ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

สำนึกทางการเมืองแบบพลเมือง แบบขี้ข้า และแบบเฉยเมย

สำนึกทางการเมืองแบบพลเมือง แบบขี้ข้า และแบบเฉยเมย

พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การพัฒนาการเมืองในสังคมไทยยังมีปัญหาอยู่มาก ภาพสะท้อนปัญหาปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปทั้งในเชิงสถาบันทางการเมือง  จิตใจ และพฤติกรรมของนักการเมืองและประชาชน  ในทางสถาบันทางการเมืองเราเห็น รัฐบาลแบบหุ่นเชิดที่ฉ้อฉล  ระบอบรัฐสภาที่ล้มเหลว พรรคการเมืองที่เป็นเผด็จการผูกขาด และองค์กรอิสระที่ไร้ประสิทธิภาพ    
ในทางจิตใจและพฤติกรรมนักการเมือง เราพบเห็นถึงการไร้คุณธรรมของนักการเมือง เห็นจิตใจที่หยาบกระด้าง อำมหิตเลือดเย็น  มีวาจาที่หยาบคาย สกปรก โสมม  มีพฤติกรรมที่ฉ้อฉล  ป่าเถื่อนไร้กฎระเบียบ ไม่เคารพกฎหมาย และรุนแรง  
ด้านประชาชนเราพบเห็นการเติบโตของประชาชนที่มี “สำนึกแบบพลเมือง” เพียงน้อยนิด แต่กลับเห็นการเติบโตอย่างมหาศาลของ “สำนึกไพร่แบบขี้ข้า”  และ “สำนึกหุ่นที่เฉยเมย”   การแสดงออกทางการเมืองของภาคประชาชนที่จะขับเคลื่อนสังคมให้มีเนื้อหาประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจึงมีเพียงส่วนน้อย 
ขณะที่การแสดงออกของประชาชนที่ต้องการ “ประชาธิปไตยเพียงเปลือกกระพี้นั้นมีมากกว่า”   และที่มากที่สุดคือ ประชาชนที่ไม่สนใจไยดีเรื่องราวของบ้านเมือง แต่ละวันทำงานหาเลี้ยงชีพ พักผ่อนด้วยการดูละครน้ำเน่า และรอวันร่ำรวยจากการซื้อหวยหรือเล่นหุ้น
รากเหง้าสำคัญอันเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาที่ผ่านมาทั้งปวงคือ การพัฒนาการเมืองของเราตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับสังคมและตัวตนของเราเอง  เราพัฒนาการเมืองโดยการเลียนแบบและเป็นการเลียนแบบที่ไม่สมประกอบ  ทั้งในระดับเป้าหมายของการพัฒนาและระดับแนวทางการพัฒนา
เมื่อเราเดินทางไปต่างประเทศ พบเห็นสิ่งใดที่เราประทับใจว่าเป็นสิ่งดี  เราก็เกิดความคิดว่าน่าจะนำสิ่งนั้นมาใช้ภายในประเทศบ้าง  ทั้งที่เรารับรู้เพียงเสี่ยงเสี้ยว ตื้นเขิน และผิวเผินจากภาพที่เห็นอันเป็นผลลัพธ์  
 วิธีคิดของเราจึงเป็นวิธีคิดเพียงด้านเดียว  และบังเอิญว่า “เรา” ที่ว่านั้นเป็นคนมีศักยภาพและมีอำนาจ   “เรา” จึงนำเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาการเมืองจากต่างชาติเข้ามาใช้ในสังคมไทย และหวังอย่างลมๆแล้งๆว่า เมื่อใช้แล้วจะก่อให้เกิดผลลัพธ์เช่นเดียวกับที่เกิดในต่างประเทศ
เราเห็นประเทศตะวันตกมีการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม  มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  เราก็เห็นว่าดี   เราจึงนำมาใช้ในประเทศไทยโดยมิได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าพัฒนาการของการเมืองและเศรษฐกิจในแต่ละประเทศนั้นเป็นอย่างไร   และเราก็ไม่สนใจศึกษาหาความรู้อย่างลึกซึ้งว่าสภาพสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ โครงสร้างอำนาจ และบุคลิกภาพของปัจเจกบุคคลแบบใดที่เป็นเงื่อนไขของการเกิดและการพัฒนาประชาธิปไตย  
