ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การพัฒนาภูมิปัญญาของมนุษย์


การพัฒนาภูมิปัญญาของมนุษย์


 พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพภายในตนเองที่จะพัฒนาภูมิปัญญาให้มีความหลักแหลม รู้แจ้งเข้าใจในสรรพสิ่ง เข้าใจความเป็นจริงของจิตใจตนเอง เข้าใจความเป็นจริงของโลกและจักรวาล และเข้าใจความเป็นจริงของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง และมนุษย์กับสรรพสิ่งรอบตัว

ดังนั้นจึงเป็นที่น่าเสียดายว่ามนุษย์บางคนประเมินตนเองต่ำเกินไป และคิดว่าตนเองไร้ความสามารถในการสร้างภูมิปัญญา  การคิดเช่นนั้นกลายเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคในการพัฒนาภูมิปัญญา

การพัฒนาภูมิปัญญาเริ่มต้นจากการเข้าใจตนเอง วิเคราะห์ตนเองว่ามีจุดอ่อนและจุดแข็งอย่างไร โดยประเมินอย่างตรงไปตรงมาไม่เข้าข้างตนเอง  และเมื่อเข้าใจตนเองตามความเป็นจริงแล้ว  ก็กำหนดเป้าหมายหรือการวาดภาพตนเองในอนาคตว่า ต้องการเห็นภาพตนเองในอนาคตอย่างไร 

 ภาพในอนาคตเกี่ยวกับตนเองของมนุษย์อาจมีความแตกต่างกัน บางคนหวังเพียงได้รับความสะดวกสบายทางวัตถุ  บางคนคาดหวังที่จะได้รับการยอมรับจากสังคม  บางคนหวังว่าจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น  บางคนหวังว่าจะบรรลุถึงความตระหนักรู้ในตนเองและช่วยให้ผู้อื่นเกิดความรู้แจ้งเช่นเดียวกับตนเอง

เมื่อมีเป้าหมายในอนาคตหรือบางที เรียกว่า วิสัยทัศน์ส่วนบุคคล   สิ่งที่ควรดำเนินการต่อไปคือ การแสวงหาวิธีการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายเหล่านั้น    การศึกษาและเรียนรู้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเพื่อที่จะทำให้เราสามารถเลือกและตัดสินใจได้ว่าวิธีการใดมีความเหมาะสมในการนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาภูมิปัญญา

ความมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนรู้ทำให้มนุษย์กลายเป็นผู้ประเสริฐ   มนุษย์เรียนรู้ได้จากการฟัง การอ่าน การคิดวิเคราะห์  การทดลองปฏิบัติ และการประเมินคุณค่า

การฟังหาใช่เป็นเรื่องที่ง่ายดังที่ทุกคนคิดว่าจะเป็น เพราะระหว่างการฟังอาจมีสิ่งมารบกวนที่ทำให้เราไม่สามารถจับใจความสำคัญของเนื้อหาสาระ และรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดได้อย่างครบถ้วนถูกต้อง

 ความง่วงซึ่งมักจะเกิดขึ้นมากระหว่างการฟังการบรรยายของอาจารย์ในห้องเรียนทำให้เราไม่สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างมีสติ  เสียงที่ได้ยินผ่านหู ก็จะผ่านไปโดยไม่ความทรงจำใดเกาะติด ตกผลึกอยู่ในจิตสำนึกเลย  

ความอยากพูดคุยกับเพื่อนระหว่างการฟัง   นอกจากจะทำให้ข้อมูลข่าวสารที่ฟังขาดหายไปแล้ว ยังไปรบกวนการฟังของผู้อื่นอีกด้วย    เรียกว่าไม่ได้ทำลายการฟังของตนเพียงผู้เดียวแต่ยังไปทำลายการฟังของผู้อื่นอีกด้วย 

ทั้งความง่วงและการพูดคุยระหว่างการฟัง เป็นภาวะที่บ่งบอกถึงการขาดสติและสมาธิ ซึ่งทำให้การฟังไร้ประสิทธิผล   เกิดความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนประเภทฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียด    

การฟังด้วยอารมณ์ที่มีอคติทั้งอคติในทางที่ไม่ชอบและอคติในทางที่ชอบ   อคติในทางที่ไม่ชอบทำให้เราปิดกั้นตนเองไม่รับข้อมูลข่าวสารที่ผู้พูดสื่อออกมา ส่วนอคติในทางที่ชอบทำให้เราเชื่อง่ายโดยปราศจากการไตร่ตรองให้รอบคอบต่อข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ

ดังนั้นการฟังที่ดี จะต้องฟังอย่างตั้งใจ จดจ่อจริงจังและปราศจากอคติ หากทำได้ดังนี้ประตูแห่งการพัฒนาภูมิปัญญาก็จะเปิดออกมา



การอ่านก็เป็นวิธีการสำคัญที่ทำให้มนุษย์พัฒนาตนเองอย่างก้าวกระโดด เพราะทำให้เรามีโลกทัศน์และมุมมองกว้างไกล  เข้าใจความคิด เหตุผล และการกระทำของผู้คนอย่างหลากหลาย   การเลือกประเภทหนังสือที่อ่านเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง    แน่นอนว่าหนังสือและตำราเรียนต่างๆเป็นสิ่งที่จำเป็นของมนุษย์ทุกคนในโลกปัจจุบันและอนาคต เพราะสิ่งเหล่านี้ได้บรรจุภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่สะสมกันมาอย่างยาวนานของมนุษยชาติ

ขณะเดียวกันหนังสืออื่นๆที่ไม่ใช่หนังสือวิชาการ เช่น วรรณกรรมและกวี ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน เพราะช่วยให้จิตปัญญาในระดับลึกได้รับการพัฒนา และยังช่วยให้เข้าใจวิถีชีวิตและอารมณ์เชิงสุนทรียภาพของผู้คน

การอ่านที่ดีมี ๔ ขั้นตอน คือ  ๑ เริ่มจากการอ่านคำนำและสารบัญของหนังสือนั้นเพื่อทำความเข้าใจภาพรวมและองค์ประกอบของหนังสือ ๒ การอ่านบทนำและบทสรุปของหนังสือ รวมทั้งบทนำและบทสรุปของแต่ละบท เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาสาระหลักแบบสรุปของแต่ละบท  ๓ การอ่านเนื้อหารายละเอียดซึ่งเป็นการทำความเข้าใจรายละเอียดของแต่ละเรื่องในแต่ละบทแต่ละตอน  และ ๔ การอ่านทบทวนสาระหลักอีกครั้งเพื่อทำให้เนื้อหาได้ตราตรึงอยู่ในความทรงจำ    อนึ่งระหว่างการอ่านหากเขียนสรุปเป็น mind map  ก็จะช่วยให้ความจำเนื้อหาดีขึ้น  สะดวกและประหยัดเวลาในการทบทวน



เมื่ออ่านหรือฟังแล้วหากหยุดนิ่งเราก็จะได้เฉพาะสิ่งที่ผู้อื่นได้เคยกล่าวมา เราจึงต้องคิดวิเคราะห์สิ่งที่ฟังและอ่านโดยการใช้เหตุผลและข้อมูลข่าวสารอื่นๆประกอบ  และจะต้องเชื่อมโยงสิ่งที่เรารับเข้ามากับความรู้เดิมที่เรามี เพื่อก่อเป็นความรู้ใหม่ที่ขยายออกไป ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องใช้พลังแห่งการจินตนาการและการสร้างสรรค์  และถือว่าเป็นขั้นสำคัญมากในการพัฒนาภูมิปัญญาของมนุษย์

ความรู้ใหม่ที่ได้มาจะมีคุณค่าต่อมนุษยชาติหรือไม่  เราจะรู้คำตอบนี้ต่อเมื่อนำความรู้ไปทดลองปฏิบัติหากความรู้นี้สามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาสร้างความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น หรือช่วยยกระดับจิตใจและจิตวิญญาณของมนุษย์ให้สูงขึ้น ความรู้เช่นนั้นก็เป็นความรู้ที่มีคุณค่า

การพัฒนาภูมิปัญญาของมนุษย์เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างนิรันดร์  สายธารนี้จักเคลื่อนตัวไปตลอดอนันตกาลตราบเท่าที่มนุษยชาติยังดำรงอยู่ เพราะในท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายที่สำคัญของมนุษย์คือ การเป็นผู้รู้แจ้งและทรงภูมิปัญญานั่นเอง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิจารณ์หนังสือ การสร้างทฤษฎีฐานราก: แนวทางเชิงปฏิบัติผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ของ Kathy Charmaz. พิมพ์ในวารสารพัฒนาสังคม V 14. No. 2

