ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

“กับดัก” ของประชาธิปไตยไทย

“กับดัก” ของประชาธิปไตยไทย

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

          บางครั้งการเมืองไทยได้รับการอธิบายในฐานะวิถีอันโศกสลดของชีวิต  เพราะว่ามันเผชิญกับปมปัญหาที่มิอาจแก้ไขได้จำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะเกิดความล้มเหลวขึ้นในระยะยาว   ดูเหมือนว่าไม่มีตอนจบแบบสุขนาฏกรรมดังบทนิยาย  มุมมองแบบนี้ดูเหมือนทำให้เราไร้ความหวัง  แต่การเมืองไทยมิได้เป็นโศกนาฏกรรม  เพราะนั่นดูน่าขบขันจนเกินไป  การเมืองไทยมิได้ประสบกับความหายนะ  เพียงว่ามันตกอยู่ในกับดักบางอย่างที่จักต้องใช้ความพยายามในการปีนออกมา
          เส้นทางเดินของการเมืองไทยและวิกฤติที่เกิดขึ้นหลายครั้งมีแบบแผนที่น่าสนใจ   การทดลองนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้เกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อที่ว่าประเทศแถบยุโรปที่มีความเจริญก้าวหน้าเพราะพวกเขาใช้การเมืองแบบประชาธิปไตย  เราได้ลอกเลียนรูปแบบและโครงสร้างสถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตยเข้ามาใช้โดยยกเลิกระบอบการเมืองเดิมไปเสีย
          ระยะแรกของการใช้การเมืองแบบประชาธิปไตยในบ้านเรา ความเข้าใจผิดและความสับสนทั้งในเรื่องของเนื้อหาและวิถีปฏิบัติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แม้กระทั่งในกลุ่มผู้ที่ได้ชื่อว่ามีความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยดีที่สุดของสังคมในยุคนั้นก็ยังมีความเข้าใจแตกต่างกันในหลายเรื่องหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค  
          ความเข้าใจผิดและความสับสนมิได้จำกัดอยู่แต่ในเฉพาะชนชั้นนำทางการเมือง หากแต่กระจายไปสู่ผู้คนในสังคมในหลายเรื่องหลายประเด็นแม้แต่เรื่องง่ายๆเชิงโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมอย่างความหมายของรัฐธรรมนูญและความหมายของการเลือกตั้งก็ยากที่ผู้คนในสังคมไทยยุคนั้นจะเข้าใจได้  ฉะนั้นเราคงคาดหวังว่าผู้คนส่วนมากของยุคนั้นสามารถเข้าใจเรื่องยากๆซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอุดมการณ์และความเชื่อเชิงนามธรรมของระบอบประชาธิปไตย  อย่างเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคได้
          ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในยุคนั้นคงสาละวนกับการจัดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารประเทศและรักษาสถานะอำนาจทางการเมืองของพวกเขาเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้การปลูกฝังและบ่มเพาะผู้คนให้เข้าใจและมีจิตสำนึกแห่งความเป็นพลเมืองของระบอบประชาธิปไตยจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้
          ดังนั้นเพียงไม่กี่ปีประชาธิปไตยไทยซึ่งมีสถานภาพง่อนแง่นอยู่แล้วก็เผชิญหน้ากับการท้าทายและนำไปสู่วิกฤติการณ์ ชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับประชาธิปไตยดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อันที่จริงก็เป็นชะตากรรมเดียวกันกับหลายประเทศที่เริ่มทดลองนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้โดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งภายในสังคมนั้นเอง  ส่วนบางประเทศที่มีการนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ภายใต้การกำกับดูแลและชี้นำของประเทศที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมมาก่อนอาจมีเส้นทางที่หลีกเลี่ยงวิกฤติการณ์ได้
