาไปในทุกมิติของสังคมและจบลงด้วยการสังหารหมู่นักศึกษากลางเมืองและคณะทหารก็ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนอีกครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคม 1973

กลุ่มทหารได้ร่วมมือกับกลุ่มทุนระดับชาติและทุนท้องถิ่นในการสถาปนาระบอบที่เรียกกันว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบขึ้นมา  ภายใต้ระบอบนี้คณะทหารได้อนุญาตให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ขณะเดียวกันก็สงวนอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีอำนาจใกล้เคียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร   การเมืองไทยเข้าสู่สภาวะการมีเสถียรภาพชั่วคราวระหว่าง ค.ศ. 1978 – 1988 ภายใต้รัฐบาลที่การผสมผสานระหว่างตัวแทนจากกองทัพ กลุ่มทุนระดับชาติ และทุนท้องถิ่น  ในทศวรรษนี้ภาพลักษณ์ที่ปรากฎต่อสาธารณะคือตัวแทนจากกองทัพ พลเอกปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีและนายทหารคนอื่นๆ ที่เป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล เช่น พลเอกสิทธิ จิรโรจน์  พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา ล้วนแล้วแต่มีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์และมีความสามารถในการทำหน้าที่    ตรงกันข้ามกับรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นนายทุนท้องถิ่นซึ่งมีภาพลักษณ์และเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตเกิดขึ้นอยู่เสมอ   

สำหรับชนชั้นกลางกลุ่มอันประกอบด้วย นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนาเอกชน(NGOs) พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทธุรกิจเอกชน และข้าราชการระดับกลางมีบทบาททางการเมืองแบบจำกัดวง กลุ่มเหล่านี้แสดงออกทางการเมืองโดยการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านหรือสนับสนุนนโยบายบางประการของรัฐบาล  การชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นบ้างแต่ขนาดไม่ใหญ่นักและไม่มีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากนัก   อย่างไรก็ตามชนชั้นกลางกลุ่มนี้เฝ้ามองการพัฒนาการทางการเมืองอย่างใกล้ชิด ด้านหนึ่งชนชั้นกลางไม่ชอบกลุ่มทุนท้องถิ่นเพราะว่ากลุ่มทุนเหล่านี้ใช้การซื้อเสียงเป็นวิธีการหลักในการเอาชนะการเลือกตั้ง และเมื่อกลุ่มทุนท้องถิ่นเข้าไปมีอำนาจรัฐก็มักมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตเกิดขึ้นเสมอ    แต่ว่าอีกด้านหนึ่งชนชั้นกลางก็ไม่ชอบกับการที่กลุ่มทหารมีอิทธิพลทางการเมือง  ในบางครั้งเมื่อมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทหารกับกลุ่มนักการเมือง  ชนชั้นกลางในยุคนั้นก็มักจะเผชิญกับปมปัญหาว่าจะสนับสนุนกลุ่มทหารหรือกลุ่มทุนดี   แต่การตัดสินใจก็มักจบลงที่ว่าสนับสนุนกลุ่มทุนไปก่อนเพราะว่าอย่างน้อยกลุ่มทุนก็มากจากการเลือกตั้ง  แม้ว่าจะชนะการเลือกตั้งด้วยการซื้อเสียงก็ตาม  และชนชั้นกลางมักคิดว่าการขับไล่กลุ่มทุนออกจากอำนาจง่ายกว่าการขับไล่กลุ่มทหาร (ประการนี้ในสองทศวรรษต่อมา พิสูจน์ได้ว่าเป็นความเข้าใจผิดของชนชั้นกลาง)
ช่วง 1988 – 1991 เป็นช่วงเวลาที่นักการเมืองที่เป็นกลุ่มทุนอุตสากรรมระกับชาติและกลุ่มทุนท้องถิ่นได้เข้าไปมีอำนาจเต็มในการเมืองไทย เหตุผลสำคัญคือตัวแทนกองทัพผู้มากบารมีอย่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้ประกาศวางมือทางการเมือง   ทันทีที่กลุ่มทุนมีอำนาจพวกเขาก็แสดงพฤติกรรมลุแก่อำนาจและการใช้อำนาจในทางที่ผิดอย่างมากมาย เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับทุจริตของรัฐบาลปรากฏขึ้นเป็นข่าวตามหน้าสื่อมวลชนไม่เว้นวัน จนกระทั่งรัฐบาลในยุคนั้นถูกตั้งฉายาว่าเป็น “บั๊ฟเฟ่ต์ แค้บบินนิท” (buffet cabinet) หรือ ทุจริตกันอย่างเสรี นั่นเอง   ชนชั้นกลางก็ได้พิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมอย่างรุนแรง จนมีการจัดนิทรรศการโกงบ้านกินเมืองขึ้นมาเพื่อเปิดโปงการทุจริตของรัฐบาล  แต่ดูเหมือนว่ามิได้ทำให้รัฐบาลเกิดความกังวลแต่ประการใด    ส่งผลให้ชนชั้นกลางมีความรู้สึกรังเกียจรัฐบาลพลเมืองนักการเมืองที่เป็นกลุ่มทุนมากยิ่งขึ้น    และในที่สุดกลุ่มทหารซึ่งหลบฉากไปจากเวทีการเมืองชั่วคราวก็ฉวยโอกาสก่อการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 1991 

แม้ว่าชนชั้นกลางจะรังเกียจกลุ่มทุน แต่ก็มิได้นิยมชมชอบกลุ่มทหารยุคนั้นแต่อย่างใด  หลังรัฐประหาร กลุ่มทหารได้แต่งตั้งนายอานันท์ ปัรยารชุน พลเรือนที่เป็นอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและนักธุรกิจขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี  นายอานันท์ ได้บริหารประเทศโดยประกาศใช้นโยบายบริหารอย่างโปรงใสและมีประสิทธิภาพ ผลงานการบริหารประเทศของนายอานันท์ได้สร้างความประทับใจแก่ชนชั้นกลางเป็นอย่างมาก  เพราะรัฐบาลนายอานันท์บริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสอย่างที่รัฐบาลซึ่งมาจากนักการเมืองทุนท้องถิ่นไม่สามารถทำได้    เมื่อรัฐบาลอานันนท์หมดวาระใน ค.ศ. 1992 และมีการเลือกตั้งขึ้นมาในปีเดียวกัน   หลังการเลือกตั้งปรากฏว่าคณะทหารที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 1991 ได้ร่วมมือกับกลุ่มทุนท้องถิ่นจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพลเอกสุจินดา คราประยูรตัวแทนจากกองทัพดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี   การทำเช่นนั้นของกองทัพได้สร้างความขุ่นเคืองแก่ชนชั้นกลางเป็นอย่างมากเพราะคณะรัฐประหารได้จับมือกับนักการเมืองกลุ่มทุนท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงอื้อฉาวเรื่องทุจริตมากที่สุดเพื่อตั้งรัฐบาล   ต้นเดือนพฤษภาคม 1992 ชนชั้นกลางนับแสนคนในกรุงเทพและอีกหลายหมื่นในภูมิภาคจึงได้ออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลทันที   ชนชั้นกลางที่แสดงบทบาททางการเมืองยุคนั้นรู้จักกันในนาม “ม๊อบมือถือ”   การต่อสู้ทางการเมืองเป็นไปด้วยความรุนแรง มีผู้ชุมนุมถูกกองกำลังของรัฐบาลยิงทำร้ายเสียชีวิตหลายสิบคน และในที่สุดพลเอกสุจินดา คราประยูรได้ลาออกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  นายอานันท์ ปันยารชุนได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทนอีกครั้งหนึ่ง  และต่อมาไม่นานนายอานันท์ก็ได้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหนึ่งในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

หลังการเลือกตั้งเดือนกันยายน 1992 นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์ซื่อสัตย์สุจริตได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลหลายคนกลับมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนัก  ชนชั้นกลางยอมรับรัฐบาลชุดนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ไว้วางใจนักจึงมีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปการเมืองอย่างต่อเนื่อง กระแสการปฏิรูปการเมืองได้เพิ่มระดับอย่างเข้มข้นจนทำให้นักการเมืองต้องจำใจยอมตามกระแสและหันมาสนับการปฏิรูปการเมือง ประเด็นหลักที่ชนชั้นกลางต้องการปฏิรูปคือ การเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม ปลอกจากการซื้อขายเสียง  การมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภา และมีความซื่อสัตย์ในการบริหารประเทศ  และการเพิ่มระดับมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง   การผลักดันเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองนำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 1997 ขึ้นมา โดยมีเนื้อหาสอดคล้องกับเจตนารมย์ของการปฏิรูปการเมือง 

 ดูเหมือนว่า รัฐธรรมนูญปี 1997 จะเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงชัยชนะของชนชั้นกลาง ความหวังที่จะเห็นยุคแห่งธรรมาภิบาลทางการเมืองเกิดขึ้นคงจะบรรลุผลในไม่ช้า   แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปีความหวังของชนชั้นกลางก็เลือนหายไป เมื่อมีการก่อตัวของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ขึ้นมา  ระบอบนี้อาศัย “รูปแบบและกลไก”ของประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการทำลาย “เนื้อหาและคุณค่า” ของประชาธิปไตยสิ่งที่ระบอบทักษิณสร้างขึ้นมาในช่วงที่ครองอำนาจคือ ระบอบเผด็จการรัฐสภาอย่างเต็มรูปแบบ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นกระบวนการ  การสร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางการเมือง และการทุจริตคอรัปชั่นอย่างมหาศาลชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2001  ผลการเลือกตั้งพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น    พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายตำรวจที่เป็นนายทุนระดับชาติด้านโทรคมนาคมได้รับการชักจูงให้เข้าสู่วงการการเมืองโดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรมผู้เป็นนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์มากที่สุดคนหนึ่งของแวดวงการเมืองไทย   จึงทำให้สังคมเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปด้วย ประกอบกับการกล่าวในที่สาธารณะของ พ.ต.ท.ทักษิณ หลายครั้งว่า ตนเองเป็นคนร่ำรวยแล้วจะไม่โกงเด็ดขาด  แต่เข้ามาเพื่อกระทำพันธกิจเพื่อบ้านเมืองอย่างเต็มที่  สถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและบุคลิกของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้สร้างความประทับใจแต่ชนชั้นกลางเป็นจำนวนมาก เพราะว่าเป็นคุณสมบัติที่ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่ชนชั้นกลางรังเกียจมาก่อน  กล่าวคือในยุคนั้นพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรมีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์ที่ได้รับการประกันจากพลตรีจำลอง ศรีเมือง และภาพลักษณ์ของความมีประสิทธิภาพที่ได้มาจากการประสบวามสำเร็จในการประกอบธุรกิจ  ยิ่งกว่านั้นการเข้ามาอยู่ในพรรคพลังธรรมทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้สร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มนักยุทธศาสตร์การเมืองที่เป็นอดีตพรรคคอมมิวนิสต์หลายคน ซึ่งต่อมาภายหลังกลุ่มเหล่านั้นได้เป็นกลไกหลักที่สร้างชัยชนะในการเลือกตั้งให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ในการดังนั้นการเลือกตั้งปี 2001 ชนชั้นกลางจำนวนมากที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มาก่อนก็หันไปสนับสนุนพรรคไทยรักไทย  ขณะเดียวกันชาวบ้านซึ่งเคยอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของกลุ่มนักการเมืองที่เป็นนายทุนท้องถิ่นมาก่อนก็หันมาสนับสนุนพรรคไทยรักไทยเช่นเดียวกัน เพราะว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เสนอนโยบายประชานิยมหรือเสนอผลประโยชน์เชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมให้ชาวบ้านสัมผัสได้โดยตรง นโยบายเหล่านี้ได้ถูกผลิตจากกลุ่มนักยุทธศาสตร์ของพรรค เช่น นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค นโยบายกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น  นักวิชาการที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทยบางคนถึงกับประกาศว่าพรรคไทยรักไทยทำให้ประชาธิปไตยเป็น “ประชาธิปไตยที่กินได้”

กล่าวโดยสรุปชัยชนะการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยในปี 2001 และการเลือกตั้งหลังจากนั้นเกิดจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ
1) การใช้สื่อมวลชนและการโฆษณาชวนเชื่ออย่างเข้มข้นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเองและพวกพ้องเป็นกลุ่มที่เป็นผู้บริหารมืออาชีพ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และสามารถนำพาประเทศแข่งขันในเวทีโลกได้   ภาพลักษณ์เช่นนี้สร้างเพื่อดึงคะแนนเสียงจากชนชั้นกลาง และบังเกิดผลลัพธ์ตามเป้าประสงค์โดยมีชนชั้นกลางจำนวนมากให้การสนับสนุนพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 และ  2548
          2) การใช้นโยบายประชานิยมที่ให้ผลประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้นแก่ชนชั้นชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรมในการรณรงค์หาเสียง เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค เป็นต้น  ขณะเดียวกันเขาก็ผลิตนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางด้วย โดยประกาศอย่างน่าเชื่อถือว่าจะทำสงครามกับยาเสพติดและการคอรัปชั่น   การใช้นโยบายประชานิยมเป็นการแข่งขันการ “ประมูลซื้อสิทธิ” หรือ  “ซื้ออำนาจอธิปไตย” ของประชาชนนั่นเอง  
          3) การใช้กลไกระบอบอุปถัมภ์อำนาจนิยม โดยได้กวาดต้อนบรรดานักการเมืองที่มีเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ในท้องถิ่นเข้ามาอยู่ในพรรคของตนเองเป็นจำนวนมาก ใช้นักการเมืองเหล่านี้เป็นเป็นฐานในการสร้างคะแนนนิยมในชนบทโดยสนับสนุนเงินทุนเพื่อใช้การหาเสียงและระดมคะแนนเสียง ทำให้พวกเขาสามารถได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนมาก

ในระยะแรกของการบริหารประเทศดูเหมือนว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยได้รับการชื่นชมจากแทบทุกชนชั้น  ระหว่างการบริหารประเทศพวกเขาได้สร้างเครือข่ายและกลไกทางการเมืองเพื่อครอบงำการเมืองไทยซึ่งนักวิชการเรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ขึ้นมาอย่างช้าๆทีละขั้นทีละตอน   เริ่มตั้งแต่ การแทรกแซงศาลรัฐธรรมนูญบางคนเพื่อเปลี่ยนผลการตัดสินใจจนทำให้เขาหลุดพ้นผิดจากข้อกล่าวหาในการฟ้องร้องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)เรื่องการซุกหุ้น   ต่อมาได้มีการใช้อำนาจรัฐบาลสร้างรัฐตำรวจขึ้นมา โดยมีการชี้นำทางนโยบายให้ตำรวจจัดการกับผู้ค้ายาเสพติดอย่างเด็ดขาด มีการสั่งให้ตำรวจจัดทำรายชื่อผู้ค้ายาเสพติด และเมื่อทำรายชื่อเสร็จสิ้นแล้วก็ได้สั่งการลงไปว่าผู้ที่อมีรายชื่อมีทางเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 อย่างนี้คือ อยู่คุก (ถูกจับ) หรือ อยู่วัด (ตาย)  เมื่อรัฐบาลสั่งการโดยให้มีทางเลือกเพียงสองทางดังกล่าวแล้ว ตำรวจก็มีทางเลือกไม่มากนัก เมื่อตำรวจไม่อาจหาหลักฐานยืนยันว่าผู้มีรายชื่อค้ายาเสพติดจริงเนื่องจากในขั้นตอนการจัดทำรายชื่อผู้ค้ายาเสพติดมีความหละหลวมมากสิ่งที่ตามมาคือเกิดการสังหารผู้ที่มีรายชื่อประมาณสามพันราย ที่รู้จักกันในนาม “การฆ่าตัดตอน” เรื่องนี้ทำให้นักสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยวิจารณ์รัฐบาลทักษิณอย่างรุนแรง และต่อมามีการนำเรื่องที่รัฐบาลทักษิณกระทำไปฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ นอกจากนั้นรัฐบาลยังใช้รัฐตำรวจในการจัดการกับผู้ที่เปิดโปงความชั่วร้ายของตนเอง เช่น การอุ้มนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนหายตัวไปจนกระทั่งปัจจุบันยังตามหาไม่เจอ  ความหวาดกลัวกระจายไปทั่วทุกหัวระแหง ชนชั้นกลางที่เคยสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ ก็เริ่มเปลี่ยนถอนการสนับสนุนออกไป

ยิ่งกว่านั้นพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรยังได้ขยายอิทธิพลเข้าแทรกแซงเพื่อครอบงำสถาบันหลักทางการเมืองแทบทุกองค์กร   มีการกวาดต้อนสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมากเข้ามาอยู่ในเครือข่ายอำนาจและกำหนดให้เลือกบุคคลที่เขาสั่งได้เป็นประธานวุฒิสภา  จากนั้นกำหนดให้บุคคลในเครือข่ายอำนาจของเขาเข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)

