ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ปัญญาและคุณธรรมของผู้นำประเทศ


                                               ปัญญาและคุณธรรมของผู้นำประเทศ

                                                                                   พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต                                          


          บทบาทหน้าที่อย่างหนึ่งของผู้นำคือการเป็นแบบอย่างในการพัฒนาภูมิปัญญาและคุณธรรมแก่ประชาชนในสังคม   แต่ผู้นำของสังคมไทยสามารถแสดงบทบาทเหล่านั้นได้หรือไม่   หากไม่ได้อนาคตของสังคมไทยจะเป็นอย่างไร  เป็นสิ่งที่เราควรคิดวิเคราะห์และเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้า
          หากสังคมใดที่มีการส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญาและคุณธรรมอย่างเข้มข้นทั้งสองด้านและเป็นไปอย่างมีดุลยภาพ    ย่อมทำให้สังคมนั้นเกิดภาวะความสมดุลย์ระหว่างความเจริญทางวัตถุกับความสงบสุขทางสังคม   ซึ่งจะทำให้สังคมนั้นเป็นสังคมที่มีคุณภาพ และบุคคลมีคุณภาพชีวิตสูง
          หากสังคมใดเน้นการพัฒนาปัญญา สร้างความเฉลียวฉลาดแก่ประชาชน  แต่ละเลยการพัฒนาคุณธรรม   สังคมนั้นอาจมีความสะดวกสบายทางวัตถุ  แต่ผู้คนจะโหดร้ายและมุ่งเอารัดเอาเปรียบกันเป็นหลัก
          ในทางกลับกันการเน้นการพัฒนาคุณธรรม  แม้จะทำให้สังคมมีความสงบสุขสันติ  แต่การไม่ใส่ใจการพัฒนาปัญญา จะทำให้สังคมถูกชักนำไปสู่ความเสี่ยงของการศรัทธาอย่างงมงาย  และทำให้ผู้คนตกเป็นเหยื่อของผู้ทรงคุณธรรมจอมปลอมได้ง่าย
          แต่หากสังคมใดไร้ทั้งการพัฒนาภูมิปัญญา และละเลยการพัฒนาคุณธรรม   สังคมนั้นย่อมเปี่ยมล้นไปล้นคนโง่เขลาและคนชั่วช้าเลวทรามที่ไม่อาจเป็นพลังในการพัฒนาสร้างสรรค์ประเทศให้เจริญรุดหน้าได้  สถานการณ์ที่สังคมแบบนี้ต้องเผชิญก็คือ ภาวะความขาดแคลนทางวัตถุที่ใช้ในการยังชีพ และจะสร้างภาวะความทุกข์ยากแก่ผู้คนจนประมาณไม่ได้
          แม้การพัฒนาภูมิปัญญาและคุณธรรมจะต้องดำเนินการจากกลุ่มบุคคลหลายระดับ หลายวงการ   แต่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสิ่งหล่านี้ให้มีความก้าวหน้าและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง  ก็คือผู้บริหารประเทศ
          ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอเนจอนาถมาก เพราะบรรดาผู้นำประเทศทั้งหลาย หาได้มีผู้นำที่ทรงภูมิปัญญาเพียงพอในการชี้นำการพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง  อีกทั้งยังไร้ผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงามพอที่จะเป็นแบบอย่างให้ผู้คนทั่วไปยึดถือไปปฏิบัติได้
          อาจจะไม่เป็นธรรมหากจะกล่าวหาลอยๆโดยไร้หลักฐานที่น่าเชื่อถือและเหตุผลสนับสนุน   เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้เราตกอยู่ในวัฏจักรของอคติได้ง่าย    คำถามคือเราจะทราบได้อย่างไรว่าผู้นำไร้ปัญญาและปราศจากจริยธรรม
          การจะดูว่าผู้นำคนใดมีปัญญาและคุณธรรมเพียงพอหรือไม่  เราคงไม่สามารถนำแบบวัดความฉลาดทางปัญญา (IQ)ไปให้ผู้นำคนนั้นทดลองทำและดูว่าเขาได้คะแนนเท่าไร  และเราคงไม่สามารถนำแบบทดสอบคุณธรรมไปให้พวกเขาทำได้เช่นเดียวกัน
          แต่เราสามารถรับรู้ได้จากสิ่งที่เขาตัดสินใจทำหรือไม่ทำ  จากสิ่งที่พวกเขาขับเคลื่อนผลักดันนโยบาย และจากสิ่งที่พวกเขาสัมภาษณ์ตอบคำถามนักข่าวโดยที่ไม่มีการจัดเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้า
          ลองพิจารณาตัวอย่างเรื่องการตัดสินใจใช้นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ซึ่งใช้เงินงบประมาณภาษีของประชาชนนับแสนล้านบาทในการรับจำนำข้าวจากชาวนา   โดยรับจำนำในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด    ผู้มีความคิดสักนิดย่อมทราบดีว่าไม่มีการรับจำนำสินค้าใดที่จะให้ราคาสินค้าที่นำมาจำนำสูงกว่าราคาตลาด เพราะคงไม่มีใครมาไถ่ถอนคืนเป็นแน่   ชาวนาก็เช่นเดียวกันเมื่อจำนำไปแล้วก็ไม่มาไถ่ถอนข้าวคืน  ทำให้รัฐบาลต้องรับภาระเก็บข้าวไว้นับสิบล้านตันแล้วในปัจจุบัน   
          ผู้นำรัฐบาลยังคิดต่อไปโดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานระดับมัธยม  โดยคิดว่าหากเก็บข้าวไว้ในประเทศจะทำให้ราคาในตลาดโลกสูงขึ้น   ลืมคิดว่าข้าวเป็นสินค้าที่สามารถหาสินค้าประเภทอื่นทดแทนได้ไม่ยากเพราะข้าวก็คือแป้งธรรมดานี่เอง และพืชที่ให้แป้งก็มีหลายชนิด   อีกทั้งในปัจจุบันมีอีกหลายประเทศที่สามารถผลิตข้าวส่งออกในตลาดโลกได้อย่างมากมาย เช่น จีน  เวียตนาม และสหรัฐ
          ประกอบกับบรรดาผู้ซื้อในตลาดโลกหาได้โง่เขลาเหมือนผู้นำประเทศไทย  เมื่อเขาทราบว่ารัฐบาลไทยมีข้าวเหลือค้างอยู่มาก และจำเป็นต้องระบายออกไปสู่ตลาดเพราะไม่อาจแบกรับต้นทุนได้อีกต่อไป  ก็ทำให้ราคาข้าวยิ่งตกต่ำลงไปอีก  
          ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆอันเกิดจากมาตรการบางส่วนของนโยบายจำนำข้าว  หากดูลึกลงไปในกระบวนการปฏิบัติก็จะพบต่อไปว่ารัฐบาลชุดนี้ไร้ความสามารถอย่างสิ้นเชิงในการสร้างประสิทธิผลให้เกิดขึ้นได้  ตรงกันข้ามกลับทำให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ  
           การทุจริตในการลงทะเบียนการเพาะปลูกข้าวเพราะจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวที่ผู้ลงทะเบียนมาแจ้งเมื่อนำมารวมกันแล้วปรากฎว่ามีมากกว่าพื้นที่ของประเทศไทยทั้งประเทศ  กรณีแบบนี้สะท้อนว่ามีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มสวมสิทธิ์ชาวนา มีการทำใบประทวนปลอม พอได้สิทธิมาก็เอาข้าวไปขายทั้งที่มีข้าวจริงและไม่มีข้าวและยังมีการลักลอบนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาขายในประเทศไทยซึ่งราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดของประเทศเหล่านั้น    แต่รัฐบาลไม่ทราบและไม่มีปัญญาจัดการใดๆ   ทำทีส่งรัฐมนตรีบางคนไปตรวจสอบก็รายงานว่าไม่พบการทุจริตใดๆ
          ชาวนาน้อยมาก  และพบการทุจริตในทุกขั้นตอนของการนำนโยบายจำนำข้าวไปปฏิบัติ   ปปช.เสนอให้รัฐบาลยุตินโยบายนี้เสีย เพราะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล  แต่รัฐบาลก็เฉยเมยไม่สนใจใยดีแต่ประการใด
          นโยบายจำนำข้าวเป็นเพียงหนึ่งในหลายนโยบายของรัฐบาลที่สะท้อนให้เห็นถึงการมีปัญญาที่เบาบางของผู้นำประเทศ  ส่วนนโยบายอื่นๆที่คล้ายคลึงกัน เช่น นโยบายการจัดการน้ำ  นโยบายแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้   มาตรการขึ้นค่าแรงสามร้อยบาทต่อวัน  มาตรการยกระดับราคายางโดยการให้ตัดโค่นต้นยางแสนต้น  เป็นต้น  
          นอกจากนโยบายแล้ว  เรื่องที่เราจะดูได้ว่าผู้นำมีปัญญามากเพียงใดก็คือ  การตอบคำสัมภาษณ์ที่ไม่มีการเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้า   สำหรับผู้นำรัฐบาลชุดนี้ การตอบคำถามของเธอมีอยู่ 2 ประเภทหลักคือ  ประเภทแรกเป็นคำถามที่เธอตอบไม่ได้ ดังนั้นจึงใช้การเงียบและการเดินหนีนักข่าว  ดังที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 ส.ค. 2555  เธอตอบคำถามไม่ได้หลายคำถาม เช่น คำถามการย้ายนายทหารระดับสูงของ รมว.กลาโหม นักข่าวถามว่า  “หากมีอะไรเกิดขึ้นตามมา รมว.กลาโหมต้องเป็นผู้รับผิดขอบเองหรือไม่”   หรือ คำถามเกี่ยวกับภัยแล้ง “ภัยแล้งเกิดจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนมากเกินไปหรือเปล่า”
          ประเภทที่สอง  เป็นคำถามที่เธอตอบไม่ตรงประเด็นและปราศจากเนื้อหาสาระทั้งข้อมูลและเหตุผล เช่น เมื่อนักข่าวถามว่า คิดว่าการโยกย้ายทหารจะมีผลกระทบต่อบรรยากาศการทำงานของรัฐบาลหรือไม่  ผู้นำรัฐบาลตอบว่า  “ได้เน้นย้ำกระทรวงกลาโหมไปแล้วเพื่อให้เกิดการทำงาน และให้ พล.อ.อ.สุกำพลชี้แจงให้ทราบ”  คำตอบของเธอห่างไกลจากคำถามมาก เพราะคำถามเป็นเรื่องที่ให้เธอช่วยประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำของ รมว. กลาโหม ที่มีต่อการทำงานของรัฐบาล   แต่เธอกลับตอบไปว่าได้ย้ำและให้ รมว. กลาโหมชี้แจง
          นอกจากจะมีความเบาทางปัญญาแล้ว  ผู้นำรัฐบาลชุดนี้ยังบริหารประเทศโดยไร้คุณธรรมและจริยธรรมอย่างปราศจากความละอาย    ดังเห็นได้จากการที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังถึงกับประกาศต่อสาธารณะอย่างภาคภูมิใจว่า  เขาบริหารประเทศโดยการโกหก และได้รับอนุญาตให้โกหก
          หากผู้บริหารบริหารประเทศมีความภาคภูมิใจต่อการกระทำที่ไร้คุณธรรมและจริยธรรมเสียแล้ว ก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมทรามของจิตใจที่ดำรงอยู่กับพวกเขาเหล่านั้น      และหากให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้บริหารประเทศต่อไป   อีกไม่นานคุณธรรมของสังคมก็คงจะถูกกัดกร่อน จนหมดสิ้น    แผ่นดินก็จะเต็มไปด้วยผู้คนที่ยึดการโกหกเป็นสรณะ 
          ประเทศไทยในยุคหลายปีมานี้ประสบกับความเสื่อมเรื้อรัง เพราะคุณสมบัติของบรรดาผู้บริหารประเทศ  หากไม่โง่เขลาเบาปัญญา และไร้คุณธรรม จริยธรรม ดังที่เป็นอยู่   ก็เป็นผู้ที่ลุแก่อำนาจ  นิยมใช้ความรุนแรง ป่าเถื่อน ข่มขู่ คุกคามประชาชนเป็นเนืองนิจ
          คงไม่มีคำตอบสำเร็จรูปว่าประชาชนจะทำอย่างไร ในการขจัดผู้บริหารประเทศซึ่งเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นเหตุแห่งความทุกข์ของสังคม   ประชาชนก็คงต้องคิดแสวงหามรรคาร่วมกันในการขจัดทุกข์ให้เบาบางลงไป   มิเช่นนั้นในอนาคตเราอาจเสียใจที่ยังมีชีวิตอยู่และเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา


         

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั