ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ฟาสซิสต์ อภิมนุษย์และโศกนาฏกรรม

ฟาสซิสต์ อภิมนุษย์และโศกนาฏกรรม

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

             

      ฟาสซิสต์เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนในโลกร่วมสมัยจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนสงครามและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง    ในปัจจุบันพลังของฟาสซิสต์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ที่รัฐบาลใช้เป็นแนวทางดำเนินการทางการเมืองได้ลดลง  แต่ทว่าร่องรอยของความคิดและความเชื่อแบบฟาสซิสต์ยังคงปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไปในหลายสังคม

         อุดมการณ์ฟาสซิสต์เกิดขึ้นท่ามกลางความโกลาหลทางสังคมในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งสภาวะถดถอยและตกต่ำทางเศรษฐกิจแผ่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก  ความอดอยากและความทุกข์ยากของผู้คนที่หิวโหยก่อให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับอุดมการณ์หลักที่ครองอำนาจทางการเมืองยุคนั้น
              อุดมการณ์เสรีนิยม อนุรักษ์นิยม สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ เป็นเป้าหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่นำมาซึ่งความถดถอยทางเศรษฐกิจ  การทรยศหักหลังทางการเมือง  การทำให้ชาติอ่อนแอ และการทำให้ศีลธรรมเสื่อมถอย
              นักปรัชญาที่มีอิทธิพลอย่างมากต่ออุดมการณ์ฟาสต์ซิสคือ เฟรดริช นิทซ์ชี่ หลักคิดเกี่ยวกับศีลธรรมที่ว่า ศีลธรรมไม่ได้อยู่ที่ความเมตตาหากแต่อยู่ที่กำลังอำนาจ  เป้าหมายของการพัฒนามนุษย์ไม่ใช่อยู่ที่การยกระดับคนทั้งหมด  หากแต่ต้องพัฒนาปัจเจกบุคคลที่แข็งแรงกว่าและมีคุณสมบัติดีกว่าให้เป็นอภิมนุษย์   นิทซ์ชี่กล่าวอย่างเย้ยหยันว่า สิ่งสุดท้ายที่บุคคลซึ่งมีสติสัมปชัญญะจะกระทำคือการพัฒนามนุษยชาติทั้งหมด เพราะว่ามนุษยชาติเป็นเพียงนามธรรม ไม่มีตัวตนดำรงอยู่  แต่สิ่งที่ที่ดำรงอยู่อย่างแท้จริงคือปัจเจกบุคคล   
              นิทซ์ชี่ยังกล่าวว่า ให้สังคมสิ้นสุดเสียดีกว่า หากสังคมนั้นปราศจากผู้มีสติปัญญาระดับสูง   สังคมเป็นเครื่องมือสำหรับส่งเสริมอำนาจและบุคลิกภาพของปัจเจกบุคคล  สังคมและกลุ่มหาได้มีเป้าหมายในตัวมันเองแต่อย่างใด 
              อภิมนุษย์ของนิทซ์ชี่เริ่มจากการมีชาติกำเนิดที่สูงส่งหรือการมีสายเลือดที่ดีซึ่งจะเป็นรากฐานในการสร้างปัญญาให้สูงส่ง   การสร้างอภิมนุษย์นั้นนิทซ์ชี่ระบุว่าต้องทำโดยการอบรมที่เข้มงวดภายใต้หลักสูตรที่สมบูรณ์แบบชัดเจน  จักต้องมีการฝึกฝนร่างกายให้รับความทุกข์ทรมานทางกายอย่างสงบเยือกเย็น     ฝึกฝนบ่มเพาะเจตจำนงแห่งการเรียนรู้ทั้งในแง่การเชื่อฟังคำสั่ง และการออกคำสั่ง
              เจตจำนงอิสระในทัศนะของนิทซ์ชี่เป็นเรื่องที่ไร้สาระ  แต่เจตจำนงที่เป็นความดีคือเจตจำนงแห่งอำนาจ  นิทซ์ชี่นิยามความดีว่าเป็นทุกสิ่งเพิ่มพูนความรู้สึกแห่งการมีพลังอำนาจ  ส่วนความเลวคือสิ่งทั้งมวลที่เกิดจากความอ่อนแอ ดังนั้นคุณลักษณะของอภิมนุษย์คือความรักในอันตรายและการต่อสู้อย่างมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน  ด้วยเหตุนี้ สงครามจึงเป็นสิ่งที่ดี   นิทซ์ชี่ย้ำว่า สงครามที่ดีย่อมทำให้สาเหตุที่ทำให้เกิดสงครามนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์
              นิทซ์ชี่วิจารณ์ชนชาติต่างๆในยุโรปได้อย่างแหลมคม เขามองว่าชาวอังกฤษเป็นบุคคลที่แย่ที่สุด คนอังกฤษทำให้จิตใจคนฝรั่งเศสเสื่อมด้วยความคิดประชาธิปไตยจอมปลอม  เขากล่าวเสียดสีว่า เจ้าของร้านขายของ  วัว สตรี คนอังกฤษ และนักประชาธิปไตยเป็นพวกเดียวกัน  ทั้งยังประณามว่าลัทธิประโยชน์นิยมและความป่าเถื่อนของอังกฤษคือความตกต่ำอย่างถึงที่สุดของวัฒนธรรมยุโรป
              เมื่อกล่าวถึงประชาธิปไตย นิทซ์ชี่มองว่าประชาธิปไตยเป็นความเลื่อนลอที่อนุญาตให้ผู้คนทำในสิ่งที่พอใจโดยละเลยความต่อเนื่องและการขึ้นแก่กันและกัน  การบูชาเสรีภาพและความวุ่นวายคือการบูชาความสามัญและเกลียดชังความเป็นเลิศ และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีบุคคลยิ่งใหญ่ซึ่งยอมอยู่ภายใต้การเลือกตั้งที่ไร้ศักดิ์ศรีและไร้ระเบียบ  อภิมนุษย์ไม่มีทางเกิดขึ้นมาภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยอย่างเด็ดขาด  และชาติจะไม่มีวันยิ่งใหญ่ได้เพราะบุคคลคลที่ยิ่งใหญ่ของชาติไม่ได้ถูกนำมาใช้
              นิทซ์ชีมองว่าธรรมชาติรักความแตกต่างของปัจเจกบุคคล ชนชั้นและเชื้อชาติ ขณะที่รังเกียจความเท่าเทียม กระบวนการวิวัฒนาการของสรรพชีวิตนั้นเป็นกระบวนการที่ผู้ที่เหนือกว่าแสวงหาผลประโยชน์และยังชีพด้วยชีวิตของผู้อื่น ปรากฎการณ์ของปลาใหญ่กินปลาเล็กเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ของธรรมชาติ  บางครั้งบรรดาเหล่ามวลชนอาจแสดงปฏิกิริยาต่อต้านบ้างด้วยความอิจฉาริษยาผู้ปกครอง  แต่การจัดการไม่ใช่เรื่องยากเพียงแต่เปิดประตูให้บรรดาฝูงชนบางคนเดินเข้ามาบนสวรรค์บ้างเป็นครั้งคราวก็สามารถสยบความวุ่นวายได้ 
              แต่เมื่อไรก็ตามที่ผู้ปกครองเกิดความไร้ประสิทธิภาพและเฉื่อยชาสิ่งที่ตามมาคือคนที่อยู่เบื้องต่ำกว่าจะมีความคิดปฏิวัติเพื่อหนีให้พ้นจากสภาพของการเป็นผู้ต่ำต้อย และเมื่อบรรดาทาสทำการปฏิวัติสำเร็จพวกเขาก็จะกลายเป็นกลุ่มที่สูงส่งขึ้นมา
              นิทซ์ชี่มองว่านายทุนและชนชั้นกลางสมัยใหม่ในยุโรปเป็นสิ่งแสดงออกของความด้อยค่าและเสื่อมลงของวัฒนธรรมในศตวรรษที่สิบเก้า  ลัทธิบูชาความมั่งมีละคนมีเงินแพร่ขยายออกไป  อันที่จริงแล้วบรรดานักธุรกิจที่เกิดขึ้นในยุคนั้นเป็นทาสของงานประจำและความคิดในการแสวงหาเงินตรา   พวกเขาไม่มีเวลาสำหรับสร้างความคิดใหม่  การคิดเป็นสิ่งต้องห้ามในกลุ่มคนเหล่านั้นและความสุขทางปัญญาเป็นสิ่งที่อยู่ปลายจักรวาลที่ยากจะเอื้อมไปถึง
              นักธุรกิจและชนชั้นกลางแสวงหาความสุขอย่างกระวนกระวายและฉาบฉวยด้วยการซื้อบ้านอันใหญ่โตมโหฬาร ชอบความหรูหราที่ปราศจากรสนิยม  สะสมภาพถ่ายราคาแพงที่ตนเองไม่มีเข้าใจอันใจเลยเกี่ยวกับความงามและสุนทรียภาพ  นิยมชมชอบความบันเทิงทางโลกีย์ที่ทำให้จิตใจและปัญญามืดทึบ วิถีการดำเนินชีวิตเยี่ยงนี้เป็นการพาตนเองไปสู่ห้วงเหวแห่งโคลนตม และเต็มไปกลิ่นสาบสางแห่งความโลภ