ทั้งยังเข้าไปควบคุมระบบราชการอย่างเบ็ดเสร็จโดยการผลิตวาทกรรมของปฏิรูประบบราชการขึ้นมาบังหน้าเพื่อใช้รูปแบบการบริหารงานบางอย่างของภาคเอกชนไปใช้แทน โดยเฉพาะการใช้อำนาจแบบระบบเถ้าแก่ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการแทนระบบคุณธรรม  ผลที่ตามมาคือทำให้เกิดความโกลาหล ความเครียดและความขัดแย้งในแวดวงข้าราชการอย่างไม่เคยมีมาก่อน  ทำให้ข้าราชการที่ดีจำนวนมากลาออกจากราชการเนื่องจากไม่อาจอดทนกับพฤติกรรมการบริหารแบบเจ้าของบริษัทได้   การทำให้หน่วยงานราชการเป็นเสมือนบริษัทและข้าราชการเป็นเสมือนลูกจ้างเป็นการบ่อนทำลายจิตวิญญาณแห่งการรับใช้แผ่นดินและรับใช้สาธารณะของบรรดาข้าราชการ  ผลสืบเนื่องที่ตามมาคือข้าราชการจำนวนมากทำงานเพียงเพื่อรับใช้และสนองผลประโยชน์ของบรรดาเหล่าทุนสามานย์แทนที่จะรับใช้ประชาชนและแผ่นดิน  คำเรียกที่ข้าราชจำนวนมากนิยมเรียกผู้บังคับบัญชาที่เป็นกลุ่มทุนสามานย์คือ “นาย” หรือ “Boss”   
   
         รัฐบาลทักษิณยังควบคุมความคิดของมวลชนได้อย่างมีประสิทธิผลโดยใช้สื่อมวลชนโฆษณาชวนเชื่อ จัดสภาพสร้างสถานการณ์และบริหารกระแสอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณะอย่างเป็นระบบ  มีการสร้างข่าวลวงเพื่อกลบเกลื่อนเสียงวิพากษ์วิจารณ์  รวมทั้งมีการสร้างข่าวใหม่ในเชิงจิตนิยายเพื่อสร้างความตื่นเต้นแก่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ
      
          และเพื่อให้มีความแน่นอนในเรื่องคะแนนเสียงสนับสนุนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้มาตรการทางธุรกิจเข้าไปควบรวมพรรคการเมืองอื่นให้มาสังกัดพรรคไทยรักไทย เช่น พรรคความหวังใหม่ ส่วนพรรคการเมืองใดที่ไม่ยอมยุบมารวมกับพรรคไทยรักไทย ก็มีการยื่นข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้แก่พรรคการเมืองนั้น เช่น การเสนอผลประโยชน์ให้เป็นจำนวนมาก หรือการใช้หลักฐานบางประการเกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้นำพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่งหากหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคนั้นไม่ยินยอมยุบพรรคก็จะถูกเล่นงานโดยกฎหมาย

          กรณีสื่อมวลชน ได้มีการซื้อสื่อมวลชนเป็นพวกโยอาศัยงบประชาสัมพันธ์ของรัฐ ดังนั้นในยุครัฐบาลทักษิณและรัฐบาลที่อยู่ในเครือข่ายของทักษิณในระยะหลังจึงมีการจัดงบประมาณสำหรับประชาสัมพันผลงานเป็นจำนวนมาก หากสื่อมวลชนใดวิจารณ์รัฐบาล หน่วยงานของรัฐก็จะถูกสั่งไม่ให้ลงโฆษณาในสื่อเหล่านั้น  และหากสื่อมวลชนกลุ่มใดยังแข็งข้อเป็นปรปักษ์ ก็มีการใช้อำนาจรัฐผ่านสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กลั่นแกล้งโดยเข้าตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินของบุคคลเหล่านั้นไว้

           เมื่อควบคุมกลไกต่างๆเหล่านี้ไว้ได้แล้ว  การกระทำของพวกเขาก็มีความเหิมเกริมและลุแก่อำนาจมากขึ้น  มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องเป็นจำนวนมาก  รวมทั้งมีการเรียกรับผลประโยชน์เกิดการคอรัปชั่นขึ้นมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำผิดต่อรัฐ(คตส.)ที่เข้าไปตรวจสอบและไต่สวนจำนวนมีจำนวนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องนับแสนล้าน ในที่สุด คตส. ได้ประกาศอายัดทรัพย์สินของทักษิณประมาณห้าหมื่นล้านบาทในช่วงกลางปี 2550 
         
แม้ว่ารัฐบาลทักษิณและเครือข่ายสามารถควบคุมกลไกทางสังคมและการเมืองได้แทบทั้งหมด  แต่กลับไม่อาจควบคุมปัญญาชนชนชั้นกลางได้    การกระทำในลักษณะลุแก่อำนาจ ละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชนและฉ้อฉลคอรัปชั่นของรัฐบาลทำให้ชนชั้นกลางที่มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ลุกขึ้นมาต่อต้านระบอบทักษิณอย่างเปิดเผย   อันที่จริงในยุคแรกของรัฐบาลทักษิณได้มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งผลิตหนังสือชื่อ “รู้ทันทักษิณ” ขึ้นมาแต่ยังไม่อาจสร้างความกระทบกระเทือนต่อระบอบทักษิณได้ จุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างความสั่นคลอนแก่ระบอบทักษิณคือการเกิดขึ้นของ ปรากฏการณ์สนธิ

นายสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของหนังสือพิมพ์ เว็ปไซด์ผู้จัดการและโทรทัศน์ผ่านระบบดาวเทียม เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณใน “รายการเมืองไทยรายสัปดาห์” โดยจัดที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ต่อมารัฐบาลทักษิณสั่งให้สถานีโทรทัศน์ดังกล่าวถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ออกไปออกไป หลังจากนั้นนายสนธิ ลิ้มทองกุลก็ได้เคลื่อนไหวจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรขึ้นมาโดยใช้สวนลุมพินีเป็นสถานที่จัดรายการและถ่ายทอดผ่าน ASTV    ชนชั้นกลางที่กำลังสงสัยและตั้งคำถามกับรัฐบาลทักษิณได้ให้สนใจและติดตามข่าวสารจากรายการของนายสนธิมากขึ้น ในรายการมีการเปิดโปงการทุจริตของระบอบทักษิณหลายเรื่องอย่างเป็นระบบ

