ประชาธิปไตยของบัวเหล่าที่สี่
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ในห้วงเวลาทางการเมืองที่ยาวนานโดยสัมพัทธ์ของประเทศไทยระหว่างนี้ เรามีบุคคล 2 คน
ซึ่งมีความโดดเด่นในเวทีสื่อมวลชน พวกเขา ปรากฏตัว พูด กล่าว กระทำ แสดงบทบาทอย่างต่อเนื่อง ผมกำลังกล่าวถึงคุณยิ่งลักษณ์กับ คุณเฉลิม อันเป็นสตรีและบุรุษที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดจากประชาคม
ชุมชนของชาวไทย ณ ปัจจุบันกาล
การแสดงออกทางวาจา การตัดสินใจ และการกระทำที่สตรีและบุรุษทั้งสองดำเนินการผ่านสื่อมวลชน
เป็นการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างความสนธยาแห่งภูมิปัญญากับความเจิดจ้าของความยะโสโอหัง อันเป็นภาพสะท้อนของการห่อหุ้มสิ่งที่ด้อยค่าหรือไร้ค่าด้วยตำแหน่งที่สูงส่ง
คุณยิ่งลักษณ์ห่อหุ้มด้วยอาภรณ์ที่ดูมีราคา ใบหน้าของเธอมักประดับด้วยรอยยิ้ม
ยกเว้นตอนที่กำลังเผชิญกับคำถามที่เกินความเข้าใจหรือความรู้ที่มีอยู่ ถึงกระนั้นเธอก็มิได้แสดงอาการก้าวร้าวในการตอบโต้
ด้วยความที่เธอเป็นคนสุภาพจึงเลี่ยงสถานการณ์อันไม่น่าพึงปรารถนานั้นด้วยการเดินหนีหรือยุติการสื่อสารกับบรรดาผู้สื่อข่าวที่รุมล้อมเธอ
อย่างไรก็ตาม
ผู้คนในสังคมมีความคาดหวังต่อบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่าความงดงามของเสื้อผ้าอาภรณ์ มากกว่าใบหน้าที่สะสวย และคำพูดที่สุภาพ
สิ่งที่ประชาชนจำนวนมากคาดหวังต่อผู้ดำรงตำแหน่งนี้ คือการแสดงออกถึงความรอบรู้และภูมิปัญญาในการบริหารประเทศและการแก้ไขปัญหาแก่ประชาชนให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ แต่สิ่งเหล่านี้กลับดูเหมือนกลายเป็นสิ่งที่หายากเหลือประมาณ
หากสภาวะของรัตติกาลแห่งความไม่รู้
ยังเป็นสภาวะหลักที่ดำรงอยู่ในจิตของผู้นำประเทศ
คุณค่าและเกียรติยศของตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศก็ย่อมเสื่อมคลายลงไป ความสลด อดสูของประชาชนก็สะสมเพิ่มพูนขึ้น และแน่นอนว่าความรู้สึกดูแคลนก็จะแผ่ขยายออกไป สุภาพสตรีผู้ดำรงตำแหน่งนี้
เธอจะรู้ตัวหรือเปล่าว่า การแสดงออกของเธอ
ณ ห้วงกาลนี้เป็นสิ่งที่กำลังกัดกร่อนและทำลายตัวเธอเอง
ด้านคุณเฉลิมผู้มีความสามารถอันใหญ่หลวงประการหนึ่งคือ
การประจบสอพลอและการแสดงออกถึงความจงรักภักดีให้คุณทักษิณได้รับรู้ ก็ได้ใช้สิ่งนั้นเป็นบันไดไต่เต้าอำนาจได้ดิบได้ดีจนเป็นรองนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย คุณเฉลิมเป็นนักการเมืองที่มีบุคลิกตรงกันข้ามกับคุณยิ่งลักษณ์ เป็นคนพูดจาโผงผาง ตรงไปตรงมา บางครั้งออกไปทางก้าวร้าว อย่างไรก็ตามคุณเฉลิมมีคุณสมบัติสำคัญอีกประการหนึ่งคือความอวดดี
คุณเฉลิมอาจทราบหรือไม่ทราบก็ได้ว่า มนุษย์คนใดก็ตามที่มีความอวดดีเป็นเจ้าเรือน
จะสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น บารุค
สปิโนซา นักปรัชญาชาวฮอลแลนด์
เชื้อสายยิวได้วิเคราะห์อย่างน่าฟังเกี่ยวกับความอวดดีว่า “มนุษย์ที่อวดดีจะเล่าแต่เพียงการกระทำที่ยิ่งใหญ่ของตนเองและความชั่วร้ายของผู้อื่น
เขามีความสำราญเมื่ออยู่ในหมู่ของผู้ที่ด้อยกว่าตนเองซึ่งจะอัศจจรรย์ใจกับเรื่องราวที่ได้รับฟังและเชื่ออย่างงมงาย”
การอวดอ้างว่ารู้กฎหมายดีที่สุดในประเทศแล้วจะไปสอนคนนี้คนนั้น