เราคิดเอาเองอย่างง่ายๆ ว่า  “สิ่งใดเมื่อใช้ได้ดีในที่ใดที่หนึ่งแล้ว  ก็ย่อมใช้ได้ดีในที่อื่นด้วย”   แนวความคิดเช่นนี้อาจจะใช้ได้สำหรับสิ่งของที่เป็นวัตถุบางอย่างที่ไม่มีชีวิตและความสัมพันธ์ทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง
 แต่เมื่อไรก็ตามสิ่งที่เราลอกเลียนนำมาใช้เป็นเรื่องของแนวความคิดและมีการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง  เมื่อนั้นประโยคที่ว่า “สิ่งใดเมื่อใช้ได้ดีในที่หนึ่งแล้ว ก็ย่อมใช้ได้ดีในที่อื่นด้วย”  ความถูกต้องและความเป็นจริงของประโยคนี้จะลดลงอย่างมหาศาล   และหากเรายังยึดติดอยู่กับตรรกะของประโยคนี้ เราจะมีแนวโน้มประสบกับปัญหาที่เราจินตนาการไปไม่ถึงมากมายตามมา 
ดังระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมของตะวันตกที่เรานำมาใช้เมื่อ 80 ปี ที่แล้ว  ภายใต้บริบทสังคมไทยที่ความคิดและความสำนึกแบบปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งที่ยังแทบไม่ดำรงอยู่ คนเกือบทั้งหมดของสังคมไม่รู้จักภาวะแห่งความปัจเจกบุคล
 ในทางตรงกันข้ามความคิดของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเป็นความคิดที่เชื่อมโยงตัวตนเข้ากับครอบครัว เครือญาติ และชุมชน   การเคารพผู้อาวุโสกว่าเป็นหลักการปฏิบัติทั่วไป  คุณธรรมส่วนบุคคลและระหว่างบุคคลอันอยู่บนฐานของศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นหลักเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา  ความเชื่อเรื่องบุญ และบาป เป็นสิ่งที่ได้รับการนำไปปฏิบัติเป็นวิถีชีวิตทั่วไปของผู้คน
    ส่วนความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจภายนอกชุมชนเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจแนวตั้ง ยึดสถานภาพทางสังคมตามลำดับชั้นสูงต่ำของอำนาจ หรือ ที่เรียกว่าระบบขุนนางอุปถัมภ์   และในส่วนของผู้ปกครองสังคม แม้จะมีอำนาจเด็ดขาดแต่ก็ถูกควบคุมโดยหลักธรรมทางศาสนาเช่นเดียวกันที่รู้จักกันในนาม “ทศพิธราชธรรม”
  ขณะระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมซึ่งได้รับการนำมาทดแทนระบอบราชาธิปไตยนั้น  มีหลักคิดและวิถีที่แตกต่างกับบริบทความสัมพันธ์พื้นฐานของสังคมไทยเป็นอย่างมาก  
 ดังนั้นเมื่อให้มีการกำหนดผู้บริหารประเทศและการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร  สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงหลักคิดและวิถีปฏิบัติก็แตกต่างจากประเทศอันเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง  ผู้ที่มาเป็นผู้บริหารประเทศและผู้ได้รับเลือกก็มิได้มีจิตสำนึกของ “ความเป็นตัวแทนปวงชน”  แต่อย่างใด  ตรงกันข้าม จิตสำนึกของพวกเขาคือ “การเป็นชนชั้นปกครองใหม่”  และ “การเป็นตัวแทนของตระกูลและพวกพ้อง”  
สำนึกแบบนี้ย่อมมีรากฐานจากสำนึกดั้งเดิม เพียงแต่เปลี่ยนกลุ่มบุคคลที่มาบริหารประเทศ และที่ร้ายยิ่งกว่าคือ กลไกทางคุณธรรมแบบเดิมที่อยู่บนพื้นฐานของศาสนาพุทธซึ่งใช้ในการควบคุมการบริหารประเทศถูกละทิ้งไป   ขณะที่กลไกคุณธรรมแบบใหม่ตามระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมก็ไม่ถูกนำมาใช้  ผู้ปกครองในระบอบใหม่ของสังคมไทยจึงเป็นกลุ่มผู้ปกครองที่ขาดกลไกทางคุณธรรมใดๆมาควบคุมการบริหารปกครองประเทศอย่างสิ้นเชิง  