บทวิจารณ์หนังสือ  พิชาย  รัตนดิลก ณ ภูเก็ต Kathy Charmaz  2006. Constructing Grounded Theory: A Practical Guide Through Qualitative Analysis. London: SAGE   จำนวน  208  หน้า ความเป็นมาของทฤษฎีฐานราก ระเบียบวิธีทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) อุบัติขึ้นจากนักสังคมวิทยาสองคนคือ Barney G. Glaser และ Anselm L. Strauss ช่วงกลางทศวรรษ 1960s    ทั้งสองไปทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสภาวะกำลังตายและการตาย ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล    พวกเขาได้พัฒนายุทธศาสตร์เชิงระเบียบวิธีอย่างเป็นระบบในการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งทำให้นักสังคมศาสตร์สามารถนำไปประยุกต์ในการศึกษาเรื่องอื่นๆได้จำนวนมาก   ในปี 1967 Glaser และ Strauss  ได้เสนอระเบียบวิธีนี้เข้ามาสู่แวดวงวิชาการในหนังสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังของพวกเขา คือ The Discovery of Grounded Theory   ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงคุณภาพรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ของระเบียบวิธี        ช่วงเวลาก่อนที่ Glaser และ Strauss เสนอระเบียบวิธีการวิจัยทฤษฎีฐานรากเป็นช่วงที่การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในสาขาสังคมวิทยากำลังประสบกับปัญหาทางระเบียบวิธีวิทยาอย่างหนักหน่วง   การวิจัยเชิงคุณ

ความผิดพลาดของมนุษย์ตามแนวคิดของ ฟรานซิส เบคอน

ความผิดพลาดของมนุษย์ : ชนเผ่า ถ้ำ ตลาด และโรงมหรสพ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในระยะนี้  ยิ่งทำให้เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ทะเลแห่งความมืดบอดของสังคมไทยนับวันจะขยายตัวออกไปมากขึ้น   และเกาะแห่งปัญญานับวันจะลดน้อยถอยลง  หากภาวะเช่นนี้ดำรงต่อไปนานเท่าไร  ก็ยิ่งทำให้ทะเลแห่งความมืดบอดมีโอกาสกลืนกินเกาะแห่งปัญญาจนหมดสิ้นในไม่ช้า  ผมไปอ่านงานของนักปรัชญาท่านหนึ่ง  เห็นว่ามีความน่าสนใจโดยเฉพาะการวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดพลาดทางปัญญาและการให้เหตุผลของมนุษย์   ซึ่งทำให้เราต้องนำมาทบทวน ระมัดระวัง จะได้ไม่ตกอยู่ในความผิดพลาดนั้น   เพื่อจะได้พัฒนาปัญญาของตนเองให้กระจ่างชัด และมีหนทางในการนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากทะเลแห่งความมืดบอดต่อไป ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษซึ่งมีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1561 ถึง 1626   วิเคราะห์จำแนกสาเหตุของความผิดพลาดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ออกเป็นสี่แบบ  ได้แก่ ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของชนเผ่า ( Idols of the Tribe)    ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของถ้ำ ( Idols of the Cave)   ความผิดพลาดแบบรูปเคารพของตลาด (Idols of the Market-place)   และความผิดพลาด

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง

การเริ่มต้นของชีวิตและการทำแท้ง พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คำถามประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำแท้งคือ เมื่อไรที่จะนับว่าชีวิตมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และ ณ จุดไหนที่สังคมควรจะเข้าไปดำเนินการปกป้องชีวิตที่กำลังก่อกำเนิด       ส่วนข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมเกี่ยวกับการทำแท้งมี ๒ ประเด็นหลักคือ  ประเด็นแรกคือ “คุณค่าของพื้นฐานแห่งชีวิต” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชีวิตที่ยังไม่ได้กำเนิดมาดูโลก กับชีวิตของมารดา   ประเด็นที่สองคือ “พื้นฐานของเสรีภาพส่วนบุคคคล” ซึ่งเป็นสิทธิของมารดาเหนือร่างกายของตนเองในการให้กำเนิดและกำหนดชีวิต และประเด็นที่เป็นความขัดแย้งอีกประการคือแนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิสัมบูรณ์”  ระหว่างสิทธิของทารกในครรภ์ที่จะก่อตัวพัฒนาขึ้นมาเป็นมนุษย์ กับสิทธิของมารดาในการควบคุมชีวิตและร่างกายของตนเอง ชีวิตมนุษย์เริ่มจากไหนและพัฒนาอย่างไร   ในทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายขั้นตอนของการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์ในเป็นมนุษย์ ดังนี้ ๑.       ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นจากไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์จากอสุจิ หนึ่งเซลล์ของมนุษย์ผู้หนึ่งผสมกับเซลล์ของมนุษย์อีกผู้หนึ่ง กลายเป็นสองเซลล์และขยายเป็นสี่ และจากนั้นภายในหกวั