ในที่สุดนายสนธิ ลิ้มทองกุล นักวิชาการ ผู้นำแรงงานรัฐวิชาหกิจ และนักเคลื่อนไหวทางสังคมได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่ระบอบทักษิณออกจากการเมืองไทย  การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นกลายครั้งหลายคราตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นมา ยิ่งจำนวนครั้งของการเคลื่อนไหวมีมากเท่าไร คลื่นของประชาชนที่ร่วมการประท้วงก็มีมากขึ้นเท่านั้น บุคคลที่เข้าร่วมการประท้วงส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด จนในที่สุดกระแสการขับไล่ทักษิณได้แผ่ขยายออกไปทั่วทุกปริมณฑลของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองของภูมิภาคต่างๆซึ่งเป็นฐานของชนชั้นกลาง

          แรงกดดันเพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีมากขึ้น จนกระทั่งทำเขาต้องประกาศยุบสภาในปี 2006   แต่สิ่งที่ไม่คาดหมายก็เกิดขึ้นโดยพรรคการเมืองหลักๆ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศบอยคอตไม่ส่งผู้สมัครเข้าร่วมการเลือกตั้ง  ผู้บริหารพรรคไทยรักไทยต้องลงมือแก้ปัญหาโดยจ้างพรรคการเมืองเล็กๆให้สมัครลงแข่งขัน โดยเฉพาะในเขตที่เป็นฐานคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์  การกระทำในครั้งนั้นของพรรคไทยรักไทยเป็นเหตุให้ตุลาการรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิการเลือกตั้งของคณะกรรมการพรรคไทยรักไทยทั้งหมดจำนวน 111 คน ในภายหลัง

          การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2006  เป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์โดยเกิดปรากฏการณ์ที่ผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งออกมาลงคะแนนเสียง ไม่เลือกผู้สมัครคนใด เป็นจำนวนนับสิบล้านคน ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้คือ กลุ่มชนชั้นกลางที่ ไม่เอาระบอบทักษิณ นั่นเอง   และเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า สังคมไทยได้แบ่งออกเป็น 2 ขั้วการเมืองคือขั้วที่ไม่เอาระบอบทักษิณ กับขั้วที่เอาระบอบทักษิณ   โดยขั้วแรกมีองค์ประกอบหลักเป็นชนชั้นกลางที่เป็นข้าราชการระดับกลาง พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทธุรกิจนักธุรกิจ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แพทย์ พยาบาล อาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นต้น  ขณะที่ขั้วที่เอาระบอบทักษิณส่วนใหญ่เป็นชนชั้นชาวบ้านในเขตชนบทภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ  ผู้มีอาชีพขับรถจักรยานยนต์ แท็กซี และผู้ใช้แรงงานไร้ฝีมือในเขตเมือง

          หลังการเลือกตั้งจอมปลอมครั้งนั้น การต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้ว ยิ่งทวีความหนักหน่วงและแหลมคมยิ่งขึ้น จนมีแนวโน้มว่าอาจมีการปะทะกัน  แต่ก่อนที่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นมาอีกครั้งในสังคมไทย ทุกอย่างก็จบลงโดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ เมื่อทหารเข้ามายึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2006 ส่งผลให้ระบอบทักษิณต้องล่มสลายลงชั่วคราว และทำให้ทักษิณ ชินวัตรต้องไปอยู่ในต่างประเทศ 

           แต่กระนั้นสภาพกลุ่มพลัง 2 ขั้วการเมืองหาได้หายไปพร้อมกับการหลุดจากอำนาจของทักษิณ ชินวัตรไม่  ขั้วจุดยืนที่สนับสนุนทักษิณยังดำรงอยู่โดยมีการเคลื่อนไหวเพื่อกระชับรักษาฐานมวลชนของตนเองอยู่ตลอดเวลา  องค์กรหลักของระบอบทักษิณที่ใช้ในการรักษาอำนาจคือเครือข่ายของอดีตส.ส. ที่เคยสังกัดพรรคไทยรักไทย     ขณะเดียวกันขั้วที่ต่อต้านระบอบทักษิณอันได้แก่เครือข่ายของกลุ่มพันธมิตรฯก็ยังคงดำเนินงานเปิดโปงระบอบทักษิณต่อไป   นอกจากนั้นผลจากการรัฐประหารที่มีทหารเป็นแกนนำทำให้ระบบราชการหลุดพ้นจากการครอบงำของระบอบทักษิณและฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
          ระบอบทักษิณได้สร้างการเลือกตั้งเทียมและประชาธิปไตยเทียมขึ้นมาอย่างเป็นระบบการเลือกตั้งเทียมเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ทำให้ได้มาซึ่ง “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” เพื่อทำหน้าที่และใช้อำนาจอธิปไตยในนามของประชาชน   แต่ทำให้ได้มาซื่ง “ผู้อุปถัมภ์ประจำเขตและประจำแคว้น” หรือ เป็น “เจ้าเมืองยุคใหม่”    ซึ่งได้อำนาจมาโดยการซื้อสิทธิหรือซื้ออำนาจอธิปไตยของประชาชนอันเป็นวิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และบรรดาบุคลเหล่านี้ยังสร้างระบบการสืบทอดอำนาจภายในวงศ์ตระกูลซึ่งเป็นระบบที่ขัดแย้งกับหลักเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง
การเลือกตั้งเทียมเป็นการผลักไสหรือกีดกันทางการเมือง (political exclusion) ขึ้นมา    ประชาชนผู้ไม่อยู่ในแวดวงของตระกูลนักการเมืองถูกจะกีดกันออกจากการเข้าถึงอำนาจทางการเมือง  การเลือกตั้งเทียมจึงตอบสนองและสร้างโอกาสในการเข้าสู่อำนาจเฉพาะกลุ่มนักเลือกตั้งที่เป็นนายทุนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้อุปถัมป์ประจำเขตและประจำแคว้นเลือกตั้ง  รวมทั้งวงศ์ตระกูลของพวกเขาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น   ด้วยสภาพเช่นนี้อำนาจอธิปไตยเชิงปฏิบัติในปัจจุบันของสังคมไทยจึงหาได้อยู่กับประชาชนอีกต่อไป  และเท่ากับว่าการเมืองแบบประชาธิปไตยล้มละลายไปแล้วในสังคมไทย
          ระบบและกระบวนการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของสังคมไทยถูกคุมสภาพไว้ด้วยบุคคลเพียงไม่กี่คนที่เป็นเจ้าของพรรคการเมืองหรือเป็นผู้มีอิทธิพลภายในพรรค  พรรคการเมืองกลายเป็นองค์การที่ไร้ความเป็นประชาธิปไตยทั้งในเชิงเป้าหมายและกระบวนการดำเนินงาน   สิ่งที่น่าหัวเราะแต่หัวเราะไม่ออกคือ  พรรคการเมืองเหล่านั้นประกาศว่าเป็นองค์การสำคัญของระบอบประชาธิปไตยทำหน้าที่ในการรักษาและสร้างสรรค์ประชาธิปไตย 
         

