ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การทำประชามติรัฐธรรมนูญ



การทำประชามติรัฐธรรมนูญ: เหตุผลกับอารมณ์
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การทำประชามติเป็นการให้ประชาชนตัดสินใจโดยตรงในประเด็นที่มีความสำคัญกับการเลือกทิศทางของประเทศ   การทำประชามติได้รับการมองว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งความชอบธรรม” ให้กับทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง  ด้วยเหตุผลที่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนทางเลือกนั้น 
ทางเลือกที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาถามประชาชนมีสองลักษณะ  ลักษณะแรกคือ เป็นคำถามที่ให้ตอบว่า “เห็นด้วย”  หรือ “ไม่เห็นด้วย”  เช่น  เห็นด้วยหรือไม่กับการแยกรัฐควิเบกเป็นอิสระจากประเทศแคนาดา  หรือ เห็นด้วยหรือไม่กับการยังคงให้พระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรเป็นประมุขของประเทศออสเตรเลีย  เป็นต้น
คำถามในลักษณะที่สองเป็นคำถามแบบ “พหุคำตอบ”  หรือมีตัวเลือกหลายตัว  เช่น  ท่านต้องการให้ประเทศใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใด  คำตอบอาจเป็น  1. ระบบเลือกตั้งแบบคนที่ได้คะแนนมากที่สุดได้เป็นผู้แทน  2. ระบบเลือกตั้งแบบผู้ที่ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 50 ขึ้นไปจึงได้เป็นผู้แทน   3. ระบบเลือกตั้งแบบผสม เช่น มีการใช้ทั้งระบบคะแนนมากที่สุด ผสมกับระบบคะแนนเสียงส่วนใหญ่แบบเด็ดขาด   โดยใช้ระบบคะแนนมากที่สุดเรียงตามลำดับกับการเลือกตั้งตามสัดส่วนบัญชีรายชื่อผู้สมัคร  ส่วนระบบเสียงส่วนใหญ่แบบเด็ดขาดใช้กับการเลือกตั้งระดับเขตพื้นที่
ปกติการทำประชามติมักใช้กับประเด็นที่มีความขัดแย้ง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายประเด็น  การทำประชามติของประเทศต่างๆมีแนวโน้มจะใช้ประเด็นหลักเพียงประเด็นเดียว ซึ่งมีการถกเถียงกันในสังคมอย่างกว้างขวางและมีระยะยาวนานพอสมควร  จนประชาชนจำนวนมากรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นนั้นอย่างละเอียด  เพื่อให้เกิดการใช้สติและปัญญาในการไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนจะตัดสินใจเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง 
การทำประชามติที่มีคุณภาพนั้นจึงต้องมีเงื่อนไขอย่างน้อยสามประการ คือ 1. ตัวประเด็นจะต้องมีความชัดเจนและมีประเด็นหลักเพียงประเด็นเดียวหรือหากมีมากกว่าหนึ่งประเด็นก็จะต้องไม่มากเกินไปจนสร้างความสับสน   2. มีการให้ข้อมูลข่าวสารของประเด็นนั้นอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมกลุ่มต่างๆในสังคมให้มากที่สุด โดยใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร   และ 3. ประชาชนจะต้องมีสติปัญญาเพียงพอในการใช้เหตุผลเพื่อตัดสินใจโดยสามารถประเมินผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตนเองได้อย่างชัดเจน
   สังคมไทยมีการทำประชามติครั้งแรกเพื่อ “รับ” หรือ “ไม่รับ” รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550  โดยผู้ที่ผลักดันให้ลงประชามติในครั้งนั้นคิดว่า  หากประชาชนรับรัฐธรรมนูญแล้วก็จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมและมีความยั่งยืนได้  แต่ในที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็มีอายุเพียง 7 ปีเท่านั้น  อายุสั้นกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งไม่ได้ทำประชามติประมาณ 2 ปี   ในแง่นี้การทำประชามติจึงไม่ได้เป็นหลักประกันใดๆว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญอายุสั้นหรืออายุยืนยาว
การทำประชามติเกี่ยวกับการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาและที่บางกลุ่มกำลังเรียกร้องร้องให้จัดทำนั้น   ผมคิดว่าประเด็นของกลุ่มที่เรียกร้องให้ทำประชามติไม่ได้อยู่ที่ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ  เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเข้าใจหลักการและเนื้อหาของแต่มาตราต่างๆได้หมด  และยิ่งเป็นไปได้ยากมากขึ้นที่คนส่วนใหญ่จะสามารถประเมินได้ว่าเมื่อมาตราต่างๆได้รับการนำไปใช้จะก่อให้เกิดผลที่ตามเป็นอบย่างไร  ดังนั้นการประมวลภาพรวมแล้วมาประเมินเพื่อตัดสินใจอย่างมีเหตุผลครบถ้วนจึงเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้    การลงประชามิติรัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงแค่เกมเอามันของพวกนักฝัน หรือไม่ก็เป็นเกมอำนาจทางการเมืองโดยใช้ประชาชนเป็นฐานเพื่อแสดงพลังอำนาจของกลุ่มหรือพรรคการเมืองเสียมากกว่า
ด้วยความที่ประเด็นต่างๆที่อยู่ในรัฐธรรมนูญมีความหลากหลายและซับซ้อน  บางคนที่ศึกษาและพอรู้อยู่บ้างอาจเห็นด้วยในบางประเด็นและไม่เห็นด้วยบางประเด็น  จึงทำให้ยากแก่การตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ เข้าข่ายรักพี่เสียดายน้อง    บางคนอาจศึกษาเฉพาะเรื่องที่ตนเองสนใจและตัดสินใจโดยให้น้ำหนักกับประเด็นนั้นเป็นพิเศษโดยความเห็นต่อใช้ประเด็นนั้นตัดสินใจก็มี เช่น พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด จึงตัดสินใจไม่รับรัฐธรรมนูญจากประเด็นดังกล่าว และไม่ได้พิจารณาประเด็นอื่นๆเลย   หรือบางคนอาจไม่ชอบ คุณบวรศักดิ์ อุวรรณโนหรือผู้ร่างรัฐธรรมนูญบางคนเป็นการส่วนตัวก็เลยลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญ   
แต่ผมคาดว่าคนส่วนใหญ่จะตัดสินใจโดยไม่ใช้เหตุผลที่อ้างอิงจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเลย พวกเขาจะใช้จุดยืนทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งที่เขายึดถือเป็นฐานที่ใช้ตัดสินใจ   แต่ที่แย่กว่านั้นคือมีประชาชนจำนวนไม่น้อยซึ่งไม่เคยอ่าน รับรู้ หรือเข้าใจรัฐธรรมนูญเลย แต่ต้องมาตัดสินใจ   การตัดสินแบบนี้เป็นการตัดสินใจที่มีคุณภาพต่ำมาก  และมักถูกชี้นำจากกลุ่มคนที่มีจุดยืนและเป้าประสงค์ทางการเมืองบางอย่าง
หากพิจารณาในแง่ของความเป็นเหตุเป็นผลที่มีประสิทธิภาพ การนำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมาลงประชามตินับได้ว่าเป็นความไร้เหตุผลอย่างยิ่ง   และหากจะใช้ประชามติที่มีลักษณะแบบไร้เหตุผลเป็นฐานในการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญ ก็มิอาจทำให้รัฐธรรมนูญนั้นมีความชอบธรรมมากขึ้นแต่อย่างใด   การใช้ความไร้เหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมเป็นความเชื่อที่ผิดพลาด ในที่สุดก็จะย้อนกลับไปทำลาย “หลักการของประชามติ”  เสียเอง และถึงแม้ว่าเสียงส่วนใหญ่จะ “รับรัฐธรรมนูญ” ก็ไม่ช่วยให้รัฐธรรมนูญมีความมั่นคงหรือมีเสถียรภาพขึ้นแม้แต่น้อย
บางคนอาจให้เหตุผลในการสนับสนุนการทำประชามติว่า อย่างน้อยก็ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจรัฐธรรมนูญเพิ่มมากขึ้น  เพราะว่าในกระบวนการทำประชามตินั้นจะมีการเผยแพร่และอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ   แต่ผมคิดว่าการเผยแพร่และอภิปรายเพื่อสร้างความเข้าใจในเนื้อหารัฐธรรมนูญสามารถทำได้ในหลากหลายรูปแบบ  แถมยังใช้งบประมาณน้อยกว่าการทำประชามติอย่างมหาศาล     
นอกจากจะสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมหาศาลแล้ว การนำร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติยังสร้างความเสี่ยงทางการเมืองและความขัดแย้งทางสังคมเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำเป็น   ความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นคือ หากประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ  ก็จะต้องเริ่มกระบวนการร่างใหม่ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะร่างเสร็จ หากร่างเสร็จแล้วก็คงมีเสียงเรียกร้องให้นำไปทำประชามติอีก  คราวนี้รัฐบาลปัจจุบันก็อยู่ต่อไปเรื่อยๆ   บางคนอาจจะชอบ แต่บางคนก็อาจไม่ชอบ แต่ที่แน่ๆคือมีความเสี่ยงของการเกิดความขัดแย้งทางสังคมสูงขึ้นเรื่อยๆ