ดังนั้นทิศทางการบริหารประเทศจะเป็นอย่างไรจึงขึ้นอยู่กับ “คุณธรรมส่วนบุคคล” ของผู้ปกครองเป็นหลัก   หากช่วงระยะเวลาใดที่ผู้ปกครองเป็นบุคคลที่มีคุณธรรม  ช่วงเวลานั้นสังคมไทยก็ดูเหมือนจะเกิดความสงบสุขร่มเย็นอยู่ขณะหนึ่ง  
 แต่ทว่าในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสังคมไทย  ช่วงเวลาเช่นที่ว่านี้มีน้อยยิ่งนัก     ปัญหาต่างๆในสังคมไทยจึงสะสมพอกพูน แผ่ขยาย ออกไปในหลายด้านทั้งในระดับกว้างและลึกตามวันเวลาที่ผ่านไป
   ด้านประชาชน “สำนึกแห่งความเป็นพลเมือง”  ซึ่งหมายถึง การเป็นปัจเจกชนที่มีความตื่นตัวทางการเมือง  มีการรวมกลุ่มภายใต้ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบแนวระนาบซึ่งเน้นความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน  มีความเป็นอิสระในการคิดและการกระทำที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการผสานผลประโยชน์ส่วนตน ครอบครัว และสังคมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ก็ปรากฏให้เห็นเพียงประปราย  มีจำนวนไม่มาก เสมือนหนึ่งเป็นสิ่งยกเว้นมากกว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป   ทั้งๆที่ “สำนึกพลเมือง” ควรเป็นปรากฏการณ์หลักในภาคประชาชนสำหรับประเทศที่ใช้การปกครองในระบอบแบบประชาธิปไตย
ประชาชนผู้มีสำนึกพลเมือง มุ่งหวังจะขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปสังคมไทยในระดับรากฐาน มุ่งหวังการเมืองเป็นประชาธิปไตยที่มีเนื้อหาสาระที่สร้างประโยชน์โดยรวมแก่สังคมไทยในทุกมิติ ทุกด้าน มิใช่แต่เพียงตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นปกครองใหม่ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แต่ทว่าการขยายตัวของประชาชนส่วนนี้ยังมีไม่มากเพียงพอที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะอันใกล้นี้ได้  ยังคงต้องอาศัยระยะเวลาอีกช่วงหนึ่งในการขยายความคิดและจิตสำนึกออกไปให้มีปริมาณมากเพียงพอที่จะเกิดมวลวิกฤติเพื่อสร้างจุดพลิกผันในสังคมไทยขึ้นมา 
ประชาชนชาวไทยอีกส่วนหนึ่งกลับพัฒนาสำนึกทางการเมืองในเชิงย้อนกลับ  ยังคงดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิมคือ การอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของกลุ่มชนชั้นปกครองใหม่ผู้มีสถานภาพทางสังคมและอำนาจสูงกว่า   แต่ละวันรอคอยว่าจะได้รับการแจกจ่ายสิ่งของผลประโยชน์จากกลุ่มผู้ปกครองใหม่ในรูปแบบใดบ้าง   ซ้ำร้ายประชาชนบางส่วนยังได้รับการปลูกฝังและจัดตั้ง  “สำนึกไพร่แบบขี้ข้า”  ขึ้นมา  
กลุ่มประชาชนที่มี “สำนึกไพร่แบบขี้ข้า” จะเป็นกลุ่มที่เป็นกลไกทางการเมืองให้แก่กลุ่มชนชั้นปกครองใหม่  มีหน้าที่ในการสนับสนุน ปกป้อง พิทักษ์รักษา กลุ่มชนชั้นปกครองใหม่อย่างแข็งขัน   ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ในการทำลายล้างด้วยวิธีการที่รุนแรงต่อ “ผู้ที่คิดจะเป็น” หรือ “ผู้ที่เป็น” ปรปักษ์ทางการเมืองกับกลุ่มชนชั้นปกครองใหม่
สิ่งที่ยากสำหรับการพัฒนาการเมืองไทยคือ การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกไพร่แบบขี้ข้านี้ ให้กลายมาเป็นปัจเจกชนที่เป็นอิสระและพร้อมที่จะพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นพลเมืองที่มีจิตสำนึก  เพราะว่ากลุ่มคนเหล่านี้ถูกหลอกลวงด้วยมายาภาพของกลุ่มชนชั้นปกครองใหม่  จนคิดว่ามายาภาพดังกล่าวเป็นความจริง และพวกเขาไม่อาจยอมรับความจริงได้ด้วยเกรงว่ามายาภาพที่กลายมาเป็นตัวตนของพวกเขาแล้วนั้นจะถูกทำลายไป
ส่วนประชาชนที่มีสำนึกแห่งความเป็นกลไกเสมือนหุ่นยนต์ที่เฉยเมยต่อสภาพบริบทของบ้านเมือง  เป็นกลุ่มที่หมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับชีวิตประจำวัน ทำมาหากินเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว แสวงหาความสุขส่วนตัว  ดูการบันเทิงการละเล่น  สิ้นช่วงเวลาทำงานก็นั่งรอดูละครน้ำเน่า  บางส่วนก็ฝากชะตากรรมไว้กับหวยใต้ดินบ้าง บนดินบ้าง และต่อไปก็คงมีละครเรื่องใหม่มาเป็นเครื่องปลอบประโลมชีวิตต่อไปเรื่อยๆ  จวบจนจิตสำนึกเกิดเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็จวบจนชีวิตสิ้นไป
กลุ่มเฉยเมยนี้มีทั้งคนร่ำรวย  ชนชั้นกลาง และชาวบ้านทั่วไป  เป็นกลุ่มไม่สนใจไยดีกับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง บางครั้งหากมีเหตุการณ์ทางการเมืองกลุ่มพวกนี้ก็จะบ่นพึมพำว่า “ทำให้รถติดบ้าง ทำให้วุ่นวายบ้าง เสียเวลาทำมาหากินบ้าง”
  วันเวลาส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้หากเป็นชนชั้นร่ำรวย ก็หมดไปกับการท่องเที่ยว จับจ่ายซื้อของ ไปเที่ยวต่างประเทศ หรือเล่นกีฬาแพงๆ   หากเป็นชนชั้นกลางก็หมดไปกับการทำงานหาเงินเพื่อยกสถานภาพและจะได้เสพสุขแบบคนร่ำรวย  หากมีเวลาบ้างก็ดูหนังดูละคร ดูฟุตบอล ไปตามเรื่องตามราว   ส่วนชาวบ้านก็หมดเวลาไปกับการหาเงินมายังชีพ  บ้างก็ฝากชีวิตไว้กับหวย  เล่นการพนัน ดูมวย ดูละคร เป็นต้น
การพัฒนาการเมืองไทยจึงเดินหน้าไปได้ไม่มากเพราะว่ามีกลุ่มผู้เฉยเมยจำนวนมหาศาลที่นั่งอยู่เฉยๆ ไม่เข้าร่วมหากมีการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่สำเร็จ  พวกตนเองก็ไม่รู้สึกสูญเสียอะไร  แต่หากได้พวกตนเองก็ได้ด้วย  
การปฏิรูปการเมืองไทยจึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความพยายามเป็นอย่างมาก ทั้งจะต้องกระทำอย่างไตร่ตรองรอบคอบ ไม่ลอกเลียนแบบสำเร็จรูปซึ่งสร้างปัญหามามากแล้วในอดีต   อีกทั้งยังต้องทำให้กลุ่มผู้มีสำนึกแบบเฉยเมยเกิดการตื่นตัวขึ้นมาเพื่อให้มีพลังเพียงพอในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  รวมทั้งยังต้องต่อสู้กับกลุ่มผู้มีสำนึกแบบขี้ข้าที่ต้องการนำพาสังคมไทยให้เป็นทาสของนักการเมืองสามานย์อันเป็นชนชั้นปกครองใหม่อีกด้วย
แต่กระนั้นก็ตามการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น  ไม่ช้าก็เร็ว  เพราะพลังของประชาชนผู้สำนึกพลเมืองเริ่มขยายตัวออกไปมากขึ้น  และจะชักนำให้ประชาชนผู้เฉยเมยลุกขึ้นตาม  และนั่นจะเป็นพลังที่จะกวาดล้างการเมืองแบบสามานย์และประชาธิปไตยแบบขี้ข้าให้หมดไป
   
                    


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