 เพื่อให้เกิดความกระจ่างผู้เขียนจะเปรียบเทียบคุณลักษณะของสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจนดังแสดงในตารางด้านล่าง          
  ตารางที่ 1  เปรียบเทียบคุณลักษณะการเลือกตั้งเทียมและการเลือกตั้งแท้
ประเด็น
การเลือกตั้งเทียมภายใต้ระบอบทักษิณ
การเลือกตั้งแท้
การคัดเลือกผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.
·       เจ้าของพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคเป็นผู้ตัดสินใจกำหนดตัวผู้ลงสมัครได้  ส่วนสมาชิกพรรคไม่มีสิทธิกำหนด
·       สมาชิกพรรคการเมืองในแต่ละพื้นที่หรือแต่ละกลุ่มมีส่วนร่วมในการตัดสินใจคัดเลือกผู้สมัคร
นโยบายหาเสียง
·       ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อหวังชนะการเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ของการนำนโยบายไปปฏิบัติและผลกระทบทางลบที่เกิดจากนโยบาย
·       ใช้นโยบายจูงใจบนพื้นฐานของการบูรณาการระหว่างอุดมการณ์ทางการเมือง  พื้นทางทางจริยธรรม ความมีเหตุมีผลทางเศรษฐกิจ และความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ
ผู้สมัคร
·       เป็นนายทุนหรือสมุนนายทุนจึงรับผิดชอบต่อนายทุนเจ้าของพรรค
·       มีการสืบทอดตำแหน่งทางการเมืองภายในตระกูล
·       ใช้การซื้อเสียง การโกงเลือกตั้งและวิธีการผิดกฎหมายนานับประการเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง
·       เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่/หรือกลุ่มอาชีพ จึงรับผิดชอบต่อประชาชน
·       ใช้การหาเสียงที่ถูกกฎหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับจากประชาชน
ผู้เลือกตั้ง
·       ส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเงิน ระบบอุปถัมภ์ อำนาจรัฐ และนโยบายประชานิยม
·       ส่วนใหญ่เป็นอิสระ ตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล โดยอาศัยข้อมูลข่าวสาร และไม่กลัวอำนาจรัฐ
ผู้ดูแลการเลือกตั้ง
·       ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมือง ทำให้ใช้อำนาจอย่างมีอคติ ไม่เป็นธรรม และไร้ประสิทธิภาพ
·       เป็นอิสระ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม เพื่อสร้างความบริสุทธิ์และยุติธรรมในการเลือกตั้ง
ข้าราชการ
·       ใช้อำนาจและทรัพยากรของรัฐเพื่อรับใช้กลุ่มทุนหรือกลุ่มที่เป็นรัฐบาล เพื่อก่อให้เกิดผลในการเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้ง
·       วางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้ง ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมือง
·       กดดัน ก่อกวน บ่อนทำลาย การหาเสียงของฝ่ายคู่แข่ง
·       รณรงค์หาเสียงให้ผู้สมัครที่ตนสนับสนุนอย่างสันติและสร้างสรรค์