หรือหากมีการรับรัฐธรรมนูญ ก็มีความเสี่ยงอีกแบบหนึ่งคือจะทำให้มีผู้อ้างว่ารัฐธรรมนูญเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ใครแตะต้องไม่ได้  จะแก้ไขก็ต้องนำกลับไปลงประชามติอีกที  ซึ่งทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นยาก  ดังนั้นหากมีกลุ่มการเมืองใดที่ทรงอำนาจต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและไม่อยากนำไปทำประชามติ ก็เหลือทางเลือกเดียวคือฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไปเลย 
กล่าวได้ว่า การนำรัฐธรรมนูญไปลงประชามติจะทำให้เกิดความเป็นไปได้สูงที่นำไปสู่ความสุดขั้วทางการเมืองในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง  และนั่นหมายถึงว่าความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองมีโอกาสเกิดขึ้นสูงเช่นเดียวกัน
ผมจึงคิดว่าการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นทางเลือกที่ไร้เหตุผล ขัดแย้งกับหลักการ ไม่คุ้มค่า และผลลัพธ์ไม่ว่าจะออกมาอย่างใดก็จะสร้างความเสี่ยงทางการเมืองทั้งสิ้น   จึงอยากบอกว่าใครที่ร่ำร้องและผลักดันให้มีการทำประชามติโปรดใช้เหตุผลให้รอบด้านและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าคิดแต่เอาความอยากของตนเองเป็นที่ตั้ง หรือไหลไปตามกระแสของอารมณ์
ประชาธิปไตยจะเข้มแข็งและมั่นคงได้นั้นต้องมีเหตุผลและความสมเหตุสมผลเป็นองค์ประกอบหลัก มิใช่อารมณ์หรือกระแสความรู้สึกนะครับ


เหตุผลวิบัติของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

               
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้มีมติเห็นชอบให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่13 พฤษภาคม 2558 โดยให้เหตุผล 5 ประการ   ผมเห็นว่าเหตุผลทั้งห้าประการที่คณะกรรมการอ้างเพื่อสนับสนุนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็น “การทิ้งเหตุ” หรือเป็นการใช้เหตุผลที่มีลักษณะเป็น  “เหตุผลวิบัติ” (fallacy) ทั้งสิ้น    
การใช้เหตุผลวิบัติเยี่ยงนี้ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ สร้างน่าความประหลาดใจยิ่งนัก เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าสภาวะสะท้อนความอับจนของปัญญาจะเกิดขึ้นกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นนำทางปัญญาของสังคมที่ออกแบบการปกครองของประเทศ  แต่มันก็เกิดขึ้นจนได้  ทำให้คิดต่อไปว่า หากกลุ่มชนชั้นนำที่วางกรอบการบริหารปกครองประเทศมีการใช้เหตุผลวิบัติเยี่ยงนี้แล้ว อนาคตของประเทศไทยคงยากที่จะเกิดพัฒนาการของการใช้เหตุผลที่ถูกต้องได้ ซึ่งก็หมายความว่าคงยากที่จะพัฒนาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยได้นั่นเอง
 เหตุผลวิบัติเป็นความผิดพลาดในการให้เหตุผลที่ไม่สามารถให้การสนับสนุนทางตรรกอย่างหนักแน่นเพียงพอแก่ข้อสรุป มีความผิดพลาดทั้งในแง่ของการขาดความสมเหตุสมผลเชิงหลักการและความไม่สมจริงเชิงประจักษ์  เป็นการใช้เหตุผลที่ตั้งอยู่บนฐานของความปรารถนาที่รุนแรงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือโน้มน้าวทางอารมณ์ให้ผู้อื่นสนับสนุนในสิ่งที่ตนเองปรารถนา 
 การใช้เหตุผลวิบัติดำรงอยู่ทั้งในแวดวงการวิจัย การเขียนงานวิชาการ การเขียนบทความในสื่อมวลชน การประชุมคณะกรรมมาธิการต่างๆ  การประชุมรัฐสภา การประชุมในหน่วยงานหรือองค์การต่างๆ และการอภิปรายถกเถียงกันในสาธารณะ  สังคมใดที่มีการใช้เหตุผลวิบัติแพร่หลายย่อมแสดงว่าภูมิปัญญาของคนในสังคมนั้นอยู่ในระดับที่ด้อยพัฒนามาก 
สิ่งที่น่ากังวลในปัจจุบันและอนาคตของสังคมไทยคือ เรามีการใช้เหตุผลวิบัติเป็นฐานคิดในการปฏิบัติของแทบทุกวงการทั้งด้านการศึกษา การเมือง สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ  จนอาจกล่าวได้ว่าการใช้เหตุผลวิบัติเป็นรากเหง้าของปัญหาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของสังคมไทย
 ผลกระทบจากการแพร่กระจายของการใช้เหตุผลวิบัติมีหลายด้านด้วยกัน  นอกจากการใช้เหตุผลวิบัตินำไปสู่การถดถอยทางปัญญา  เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ความก้าวหน้า และการปฏิรูปประเทศแล้ว   ยังเป็นการส่งเสริมให้ความขัดแย้งทางสังคมเกิดขึ้นได้ง่าย และควาแพร่กระจายออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงอีกด้วย
รูปแบบของการเหตุผลวิบัติมีหลากหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อตอบสนองต้องการอย่างรุนแรงของผู้ใช้เพื่อให้บรรลุความปรารถนาของตนเองหรือกลุ่มตนเอง โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบทางลบที่ตามมา  หากปัจเจกบุคคลเพียงคนเดียวใช้เหตุผลวิบัติในแวดวงที่จำกัด ผลกระทบอาจไม่มากเท่าไรนัก  แต่หากเป็นคณะบุคคลที่มีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางการปฏิรูปและการบริหารประเทศ เฉกเช่น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ใช้เหตุผลวิบัติแล้ว ย่อมสร้างผลกระทบทางลบอย่างประมาณมิได้ต่อการพัฒนาประเทศและการพัฒนาปัญญาของผู้คนในสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 
  ตัวอย่างรูปแบบของการใช้เหตุผลวิบัติ เช่น การบิดเบือนหลักการเพื่อสนับสนุนในสิ่งที่ตนเองต้องการกระทำ การใช้ข้อมูลบางส่วนแล้วสรุปเป็นความจริงทั้งหมด การอ้างความสิ่งที่อยู่ภายในตัวเองเพื่อใช้ยืนยันในสิ่งที่ประสงค์กระทำ  การอ้างความเคยชินหรือสิ่งที่เคยทำในอดีตเพื่อมาทำซ้ำในปัจจุบัน  การอ้างว่าหน่วยงานอื่นประเทศอื่นทำกัน แล้วจะต้องทำตามโดยไม่ใช้สติปัญญาพิจารณาบริบทความเป็นจริง  และการอ้างการกระทำเพื่อให้ตนเองและพวกพวกพ้องได้ประโยชน์  เป็นต้น  
  กลับมาดูว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใช้เหตุผลวิบัติอย่างไรในการมีมติให้นำร่างรัฐธรรมนูญไปลงประชามติ   เหตุผลที่คณะกรรมาธิการฯแถลงต่อสาธารณะมี 5 เหตุผล คือ 1. ร่างรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดควรให้พลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจมีส่วนให้ความเห็นชอบ  เพื่อเป็นสัญญาประชาคม  2 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมของพลเมือง ในร่างรัฐธรรมนูญ  3.รัฐธรรมนูญฉบับปี2550 มีที่มาจากการออกเสียงประชามติจึง เห็นเหตุผลให้รัฐธรรมนูญที่จะบังคับใช้ใหม่ควรจะทำประชามติเช่นกัน  4. เป็นโอกาส สำคัญที่กรรมาธิการยกร่างฯจะได้ชี้แจงในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญให้ประชาชน และนักการเมืองได้เข้าใจ และ5. เนื่องด้วยการบัญญัติให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องมีการทำประชามติ  ดังนั้นการจะบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ควรมีการออกเสียงประชามติ เช่นกัน
ในภาพรวมเหตุผลทั้งห้านี้เป็นเหตุผลวิบัติทั้งสิ้น  ไม่มีเหตุผลใดข้อใดที่ใช้ได้อย่างถูกต้องตามหลักการของการให้เหตุผลเชิงตรรกที่ดี  รวมทั้งไม่มีการพิจารณาว่าการลงประชามติครั้งนี้จะสร้างผลประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างไร มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่  สร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อการพัฒนาการเมืองอย่างไร   มีแต่การอ้างเหตุผลที่ยืนบนหลักการที่ผิดพลาด ตามความเคยชินแบบเดิมๆที่เคยทำมา และใช้เนื้อหาบางส่วนในรัฐธรรมนูญเองมาเป็นข้ออ้างในการลงประชามติ ซึ่งเป็นการนำสิ่งที่เขียนเองมาเป็นเหตุผล ปูทางให้ตนเองกระทำในสิ่งที่ปรารถนาทั้งนั้น 
                  ดังเหตุผลข้อ1ที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดควรให้พลเมืองผู้เป็น เจ้าของอำนาจมีส่วนให้ความเห็นชอบเพื่อเป็นสัญญาประชาคม 
  การใช้เหตุผลข้อ 1 นั้นเป็นการอ้างคำว่า “ให้พลเมืองมีส่วนให้ความเห็นชอบ” และ “สัญญาประชาคม”  มาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรม  แต่เป็นการอ้างที่มีความผิดพลาดทั้งในเรื่องทฤษฎีเกี่ยวกับการกำเนิดรัฐ และนัยของสัญญาประคมในยุคสมัยใหม่   
 ในส่วนของทฤษฎีการกำเนิดรัฐนั้นจะเห็นได้ว่า  การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พลเมืองมิได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด  พลเมืองมิได้มีส่วนในการเลือกหรือยินยอมให้กลุ่มที่เป็นคณะกรรมาธิการฯเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ   หากแต่กลุ่มผู้ยกร่างได้รับการแต่งตั้งจากอำนาจพิเศษทางการเมือง  ดังนั้นการหยิบยกคำว่าสัญญาประชาคมเฉพาะในส่วนที่ “ให้ความเห็นชอบ” จึงเป็นการใช้หลักคิดแบบเสี่ยงเสี้ยวและที่ผิดพลาด และเป็นไปเพื่อชดเชยความรู้สึกผิดของกลุ่มผู้ร่างเท่านั้น
 ยิ่งว่านั้นการเสนอให้ลงประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ไม่ถูกต้องตามหลักการลงประชามติ    หากประสงค์จะลงประชามติให้ถูกต้องก็จะต้องลงมติทีละประเด็น และแต่ละประเด็นต้องมีความชัดเจน   วิธีการลงประชามติก็ควรกระทำดุจเดียวกับการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช. กระทำต่อรัฐธรรมนูญ นั่นคือที่จะต้องให้ความเห็นชอบรายประเด็นหรือรายมาตรา มิใช่การให้ความเห็นชอบแบบเหมาเข่ง” ดังที่เสนอ   การทำทำประชามติแบบเหมาเข่งเป็นการสร้างพิธีกรรมและมายาคติเพื่อหลอกลวงประชาชนเท่านั้น
การลงประชามติรัฐธรรมนูญแบบเหมาเข่ง เหมือนกับการบังคับให้เราซื้อผลไม้แบบเหมาทั้งเข่งซึ่งมีทั้งผลไม้เน่าๆและดีผสมกันไป    ประชาชนอยากเอาผลไม้เน่าทิ้งไป  แต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีโอกาสเลือก  พวกพ่อค้าผลไม้อย่างคณะกรรมาธิการยกร่างยื่นคำขาดให้เราว่า  เราต้องเลือกเอาทั้งเข่ง หรือ ไม่เอาทั้งเข่ง  ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างยิ่ง และไม่ก่อให้เกิดสัญญาประชาคมอะไรทั้งสิ้น   แต่เป็นทำประชามติเป็นแบบยัดเยียดและจอมปลอม

สำหรับคำว่าสัญญาประชาคมที่นิยมใช้ในปัจจุบัน หมายถึงการมีคู่สัญญาทางสังคมระหว่าง “นักการเมืองและพรรคการเมือง”  กับ “ประชาชน”  โดยนักการเมืองและพรรคการเมืองเสนอนโยบายต่อประชาชน  และประชาชนก็จะพิจารณาว่าเห็นด้วยกับนโยบายนั้นหรือไม่  หากเห็นด้วยก็เลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองนั้นเข้าไปบริหารประเทศ โดยถือว่ามีการทำสัญญาประชาคมเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาสองฝ่าย
แต่ขอถามว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นคู่สัญญากับประชาชนหรือไม่  ก็เปล่า เป็นเพียงกลุ่มคนที่คณะ คสช.ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงทางการเมืองแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น   คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จึงไม่ใช่คู่สัญญาของประชาชน   แต่คู่สัญญาที่แท้จริงของประชาชนคือ คสช.  ดังนั้นหาก คสช.จะปฏิบัติตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯเสนอให้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญ  คสช.ก็ต้องยอมรับผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นด้วย  หากประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็มีนัยว่า ประชาชนไม่ต้องยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช.  นั่นเอง
           ส่วนเหตุผลข้อสองและข้อห้า เป็นการอ้างเหตุผลโดยใช้เนื้อหาบางส่วนในรัฐธรรมนูญเองมาสนับสนุนการลงประชามติ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือการกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ   เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น ผมอยากจะทำความเข้าใจว่า การลงประชามติที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯเสนอนั้นเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมที่ไร้คุณภาพที่เน้นพิธีกรรมเท่านั้น    
หากพิจารณาพฤติกรรมของคณะกรรมาธิการยกร่างฯที่ผ่านมา ก็มิได้สร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและเพียงพอระหว่างกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพียงแต่เชิญกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ในแวดวงที่จำกัดมาเสนอความเห็นเท่านั้น  และความเห็นต่างๆที่ผู้คนเสนอก็เป็นเพียงพอเป็นพิธีให้ดูดีเท่านั้นเพราะคณะกรรมาธิการฯได้มีพิมพ์เขียวเอาไว้แล้วอย่างชัดเจนว่าต้องการทิศทางแบบใดในรัฐธรรมนูญ  
