ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

แบบแผนความคิดที่สร้างปัญหาแก่การเมืองไทย


แบบแผนความคิดที่สร้างปัญหาแก่การเมืองไทย
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

มนุษย์จำนวนไม่น้อยที่ใช้ผลของการกระทำในอดีตมาเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยปัญหาและลงมือปฏิบัติในปัจจุบัน   เมื่อมนุษย์คิดและกระทำสิ่งใดหลายครั้งหลายหน ก็เกิดเป็นความเคยชิน และมีแนวโน้มใช้แบบแผนความคิดและการปฏิบัติตามที่เคยใช้มาต่อไปอย่างสม่ำเสมอ
แบบแผนความคิดและการกระทำแบบเดิมของมนุษย์หลายเรื่องเป็นสิ่งที่เหมาะสม ใช้แล้วได้ผลในทางที่ทำให้สังคมมีเสถียรภาพ  มีความสงบสุข มีความรุ่งเรือง และส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญาของผู้คน  แต่ก็มีแบบแผนความคิดและการกระทำแบบเดิมหลายประการที่เป็นปัญหาและนำพาสังคมไปสู่ความเสื่อมถอย เช่น การทุจริตซื้อขายเสียง  การทุจริตในการบริหารราชการ การบริโภคนิยม  การหาเสียงแบบประชานิยม เป็นต้น
โศกนาฏกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยคือ มีผู้คนจำนวนมากทั้งที่ทราบว่าความคิดและการกระทำบางอย่างเป็นปัญหาสร้างความไม่เป็นธรรม ทำลายชีวิตของผู้คน และคุณภาพสังคม รวมไปถึงการสร้างความขัดแย้งทางสังคมอย่างรุนแรง  แต่ก็ยังคงดำเนินการปฏิบัติโดยใช้แบบแผนนั้นอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว
กรณีการทุจริตซื้อขายเสียง  ผมคิดว่าคนที่มีสามัญสำนึกปกติทั่วไปย่อมทราบว่าเป็นการกระทำที่สร้างปัญหาแก่สังคมไทยอย่างเหลือคณานับ  แต่ในการเลือกตั้งของประเทศไทยทุกครั้งก็ยังมีการทุจริตซื้อขายเสียงปรากฏให้เห็น ราวกับว่าการซื้อขายเสียงเป็นเรื่องธรรมชาติของการเลือกตั้ง  ทั้งที่เรื่องนี้เป็นการก่อเกิดกำเนิดขึ้นมาโดยมนุษย์ธรรมดาที่เป็นนักเลือกตั้งผู้เป็นนายหน้าค้าอำนาจทั้งหลายเท่านั้นเอง 
นักค้าอำนาจใช้ความไม่ประสีประสาในเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชน  การไม่ตระหนักรู้ในความสำคัญของสิทธิทางการเมือง  ความยากจน   ความอยากได้ผลประโยชน์เฉพาะหน้าอย่างง่ายๆโดยไม่ต้องลงมือลงแรงในการทำงานให้เหนื่อยยาก  ความเกรงอกเกรงใจ  และความสิ้นหวังของประชาชนที่มีต่อการเมือง  เป็นเงื่อนไขในการสร้างการทุจริตซื้อขายเสียงและหล่อเลี้ยงให้ระบบนี้คงอยู่อย่างยาวนาน  จนกลายเป็นแบบแผนว่า “เมื่อไรที่มีการเลือกตั้ง เมื่อนั้นต้องมีการซื้อขายเสียง”
การเลือกตั้งกับการซื้อขายเสียงจึงกลายเป็นปรากฎการณ์ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้  ปรากฎการณ์นี้หาใช่ดำรงอยู่แต่ในเฉพาะอาณาบริเวณของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ประการใด  แต่กลับแพร่ขยายออกไปในทั่วทุกวงการที่มีการเลือกตั้ง เช่น การเลือกตั้งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยบางแห่ง  การเลือกตั้งในสมาคมวิชาชีพบางสมาคม และการเลือกตั้งคณะกรรมการของศาสนาบางศาสนา เป็นต้น