ตารางที่ เปรียบเทียบการบริหารแบบประชาธิปไตยเทียมและแบบประชาธิปไตยแท้
ประเด็น
การบริหารแบบประชาธิปไตยเทียมภายใต้ระบอบทักษิณ
การบริหารแบบประชาธิปไตยแท้
องค์ประกอบรัฐบาล
·       คัดเลือกจากกลุ่มเครือญาติ และบริวารใกล้ชิดผู้มีอำนาจในพรรค โดยไม่ให้ความสำคัญกับความสามารถและความเชี่ยวชาญแต่อย่างใด
·       คัดเลือกจากผู้มีความสามารถ มีประสบการณ์ทำงานจนมีความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ และมีความรับผิดชอบต่อประชาชน
การกำหนดนโยบาย
·       เพื่อรักษาคะแนนนิยม เอื้อประโยชน์แต่กลุ่มคนบางกลุ่ม และสร้างช่องทางในการทุจริต  ซึ่งเป็น “การคอรัปชั่นเชิงนโยบาย” โดยไม่สนใจกับความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น นโยบายจำนำข้าว นโยบายรถคันแรก เป็นต้น
·       เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศในภาพรวม  มีการจัดลำดับความสำคัญโดยมีฐานทางวิชาการ และความจำเป็นในการแก้ไขปัญหา  และเป็นนโยบายที่มีความรัดกุมไม่เปิดช่องทางของการทุจริต
การนำนโยบายไปปฏิบัติ
·       มีลักษณะสองมาตรฐาน เป็นไปอย่างมีอคติ  ไม่มีความยุติธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้ความรุนแรง ขาดความโปร่งใส และเต็มไปด้วยการทุจริต  เช่น ทำโครงการในพื้นที่ที่พรรครัฐบาลมีส.ส.  เลือกช่วยเหลือเกษตรกรบางกลุ่มที่เป็นฐานเสียง
·       สร้างโอกาสและช่องทางการทุจริตให้แก่เครือข่ายการเมืองของกลุ่มตนเอง
·       มีการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โปร่งใส มีความยุติธรรม คำนึงถึงประโยชน์คนส่วนใหญ่ เคารพสิทธิมนุษยชน และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน
การใช้อำนาจของรัฐสภา
·       สมาชิกรัฐสภาอยู่ภายใต้คำสั่งของรัฐบาลหรือเจ้าของพรรค
·       ใช้ระบบเสียงข้างมากลากไปหรือ “ทรราชของเสียงข้างมาก” ไม่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย ลิดรอนเสรีภาพในการพูดและการแสดงความเห็นในรัฐสภา
·       สมาชิกรัฐสภามีอิสระในการตัดสินใจตามวิจารณญาณที่ถูกต้องชอบธรรมของตนเอง
·       ใช้ระบอบเสียงข้างมากที่มีเหตุมีผล พร้อมเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจหากเหตุผลของเสียงข้างน้อยสมเหตุสมผลกว่า
การบริหารระบบราชการ
·       ใช้ระบบอุปถัมภ์ มีขายซื้อขายตำแหน่ง  รังแกคนที่คิดต่างและไม่ใช่พวกของตนเอง
·       ใช้ระบบคุณธรรม พิจารณาความสามารถ  รับฟังและให้ความเป็นธรรมแก่ข้าราชการที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาล
การใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรม
·       ใช้กลไกของกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทำลายและรังแกฝ่ายตรงข้าม
·       ใช้กลไกรัฐเพื่อสร้างความเป็นธรรมและอำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริง
การใช้อำนาจต่อประชาชน
·       ใช้อำนาจรัฐและอำนาจเถื่อนในการปราบปรามประชาชนที่คิดต่าง
·       บิดเบือนข้อมูลข่าวสารใส่ร้ายป้ายสีประชาชน
·       ปลุกระดมสร้างความเกลียดชังระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ
·       ใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายและเคารพสิทธิมนุษยชน
·       ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง
·       เน้นการสร้างความปรองดอง และสามัคคี
ความรับผิดชอบต่อความผิดพลาด
·       ไม่รับผิดชอบต่อความผิดพลาดใดๆ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้
·       ไม่ยอมรับกฎหมายและอำนาจศาล
·       ใช้ชีวิตของประชาชนเป็นบันไดเข้าสู่อำนาจและรักษาอำนาจของตนเอง
·       รับผิดชอบต่อความผิดพลาด โดยการลาออก หรือการยอมรับโทษตามกฎหมาย


          ระบอบทักษิณถดถอยจากอำนาจไปชั่วคราวหลังการรัฐประหารปี 2006  และได้อำนาจรัฐกลับมาอีกครั้งในปี 2008 แต่อยู่ได้ไม่นานเพราะถูกประชาชนที่เป็นชนชั้นกลางขับไล่ออกไปจากอำนาจรัฐอีกครั้ง และเมื่อหลุดจากอำนาจรัฐระบอบทักษิณได้เริ่มต้นจัดตั้งขบวนการมวลชนที่เรียกว่า “มวลชนเสื้อแดงขึ้นมา”  โดยมีนักฉวยโอกาสทางการเมืองเป็นผู้นำมวลชน  มวลชนเสื้อแดงได้รับการล้างสมองโดยกลุ่มผู้นำซึ่งได้การผลิตวาทกรรมเรื่องความไม่เท่าเทียมระหว่าง “ไพร่” และ “อำมาตย์” ขึ้นมาในการปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังในสังคม    แกนนำของระบอบทักษิณได้จัดชุมนุมทางการเมืองโดยการระดมจัดตั้งและจัดจ้างมวลชนที่อยู่ภายใต้เครือข่ายนักการเมืองที่เคยสังกัดพรรคไทยรักไทย    จากพฤติกรรมทางการเมืองที่แสดงออกมาระหว่างการชุมนุม  ชนชั้นกลางจึงสรุปจากข้อมูลเชิงประจักษ์ว่ามวลชนเสื้อแดงเป็นมวลชนที่นิยมความรุนแรงและมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างป่าเถื่อน    แกนนำของระบอบทักษิณมีการวางแผนเพื่อใช้มวลชนสร้างความรุนแรงเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองกลับมา  และประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งปี 2011        แต่เมื่อพรรคการเมืองที่ตนเองเป็นเจ้าของได้อำนาจและเป็นรัฐบาล  ทักษิณ ชินวัตรกลับพยายามตัดความสัมพันธ์กับมวลชนเสื้อแดง  เพราะเขามองว่ามวลชนเสื้อแดงจะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่น้องสาวของเขาเป็นนายกรัฐมนตรีเสียหาย  จนทำให้มวลชนเสื้อแดงจำนวนมากที่เคยสนับสนุนทักษิณเกิดความกังขาในความจริงใจของทักษิณ   การสนับสนุนจากมวลชนเสื้อแดงต่อทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตรน้องสาวของเขาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงกลางปี. 2011 ถึงต้นปี  2014  จึงมีแนวโน้มลดลง   เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกประชาชนจำนวนนับล้านคนในนาม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ฯ (กปปส.) เดินขบวนขับไล่     มวลชนเสื้อแดงจึงให้การสนับสนุนรัฐบาลไม่มากนัก     
  