ดังนั้นการอ้างว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบจึงเป็นเรื่องที่สร้างพิธีกรรมเพิ่มขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อนำมาเป็นเกราะป้องกันตัวเองหรือจะได้ข้ออ้างลอยตัวเลี่ยงความรับผิดชอบเท่านั้นเอง
ส่วนที่ระบุว่าในรัฐธรรมนูญมีการเขียนว่า การแก้ไขต้องลงประชามตินั้น แล้วนำสิ่งที่ตัวเองเขียนมาใช้เป็นเหตุผลในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็ดูจะเป็นการใช้เหตุผลแบบข้างๆคูๆ มากเกินไปหน่อย   หากยังมีสติปัญญาไม่มืดบอดจนเกินไป ลองกลับไปคิดและถามตัวเองสักนิดนะครับว่า การใช้เหตุผลเยี่ยงนี้เป็นการเอาสีข้างเข้าถูหรือไม่ เป็นการใช้เหตุผลโดยผู้มีปัญญาหรือไม่
สำหรับเหตุผลข้อ 3 เป็นประเภทการใช้สิ่งที่เคยทำในอดีตมาเป็นข้ออ้างในการทำปัจจุบัน ทั้งที่การทำในอดีต (การลงประชามติรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550) ก็ผิดพลาด  เท่ากับเป็นการนำความผิดพลาดในอดีต มาใช้เป็นเหตุผลของกระทำในปัจจุบัน  อย่างนี้เรียกว่าผิดพลาดซ้ำซาก 
สุดท้ายเหตุผลประการที่ 4   เหตุผลนี้น่าอับอายที่สุด เพราะเป็นการอ้างเหตุผลเพื่อตัวเองล้วนๆ  หากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ประสงค์จะเผยแพร่เนื้อรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องใช้การลงประชามติให้เปลืองเงินถึง 3 พันล้านบาทก็ได้   เพียงแค่เสนอของบประมาณจากรัฐบาล เพื่อใช้การรณรงค์ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆอย่างเข้มข้น  ซึ่งสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากว่าการลงประชามติอย่างมหาศาล เรียกว่า ประหยัดกว่าแต่ได้ผลลัพธ์ในการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนดีกว่าการลงประชามติด้วยซ้ำไป   ดังนั้นการอ้างเหตุผลว่าการทำประชามติจะทำให้คณะกรรมาธิการมีโอกาสเผยแพร่ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญแก่คนในสังคมจึงขาดน้ำหนักและตื้นเขินยิ่งหนัก  เพราะมีวิธีการอื่นๆที่จะสร้างความรู้แก่ประชาชนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลกว่าการลงประชามติด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตาม การที่ผมคัดค้านการลงประชามติรัฐธรรมนูญ  ไม่ใช่เป็นเพราะผมไม่เห็นด้วยกับหลักการการลงประชามติ    การลงประชามติที่ถูกต้องสามารถทำได้และควรทำอย่างยิ่งในประเด็นที่สังคมมีความขัดแย้งกัน  เป็นประเด็นที่มีความชัดเจน และมีการพิจารณาถึงผลดีและผลเสียของทางเลือกต่างๆอย่างละเอียด  มีการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ต่อเนื่อง และเพียงพอ จนเกิดความเข้าใจและสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลในการเลือก   นี่ต่างหากคือ การลงประชามติที่ดี  ไม่ใช่ลงประชามติที่มั่วๆแบบที่กลายเป็นกระแสในขณะนี้ 
และประเด็นที่ผมคิดว่าควรนำไปลงประชามติเป็นอย่างยิ่งคือ   “นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกโดยตรงของประชาชน”  หรือ “มาจากการเลือกโดยอ้อมของส.ส.”    หากใครกล้าไม่ว่าเป็นคณะกรรมาธิการ หรือ คสช. ก็ลองเอาไปทำ  แล้วเราจะเห็นสิ่งที่แตกต่างขึ้นมากกว่าการลงประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 







เส้นทางแห่งความเสี่ยง

เมื่อรัฐบาลและคสช.ตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อเปิดช่องให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณที่เด่นชัดว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์การนำร่างรัฐธรรมนูญไปลงประชามติมีความเป็นไปได้สูง  แม้ว่ารัฐบาลยังไม่ประกาศออกมาอย่างชัดเจนก็ตาม  และเมื่อมีการลงประชามติ  พลังการเมืองที่ถูกกดทับก็จะปะทุออกมา และการเมืองก็จะเดินไปสู่สภาวะความเสี่ยงมากขึ้น