และการพูดภาษาอังกฤษระหว่างการอภิปรายชี้แจงในรัฐสภาไทยของคุณเฉลิมเป็นการโอ้อวดประการหนึ่ง
ซึ่งไม่ต่างจากอึ่งอ่างที่พยายามเบ่งพองตนเองให้ดูใหญ่ขึ้น คุณเฉลิมคงคิดว่าการพูดในสิ่งเหล่านั้นจะทำให้ตนเองดูดีขึ้นและได้รับการนับถือจากสังคมมากขึ้นว่าเป็นผู้รู้
ดูเป็นคนฉลาดหลักแหลม แต่หากคิดอีกมุมคุณเฉลิมจะรู้หรือไม่ว่า
การพูดเช่นนั้นกลับทำให้ผู้คนรับรู้ถึงภาวะจิตใต้สำนึกของคุณเฉลิมที่เปี่ยมไปด้วยปมด้อยอันค้างคาสะสมมาตั้งแต่อดีต
การแสดงความเขื่องของคุณเฉลิมมีแต่จะทำให้ประชาชนผู้มีปัญญาเกิดความรู้สึกดูถูกดูแคลน และสำหรับคนที่จิตใจอ่อนโยนหน่อยก็คงจะรู้สึกสงสารและเวทนาคุณเฉลิมยิ่งนัก
หากเปรียบเปรยพฤติกรรมของคุณเฉลิมกับเหรียญในกล่องก็คือ
“เหรียญจำนวนน้อยที่อยู่ในกล่องเมื่อเขย่าย่อมเกิดเสียงดัง
แต่หากเหรียญเต็มกล่องเมื่อเขย่าก็ย่อมไร้เสียงสำเนียงใดๆดังออกมา”
ยิ่งกว่านั้นการกล่าววาจา
อันเป็นถ้อยคำ ดูหมิ่นเหยียดหยาม
เยาะเย้ยถากถางข้าราชการประจำระดับสูงอย่างคุณถวิล เปลี่ยนสี เลขาธิการ สมช. ผู้ที่คุณเฉลิมคิดเอาเองว่าเป็นพวกเดียวกับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และการตัดสินใจโยกย้ายตำแหน่งตามอำเภอใจ โดยปราศจากการยึดหลักคุณธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้านายตนเอง ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความทะนงตน
โอหังและลุแก่อำนาจ
คุณเฉลิมอาจไม่ตระหนักว่า
คนดีมีเหตุผลนั้นจะแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของตนด้วยการใช้วิธีการที่ไม่ไปทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
ส่วนคนชั่วนั้นย่อมกระทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม
การเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่นั้นมิใช่เป็นเรื่องของการได้รับการยกย่องว่าเก่งกล้าสามารถเหนือกว่าคนอื่น
หรือดำรงอยู่ในตำแหน่งใหญ่โตของบ้านเมือง ปกครองผู้อื่น
หากแต่เป็นการอยู่เหนือความลำเอียงและความไร้สาระของความปรารถนาที่มืดบอดของตนเอง
ทั้งคุณยิ่งลักษณ์และคุณเฉลิมเป็นนักการเมือง จะด้วยแรงจูงใจหรือความปรารถนาของตนเองหรือของผู้อื่นก็แล้วแต่ ธรรมชาติของนักการเมืองทั่วไปคือการแสวงหาชื่อเสียงและการครอบครองตำแหน่งที่สามารถใช้อำนาจรัฐ
เมื่อต้องการชื่อเสียง การยอมรับ และอำนาจ นักการเมืองก็จะต้องดำเนินชีวิตไปตามวิถีทางที่จะตอบสนองความเพ้อฝันของมวลชนและเจ้าของพรรคที่ทั้งสองสังกัดอยู่ ไม่ว่าความเพ้อฝันเหล่านั้นจะเป็นไปได้หรือไม่
ก็ตาม
หรือมันจะเป็นการถากถางเส้นทางเพื่อนำไปสู่การทำลายสังคม ประเพณี
และวัฒนธรรม มากน้อยเพียงใดก็ตาม
การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ การมีอำนาจและการใช้อำนาจทางการเมืองของคุณยิ่งลักษณ์
คุณเฉลิม และบรรดาสาวกเสื้อแดงอีกจำนวนมาก ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนเกี่ยวกับจุดอ่อนและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยใหม่อีกครั้งหนึ่ง
แต่เรื่องนี้ผมต้องเขียนอย่างระมัดระวังเพราะ ผู้คนในศตวรรษนี้ต่างมีความเชื่ออย่างงมงายว่า
ประชาธิปไตยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
หากใครวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตย
ก็มีโอกาสง่ายมากที่จะถูกประณามหรือตีตราในทางเสียหายจากบรรดาเหล่าสาวกของลัทธิประชาธิปไตยนิยมแดง
ดังนั้นในขั้นนี้ผมจึงขอยืมความคิดจาก บารุค
สปิโนซา นักปรัชญาที่ผมชื่นชอบในความคิดและวิถีการใช้ชีวิตของเขา สปิโนซากล่าวไว้ว่า จุดอ่อนของประชาธิปไตยคือ
เป็นระบอบที่มีแนวโน้มทำให้คนซึ่งไม่ดิบดีอะไรนักขึ้นมาอยู่ในอำนาจและไม่มีทางใดที่จะหลีกเลี่ยงสภาพนี้ได้
ปริมาณของเสียงข้างมากที่ได้มาจากอารมณ์อันแปรปรวนและปราศจากพื้นฐานของเหตุผลเชิงจริยธรรมโดยตัวของมันเองแล้วไม่เคยสร้างปัญญา
ระบอบนี้จึงมีแนวโน้มทำให้นักหลอกลวงและผู้ประจบสอพลอได้รับตำแหน่งที่ดีที่สุด ขณะที่ผู้มีความสามารถ มีความรอบรู้ มีภูมิปัญญา
มีทักษะและประสบการณ์มีโอกาสน้อยมากที่จะได้เข้าไปสู่ตำแหน่งสำคัญในการบริหารบ้านเมือง
สปิโนซา
ยังกล่าวต่อไปว่า
ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐบาลประชาธิปไตยจึงกลายเป็นขบวนการของนักปลุกปั่น
ปลุกระดม คนที่มีคุณค่า มีความสามารถ มีจริยธรรมก็รังเกียจที่จะเดินไปสู่เวทีการเมือง
เพราะเขาไม่ต้องการถูกตัดสินและประเมินค่าโดยผู้คนที่ไร้คุณค่า
สปิโนซาเชื่อว่า โดยธรรมชาติมนุษย์มีความไม่เท่าเทียมกันทางภูมิปัญญา
คุณธรรม ความสามารถและความรับผิดชอบ
ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเป็นผู้บริหารบ้านเมือง
ความเชื่อของประชาธิปไตยเรื่องความเสมอภาคของมนุษย์ในทุกมิติดูเป็นสิ่งที่ไร้สาระ
เพราะเป็นการแสวงหาในสิ่งที่ไม่ดำรงอยู่
ดังนั้นใครแสวงหาเรื่องนี้จึงเป็นการแสวงหาสิ่งที่ไร้สาระ
อันที่จริงความคิดเรื่องนี้ของสปิโนซามีความคล้ายคลึงกับการจำแนกมนุษย์ตามระดับภูมิปัญญาในศาสนาพุทธเรื่องบัวสี่เหล่า อันได้แก่
2) วิปจิตัญญู ซึ่งเป็นพวกที่มีสติปัญญาปานกลาง
เป็นสัมมาทิฏฐิ เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
3)
เนยยะ ซึ่งเป็นพวกที่มีสติปัญญาน้อย
แต่มีสัมมาทิฏฐิ เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำซึ่งจะค่อยๆ
โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
และ 4) ปทปรมะ พวกที่ไร้สติปัญญา
และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งไร้ซึ่งความเพียร
เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม รังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา
ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน
ด้วยเหตุที่จำนวนมนุษย์ในสังคมทั่วไปมีพวก “ปทปรมะ”
หรือบัวที่จมในโคลนตมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นระบอบประชาธิปไตยซึ่งปกครองด้วยเสียงข้างมาก
จึงเป็นการปกครองที่ถูกกำหนดจากเหล่ามนุษย์ที่เป็นพวกบัวจมอยู่ในโคลนตม ซึ่งก็แน่นอนว่าพวกเขาก็ต้องเลือกมนุษย์เผ่าพันธุ์เดียวกับพวกเขา
อันได้แก่ พวกบัวที่จมในโคบนตมด้วยกันเองเป็นผู้ปกครองประเทศ
เราจึงอาจกล่าวอีกแบบหนึ่งได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยของลัทธิแดง
โดยสาวกแดง เพื่อทรราชทุนนิยมแดงสามานย์ ก็คือ
“ระบอบปทปรมะธิปไตย” หรือ ระบอบที่อำนาจอธิปไตยเป็นของพวกบัวที่จมในโคลนตม และ
เป็นระบอบที่ประเทศถูกชี้นำและกำหนดโดยบรรดาพวกบัวที่จมอยู่ในโคลนตมนั่นเอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น