การสถาปนารัฏฐาธิปัตย์
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งทางการเมือง
จำเป็นจะต้องมองประเด็นปัญหาให้ถูกต้อง เที่ยงตรงและชัดเจน
เพราะหากมองประเด็นปัญหาคลาดเคลื่อนหรือคลุมเครือ ก็จะส่งผลให้การตัดสินใจผิดพลาดไปด้วย สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจกับสถานการณ์การเมืองให้ชัดเจน
การสถาปนารัฎฐาธิปัตย์ของรัฐสมัยใหม่มีรูปแบบหลักอย่างน้อย
4
ประการคือ 1) การใช้กำลังอาวุธ 2) การใช้สิทธิพลเมืองก่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติอหิงสา 3) การผสมผสานระหว่างสิทธิพลเมืองกับพลังอำนาจทางทหาร
และ4) การใช้สิทธิเลือกตั้ง
รูปแบบแรก การสถาปนารัฐฎาธิปัตย์โดยใช้กำลังอาวุธมีสองประเภทหลักคือ
การรัฐประหารโดยกองทหารประจำการ กับ การปฏิวัติโดยกองกำลังประชาชนติดอาวุธ
การรัฐประหารมักเกิดขึ้นเมื่อมีความขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์และอำนาจภายในกลุ่มชนชั้นนำที่ปกครองประเทศ
โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างผู้นำรัฐบาลกับผู้นำกองทัพ เช่น ผู้นำรัฐบาลอาจเตรียมการปลดผู้นำกองทัพ แต่เกิดการรั่วไหลของข่าวสาร
จึงทำให้ผู้นำกองทัพช่วงชิงการกระทำก่อน โดยการยึดอำนาจล้มล้างรัฐบาล กรณีแบบนี้เกิดในประเทศไทยหลายครั้ง
ในยุคปัจจุบัน การรัฐประหารโดยกองทัพแต่เพียงหน่วยเดียวไม่เป็นที่ยอมรับทั้งจากนานาชาติและประชาชนภายในประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือ หากประเทศใดมีการสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ด้วยวิธีนี้
ประเทศตะวันตกก็จะประณาม งดการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทหาร และลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตลงไป
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศตะวันตกจะกำหนดท่าทีแบบมีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดต่อการรัฐประหารของแต่ละประเทศ บางครั้งประเทศตะวันอาจวางเฉยต่อการรัฐประหารก็ได้
หากผู้กระทำการรัฐประหารสามารถรักษาและตอบสนองประโยชน์แก่ประเทศตะวันตกเหล่านั้นได้
นั่นหมายความว่าท่าทีของประเทศตะวันตกต่อการรัฐประหารขึ้นอยู่กับการประเมินผลประโยชน์ที่พวกเขาได้รับจากการรัฐประหารนั่นเอง
สำหรับประชาชน ในอดีตไม่มีปฏิกิริยาใดมากนักต่อการรัฐประหาร บางครั้งประชาชนอาจสนับสนุนการรัฐประหาร
ด้วยเหตุผลที่ว่าคณะรัฐประหารขจัดรัฐบาลที่ประชาชนเห็นว่าทุจริตคอรัปชั่นออกไป แต่ในไม่ช้าประชาชนก็พบความจริงว่า
ผู้บริหารประเทศที่มาจากการรัฐประหารก็มีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างกันกับรัฐบาลเก่าที่ถูกขับไล่ออกไปมากนัก ระยะหลังประชาชนจึงไม่ไว้วางใจการรัฐประหารที่ทำโดยทหาร
และมีแนวโน้มต่อต้านมากขึ้น
สำหรับการปฏิวัติโดยกองกำลังประชาชนติดอาวุธ
มักเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ในหลายประเทศ เมื่อรัฐบาลมีพฤติกรรมการใช้อำนาจเยี่ยงทรราช
ประชาชนก็จะลุกขึ้นมาต่อสู้ ลักษณะของพฤติกรรมทรราชที่เด่นชัดคือ
การใช้อำนาจรัฐและอำนาจเถื่อนปราบปราม จับกุม
เข่นฆ่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล
จนกระทั่งประชาชนเกิดความรู้สึกไม่มีความมั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีวิต และมีการบริหารประเทศที่ทุจริต ฉ้อฉล โกงกิน ดูดกลืนทรัพยากรของสังคม
สร้างความร่ำรวย แก่กลุ่มเครือญาติและพวกพ้อง
จนสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันและความเป็นอยู่ด้านเศรษฐกิจของประชาชนในวงกว้าง
การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
บางประเทศประชาชนประสบชัยชนะ แต่บางประเทศประชาชนอาจพ่ายแพ้ ด้านระยะเวลาของการต่อสู้ บางประเทศใช้เวลายาวนาน
บางประเทศใช้เวลาสั้น
ส่วนท่าทีของประเทศตะวันตกต่อการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธของประชาชนมีความไม่แน่นอน
