ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง


การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด      ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง

ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้
๑.      ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวันไข่ที่ถูกผสมก็จะฝังตัวของมันเองในผนังมดลูก
๒.    ภายในสัปดาห์ที่สาม ตัวอ่อนก่อกำเนิดยาวประมาณสองมิลลิเมตรและเริ่มพัฒนาในหลายส่วน แต่หากมองด้วยสายตาจะคล้ายกับหนอนเล็กๆ
๓.     เมื่อครบสี่สัปดาห์ ตัวอ่อนจะโตขึ้นไปถึงห้ามิลลิเมตรหรือหนึ่งในห้านิ้ว  หัวใจที่คล้ายๆหลอดเริ่มต้นเต้นเป็นจังหวะ  มันดูคล้ายๆเหงือกปลาเป็นรูปโค้ง  มีส่วนที่ดูคล้ายหาง และรูปร่างดูเหมือนกิ้งก่า หรือลูกอ๊อด
๔.     เมื่อถึงสัปดาห์ที่ห้า เริ่มเห็นและสามารถแยกแยะส่วนต่างๆของสมอง รวมทั้งมีการพัฒนาตาและมีการปรากฎของตุ่มที่จะกลายเป็นแขนและขา
๕.     ในสัปดาห์ที่หก ตัวอ่อนจะมีความยาว ๑๓ มิลลิเมตร  มีตาอยู่ที่ด้านข้างของศีรษะ เช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ  และหน้าที่ดูเหมือนสัตว์เลื้อยคลานมีการเชื่อมต่อ ซึ่งจะพัฒนาเป็นปากและจมูกต่อไป
๖.      ในสัปดาห์ที่เจ็ด หางจะหายไปเกือบหมด  และสามารถมองเห็นลักษณะทางเพศของตัวอ่อนได้ หน้าตาเริ่มเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแต่ค่อนข้างคล้ายกับสุกร
๗.     เมื่อครบแปดสัปดาห์  หน้าดูเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ยืนสองขา  แต่ยังคงไม่คล้ายมนุษย์  สมองมีการพัฒนามากขึ้น และตัวอ่อนเริ่มแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ละเอียดอ่อน
๘.     ภายในสัปดาห์ที่สิบ  หน้าตาของตัวอ่อนแสดงถึงความเป็นมนุษย์ และเริ่มต้นสามารถแยกแยะได้ว่าตัวอ่อนเป็นเพศชายหรือหญิง
๙.      ภายในสัปดาห์ที่สิบหก (๔ เดือน)  เราสามารถแยกหน้าของตัวอ่อนตัวหนึ่งออกจากอีกตัวหนึ่งได้ หรือดูออกแล้วว่าตัวอ่อนหน้าตาเป็นแบบใดและแตกต่างจากตัวอ่อนอื่นๆตรงไหนบ้าง  มารดาสามารถรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของตัวอ่อนในเดือนที่ห้า   ส่วนปอดของตัวอ่อนเริ่มต้นพัฒนาในเดือนที่หก  และกิจกรรมทางสมองของตัวอ่อนที่รู้ได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์เริ่มในกลางเดือนที่เจ็ด
๑๐.  คลื่นสมองที่มีแบบแผนเดียวกับกับมนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่ทั่วๆไป ปรากฏขึ้นภายในสัปดาห์ที่สามสิบ (ประมาณเจ็ดเดือนครึ่ง)  แต่ยังไม่สามารถคิดได้

ประเด็นสำคัญคือในบรรดาขั้นตอนเหล่านี้ ขั้นตอนใดที่เรายอมรับว่าตัวอ่อนคือชีวิตมนุษย์  ทุกขั้นตอนมีความสำคัญ  และยิ่งมีการพัฒนาตัวอ่อนก็มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น  ดังนั้นแม้แต่ผู้ที่สนับสนุนการทำแท้งก็ยังระบุว่า หากต้องทำแท้งก็ควรทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้  เพราะในขั้นตอนการพัฒนาระยะแรกนั้นบุคคลเหล่านี้อาจยังมีข้ออ้างได้ว่า ตัวอ่อนในช่วงเดือนหรือสองเดือนแรกยังมีความห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ ซึ่งเป็นข้ออ้างในเชิงปกป้องมโนสำนึกของตนเอง เพราะว่าแท้จริงแล้วในทุกขั้นตอนตัวอ่อนมีศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ดำรงอยู่