การแพร่ขยายของการซื้อขายเสียงไปสู่วงการต่างๆทั้งที่บริบทของวงการนั้นแตกต่างจากชาวบ้านทั่วไป ย่อมเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงพลังอำนาจของการซื้อขายเสียงได้เป็นอย่างดีว่ามีมากมายเพียงใด  และย่อมเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นว่าบริบทของสังคมไทยนั้นเอื้ออำนวยต่อการซื้อขายเสียงในแทบทุกระดับ
เงื่อนไขร่วมที่ทำให้โรคซื้อเสียงแพร่ระบาดมีสี่ประการคือ
 1) ผู้แพร่เชื้อหรือผู้ค้าอำนาจ มีอยู่ในทุกวงการ  ผู้ค้าอำนาจแต่ละคนทราบเป็นอย่างดีว่าเมื่อได้อำนาจมาจะสามารถใช้อำนาจหน้าที่สร้างความมั่งคั่ง อิทธิพล และสิทธิประโยชน์ได้มากเพียงใด พวกเขาจึงมีความปรารถนาอย่างรุนแรงในการซื้ออำนาจมาครอบครอง นักค้าอำนาจไม่เคยสนใจเรื่องสิทธิ เสรีภาพ หรือหลักประชาธิปไตยใดๆ  ไม่เคยสนใจด้วยซ้ำว่าประชาชนต้องการอะไร   พวกเขาดูถูกประชาชนผู้เลือกตั้งที่พวกเขาซื้อได้ทุกคน  ประชาชนจึงมีความหมายเท่ากับ “วัตถุสิ่งของที่ซื้อมาแล้ว ทำให้พวกเขามีอำนาจขึ้นมา”   สิ่งนี้คือความคิดเบื้องลึกที่อยู่ภายในจิตใต้สำนึกของนักค้าอำนาจซึ่งสะท้อนออกมาจากการแสดงพฤติกรรมที่เป็นแบบ “เด็กเกเรที่ไร้วุฒิภาวะ” ของพวกเขานั่นเอง
  2) ความอ่อนแอของผู้ถืออำนาจอธิปไตย    ประชาชนทุกคนเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตย บางคนก็ตระหนักรู้ความสำคัญของอำนาจนี้จึงไม่ยอมขายแม้ผู้ค้าอำนาจจะเสนอมาเท่าไรก็ตาม    แต่บางคนขาดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของอำนาจที่ตนเองครอบครองอยู่  ผนวกกับความอยากได้ผลประโยชน์อย่างง่ายๆโดยไม่ต้องลงแรง  จึงขายมันไปด้วยราคาถูกๆเพียงไม่กี่ร้อยบาท    เมื่อไรก็ตามที่ผู้ถืออำนาจอธิปไตยอ่อนแอเมื่อนั้นโรคซื้อเสียงก็จะเข้าสู่โจมทำร้ายทันที        การทำให้ผู้ถืออำนาจอธิปไตยมีความเข้มแข็งโดยการสร้างความตระหนักรู้และการยึดมั่นในผลประโยชน์ของประเทศชาติ จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้โรคซื้อเสียงเข้ามาทำลายได้
3) บริบทสังคม  สังคมไทยมีความเกรงอกเกรงใจ ให้ความสำคัญกับผู้ที่เป็นพรรคพวก มากกว่าหลักการที่ใช้เป็นกติกาของสังคม  ผนวกกับความรู้สึกร่วมที่ว่าใครก็ขายเสียงกันเป็นเรื่องปกติ แล้วเราจะเป็นคนขวางโลกอยู่ทำไม  ผสมโรงขายมันไปด้วยจะดีกว่า     ด้วยการมีบริบทเช่นนี้จึงเอื้อให้โรคซื้อขายเสียงแพร่ระบาดออกไปอย่างรวดเร็วและครอบคลุมไปทั่วทุกปริมณฑลของสังคม   ยกเว้นในบางชุมชนที่มีบริบทของสังคมต่างออกไปโดยชุมชนมีความเข้มแข็ง ตระหนักว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด  ชุมชนแบบนี้โรคซื้อเสียงไม่อาจเข้าไปได้
   4) ความไร้น้ำยาขององค์การที่จัดการ ดูแล และตรวจสอบการเลือกตั้ง   องค์การที่ดูแลการเลือกตั้งหรือคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต. ) เป็นเสมือนหมอผู้รักษาโรคซื้อขายเสียงและโรคทุจริตเลือกตั้งอื่นๆ   แต่ กกต. กลับขาดองค์ความรู้อย่างเพียงพอเกี่ยวกับปรากฎการณ์ของการทุจริตเลือกตั้ง  จึงทำให้การวินิจฉัยโรคผิดพลาด ป้องกันก็ไม่ได้ผล  รักษาก็ไม่เป็น  ปล่อยให้โรคนี้ระบาดและบ่อนทำลายสังคมไทยอย่างยืดเยื้อไม่มีท่าทีว่าจะสามารถหยุดได้แม้แต่น้อย
หากสังคมไทยยังยอมรับการซื้อขายเสียง หรือละเลยไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เราก็ย่อมคาดหวังอะไรไม่ได้กับการเลือกตั้ง   คงเป็นเรื่องยากที่การเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีความสามารถ มีความซื่อสัตย์ และมีคุณธรรม
สิ่งที่เราได้จากการเลือกตั้งที่มีการซื้อขายเสียงคือ  ส.ส. ที่มีพฤติกรรมแบบเด็กเกเรที่ไร้วุฒิภาวะ เอาตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล  อยากเด่นอยากดัง  อยากได้อะไรง่ายๆโดยไม่ใช้เงินเป็นหลัก  อยากได้อยากมีฉกฉวยงบประมาณของแผ่นดินไว้เป็นประโยชน์ของตนเอง อยากได้สิทธิพิเศษเหนือบุคคลอื่น  เบ่งกร่างข่มเหงประชาชนและข้าราชการ  และอาละวาดเมื่อไม่ได้ดั่งใจ    ซึ่งสร้างความอับอายขายหน้าแก่คนไทยทั้งประเทศ
เมื่อ ส.ส. เหล่านั้นเติบโตจนกลายเป็นรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี  พฤติกรรมเหล่านี้ก็สะสมพอกพูนขึ้นไปเรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  บางคนเป็น ส.ส.มาหลายสมัยจนอายุทางชีวภาพแก่เฒ่าชราลงไปมากแล้ว แต่กระนั้นอายุทางจิตกลับมิได้มีการพัฒนา กลับย่ำอยู่กับที่ คือ เป็นจิตของเด็กเกเรที่ไร้วุฒิภาวะเฉกเช่นเดิม
                เราจะอยู่ในประเทศที่ปกครองโดยเด็กเกเร ไร้วุฒิภาวะอย่างนี้ต่อไปได้อย่างไร  เป็นคำถามที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกคน  จะต้องครุ่นคิดและหาทางในการแก้ไขให้ได้
เราจะยอมให้นักค้าอำนาจที่มีวุฒิภาวะแบบเด็กเกเรที่กระจายอยู่ในพรรคการเมืองต่างๆบริหารปกครองประเทศต่อไปอีกหรือ 
ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะต้องคิด  คิดอย่างจริงจัง และลงมือปฏิบัติ เพื่อหยุดยั้งแบบแผนความคิดและการปฏิบัติที่สร้างปัญหาแก่สังคมไทยเสียที
ใครก็ตามที่ใช้เงินตรา   นโยบายประชานิยม  รูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงามเป็นวิธีการในการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง   ประชาชนควรปฏิบัติทางการเมืองเพื่อสั่งสอนบุคคลเหล่านั้นให้สำนึกและตระหนักว่า พวกเขาไม่สามารถซื้ออำนาจอธิปไตยของประชาชน และไม่สามารถทุจริตคอรับชั่นได้อย่างง่ายดายอีกต่อไป    

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั