ประชาธิปไตยที่ล้มละลายของสังคมไทยช่วงต้นศตวรรษที่ 21
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
สถานการณ์การเมืองของสังคมไทยช่วงต้นศตวรรษที่
21 เคลื่อนตัวไปสู่สภาวะการล้มละลายของระบอบประชาธิปไตย สิ่งบ่งชี้สำคัญคือ หลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยทุกทำลาย
บิดเบือน และแปรรูปเปลี่ยนสภาพโดยนักการเมืองและเครือข่ายบริวารของพวกเขา
หากสังคมไทยประสงค์จะสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่จำเป็นจะต้องกวาดล้างพิษร้ายและตะกอนของเสียทางการเมืองภายในกระบวนการได้มาซึ่งอำนาจ
จนไปถึงกระบวนการใช้และตรวจสอบอำนาจ ที่ถูกผลิตมาอย่างต่อเนื่องในอดีตจนท่วมท้นปริมณฑลทางการเมืองในปัจจุบัน
กระบวนการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองไทยตั้งแต่
พ.ศ. 2540 ใช้การเลือกตั้งสองแบบ คือ การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตพื้นที่ตามจำนวนประชาชน
และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อซึ่งใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แม้รูปแบบของการเลือกตั้งทั้งสองแบบนี้เป็นกลไกที่บางประเทศใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลคือ
สามารถทำให้ได้มาซึ่งผู้แทนปวงชนส่วนใหญ่ที่มีสำนึกต่อผลระโยชน์ของบ้านเมืองมีคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองสูง แต่สำหรับประเทศไทยหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
กรณีประเทศไทย การเลือกตั้งทั้งสองแบบกลับผลิต
“ผู้อุปถัมภ์ประจำเขตและแคว้นเลือกตั้ง” ที่มีสำนึกทางการเมืองแบบคับแคบ
ไร้คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศชาติ มุ่งสร้างและขยายอาณาจักรแห่งอำนาจของตนเอง รวมทั้งประพฤติปฏิบัติเป็นนักฉวยโอกาสทางการเมือง
นักค้าอำนาจ นักค้าเงิน และนักสร้างภาพ เป็นด้านหลัก
หลักคิดของการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตพื้นที่แบบไทยๆคือ
การทำให้ได้ตัวแทนประชาชนจากพื้นที่หนึ่งๆเพื่อเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนในการสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนให้รัฐบาลและฝ่ายบริหารทราบ และการให้ได้มาซึ่งผู้อุปถัมภ์ที่คอยช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบปัญหาและความเดือดร้อนต่างๆ
เราจึงเห็น
ส.ส.จำนวนไม่น้อยที่นำเรื่องปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตนเองไปพูดในการประชุมสภา
หรือนำไปบอกพรรคพวกที่เป็นฝ่ายบริหารเพื่อให้จัดสรรงบประมาณไปสนองความต้องการของหัวคะแนนในพื้นที่ของตนเอง ปัญหาและความต้องการที่ปรากฏให้สาธารณะรับทราบบ่อยๆในพื้นที่ของ
ส.ส. คือ ปัญหาการไม่มีถนน ไม่มีสะพาน ไม่มีศาลาที่พักริมทาง น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น
และเราก็จะได้ยินวาทกรรมที่บรรดานักเลือกตั้งผลิตขึ้นมาอย่างซ้ำซากว่า ส.ส.