บางกรณีสนับสนุน บางกรณีก็คัดค้าน
ขึ้นอยู่กับการประเมินว่าฝ่ายใดจะตอบสนองประโยชน์ต่อตนเองมากกว่ากัน เช่น สหรัฐเมริกาไม่สนับสนุนขบวนการซาปาติสต้าในรัฐเชียปาสประเทศเม็กซิโก แต่สนับสนุนกองกำลังประชาชนในประเทศลิเบีย
เป็นต้น
รูปแบบที่สอง
การสถาปนารัฏฐาธิปัตย์โดยการใช้สิทธิพลเมืองก่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติอหิงสา
เป็นวิธีการที่ประชาชนใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ทุจริตฉ้อฉล ความสำเร็จของวิธีการนี้มีเงื่อนไขที่สำคัญ 2
ประการ คือ ประการแรก ผู้นำรัฐบาลที่ประชาชนขับไล่
ต้องมีความชั่วร้ายของจิตใจในระดับที่ไม่ถึงขั้นทรราช เมื่อประชาชนรวมตัวขับไล่ได้ระยะเวลาหนึ่ง รัฐบาลก็อาจใช้กำลังสลายประชาชนบ้าง
แต่อยู่ในขอบเขตที่จำกัด อาจมีผู้บาดเจ็บ ถูกจับกุม
หรือเสียชีวิตบ้างแต่จำนวนน้อย
แต่หากประชาชนยืนหยัดขับไล่อย่างต่อเนื่อง
ในที่สุดรัฐบาลก็ยอมลาออกไป และให้ประชาชนสถาปนารัฎฐาธิปัตย์ขึ้นมา สำหรับเงื่อนไขประการที่สองคือ
การมีลักษณะพิเศษเชิงอำนาจทางสังคมดำรงอยู่ และใช้อำนาจนั้นคลี่คลายความขัดแย้ง กรณีนี้เกิดขึ้นในบางประเทศที่มีประมุขของประเทศซึ่งมาจากรากฐานประเพณีดั้งเดิมของสังคมและบารมีสูง
เมื่อความขัดแย้งประมุขของประเทศก็เข้าไปคลี่คลายความขัดแย้ง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ
รูปแบบที่สาม
การสถาปนารัฎฐาธิปัตย์ที่มาจากการผสมผสานระหว่างการใช้สิทธิพลเมืองกับพลังอำนาจทางทหาร รูปแบบนี้เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยในยุคสมัยปัจจุบัน กระบวนเปลี่ยนแปลงเริ่มขึ้นจากการที่ประชาชนไม่อาจอดทนกับการบริหารประเทศเยี่ยงทรราชของผู้ปกครองได้
จึงได้ลุกขึ้นมาต่อต้าน และมีผู้คนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ประชาชนใช้แนวทางสันติอหิงสาเป็นหลักในการต่อสู้
ขณะที่ผู้ปกครองทรราชพยายามใช้ความรุนแรง โดยใช้กองกำลังตำรวจ ทหารรับจ้างจากต่างชาติ
และกลุ่มอันธพาลเพื่อปราบปรามประชาชน จนทำให้มีคนจำนวนมากถูกจับกุม
ถูกทำร้ายบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต
เมื่อรัฐบาลทรราชปราบปรามประชาชนจนถึงจุดหนึ่ง
ก็ทำให้กองกำลังทหารเกิดความตระหนักและสำนึกถึงพันธกิจที่มีต่อบ้านเมืองและประชาชน กองทัพจึงเลือกยืนข้างประชาชน
และเข้าดำเนินการช่วยเหลือประชาชนโดยขจัดรัฐบาลทรราชให้พ้นจากอำนาจโดยเร็ว
เงื่อนไขสำคัญของการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้คือกองทัพจะต้องมีนายทหารที่มีความเสียสละ
กล้าหาญ และยึดมั่นในผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นหลักอย่างแท้จริง
การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้จึงเป็นการปฏิวัติประชาชน
โดยการสนับสนุนของกองทัพ
หลังการเปลี่ยนแปลงมักเกิดการปฏิรูปประเทศกันอย่างขนานใหญ่ เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าต่อไป มีหลายประเทศที่เปลี่ยนแปลงโดยใช้รูปแบบนี้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มี
รูปแบบที่สี่ การสถาปนารัฎฐาธิปัตย์
โดยใช้การเลือกตั้งทั่วไป
รูปแบบนี้มีใช้ในหลายประเทศ เงื่อนไขสำคัญของรูปแบบนี้คือ
การมีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ
และการใช้สิทธิเลือกตั้งต้องเป็นเสรีและต้องลงคะแนนโดยลับ แต่หากประเทศใดที่มี “การเลือกตั้งจอมปลอม” เพราะระบบและกระบวนการเลือกตั้งถูกควบคุมโดยรัฐบาล
ไม่มีการแข่งขันอย่างเสรีระหว่างพรรคการเมือง มีการซื้อสิทธิขายเสียงทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการบีบบังคับ
และการลงคะแนนถูกตรวจสอบได้โดยหัวคะแนนหรือนักการเมือง รัฎฐาธิปัตย์ที่ได้มาย่อมขาดความชอบธรรม และมักถูกต่อต้านคัดค้านจากประชาชน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น