         ในช่วงสองปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  แบบแผนทางการเมืองของระบอบทักษิณยังคงมีลักษณะเฉกเช่นเดียวกับอดีต จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ถูกประชาชนลุกขึ้นมาขับไล่อีกครั้งหนึ่ง ทิศทางที่ระบอบทักษิณใช้ในการดำเนินงานการเมืองมี 3 ทิศทางหลักคือ
1)      การขยายและกระชับอำนาจของตนเองให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น  ขณะเดียวกันก็พยายามจำกัดอำนาจของประชาชนและองค์การตรวจสอบให้น้อยลง  ทิศทางนี้กระทำโดยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือหากทำไม่ได้ก็เสนอร่างแก้ไขรายมาตรา
2)      การล้างความผิดแก่กลุ่มอาชญากร  ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และผู้ต้องหาคดีทุจริตคอรัปชั่น ที่สำคัญคือ นักโทษชายทักษิณ ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดแล้วในคดีทุจริตประพฤติมิชอบ และเป็นผู้ต้องหาหนีหมายจับคดีทุจริตอีกหลายคดี รวมทั้งคดีก่อการร้ายด้วย และบรรดาสมุนของระบอบทักษิณทั้งกลุ่มที่เป็นแกนนำ กลุ่มก่ออาชญากร กลุ่มแนวร่วม และกลุ่มมวลชนต่างๆ
3)      การสร้างและขยายช่องทางการทุจริตโกงกินให้มากยิ่งขึ้น  เพื่อเป็นการสะสมทรัพยากรและความมั่งคั่งให้แก่ตนเองและพวกพ้อง และเป็นฐานทางเงินสำหรับการซื้อเสียงและรักษาอำนาจทางการเมืองให้ยาวนานที่สุด   รูปธรรมของทิศทางนี้คือ การผลักดัน พ.ร.บ. กู้เงินจำนวน 2.2 ล้านล้านบาทสำหรับโครงการปรับปรุงระบบคมนาคม ซึ่งมีหลายโครงการที่จะทำโดยปราศจากความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม    โครงการเหล่านั้นจะเปิดช่องทางให้มีการนำเงินไปใช้อย่างสะดวกสบาย โดยมีการตรวจสอบน้อยหรือไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งนำไปสู่การทุจริตครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสังคมไทย  มูลค่าการทุจริตจะมากกว่าการทุจริตนับแสนล้านในโครงการจำนำข้าวที่ผ่านมา

กล่าวโดยสรุปชนชั้นกลางผู้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและมีเหตุผลในการไตร่ตรองความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารมีความเห็นร่วมกันว่าระบอบทักษิณได้อาศัยรูปแบบและกลไกของระบอบประชาธิปไตย ทำลายเนื้อหาและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยอย่างหมดสิ้น   เพราะว่าระบอบทักษิณเข้าสู่อำนาจโดยการซื้อเสียง  การใช้นโยบายประชานิยม  และการโฆษณาชวนเชื่อ  ครั้นเมื่อได้อำนาจรัฐบาลภายใต้ระบอบทักษิณใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติกรณีการฆ่าตัดตอนเรื่องยาเสพติด   มีการสร้างระบอบเผด็จการรัฐสภาใช้วิธีการแบบทรราชเสียงข้างมากโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลและความถูกต้อง  มีการบริหารงานที่ไม่เป็นธรรมมุ่งตอบสนองเฉพาะฐานเสียงของพรรค  มีการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวางทุกระดับซึ่งสร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างเหลือคณานับ เช่น โครงการจำนำข้าว  มี การสร้างขบวนการมวลชนเสื้อแดงที่ใช้ความรุนแรง และได้สร้างความขัดแย้งแตกแยกทางสังคม     ยิ่งกว่านั้นระบอบทักษิณยังได้ทำลายกลไกการตรวจสอบโดยเข้าไปแทรกแซงเพื่อครอบงำองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และแทรกแซงสื่อโดยใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือ


     ขณะที่ชนชั้นกลางมีความคาดหวังที่ทำให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยทั้งรูปแบบและเนื้อหา มีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม  มีการใช้อำนาจโดยยึดหลักธรรมาภิบาล  มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ มีการกระจายอำนาจสู่ประชาชนอย่างแท้จริง   ดังนั้นชนชั้นกลางจึงต่อต้านระบอบทักษิณ   ชนชั้นกลางได้ใช้กลไกภายใต้ระบอบประชาธิปไตยหลายประการเพื่อหยุดยั้งระบอบทักษิณ เช่น การชุมนุมเดินขบวนอย่างสันติเพื่อขับไล่รัฐบาลระบอบทักษิณหลายครั้ง  การเปิดโปงการทุจริตผ่านสื่อมวลชนนานาประเภทอย่างต่อเนื่อง และการใช้กระบวนการยุติธรรมในการฟ้องร้องดำเนินคดีทุจริตประพฤติมิชอบต่อบุคคลในระบอบทักษิณหลายคน    แต่ระบอบทักษิณซึ่งเป็นการผนึกรวมของกลุ่มทุนชาติและทุนท้องถิ่นมีความเชี่ยวชาญการทุจริตเลือกตั้งและการโฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงผู้เลือกตั้งในชนบทจึงทำให้พวกเขามีแนวโน้มกลับเข้าสู่อำนาจอยู่เสมอ  และยังสามารถใช้อำนาจเงินทำให้กระบวนการยุติธรรมเบี่ยงเบนไปจากหลักกฎหมาย   จึงทำให้ระบอบทักษิณยังคงดำรงอยู่และสร้างปัญหาแก่การเมืองไทยต่อไป    ดังนั้นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างชนชั้นกลางกับระบอบทักษิณซึ่งนำโดยกลุ่มทุนระดับชาติและท้องถิ่นยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอีกหลายปี   

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