เป็นผู้ใกล้ชิดประชาชนและรู้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ของตนเองดีที่สุด
และต้องคอยช่วยเหลือดูแลความเดือดร้อนของประชาชน
หลักคิดแบบนี้จึงทำให้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตพื้นที่กลายเป็น
“การเลือกผู้อุปถัมภ์ประจำเขต”
มากกว่าการเลือก “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” เข้าไปทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติเพื่อสร้างกฎหมายที่เป็นธรรมและยังผลประโยชน์แก่ปวงชนทั้งมวล และตรวจสอบประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
การทุจริตในการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร
ใครที่จะเป็นผู้อุปถัมภ์ประจำเขตเลือกตั้งได้ ก็ต้องเป็นคนที่มีเงินทุนจำนวนมาก ทุนจำนวนมากมาจากไหน
ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากสมบัติดั้งเดิมของตระกูล
ส่วนหนึ่งก็มาจากการสนับสนุนของหัวหน้าก๊วนการเมือง
ส่วนหนึ่งก็มาจากการสนับสนุนของนายทุนพรรค
และส่วนที่น้อยมากๆมาจากการสนับสนุนที่ถูกต้องตามกฎหมายของพรรค
นอกจากมีเงินทุนแน่นหนาแล้ว
ผู้อุปถัมภ์ก็ต้องเป็นคนที่มีเครือข่ายหัวคะแนนกว้างขวาง
และมีระบบการจัดตั้งเพื่อระดมการซื้อคะแนนเสียงอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้าง รักษา
และขยายเครือข่ายก็ต้องอาศัยเงินทุน
ประกอบกับมาตรการในการควบคุมกำกับและการให้รางวัลเพื่อให้หัวคะแนนมีความจงรักภักดีและไม่ทรยศหักหลัง ผู้อุปถัมภ์ประจำเขตเลือกตั้งบางคนจึงอาจใช้วิธีการรุนแรงในการควบคุมเครือข่ายของตนเอง
และทำลายเครือข่ายของคู่แข่ง
เมื่อสร้างอาณาจักรแห่งอำนาจภายในเขตเลือกตั้งตนเองแล้ว
ผู้อุปถัมภ์ประจำเขตบางคนก็แผ่ขยายอำนาจอิทธิพลของตนเองไปยังเขตเลือกตั้งอื่นๆ
ดึงเอาผู้อุปถัมภ์ประจำเขตเลือกตั้งอื่นเข้ามาอยู่ในเครือข่ายอำนาจของตนเอง เปรียบเสมือนหัวเมืองใหญ่ผนวกเอาหัวเมืองเล็กๆเข้ามาอยู่ในอาณัติของตนเอง เราจะเรียกผู้อุปถัมภ์ประจำเขตที่สามารถขยายอาณาจักรแห่งอำนาจของตนเองได้ว่า
“ผู้อุปถัมภ์ประจำแคว้น”
เมื่อเป็นผู้อุปภัมภ์ประจำแคว้น
พวกเขาก็มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี
อันเป็นตำแหน่งที่สามารถใช้อำนาจและอิทธิพลในการเรียกเก็บส่วยและค่าหัวคิวจากบรรดาข้าราชการผู้มีความทะเยอทะยานและหวังความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ และยังได้ค่าหัวคิว เงินใต้โต๊ะ เงินสินบน
ส่วนแบ่งจากหุ้นลมจากนักธุรกิจผู้ต้องการได้โครงการ สัมปทาน การเช่าทรัพย์สินของรัฐ
การอนุมัติหรือสิทธิพิเศษในการประกอบธุรกิจ
ด้วยกลไกเช่นนี้ผู้อุปถัมภ์ประจำแคว้นจึงสามารถสะสมทุนและขยายทุนออกไปได้มากขึ้น เงินทองและทรัพย์สินของบุคคลเหล่านี้จึงมีนับพันนับหมื่นล้านบาท
เมื่อผู้อุปถัมภ์เหล่านี้มีอายุมากขึ้นพวกเขาก็ดำเนินการสร้างทายาทสืบต่ออำนาจของตนเอง
โดยเป็นการสืบทอดอำนาจ “แบบสืบสายเลือด”
บรรดาบุตรหลานญาติพี่น้องของพวกเขาได้เข้ามารับมรดกแห่งอำนาจต่อไป อนึ่งระบบการสืบทอดอำนาจแบบสายเลือดเป็นรูปแบบการสืบทอดอำนาจแบบสังคมดั้งเดิมตั้งแต่สังคมชนเผ่า
และสังคมศักดินา
เมื่อระบอบประชาธิปไตยได้รับการสถาปนาขึ้นมาในช่วงแรกๆ บรรดานักวิชาการจำนวนมากต่างวิเคราะห์ว่า
การสืบทอดอำนาจแบบสืบสายเลือดคงจะสิ้นสุดลงในการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง
เพราะระบอบประชาธิปไตยก่อให้เกิดความหลากหลาย ผู้คนมีความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ
พลเมืองทุกคนมีความเท่าเทียมกันในโอกาสของการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเพราะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นพลเมืองที่มีเหตุมีผล
มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจเลือกว่าใครควรจะเข้าไปมีอำนาจ
สภาพประชาธิปไตยแบบนั้นอาจเกิดขึ้นในบางประเทศ แต่สำหรับประชาธิปไตยของประเทศไทยนับตั้งแต่พ.ศ.