            มีข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับการสร้างและการยกเลิกระบอบประชาธิปไตยอันเป็นแบบแผน ของการเปลี่ยนแปลง  กล่าวคือสังคมไทยใช้กำลังทหารเป็นกลไกในการสร้างประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2475   และใช้กำลังทหารเช่นเดียวกันปกป้องประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2476   แต่ในท้ายที่สุดก็มีผู้ใช้กำลังทหารยกเลิกประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2490 และ พ.ศ. 2501
          หากถามว่ากำลังทหารในช่วงแรกมีสำนึกแห่งประชาธิปไตยสูงกว่าทหารในช่วงหลังหรือไม่  ผมคิดว่าความคิดของทหารส่วนในยุคนั้นไม่แตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับว่าผู้บังคับบัญชาสั่งให้สนับสนุนฝ่ายใดมากกว่า ส่วนผู้บังคับบัญชาของทหารสองยุคต่างกันหรือไม่  ผมคิดว่าก็คงไม่ต่างกันนั่นคือมีเป้าหมายในการครอบครองและรักษาอำนาจการเมือง  ส่วนความเข้าใจและความเชื่อเกี่ยวกับประชาธิปไตยนั้นคงเป็นเรื่องที่ลานเลือนอยู่ค่อนข้างมาก  
          ประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรมและมีผลกระทบต่อความคิดของผู้คนในสังคมเป็นครั้งแรกในช่วงพ.ศ. 2516  แต่ความเข้าใจก็จำกัดอยู่ในกรอบเชิงโครงสร้างนั่นคือเรื่องรัฐธรรมนูญ  การเรียกร้องในช่วงนั้นเรื่องเลือกตั้งดูเหมือนยังไม่ใช่ประเด็นใหญ่อะไรมากนัก   ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการให้การศึกษาประชาชนเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค  แน่นอนว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยนักศึกษาและนักวิชาการ  ส่วนนักการเมืองก็เป็นเพียงผู้ฉวยโอกาสอาศัยกลไกการเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจเท่านั้น
          นักศึกษาและประชาชนเป็นผู้ทำให้เกิดประชาธิปไตยในยุคใหม่  แต่พวกเขาไม่มีปัญญาในการรักษาและขยายประชาธิปไตย  เพราะไม่มีกลไกและทรัพยากรอะไรที่เข้ามารองรับและขับเคลื่อน   อำนาจหน้าที่ในระบบราชการก็ไม่มี  ทักษะและทรัพยากรที่จะเอาชนะในการเลือกตั้งก็ไม่มี  ท้ายที่สุดจึงไม่มีพื้นที่ในอาณาเขตของอำนาจทางการเมืองและถูกทำลายลงไปภายใน 3 ปี อันนี้ก็ดูเหมือนเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของประชาธิปไตย
          ประชาธิปไตยถูกยกเลิกไปโดยกำลังของกองทัพ   แต่ขณะเดียวกันผู้นำกองทัพในยุคนั้นร่วมมือกับนักการเมืองในการประคับประคองรูปแบบของประชาธิปไตย โดยเฉพาะการรักษารัฐธรรมนูญและการจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง  กล่าวได้ว่าในยุคนั้นผู้คนจำนวนมากในสังคมเริ่มที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งขึ้นมาก  และความหมายของประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้งจึงค่อยๆก่อตัวและขยายออกไปสู่สังคมมากขึ้น
          ถึงปี 2534  ผู้นำกองทัพบางคนใช้กำลังกองทัพล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งในกองทัพ  และในปี 2535 ผู้นำกองทัพยุคนั้นพยายามสืบทอดอำนาจทางการเมืองของพวกตนเองต่อไป  แต่ต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากนักศึกษา ประชาชน และพรรคการเมืองจนต้องยุติบทบาทลงไป   ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งจึงดำเนินต่อไป และที่น่าสนใจสำหรับการมีส่วนร่วมในการรักษาประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเมื่อปี 2535 คือ การมีพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมกับประชาชนด้วย
          หลังปี 2535 ประชาธิปไตยได้รับการขยายความหมายจากนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมโดยมีการเน้นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมออกไปสู่สาธารณะมากขึ้น  แต่ขณะเดียวกันความเข้าใจว่าประชาธิปไตยเท่ากับการเลือกตั้งก็ได้รับการตอกย้ำและผลิตซ้ำจากนักการเมืองอย่างต่อเนื่อง  
          นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมประสบความสำเร็จในการผลักดันเนื้อหาและแนวปฏิบัติของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540  แต่ทว่าล้มเหลวในการขับเคลื่อนให้เกิดผลแห่งการปฏิบัติการจริงทางสังคม  ขณะที่นักการเมืองประสบความสำเร็จในการสร้างความหมายของประชาธิปไตยให้เท่ากับการเลือกตั้ง  โดยไม่สนใจในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ การมีส่วนร่วม และความเสมอภาคแต่อย่างใด
          แต่ความสำเร็จของนักการเมือง  ก็เป็นสิ่งที่มาทำลายพวกเขาเองในท้ายที่สุด   การให้ความสำคัญเฉพาะการเลือกตั้งและการทำให้ตนเองมีอำนาจรัฐ  โดยละเลยการใช้อำนาจรัฐตามวิถีและแบบแผนของอุดมการณ์ประชาธิปไตย ได้กลายเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ของนักการเมือง และทำให้พวกเขาพบกับจุดจบแบบโศกนาฏกรรรม 
          ภาคประชาชนผู้เข้าใจประชาธิปไตยปฏิเสธวาทกรรมที่นักการเมืองสร้างขึ้นมา  ไม่ยอมรับการใช้อำนาจนอกเหนือวิถีประชาธิปไตย   การชุมนุมต่อต้านและขับไล่นักการเมืองที่ครองอำนาจเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างต่อเนื่องกัน แต่นักการเมืองอาศัยรูปแบบของประชาธิปไตยรักษาอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น ภาคประชาชนจึงมิอาจโค่นล้มได้  แต่ก็ทำให้รัฐบาลของนักการเมืองขาดความชอบธรรมและผู้นำทหารบางคนจึงออกมาใช้กำลังกองทัพออกมายุติประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งลงชั่วคราวใน เดือนกันยายน พ.ศ. 2549
          แต่เมื่อเปิดให้มีประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเกิดขึ้นอีก นักการเมืองก็ใช้กลไกเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจอีกและใช้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามเนื้อหาและวิถีประชาธิปไตยอีก  ดังนั้นการต่อสู้ของภาคประชาชนกับระหว่างกลุ่มนักการเมืองที่ครองอำนาจก็เกิดขึ้นอีกเช่นเดียวกัน  
          ในปี 2556 เมื่อนักการเมืองผู้ครองอำนาจใช้อำนาจในทางที่มิชอบ ขัดกับหลักนิติธรรม ประชาชนก็ออกมาต่อต้าน  และต่อมาก็มีนักการเมืองบางคนสลัดความเป็นนักการเมืองออกไปเพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับภาคประชาชน   การต่อสู้ดำเนินอย่างต่อเนื่องหลายเดือนจนทำให้นักการเมืองผู้ครองอำนาจรัฐสูญเสียความชอบธรรม  พวกเขาจึงพยายามหันไปใช้กลไกการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมขึ้นมาใหม่และทำให้ได้อำนาจกลับมาอีก   แต่ทว่า “การเลือกตั้ง”ก็สูญเสียความชอบธรรมไปแล้วเช่นเดียวกัน 
            ภาคประชาชนปฏิเสธประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งอย่างแข็งขัน  จนในที่สุดนักการเมืองที่ครองอำนาจไม่สามารถใช้กลไกการเลือกตั้งให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองได้อีก  การเมืองไทยเข้าสู่วิกฤติการณ์และไร้ทางออก  ท้ายที่สุดกองทัพจึงได้เข้าไปควบคุมอำนาจ และยกเลิกระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง
          ปมปัญหาของการพัฒนาประชาธิปไตยไทยในเวลานี้คือ การหาวิธีการและกลไกที่จะทำให้หลุดพ้นจาก “กับดัก” ของประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง  เพราะการลุ่มหลงในประชาธิปไตยแบบนี้นำไปสู่การละเลย และละเมิด สิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริงของประชาชน  รวมทั้งการใช้อำนาจรัฐอย่างฉ้อฉลและไร้นิติธรรม จนนำไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองดังที่ผ่านมานั่นเอง 

              

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