ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

กฎเกณฑ์และความปรารถนาของมนุษย์

กฎเกณฑ์และความปรารถนาของมนุษย์
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเป็นเรื่องปกติวิสัยของสังคมมนุษย์ เพราะในช่วงเวลาหนึ่งมนุษย์กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ตามความต้องการในขณะนั้น โดยใช้สติปัญญาพิเคราะห์ว่ากฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาจะสามารถตอบสนองความปรารถนาของพวกเขาได้มากน้อยเพียงใด
ครั้นเมื่อมนุษย์ได้นำกฎเกณฑ์ไปปฏิบัติ พวกเขาก็เผชิญกับประสบการณ์ที่หลากหลาย  กฎเกณฑ์บางอย่างมีสมรรถนะสูง สามารถทำให้ความปรารถนาของพวกเขาได้บรรลุเป้าหมาย  แต่กฎเกณฑ์บางอย่างกลับไร้ประสิทธิภาพและไม่เป็นไปตามความคาดหวัง   ยิ่งกว่านั้นกฎเกณฑ์บางอย่างกลับกลายเป็นอุปสรรคและไปทำลายความปรารถนาในตอนเริ่มต้นของพวกเขาเสียเอง
ความปรารถนาของมนุษย์มิได้มีความหยุดนิ่ง หากแต่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ความเปลี่ยนแปลงความปรารถนาอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความคิดและวิธีการมองความเป็นจริงของมนุษย์     หรืออาจเกิดจากแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกที่เป็นภววิสัย อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม  และปัจจัยภายนอกที่เป็นอัตวิสัยร่วมอันได้แก่ ความปรารถนาของผู้อื่นทั้งที่อยู่ใกล้ตัวและไกลตัว  
เมื่อพบว่ากฎเกณฑ์ที่พวกเขาสร้างขึ้นในตอนแรกไม่มีพลังความสามารถในการทำให้บรรลุทั้งความปรารถนาดั้งเดิมและความปรารถนาใหม่ที่ผุดขึ้นมา   มนุษย์บางพวกที่มีความคิดแบบสมเหตุสมผลก็มีแนวโน้มที่จะปรับปรุงแก้ไข และเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เดิมเสีย หรือบางทีก็ยกเลิกกฎเกณฑ์เดิมและสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาใช้แทน   
แต่ก็มีมนุษย์บางจำพวกยึดติดกับกฎเกณฑ์เดิมอย่างเหนียวแน่น  สร้างความเชื่อที่ทำให้กฎเกณฑ์เดิมกลายเป็นสิ่งศักดิ์ที่ใครแตะต้องไม่ได้   ทั้งที่กฎเกณฑ์เหล่านั้นไร้สมรรถนะอย่างสิ้นเชิงแล้วในการตอบสนองความปรารถนาของพวกเขาและกลุ่มทางสังคมที่พวกเขาสังกัด   ความยึดติดเยี่ยงนี้ย่อมนำไปสู่การถดถอย และยิ่งทำให้ให้ความปรารถนาของพวกเขายากแก่การบรรลุยิ่งขึ้น
ที่กล่าวมาก็เพื่อจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เป็นเรื่องปกติของสังคมมนุษย์  มีอยู่ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ และจะมีต่อไปในอนาคตตราบเท่าที่มนุษย์ยังดำรงอยู่
              ย้อนกลับมาดูการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้โดยคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจที่บริหารสังคมในปัจจุบัน ลงมติเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 รวม 7 ประเด็น   พวกเขามีความปรารถนาอะไรกันบ้าง ลองมาพิจารณาทีละประเด็น 
             ประเด็นแรกแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิก สนช. จากที่ห้ามผู้เคยถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งให้เป็นผู้ที่ไม่อยู่ระหว่างการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 
การแก้กฎเกณฑ์ในข้อนี้แสดงให้เห็นว่าความปรารถนาของผู้บริหารประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ประสงค์จำกัดกลุ่มบุคคลบางกลุ่มในการเข้าร่วมแวดวงการบริหารประเทศ เป็นการขยายออกให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทำให้บุคคลบางคนที่เคยติดขัดปัญหาว่าเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าบริหารประเทศได้  นัยที่แฝงอยู่คือความต้องการนำบุคคลที่เคยถูกเพิกสิทธิเข้าร่วมวงในการบริหารประเทศนั่นเอง 
           ประเด็นที่สองแก้ไขเพิ่มเติมให้บุคคลผู้เข้ารับตำแหน่งถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อองค์รัชทายาทตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ประเด็นนี้เป็นการแก้ไขตามเงื่อนไขความเป็นจริงตามสภาวะสุขภาพขององค์พระประมุขประเทศ  
         ประเด็นที่สาม  ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาและลงมติเห็นชอบขยายเวลาการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ไม่เกิน 30 วัน  ประเด็นนี้แก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะว่ามีการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนับร้อยประเด็น ซึ่งอาจทำให้คณะกรรมาธิการต้องใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น
       ประเด็นที่สี่  สำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจาก สปช.แล้ว ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำส่งให้ กกต.จัดออกเสียงประชามติ โดยออกประกาศกำหนดทั้งเงื่อนไขและกรอบเวลาผ่านการพิจารณาของ สนช.  
ประเด็นนี้เป็นการตอบสนองความปรารถนาของกลุ่มทางสังคมที่ต้องการให้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญ   แต่การแก้ไขประเด็นนี้อาจไม่ค่อยสมเหตุสมผลมากนัก เพราะการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาซับซ้อน สับสนยากแก่ความเข้าใจ และขัดแย้งกันเอง ย่อมไม่นำไปสู่การการสร้างผลลัพธ์ที่ดีแก่สังคมได้  
ประเด็นที่ห้า คำถามของประชามติ นอกจากคำถามเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้มีคำถามจากมติของ สปช.และ สนช. สภาละ 1 คำถาม  และกำหนดให้จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกจ่ายอย่างน้อย ร้อยละ 80 ของครัวเรือน    
การแก้ประเด็นนี้เป็นการตอบสนองความปรารถนาของสังคม เพื่อให้มีการกำหนดคำถามที่เชื่อมโยงกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  หากประชาชนส่วนใหญ่ลงมติเห็นชอบให้พลเอกประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศก่อนให้มีการเลือกตั้งใหม่   ก็จะทำให้พลเอกประยุทธ์มีความชอบธรรม และสามารถอ้างกับต่างชาติได้ว่าเป็นประชาธิปไตยและประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน
             ประเด็นที่หก  เมื่อ สปช.ลงมติร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้ถือว่าสิ้นสุดหน้าที่ลง โดยกำหนดให้ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศรวม 200 คน จากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีหน้าที่เสนอแนวทางการปฏิรูป แต่ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ   เรื่องนี้ในตอนแรกปรารถนาให้ สปช.ทำหน้าที่ต่อไปในระยะหนึ่ง  แต่เปลี่ยนความคิดเป็นให้ยุบสปช.ทันทีที่ลงมติร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น
การเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้ครองอำนาจในเรื่องนี้อาจมาจาก 2 สาเหตุที่อาจจะขัดแย้งกันเอง   สาเหตุแรกคือ ผู้ครองอำนาจประเมินว่า สปช.ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่มีสมรรถนะในการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศได้  มีไว้ก็ไร้ประโยชน์และสิ้นเปลืองงบประมาณของชาติ จึงยุบไปเสีย   ส่วนสาเหตุที่สองคือ ผู้ครองอำนาจประเมินว่า พวกเขามิอาจควบคุม สปช. บางคนและบางกลุ่มให้อยู่ในกรอบหรือเส้นทางที่พวกเขาขีดเอาไว้ ครั้นจะปลด สปช.เหล่านั้นก็ดูน่าเกลียดเกินไป จึงต้องหันมาใช้วิธีการแบบปลดทั้งหมด แล้วค่อยตั้งใหม่ขึ้นมา  
องค์การที่จัดตั้งขึ้นใหม่แทน สปช. เรียกว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว  ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่กับผลลัพธ์การทำงานของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในอนาคต  
             ประเด็นที่เจ็ด หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบและเป็นเหตุให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ สิ้นสุดลงแล้ว ให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรวม 21 คน โดยมีประธาน 1 คน และกรรมการ 20 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนจัดให้มีการออกเสียงประชามติ
ประเด็นนี้เป็นการแก้ไขเพื่อเตรียมไว้สำหรับกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ  แต่ก็ยังไม่เตรียมเผื่อเอาไว้ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่สองไม่ผ่านประชามติอีก  เป็นไปได้ว่าคณะผู้ครองอำนาจประเมินว่าโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านครั้งที่สองคงมีน้อย  แต่หากถึงเวลานั้นเมื่อมีเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงหรือมีความปรารถนาใหม่เกิดขึ้น ก็อาจมีการแก้ไขกฎเกณฑ์อีกครั้งหนึ่งก็ได้

มนุษย์สร้างกฎเกณฑ์และเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ตามความปรารถนาและเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  แต่กฎเกณฑ์ใหม่ก็เหมือนกับกฎเกณฑ์เก่า คือต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการนำไปปฏิบัติจริง และอาจจะถูกเปลี่ยนแปลงและแทนที่ด้วยกฎเกณฑ์ที่ใหม่กว่าอยู่เสมอ  ซึ่งเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์นั่นเอง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