2517
เป็นต้นมา
ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกลับเป็นอีกแบบหนึ่งคือ กระบวนการสืบทอดอำนาจทางการเมืองกลับย้อนยุคไปสู่รูปแบบของสังคมโบราณคือ
เป็นการสืบทอดอำนาจภายในครอบครัววงศ์ตระกูลนักการเมือง และเมื่อมีการขยายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ปรากฎการณ์ของการสืบทอดและการขยายอำนาจภายในวงศ์ตระกูลก็ปรากฎขึ้นอย่างชัดเจนและแพร่ระบาดไปแทบทุกว่านแคว้นในประเทศไทย เช่น ตนเองเป็นนักการเมืองระดับชาติ ส่วน ภรรยา
พี่ น้อง หรือญาติ เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
เป็นนายกเทศมนตรี หรือ เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น
ระบบการสืบอำนาจแบบวงศ์ตระกูลในยุคปัจจุบัน
อาจมีวิธีการในรายละเอียดแตกต่างจากสังคมโบราณบ้าง กล่าวคือในยุคอดีต การสืบทอดอำนาจในวงศ์ตระกูลอาศัยรากฐานจากประเพณีดั้งเดิมและอำนาจของเทวสิทธิ์เป็นแหล่งของความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจ
โดยการยินยอมและยอมรับของเหล่าขุนนาง
แต่สำหรับการสืบทอดอำนาจในวงศ์ตระกูลปัจจุบันอาศัย
การสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นผู้อุปถัมภ์
ระบบการจัดตั้งเครือข่ายหัวคะแนนและการซื้อสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนเป็นกลไกหลัก โดยแหล่งของความชอบธรรมคือจำนวนของคะแนนเสียงที่หาซื้อหรือหลอกลวงมาได้
ยิ่งซื้อคะแนนเสียงได้มากเท่าไร
พวกเขาก็อ้างว่ามีความชอบธรรมมากเท่านั้น
การเลือกตั้งแบบเขตพื้นที่ในบริบทสังคมไทยจึงไม่ทำให้ได้มาซึ่ง
“ผู้แทนปวงชนชาวไทย” เพื่อทำหน้าที่และใช้อำนาจอธิปไตยในนามของประชาชนอีกต่อไป แต่ทำให้ได้มาซื่ง
“ผู้อุปถั้มภ์ประจำเขตและประจำแคว้น” หรือ เป็น “เจ้าเมืองยุคใหม่” ซึ่งได้อำนาจมาโดยการซื้อสิทธิหรือซื้ออำนาจอธิปไตยของประชาชนอันเป็นวิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
ยิ่งกว่านั้นบรรดาบุคลเหล่านี้ยังสร้างระบบการสืบทอดอำนาจภายในวงศ์ตระกูล ซึ่งเป็นระบบที่ขัดแย้งกับหลักเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง
ระบบการเลือกตั้งแบบเขตพื้นที่ในสังคมไทยเท่าที่ผ่านมาจึงเป็นการสร้างสภาวะการผลักไสหรือกีดกันทางการเมือง(political
exclusion) ขึ้นมา
ประชาชนผู้ไม่อยู่ในแวดวงของตระกูลนักการเมืองถูกจะกีดกันออกจากการเข้าถึงอำนาจทางการเมือง ระบบการเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้งจึงตอบสนองและสร้างโอกาสในการเข้าสู่อำนาจเฉพาะกลุ่มนักเลือกตั้งที่เป็นนายทุนท้องถิ่นผู้สามารถสถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นผู้อุปถัมป์ประจำเขตและประจำแคว้นเลือกตั้ง
รวมทั้งวงศ์ตระกูลของพวกเขาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ด้วยสภาพเช่นนี้อำนาจอธิปไตยเชิงปฏิบัติในปัจจุบันของสังคมไทยจึงหาได้อยู่กับประชาชนอีกต่อไป
และเท่ากับว่าการเมืองแบบประชาธิปไตยล้มละลายไปแล้วในสังคมไทย
การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อถูกผลิตขึ้นมาและบรรจุในรัฐธรรมนูญ
พ.ศ. 2540