ความพยายามในการผลักดันให้มีการนำร่างรัฐธรรมนูญไปลงประชามติมีจากหลายฝ่าย  แต่ที่น่าสนใจคือการผลักดันมีทั้งที่มาจากกลุ่มที่สนับสนุนอำนาจรัฐในปัจจุบันกับกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจรัฐ   ส่วนกลุ่มที่เห็นว่าไม่ควรนำร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติเป็นนักวิชาการเล็กๆกลุ่มหนึ่งซึ่งพยายามใช้ความเป็นเหตุเป็นผลในการนำเสนอ   แต่ก็ไม่อาจต้านกระแสความรู้สึกและความปรารถนาของสังคมได้
กลุ่มที่สนับสนุนอำนาจรัฐซึ่งผลักดันร่างให้มีการนำร่างรัฐธรรมนูญไปลงประชามติคือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)   ส่วนกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจรัฐซึ่งต้องการให้มีการนำรัฐธรรมนูญไปลงประชามติคือ พรรคการเมืองทั้งฝ่ายระบอบทักษิณ  และพรรคประชาธิปัตย์  และกลุ่มนักวิชาการและแกนนำเสื้อแดง
เรียกได้ว่ากลุ่มที่มีความคิดและความเชื่อทางการเมืองตรงกันข้ามกัน  ต่างก็มีความเหมือนกันในเรื่องนี้โดยมิได้นัดหมาย
อะไรคือแรงจูงใจและความปรารถนาของกลุ่มเหล่านี้  ทำไมกลุ่มเหล่านี้จึงคิดว่าการลงประชามติรัฐธรรมนูญจะทำให้ตนเองบรรลุเป้าหมายได้
เราลองมาพิจารณาในแต่ละกลุ่ม  สำหรับกลุ่มแรกที่ต้องหยิบยกมาก่อนคือ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ความปรารถนาของกลุ่มนี้คือ ต้องการได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศที่ได้รับการรับรองและสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศ   และการลงประชามติก็เป็นเครื่องมือในการตอบสนองความปรารถนาดังกล่าวได้
คณะกรรมาธิการยกร่างฯคงมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่า ร่างรัฐธรรมนูญของพวกเขาคงจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้น  อันจะนำเกียรติยศและความภาคภูมิใจอย่างล้นพ้นมาสู่ตนเองและวงศ์ตระกูลต่อไป
อะไรทำให้พวกเขามั่นใจเช่นนั้น  ผมคิดว่าส่วนหนึ่งคงมาจากการการที่พวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่เขียนในร่างรัฐธรรมนูญเป็นมาตรการที่ดี เพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน ลดอำนาจนักการเมือง สร้างองค์กรตรวจสอบที่ดูเสมือนเปิดโอกาสภาคประชาชนเข้าไปมีบทบาทเป็นจำนวนมาก  รวมทั้งมีการสร้างมาตรการอีกหลายประการที่ตรวจสอบและควบคุมการใช้อำนาจรัฐของนักการเมืองอย่างเข้มข้น    เมื่อพวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาเขียนเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนดังกล่าวแล้ว  ก็คงจะอนุมานต่อไปว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องให้การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญอย่างท่วมท้นเป็นแน่
อีกประการหนึ่งที่ทำให้พวกเขามั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญคงจะผ่านการรับรองจากประชาชนคือ การรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับสถานภาพทางการเมืองของ คสช.และรัฐบาลด้วย    หากประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ย่อมกระทบต่อสถานภาพทางการเมืองของคสช.และรัฐบาลอย่างรุนแรง   ดังนั้นคณะกรรมาธิการร่างฯจึงเชื่อมั่นว่า รัฐบาลและคสช.คงต้องใช้กลไกอำนาจรัฐที่มีอยู่ทำให้ได้รับชัยชนะในลงประชามติให้ได้  ดังที่เคยเกิดขึ้นในปี 2550 มาแล้ว
หากผลการลงประชามติออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่รับร่างรัฐธรรมนูญ  พวกเขาก็จะอ้างได้ว่ารัฐธรรมนูญมีความชอบธรรม    แต่ชัยชนะที่ได้มาก็เข้าข่ายหลักคิดที่ว่า “ชัยชนะคือความชอบธรรม” ไม่ว่าจะชนะมาด้วยวิธีการใดก็ตาม   และหากหลักคิดแบบนี้ยังครอบงำการกระทำของผู้คนอยู่   อนาคตของการปฏิรูปประเทศก็จะมีปัญหาไม่น้อย
สำหรับกลุ่มพรรคการเมืองซึ่งสนับสนุนจากลงประชามติมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรักษาอำนาจทางการเมืองของตนเองเอาไว้  พวกเขาจึงต้องการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ได้  และเห็นว่าการลงประชามติจะเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ประเด็นในรัฐธรรมนูญที่เป็นหนามตำใจของพรรคการเมืองคือ การลดจำนวน ส.ส.เขตจากเดิมที่มี  400 คน ให้เหลือเพียง 250 คน ซึ่งจะทำให้นักการเมืองของพรรคใหญ่ๆต้องแย่งชิงพื้นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างเข้มข้น   และประเด็นส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเปิดที่นำอำนาจในการกำหนดว่าบุคคลใดในบัญชีรายชื่อพรรคจะได้เป็นส.ส. ไปให้ประชาชน   ซึ่งเป็นลดอำนาจของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคอย่างมหาศาล  เรื่องทั้งสองนี้บรรดานักการเมืองทั้งหลายประสงค์จะให้เอาออกไป   แต่หากเอาออกไม่ได้ก็จะหาทางล้มร่างรัฐธรรมนูญเสีย
อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักวิชาการและแกนนำเสื้อแดงบางส่วน กลุ่มนี้มีความปรารถนาโค่นล้มคสช.และรัฐบาล และเห็นว่าการลงประชามติจะเป็นช่องทางและโอกาสอันดีในการนำไปสู่ความปรารถนาดังกล่าว  เพราะว่าเมื่อมีการลงประชามติ ก็จะต้องมีการเปิดพื้นที่ทางการเมือง ให้ฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญรณรงค์เคลื่อนไหวเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความคิดและเหตุผลของพวกเขาอย่างกว้างขวาง   
นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวเสื้อแดงก็จะใช้เงื่อนไขการลงประชามติขับเคลื่อนสร้างกระแสการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งพวกเขามองว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ   คนกลุ่มนี้จะไม่สนใจเนื้อหาใดๆทั้งสิ้นในรัฐธรรมนูญ แต่พวกเขาจะมุ่งเน้นไปที่ความชอบธรรมของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ
ยิ่งกว่านั้นมีความเป็นไปได้สูงที่คนกลุ่มนี้จะใช้เงื่อนไขการลงประชามติบังหน้าเพื่อปลุกกระแสคัดค้าน คสช.และรัฐบาล   และหากผลการลงประชามติออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พวกเขาก็จะใช้เงื่อนไขนี้ไปบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลและคสช. และขับเคลื่อนกระแสการเมืองการเรียกร้องให้รัฐบาลและคสช.รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
เราก็อาจได้เห็นการชุมนุมประท้วงขับไล่ผู้ครองอำนาจรัฐเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปีหากมีการนำรัฐธรรมนูญไปลงประชามติ   และการชุมนุมและความขัดแย้งก็มีโอกาสขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ  
และผมประเมินว่าโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ผ่านประชามติมีสูงเป็นอย่างยิ่ง  เพราะว่า พรรคการเมืองทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ก็จะรณรงค์ให้มวลชนของตนเองไม่รับ   ข้าราชการบางกระทรวงที่คิดว่าอำนาจของตนเองลดลงเพราะมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและประชาชนมากขึ้น ก็จะใช้คำสั่งตามสายบังคับบัญชาให้เครือข่ายออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน   นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวเสื้อแดงก็จะรณรงค์ให้ประชาชนในเครือข่ายของตนเองไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลและคสช.  
แต่กลุ่มที่จะผสมโรงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ด้วยก็คือกลุ่มที่อยากให้พลเอกประยุทธ  จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก 2-3 ปี  เพราะกลุ่มนี้เชื่อว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนหรืออาจะเป็นปีกว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
ดูไปดูมาเห็นทีจะมีแต่คณะกรรมาธิการยกร่างฯเท่านั้นที่อยากให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติ  ส่วนกลุ่มอื่นๆที่กล่าวมาล้วนไม่ประสงค์ให้ผ่านด้วยความปรารถนาที่แตกต่างกันทั้งสิ้น   
โอกาสที่รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจึงมีสูงยิ่งซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นในอนาคต 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