การทำแท้งนั้นเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนานมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน แต่ละฝ่ายต่างก็มีเหตุผลด้วยกันทั้งสิ้น   สำหรับกลุ่มที่สนับสนุนการทำแท้งมีเหตุผลดังต่อไปนี้

ตัวอ่อนยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นมนุษย์ ชีวิตมนุษย์ควรนับตั้งแต่วันที่มีการเกิดออกมาจากครรภ์มารดา   และเด็กที่พ่อแม่ไม่ต้องการไม่ควรให้กำเนิดออกมาเพราะจะสร้างปัญหาสังคมในอนาคตอย่างมากมาย อันอาจจะกระทบต่อชีวิตผู้อื่นด้วย  และการรับทารกซึ่งพ่อแม่ไม่ต้องการโดยการเป็นบุตรบุญธรรมก็มิใช่เป็นการแก้ปัญหา

กลุ่มนี้ยังยืนยันอีกด้วยว่า การทำแท้งในปัจจุบันไม่มีความเสี่ยงทางการแพทย์   ขณะที่ปัญหาทางการแพทย์และจิตวิทยาจะเกิดขึ้นกับสตรีที่ปล่อยให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปมากกว่าสตรีที่ตัดสินใจทำแท้ง ยิ่งเป็นการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืน ปัญหาทางจิตใจของสตรีผู้นั้นยิ่งมีมากขึ้น   ดังนั้นการทำแท้งจึงเป็นการช่วยเหลือให้สตรีเหล่านั้นหลุดพื้นจากความทุกข์และความทรงจำที่เจ็บปวดได้เป็นอย่างมาก

กลุ่มสนับสนุนการทำแท้งยอมรับว่าผู้หญิงควรมีความรับผิดชอบในกิจกรรมทางเพศของตนเอง และเมื่อถึงคราวจำเป็น การทำแท้งก็เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบนี้   อีกทั้งการตัดสินใจทำแท้งเป็นสิทธิในการเลือกของผู้หญิงว่าจะทำแท้งหรือไม่ทำ ไม่ว่าใครก็ไม่ควรเข้าไปแทรกแซง

ด้านกลุ่มที่คัดค้านการทำแท้งมีเหตุผลหลายประการ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
ประการแรก  ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่มีการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับไข่  ยิ่งกว่านั้นในความเชื่อทางศาสนาชีวิตมนุษย์มิใช่เป็นเพียงแต่เรื่องทางกายภาพเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทางจิตวิญญาณอีกด้วย  ดังในประเทศไทยที่มีความเชื่อว่าทารกที่ถูกทำแท้งมิอาจเผาได้ เพราะถือว่าเป็นวิญญาณบริสุทธิ์ที่มิเคยกระทำบาปใดๆมาก่อน
ประการที่สอง ทุกชีวิตมีสิทธิอย่างสัมบูรณ์ในการดำรงชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของทารกที่ยังไม่กำเนิดและยังมีความบริสุทธิ์ ก็ควรจะมีสิทธิในชีวิตเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ที่เกิดมาแล้วทุกคน ไม่ว่าใครก็ตามแม้จะเป็นมารดาก็ไม่มีสิทธิในการทำลายชีวิตเหล่านั้น
ประการที่สาม การทำแท้งเป็นกิจกรรมที่เป็นอันตรายทั้งต่อมารดาและทารก   ขณะที่อันตรายของการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรในโลกยุคปัจจุบันมีน้อยเป็นอย่างยิ่งเพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์
ประการที่สี่ เด็กที่เกิดออกมาหากไม่เป็นที่ต้องการของพ่อแม่  รัฐจักต้องเป็นผู้ดูแลและพยายามจัดหาบิดาและมารดาบุญธรรมให้  หรืออาจจัดตั้งสถาบันหรือองค์การที่ดูแลเด็กเหล่านี้ให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และหากรัฐมีปัญหาเรื่องการเงินก็แก้ได้ไม่ยาก เช่นอาจนำเงินจากการบริจาคของวัดต่างๆมาใช้ในการนี้ หรืออาจมาจากการเก็บภาษีสุราซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการกระตุ้นให้มีเพศสัมพันธ์ในช่วงวัยรุ่น หรืออาจเก็บเงินจากภาษีแหล่งบันเทิงเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ประการที่ห้า ผู้หญิงต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่สำหรับกิจกรรมทางเพศ และเมื่อกิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดการตั้งครรภ์  ชีวิตบริสุทธิ์ของทารกไม่สามารถใช้เป็นสิ่งบูชายันต์เพียงเพราะความไม่ระมัดระวังและความรักสนุกของผู้หญิงได้
ประการที่หก การข่มขืนหรือการร่วมประเวณีทางสายเลือด ก็มิใช่เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมในการอ้างสำหรับการทำลายชีวิตที่บริสุทธิ์ของทารก

สำหรับในสังคมไทยปัจจุบันในทางกฎหมายยอมให้มีการทำแท้งได้หากการตั้งครรภ์นั้นเกิดจากถูกข่มขืนหรือเมื่อการตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมารดา แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ โดยความยินยอมของสตรีที่ตั้งครรภ์

ร่างที่ไร้วิญญาณซุกอยู่ในถุงพลาสติกในโกดังของวัด ไร้แผ่นดินจะกลบฝัง  ไร้เปลวเพลิงแผดเผา จำนวนมากนับพันที่ปรากฏออกมาให้สังคมได้รับรู้   ราวกับว่าพวกเขาได้ส่งสัญญาณบ่งบอกผู้คนในสังคมให้ตื่นขึ้นมาและตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจักต้องพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพื่อหาทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำแท้งที่นับวันจะมีมากขึ้น

ทางออกจะเป็นอย่างไรนั้น   ในขั้นแรกควรจะเริ่มจากการยอมรับความเป็นจริง และใช้การสานเสวนาในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและเป็นไปได้ในการปฏิบัติ เรื่องนี้ควรทำอย่างเร่งด่วน  การดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังนับเป็นการสร้างกุศลให้กับประเทศ เพราะเท่ากับเป็นการช่วยชีวิตทารกที่บริสุทธิ์ให้มีชีวิตและเติบโตต่อไป



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์

พหุวัฒนธรรมนิยม สิทธิชนกลุ่มน้อยและความสมานฉันท์          พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากความขัดแย้งของสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เรื่องเชื้อชาติและศาสนาในสามจังหวัดภาคใต้  และปัญหาแรงงานอพยพที่นับวันจะมีมากขึ้น ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องนำเสนอความคิดทางสังคมการเมืองซึ่งอาจนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อทำให้สังคมลดความขัดแย้ง  สร้างการบูรณาการ และความสมานฉันท์อย่างเป็นระบบขึ้นมา   เนื่องจากแนวความคิดนี้มีความยาวและต้องทำความเข้าใจในหลายมิติ ผู้เขียนพยามยามนำเสนอให้ง่ายต่อการอ่านและการเข้าใจ          พหุวัฒนธรรมนิยม ( multiculturalism) เป็นแนวคิดคู่แข่งทางวิชาการและนโยบายของลัทธิชาตินิยม ( nationalism)      นักวิชาการเริ่มใช้คำนี้ประมาณทศวรรษ 1960  เพื่ออธิบายนโยบายสาธารณะใหม่ ในประเทศแคนาดา ต่อมาขยายไปสู่ประเทศออสเตรเลีย  การพัฒนาการของแนวคิดนี้เป็นการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม ( assimilation) ไปสู่นโยบายสังคมพหุวัฒนธรรม นโยบายผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมทำให้วัฒ