โดยมีเป้าประสงค์เพื่อชดเชยข้อบกพร่องของการเลือกตั้งแบบเขตพื้นที่ ลักษณะสำคัญของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อคือการใช้เขตเลือกตั้งขนาดใหญ่โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งส่งผลให้การซื้อสิทธิขายเสียงกระทำได้ยาก
และทำให้ ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงทางการเมืองได้โดยปลอดจากอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ของนักการเมืองระดับหนึ่ง
บางประเทศการนำระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมาใช้สามารถแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์อำนาจนิยมและการซื้อสิทธิขายเสียงได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
แต่ในสังคมไทยดูเหมือนระบบนี้กลับมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาการเมืองไทยไม่มากนัก
ภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้พรรคการเมืองจะบรรจุรายชื่อผู้สมัครของตนเองเรียงลำดับจนครบตามจำนวนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ
ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กำหนดไว้ 100 คน
ขณะที่ยังคง ส.ส.แบบเขตพื้นที่ไว้ 400 คน
ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจึงเท่ากับหนึ่งในห้าของจำนวนส.ส.ทั้งหมด ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ลดจำนวนลงเหลือ 80
คน ขณะที่ ส.ส.แบบเขตพื้นที่มีจำนวน 400 คน
ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจึงมีเท่ากับหนึ่งในหก ของส.ส.ทั้งหมด และเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในพ.ศ. 2554
ก็ได้เพิ่มเป็นจำนวน 125 คน และลด ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 375 คน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจึงมีหนึ่งในสี่ของ
ส.ส.ทั้งหมด
ปมปัญหาที่ทำให้ระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองไทยประการหนึ่งคือ
สัดส่วนของส.ส.บัญชีรายชื่อเมื่อเทียบกับจำนวน ส.ส.ทั้งหมดมีน้อยเกินไป จึงทำให้สถานการณ์การเลือกตั้งถูกครอบงำด้วย
ส.ส.แบบเขตพื้นที่ การซื้อสิทธิขายเสียงและการควบคุมเขตเลือกตั้งโดยใช้ระบบอุปถัมภ์อำนาจนิยมจึงยังดำรงต่อไป
แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ
พรรคการเมืองไทย ได้พัฒนากลยุทธ์ในการซื้อขายเสียงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง จากเดิมซึ่งซื้อในเขตเลือกตั้งได้กลายมาเป็นซื้อทั้งประเทศ
โดยใช้นโยบายประชานิยมเป็นเครื่องมือหลักในการซื้อสิทธิประชาชน นับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2544
พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้แข่งขันผลิตนโยบายประชานิยมเพื่อใช้ในการซื้อสิทธิประชาชนอย่างเข้มข้น และก็มีประชาชนจำนวนมากที่ตกอยู่ในมนตราของนโยบายประชานิยมอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
คนจำนวนมากหารู้ไม่ว่านโยบายประชานิยมคือยาพิษที่กัดกร่อนจิตวิญญาณของผู้คน
ทำให้ผู้คนอ่อนแอลดการพึ่งตนเอง
เกิดการพึ่งพาและตกอยู่ในสภาพอาณานิคมทางจิตแก่พรรคการเมือง
ผู้เลือกตั้งจำนวนมากเมื่อถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์ของนโยบายประชานิยมจึงทำให้การแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างเป็นอิสระและมีเหตุมีผลถูกบิดเบือนเบี่ยงเบนไป
ระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของไทยจึงกลายสภาพเป็นกลไกที่ง่อยเปลี้ย
ไม่สามารถสำแดงจุดเด่นของมันออกมาได้
นโยบายประชานิยมไม่ใช่นโยบายที่มีรากฐานจากอุดมการณ์ทางการเมือง
แต่เป็นนโยบายที่นักการเมืองผลิตขึ้นมาเพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าระยะสั้นของประชน
โดยการหยิบยื่นผลประโยชน์ในรูปของเงินทอง สิ่งของ และการบริการสาธารณะ
เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ประชาชนเลือกพรรคที่ตนเองเป็นเจ้าของ
นโยบายประชาชนนิยมจึงเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการซื้อขายเสียง โดยอาศัยงบประมาณแผ่นดินของคนทั้งประเทศ นับว่าเป็นการพัฒนาการของการซื้อขายเสียงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
เพราะการซื้อเสียงแบบเดิมจะใช้เงินส่วนตัวของนักเลือกตั้งและกลุ่มทุนที่สนับสนุนพวกเขา
พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองแรกที่นำนโยบายประชานิยมมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างคะแนนนิยม
ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 ต่อมาในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นพรรคการเมืองแทบทุกพรรคของประเทศไทยก็แข่งกันเสนอนโยบายประชานิยมอย่างกว้างขวาง
ปรากฏการเช่นนี้จึงเป็นการแข่งขันการ
“ประมูลซื้อสิทธิ” หรือ “ซื้ออำนาจอธิปไตย”
ของประชาชนนั่นเอง เช่น
พรรคการเมืองหนึ่งเสนอว่าจะให้เบี้ยยังชีพคนชรา 500 บาท
ส่วนอีกพรรคหนึ่งก็เสนอว่าจะให้ 1,000 บาท
พรรคการเมืองหนึ่งเสนอว่ามีเงิน 30 บาทสามารถรักษาได้ทุกโรค
อีกพรรคหนึ่งก็เสนอให้การรักษาพยาบาลฟรีขึ้นมาแข่ง เป็นต้น
ยิ่งกว่านั้นในการคัดเลือกบุคคลบรรจุลงในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับกลุ่มคนเพียงกลุ่มหนึ่งที่คุมอำนาจในพรรค
มิใช่มาจากการคัดเลือกของสมาชิกแต่อย่างใด
เกณฑ์ที่ใช้สำหรับการบรรจุบุคคลในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆคือการเป็นนายทุนของพรรคหรือการเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้คนในสังคม ส่วนจะมีจิตใจสาธารณะ เสียสละต่อส่วนรวม หรือมีความสามารถในการบริหารหรือไม่มิใช่ประเด็นหลักที่พรรคการเมืองใช้ในการคัดเลือกบุคคลลงสมัครในนามพรรค
รวมทั้งจะเป็นตัวแทนของอาชีพใดกลุ่มทางสังคมใดหรือ
ก็มิใช่เรื่องสำคัญสำหรับพรรคการเมืองเช่นเดียวกัน
ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคจึงมีลักษณะไม่แตกต่างจาก
ส.ส.ที่มาจากเขตเลือกตั้ง
กล่าวคือต่างมุ่งรับใช้นายทุนพรรคหรือผู้บริหารพรรคเป็นหลัก
การบอกว่าส.ส.เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยจึงกลายเป็นเรื่องที่เขียนเอาไว้ให้ดูสวยหรู
แต่หาได้มีนัยเชิงปฏิบัติดังที่เขียนไว้ไม่
ระบบและกระบวนการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของสังคมไทยจึงถูกคุมสภาพไว้ด้วยบุคคลเพียงไม่กี่คนที่เป็นเจ้าของพรรคการเมืองหรือเป็นผู้มีอิทธิพลภายในพรรค
พรรคการเมืองจึงกลายเป็นองค์การที่ไร้ความเป็นประชาธิปไตยทั้งในเชิงเป้าหมายและกระบวนการดำเนินงาน สิ่งที่น่าหัวเราะแต่หัวเราะไม่ออกคือ พรรคการเมืองเหล่านั้นประกาศว่าเป็นองค์การสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
ทำหน้าที่ในการรักษาและสร้างสรรค์ประชาธิปไตย
มันจะเป็นได้อย่างไรในเมื่อการบริหารและการตัดสินใจเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย
เรื่องการคัดเลือกผู้ลงสมัครในนามพรรค
เรื่องการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งบริหารประเทศในกรณีที่ได้เป็นรัฐบาล
ถูกกำหนดจากกลุ่มคนแค่หยิบมือหนึ่งที่เป็นผู้นำของพรรคหรือเจ้าของพรรค รูปแบบนี้แท้จริงแล้วคือเผด็จการดีๆนี่เอง
จะให้พรรคการเมืองที่มีการบริหารจัดการแบบเผด็จการ
ทำหน้าที่ในการรักษาและสร้างสรรค์ประชาธิปไตย
ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในระดับรากฐานทีเดียว
ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์อาจจะแย้งว่า
พรรคของเขาเป็นประชาธิปไตยเพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นความจริงที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ปรากฏเจ้าของพรรคที่เด่นชัดเหมือนพรรคเพื่อไทย
พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคการเมืองอีกหลายพรรค
แต่ในพรรคประชาธิปัตย์ก็มีกลุ่มบุคคลที่เป็นชนชั้นนำของพรรคผู้ซึ่งมีอิทธิพลและคุมสภาพภายในพรรคไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเช่นกัน
การเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบเขตพื้นที่และแบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์มิได้มาจากกระบวนการ
“จากล่างขึ้นบน” หรือ
จากการที่สมาชิกพรรคเสนอและรับรองขึ้นมา แต่มาจากการตกลงกันของกลุ่มผู้นำพรรคทั้งนั้น
หรือ “แบบสั่งการจากบนลงล่าง” ดังเช่นการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.
2550
ว่าที่ผู้สมัครพรรคคนหนึ่งในกรุงเทพมหานครดำเนินการสร้างฐานเสียงไว้ในเขตเลือกตั้งหนึ่งจนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้น แต่ปรากฎว่ากลับถูกกำหนดให้ไปลงสมัครรับเลือกตั้งในอีกเขตหนึ่งซึ่งไม่เขาไม่เคยไปลงพื้นที่เลย
ท้ายที่สุดว่าที่ผู้สมัครคนนี้ต้องลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในสภาพที่น้ำตานองหน้า การกระทำเช่นนี้ของผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์
คงจะเรียกไม่ได้ว่าเป็นวิถีประชาธิปไตยหรอกนะ
เมื่อมาถึงจุดนี้
ณ เวลา นี้ เราก็ได้กระจ่างแล้วแล้วระบบการเลือกตั้งทั้งแบบเขตพื้นที่
และแบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งลักษณะที่เป็นเผด็จการของพรรคการเมือง ต่างก็ผลิตนักการเมืองที่ฉ้อฉล
ไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร ไร้สัจจะและคุณธรรม
ซึ่งเป็นการกัดกร่อนบ่อนทำลายแก่นสารจิตวิญญาณของประชาธิปไตยจนแทบมิหลงเหลืออยู่เลย
คำถามคือแล้วประชาชนจะทำอย่างไร
สิ่งที่จะเป็นไปได้คือประชาชนต้องลงมือปฏิบัติการทางการเมืองในทุกมิติของอำนาจและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การรื้อฟื้นและสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่เป็นพันธกิจที่สำคัญของภาคประชาชน เพื่อนำพาสังคมไทยให้ข้ามพ้นจากสภาวะล้มลายทางการเมืองต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น