ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พื้นที่อันว่างเปล่าของประชาธิปไตย

พื้นที่อันว่างเปล่าของประชาธิปไตย

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
          ประชาธิปไตยเป็นวาทกรรมหลักทางการเมืองของโลกยุคสมัยใหม่  เป็นลัทธิการเมืองที่ถูกทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิ่งที่ควรบูชา โดยใช้มีฐานค้ำยันอันสำคัญที่เรียกว่า “ประชาชน”  แต่ทว่าคำว่าประชาชนเป็นคำที่มีนามธรรมสูงและไม่อาจระบุอย่างเฉพาะเจาะจงเหมือนกลุ่มอื่นๆในสังคมได้ ด้วยเหตุนี้ “ประชาชน” จึงเป็นพื้นที่อันว่างเปล่า ที่แต่ละกลุ่มในสังคมต่างเข้าไปช่วงชิงและใช้ประโยชน์เพื่อตนเอง
          ความเชื่อหลักของลัทธิประชาธิปไตยที่มักมีการอ้างว่าดีกว่าลัทธิการเมืองแบบอื่นๆคือ การใช้อำนาจการเมืองในการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติถูกกำหนดโดยตรงจากเสียงของประชาชน  และเชื่อว่าเมื่อผู้ใช้อำนาจการเมืองหรือรัฐบาลมาจากประชาชนแล้ว จะใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งมวลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
          ในสายตาของอริสโตเติล ประชาธิปไตยอาจเป็นที่ยอมรับได้ตราบเท่าที่รัฐบาลยังยึดหลักนิติธรรมในการปกครองสังคม  อย่างไรก็ตาม การปกครองโดยคนหมู่มากที่ไร้การควบคุมและตรวจสอบไม่แตกต่างจากการปกครองโดยทรราชแม้แต่น้อย   การปกครองโดยคำสั่งและการใช้อำนาจไม่เหมาะสมสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในกลุ่มชนชั้นสูงและสามัญชนที่เป็นรัฐบาล      ทั้งสองกลุ่มสามารถแสวงหาผลประโยชน์และอภิสิทธิ์ทางการเมืองได้พอๆกันโดยอ้างหลักการประชาธิปไตย   อำนาจที่ไร้การตรวจสอบจึงทำให้ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถเล่นเกมการเมืองและปั่นกระแสความคิดเห็นของคนในสังคมได้อย่างง่ายดาย
          สังคมไทยช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่ดีของ “ระบอบประชาธิปไตยที่ไร้การตรวจสอบ” ภายใต้ระบอบทักษิณ  การกำหนดนโยบาย คำสั่ง และการใช้อำนาจในทางที่ผิดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างต่อเนื่องจนเป็นแบบแผนการปฏิบัติทางการเมือง    การปั่นความคิดผู้คนเพื่อสร้างกระแสนิยมเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นและเป็นระบบ โดยอาศัยสื่อมวลชน หน่วยงานราชการ และกลไกหัวคะแนนอันเป็นเครื่องจักรทางการเมืองซึ่งดำเนินงานภายใต้เครือข่ายระบบอุปถัมภ์ในพื้นที่เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ
          หลักการประชาธิปไตยกลายเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจกดขี่และฉ้อฉล ความไร้ประสิทธิผลและความหายนะจึงเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  หากพิจารณาข้อมูลเชิงประจักษ์และประสบการณ์ที่ผ่านมาของประชาธิปไตยในสังคมไทยพบว่า มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความมืดดำของสังคมหลายเรื่อง เช่น การทุจริตประพฤติมิชอบ การเสียชีวิตของประชาชน  การก่อการร้าย  ความขัดแย้งที่รุนแรง  ความเสื่อมทรามของวัฒนธรรมและศีลธรรม  การทรยศต่อชาติ  และความไร้เหตุผล
          ประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบการปกครองที่มีความเสี่ยงและนำไปสู่สถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสังคมไม่น้อย   ความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการถูกทำให้กลายเป็นการปกครองที่อยู่ภายใต้การปลุกระดมของนักฉวยโอกาสทางการเมืองผู้อาศัยวาทศิลป์เป็นใบเบิกทางสู่อำนาจ
          นักปรัชญาการเมืองผู้เรืองนามอย่างอเล็กซิส เดอ ต็อกเกอะวิลล์ ตั้งข้อสังเกตอยู่บ่อยครั้งว่า หลักการ “เสียงส่วนใหญ่”ของระบอบประชาธิปไตยมีลักษณะเหมือนกับระบอบอภิชนาธิปไตยหรือการปกครองโดยคนชั้นสูง   กล่าวอีกนัยหนึ่งคือทั้งสองระบอบมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ปกครองประเทศเหมือนกัน ระบอบหนึ่ง (ประชาธิปไตย) มี “เสียงส่วนใหญ่”  เป็นผู้ปกครอง ขณะที่อีกระบอบหนึ่ง (อภิชนาธิปไตย) มี “กลุ่มชนชั้นสูง”  เป็นผู้ปกครอง