              ในท้ายที่สุดมนุษย์ก็กลายเป็นสัตว์ที่กินกันเอง ดักซุ่มโจมตีซึ่งกันและกันอย่างรุนแรงและโหดร้าย มุ่งแสวงหาผลกำไรเล็กๆน้อยๆจากขยะมูลฝอยนานาชนิด การใช้ชีวิตเยี่ยงนี้เปรียบประดุจโจรสลัดซึ่งประดิษฐ์ประดอยวิธีการปล้นชิงให้มีความละเอียดประณีต  นิทซ์ชี่เรียก การซื้อสินค้าในราคาถูกเพื่อนำมาขายในราคาแพงว่าเป็นศีลธรรมของโจรสลัด   
              สำกรับบรรดากลุ่มนายพล นิทซ์ชี่มองว่าเป็นกลุ่มที่ใช้ทหารของตนเองให้หมดไปในสนามรบ ทำให้พวกเขาพอใจกับการตายด้วยยาสลแห่งเกียรติยศ  อย่างไรก็ตามนิทซ์ชี่กำหนดสถานะของกลุ่มนายพลไว้เหนือกว่ากลุ่มนักธุรกิจที่ใช้คนเป็นเครื่องจักรเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง  เพราะว่ากลุ่มนายพลเป็นผู้สร้างสงครามซึ่งนิทซ์ชี่มองว่าเป็นยารักษามนุษย์ที่เริ่มอ่อนแอและสำราญกับความสุขสบายอันน่าเหยียดหยาม    สงครามกระตุ้นจิตวิญญาณที่ผุพังอันเป็นผลมาจากความสงบมากจนเกินไป   สงครามและการทหารจึงเป็นยารักษาพิษความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตยอันเป็นระบอบของคนขายของ
              ปัญหาการเมืองคือการมีพวกพ่อค้านักธุรกิจมาปกครองประเทศเพราะว่าคนประเภทนี้สายตาสั้นและมีความเข้าใจคับแคบ  พวกนี้มิได้มีวิสัยทัศน์ยาวและกว้างไกลเฉกเช่นชนชั้นสูงซึ่งได้รับการอบรมให้เป็นรัฐบุรุษ  การจะแก้ปัญหาการเมืองได้อย่างยั่งยืนคือการหาวิธีการที่มีประสิทธิผลในการป้องกันมิให้บรรดานักธุรกิจเข้ามาปกครองประเทศ
              นิทซ์ชี่มองว่าผู้ปกครองอันเป็นชนชั้นสูงต้องเป็นทั้งนักวิชาการและนายพลในบุคคลเดียวกัน มีความแหลมคมทางปัญญาขณะเดียวกันก็ต้องมีความกล้าหาญดุจทหาร   กลุ่มที่เป็นผู้ปกครองมิใช่รัฐบาลเพราะว่างานที่แท้จริงของรัฐบาลคืองานรับใช้     ผู้ปกครองอันเป็นรัฐบุรุษและนักปราชญ์ต้องมีอำนาจเหนือรัฐบาลในการควบคุมการเงินและกองทัพ ต้องเป็นกลุ่มคนที่สามารถประสานความสุขภาพของร่างกายและจิตวิญญาณได้อย่างตลอดเวลา
              หลักคิดของนิทซ์ชีเกี่ยวกับอภิมนุษย์ กฎความแตกต่างของธรรมชาติ การรักษาสายเลือดให้บริสุทธิ์ การสนับสนุนสงคราม และการปกครองแบบอภิชนาธิปไตยเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งนำมาวางรากฐานเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองและสถาปนาลัทธิฟาสซิสต์ขึ้นมาในประเทศอิตาลี และได้ขยายไปสู่ประเทศเยอรมันจนกระทั่งพัฒนาเป็นลัทธินาซี

              อุดมการณ์ของฟาสซิสต์และนาซีคือ ความเชื่อที่ว่ากฎธรรมชาติแล้วมนุษย์เกิดมาไม่เท่าเทียม การเชิดชูความเสมอภาคและเท่าเทียมเท่ากับละเมิดกฎธรรมชาติ  ในสังคมมีผู้กลุ่มที่มีสายเลือดสูงส่งอันเป็นชนชั้นสูงหรือเผ่าพันธุ์ที่มีศักยภาพในการเป็นอภิมนุษย์เป็นผู้สร้างวัฒนธรรมอันได้แก่เผ่าอารยัน  ส่วนเผ่าพันธุ์ชั้นต่ำที่ทำลายอารยธรรมคือพวกยิว ความเชื่อเช่นนี้นำไปสู่การทำสงครามล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยพรรคนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และสร้างโศกนาฎกรรมและรอยแผลที่ยากแก่การลบเลือนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