           สิ่งที่แตกต่างคือระบอบอภิชนาธิปไตยประกอบด้วยบุคคลที่เป็นจริงซึ่งสามารถระบุตัวตนได้ชัดเจนว่ามีใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มนี้    แต่ระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่อันมีนัยว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งมวล  ทว่าคำว่า “ประชาชน” มีความเป็น “นามธรรม” สูงยิ่งและสูงกว่าคำว่า “เสียงส่วนใหญ่” ด้วยซ้ำไป  และไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าประชาชนประกอบด้วยใครบ้าง เพราะคนที่ทำหน้าที่ปกครองหรือคนที่ไม่ได้ทำหน้าที่ปกครองต่างก็เป็นประชาชนเหมือนกัน  ในแง่นี้ประชาชนจึงเป็นทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง  เป็นทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่  สิ่งใดที่ไม่อาจแยกแยะความแตกต่างได้จากสิ่งอื่น สิ่งนั้นย่อมมีปัญหาของการดำรงอยู่
          นักคิดอย่าง โจเซฟ ชุมปีเตอร์ได้ชี้ว่า ประชาชนในฐานะที่เป็นประชาชนทั้งมวลมิได้ปกครอง มิได้แสดงออกความคิดเห็น มิได้ปฏิบัติการทางนโยบายและการเมือง และมิได้รับผลสืบเนื่องจากการตัดสินใจทางการเมืองโดยตรง ดังที่กลุ่มชนชั้นสูงหรือกษัตริย์อันเป็นผู้ปกครองได้ทำและได้รับ  ด้วยปรากฏการณ์ดั่งนี้เอง  จุดศูนย์กลางของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยคือ “ความว่างเปล่าจากประชาชนตัวเป็นๆ” หรือ เป็น    ”พื้นที่ว่างเปล่า”ที่มีกลุ่มบุคคลหนึ่งเข้าไปสวมแทน ซึ่งบุคคลเหล่านั้นอาจถูกแต่งตั้งหรืออาจตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นผู้แทนของประชาชนก็ได้
          ประชาชนที่เป็นนามธรรมหรือสภาวะพื้นที่อันว่างเปล่านี้ ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสและความเป็นไปได้แก่นักปลุกระดมซึ่งเป็นนักการเมืองที่อาศัยประชานิยมขึ้นสู่อำนาจเท่านั้น  ยังเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นเครื่องมือในการบังหน้าหรือเป็นเสื้อคลุมให้แก่การปกครองแบบ “อำนาจนิยม”ของพวกเขาอีกด้วย 
          แนวความคิดเกี่ยวกับ “ประชาชน”   จึงเป็นความคิดที่ปราศจากแก่นแท้และไร้เสถียรภาพ   ลักษณะที่ปราศจากแก่นแท้คือ เพราะไม่อาจจะระบุได้ว่ามีความครอบคลุมปัจเจกบุคคลใดบ้างที่เป็นการเฉพาะเจาะจง ดังนั้นนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยซึ่งประกาศว่า “เป็นตัวแทนประชาชน” อันที่จริงแล้ว เขาเป็นตัวแทนใครกันแน่ 
             บางคนอาจพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นตัวแทนกลุ่มที่เลือกเขามา   แต่เกือบทั้งหมดมิได้พูดเช่นนั้น  สิ่งที่นักการเมืองพูดเสมออย่างซ้ำซากคือ พวกเขาเป็นตัวแทนประชาชน   ซึ่งหมายความว่าพวกเขาได้เอาตัวเองเข้าไปสวมพื้นที่อันว่างเปล่า เพราะระบอบประชาธิปไตยเชื่อว่าพื้นที่อันว่างเปล่านี้เป็นรากฐานอำนาจการเมืองที่สำคัญนั่นเอง
          ในขณะเดียวกันสาธารณะมีความรังเกียจความว่างเปล่า และมีแนวโน้มที่จะผูกโยงพื้นที่ของประชาธิปไตยกับประชาชนที่สามารถระบุตัวตนได้  สิ่งนี้จึงเป็นการอธิบายประการหนึ่งสำหรับการให้ความสนใจอย่างล้นเกินกับการอุทิศชีวิตของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของบางประเทศ ด้วยเหตุที่พวกเขาถูกรับรู้และคาดหวังว่าต้องกระทำและตัดสินใจทางการเมืองให้เป็นหนึ่งเดียวกับเจตจำนงของประชาชนนั่นเอง   แต่ทว่าเจตจำนงของประชาชนที่พวกเขาอ้างต่อสาธารณะนั้น โดยเนื้อแท้คือเจตจำนงของพวกเขานั่นเอง  
          นักปลุกระดมหรือนักฉวยโอกาสทางการเมืองมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่งในการฉวยประโยชน์จากแบบแผนเช่นนี้ของประชาธิปไตย  พวกเขาท่องว่า “ประชาชน” เสมือนหนึ่งคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ของพ่อมดหมอผีเพื่อใช้เป็นหนทางในการเข้าสู่อำนาจการเมือง และใช้ป้องกันการตรวจสอบจากสาธารณะ  
          ขณะเดียวกันนักการเมืองบางกลุ่มที่มีภาวะจิตแบบอำนาจนิยม และมีพฤติกรรมแบบนักอำนาจนิยมก็ใช้ “ประชาชน” เป็นยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การปกครองแบบอำนาจนิยมของพวกเขา ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกนั่นเอง
         


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั